Skip to main content

 

 

"การปฏิวัติ" ในมุมมองแมกซ์ เวเบอร์

แมกซ์ เวเบอร์ (ค.ศ.1864-1920) ปรมาจารย์วิชาสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้วิจารณ์และเสริมเติมทฤษฎีวัตถุนิยมทางเศรษฐกิจของมาร์กซ์ด้วยทฤษฎีวัตถุนิยมทางการเมืองและการทหารของเขาเอง ได้นิยามรัฐสมัยใหม่ไว้ในปาฐกถาเรื่อง "การเมืองในฐานะอาชีพ" ณ มหาวิทยาลัยมิวนิก เมื่อปี ค.ศ.1918 ซึ่งกลายมาเป็นคำนิยามมาตรฐานของ "รัฐ" ในวิชารัฐศาสตร์ปัจจุบันว่า : -

 

"อย่างไรก็ตามทุกวันนี้เราคงต้องกล่าวว่า รัฐคือประชาคมของมนุษย์ที่อ้างสิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพโดยชอบธรรมภายในอาณาเขตหนึ่งๆ (ได้สำเร็จ)" (From Max Weber : Essays in Sociology, 1946, p. 78)

 

มีเชื้อมูลสำคัญ 3 ประการอยู่ในคำนิยาม "รัฐ" ของเวเบอร์ข้างต้น :

1) สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง

2) โดยชอบธรรม

3) ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ

 

ดังนั้น หากนิยาม "การปฏิวัติ" ว่าหมายถึงการลุกขึ้นสู้ของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อโค่นล้ม/ช่วงชิงอำนาจรัฐจากคนอีกกลุ่มหนึ่งแล้ว หนทางการปฏิวัติก็อาจเป็นไปได้ 3 ลักษณะ สอดรับกับเชื้อมูล 3 ประการข้างต้น ขึ้นอยู่กับว่าจะรวมศูนย์โจมตีลงไปที่ส่วนไหนขององค์ประกอบอำนาจรัฐ กล่าวคือ : -

1) ฝ่ายผู้ก่อการใช้ความรุนแรงสู้กับกลไกบังคับปราบปรามของรัฐเอาชนะมันด้วยการโค่นลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันได้สถาปนาความชอบธรรมใหม่ใดๆ ของฝ่ายตนขึ้นมาอย่างมั่นคง อย่างไรก็ตามหนทางนี้ใช้ได้ผลเมื่อคู่ต่อสู้เป็นรัฐที่อ่อนแอเท่านั้น

ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติรัสเซียปี ค.ศ.1917 เป็นต้น 
ในกรณีไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ของคณะราษฎรน่าจะจัดอยู่ในข่ายนี้ได้

 

2) ฝ่ายผู้ก่อการพังทลายการผูกขาดอำนาจของรัฐโดยทำลายความชอบธรรมในการปกครองของรัฐลงเสียจนกระทั่งรัฐไม่สามารถใช้กำลังบังคับมาปราบปรามขบวนการต่อต้านรัฐได้

 

ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ค.ศ.1978-79 ซึ่งไม่มีการสู้รบขนานใหญ่ กองทัพอยู่ในภาวะอัมพาต ขณะพระเจ้าชาห์และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศและระบอบราชาธิปไตยสิ้นสุดลง

ในกรณีไทย นึกหากรณีที่สอดรับตัวแบบนี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ออก จะมากจะน้อยมักมีเชื้อมูลที่รัฐใช้กำลังรุนแรงปราบปรามฝ่ายผู้ก่อการมาผสมด้วยเสมอ

 

ทว่าหากลดเงื่อนไขลงเป็นว่ามีการทำลายความชอบธรรมของรัฐลงเป็นด้านหลักจนกระทั่งรัฐไม่สามารถใช้กำลังรุนแรงมาปราบปรามอย่างเต็มที่เต็มเหนี่ยวและฉะนั้นจึงถูกโค่นลงในที่สุดแล้ว ก็น่าขบคิดว่าพอจะนับการลุกขึ้นสู้เผด็จการทหารของนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาฯ 2516 และการเคลื่อนไหวยึดทำเนียบรัฐบาล-ยึดสนามบินของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อโค่นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเมื่อปี พ.ศ.2541 ว่าเข้าข่ายนี้ได้หรือไม่?

