Skip to main content

พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย

ในไม่กี่ปีหลังนี้เศรษฐกิจพม่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญหลายประการ รัฐบาลลดการกำกับควบคุมเศรษฐกิจลง มีการจัดวางระบบธนาคารใหม่และออกนโยบายที่ดินใหม่ ยิ่งกว่านั้นยังปล่อยค่าเงินจ๊าดลอยตัวให้เป็นไปตามตลาด (๒๕ - ๓๐ จ๊าด/บาท) แทนที่จะถูกกำหนดโดยรัฐบาลดังก่อน มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติราว ๙ พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯเข้าสู่พม่านับแต่ปีค.ศ. ๒๐๑๑ เป็นต้นมา

นักเศรษฐศาสตร์ ฌอง เธอร์แนล Sean Turnell แห่งมหาวิทยาลัย Macquarie ออสเตรเลีย กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นานาเหล่านี้ช่วยปรับปรุงเศรษฐกิจพม่าให้ทำหน้าที่ดำเนินงานของมันได้ดีขึ้น แต่มันส่งผลน้อยมากในการเปลี่ยนอิทธิพลของกองทัพเหนือเศรษฐกิจและการเมืองลง เขาตั้งข้อสังเกตว่า:

“การเคลื่อนตัวไปสู่รูปแบบรัฐบาลใหม่ในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ยังไม่แน่ชัดเกี่ยวกับบทบาทของทหาร ทหารยังจะเล่นบทแกนกลางอยู่หรือไม่ จะยอมสละการควบคุมเศรษฐกิจบางอย่างไหม จะถอยหลังออกไปอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ ที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นหรือไม่ นั่นคือคำถามใหญ่จริง ๆ”

จนถึงปัจจุบัน ทหารยังคงคุมธุรกิจใหญ่ที่สุดในพม่า รวมทั้งอุตสาหกรรมทำกำไรส่วนใหญ่ไว้ เช่น การสำรวจแก๊สธรรมชาติและเหมืองอัญมณี ทหารพม่ามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจพอ ๆ กับอำนาจทางการเมือง ที่นั่ง ๒๕% ในรัฐสภาถูกกันเอาไว้ให้เป็นโควต้าที่แต่งตั้งโดยทหาร ทำให้กองทัพมีอำนาจวีโต้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้โดยสิ้นเชิง ส่งผลให้กองทัพมีความพร้อมรับผิดน้อยเมื่อกองทหารพม่าถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิพลเมือง

เมื่อเดือน พ.ย. ศกก่อน คลีนิคสิทธิมนุษยชนแห่งสำนักกฎหมาย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับพม่า http://hrp.law.harvard.edu/wp-content/uploads/2014/11/2014.11.05-IHRC-Legal-Memorandum.pdf ที่กล่าวหาว่านายทหาร ๔ คนก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในปี ค.ศ. ๒๐๐๕ - ๒๐๐๖ ๑