 

3) ฝ่ายผู้ก่อการพังทลายการผูกขาดอำนาจของรัฐโดยตัดตอนอาณาเขตบางส่วนจากรัฐมาเป็น "เขตปลดปล่อย" ซึ่งกว้างใหญ่พอจะก่อตั้งอำนาจรัฐปฏิวัติขึ้นต่อต้านท้าทายรัฐเดิมได้ แล้วจึงค่อยๆ บั่นทอนบ่อนเบียนกำลังบังคับและความชอบธรรมของรัฐเดิมลงตามลำดับอย่างยืดเยื้อยาวนานจนประสบชัยชนะในที่สุด นี่เป็นแบบแผนการปฏิวัติทั่วไปของกองกำลังจรยุทธ์ทั้งหลาย

ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติจีน ค.ศ.1928-49 รวมทั้งในยูโกสลาเวีย, คิวบา, นิการากัว ฯลฯ

ในกรณีไทย ความพยายามทำสงครามประชาชนที่ล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยระหว่าง พ.ศ.2508-2528 จัดอยู่ในข่ายนี้

 

ทว่าข้อคิดทางรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์เหล่านี้เป็นแค่เครื่องมือลองใช้ยึดกุมเข้าใจความจริง ไม่ใช่ตัวความจริงนั้นเอง กรณีความเป็นจริงมักจะสลับซับซ้อนยุ่งยากยุ่งเหยิงเลอะเทอะเละเทะ,ไม่เรียบๆ ร้อยๆ เข้ากรอบเข้าร่องเข้ารอยเข้าตามตรอกออกตามประตูดังแนวคิดทฤษฎีเป๊ะๆ เป็นธรรมดา

อาทิ กรณีการปฏิวัติเนปาล ค.ศ.1995-2006 นั้น พวกเหมาอิสต์เริ่มต้นเดินหนทางตัดตอนอาณาเขตของรัฐมาสร้างเขตปลดปล่อยขึ้นในชนบทป่าเขา (แบบที่ 3), แต่กลับลงเอยด้วยการปรับเปลี่ยนหนทางไปเข้าร่วมกับพันธมิตรพรรคฝ่ายค้านพามวลชนเดินขบวนประท้วงกลางเมืองทำลายความชอบธรรมของระบอบราชาธิปไตยเดิมลงจนกองทัพเนปาลสูญเสียขวัญกำลังใจและถอดใจในที่สุด (แบบที่ 2)

จึงควรใช้เครื่องมือการคิดเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง

 

 

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนออนไลน์ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553 (เผยแพร่ต่อใน Kasian Tejapira)

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
๓ ขั้นตอน ของ ลัทธิช็อก ประชาชนถูกช็อกด้วยวิกฤต, ประชาชนถูกช็อกด้วยนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ผลักดันผ่านออกมา และ ในความเป็นจริง ประชาชนผู้ต่อต้านคัดค้านนโยบายดังกล่าวยังมักจะถูกรัฐบาลกวาดล้างจับกุมไปทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะการช็อกด้วยไฟฟ้า 
เกษียร เตชะพีระ
โดรน (Drone) หรือเครื่องบินไร้คนขับเพื่อสอดแนมและสังหาร นักฆ่าหน้าจอตัดสินใจด้วยเกณฑ์ใดว่าจะกดปุ่มให้โดรนสังหารยิงถล่มคุณหรือไม่? อนุสนธิจากข่าว “โดรนโจมตีในเยเมน เสียชีวิต ๑๒ ราย” 
เกษียร เตชะพีระ
ถาม-ตอบกับคำถามประเมินความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร, อะไรคือเงื่อนไขการเมืองที่รองรับการจัดการลักษณะนี้, จะมีรัฐประหารไหม และ แนะนำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้
เกษียร เตชะพีระ
ปัญหาชนชั้นกับการปฏิวัติกระฎุมพี, ลักษณะเด่นร่วมเชิงโครงสร้างของการปฏิวัติกระฎุมพี ๔ ประการ, เงื่อนไขและลักษณะของการปฏิวัติกระฎุมพีที่เปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์, การศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของคณะนิติราษฎร์มีลักษณะเด่นน่าสังเกตบางประการ และคำถามทิ้งท้าย
เกษียร เตชะพีระ
บทวิเคราะห์เรื่องนี้ของผมถึงเงื่อนไขความเป็นไปได้ของการปราบปรามด้วยความรุนแรงเป็นหลักเมื่อเทียบกรณีอียิปต์ปัจจุบันกับไทยหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ ..มีความต่างที่น่าสนใจนำมาเปรียบเทียบบางประการในความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องรัฐประหารโดยกองทัพ ระหว่างเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ กับอียิปต์ในปีปัจจุบัน ๒๕๕๖
เกษียร เตชะพีระ
ผมทำกราฟฟิคขึ้นไว้เพื่อประมวลสรุปความเข้าใจของตัวเองและใช้ประกอบการสอนนักศึกษา แต่สังเกตว่ามีเพื่อนชาว Facebook สนใจพอควร จึงคิดว่าควรเขียนคำอธิบายประกอบถึงที่มาที่ไปและเนื้อหาของมันโดยสังเขป
เกษียร เตชะพีระ
ฝันสลายของคนชั้นกลางอเมริกัน = ฝันสลายของตลาดส่งออกใหญ่ของเอเชียตะวันออกรวมทั้งไทย = ฝันสลายของตัวแบบเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEM - East Asian Economic Model) รวมทั้งไทยด้วย
เกษียร เตชะพีระ
๕ ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดกับชาวนาเอเชียในทรรศนะ Partha Chatterjee หนึ่งในเจ้าพ่อ Subaltern Studies ชาวอินเดีย, ๔ concepts หลักที่ Chatterjee ประยุกต์มายึดกุมทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชนบทเอเชีย การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ, พิเคราะห์ชาวนาเอเชีย ชนิดของทุนและที่ตั้งทางเศรษฐกิจใหม่ของชาวนายุคโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่อุปถัมภ์, ไม่ใช่กบฎชาวนา, ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน, และไม่ใช่ประชาสังคม
เกษียร เตชะพีระ
 รัฐเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านชาวนาชนบทแล้ว ชาวนาไม่ได้เผชิญหน้ากับการขูดรีดทางชนชั้นหรือรัฐโดยตรง เปลี่ยนอาชีพเพราะมองเห็นโอกาสยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ หนุ่มสาวชาวชนบทรุ่นใหม่ที่ได้เรียนหนังสือและเสพสื่อสารมวลชนสมัยใหม่อยากเลิกเป็นชาวนา ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดกับชาวนาเอเชียในทรรศนะ Partha Chatterjee หนึ่งในเจ้าพ่อ Subaltern Studies ชาวอินเดีย 
เกษียร เตชะพีระ
กองทัพอียิปต์เป็นสิ่งมีชีวิตทางการเมืองที่น่าสนใจมาก แปลงสีได้ตามสภาพแวดล้อมเหมือนกิ้งก่า, ไม่ซื่อกับใครเหมือนงูในอ้อมอกชาวนา, และแว้งกัดทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนด้วย
เกษียร เตชะพีระ
ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์: ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องพัฒนากลไกมิติริเริ่มใหม่ต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการใช้อำนาจแก่สังคมการเมือง
เกษียร เตชะพีระ
ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์: ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องพัฒนากลไกมิติริเริ่มใหม่ต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการใช้อำนาจแก่สังคมการเมือง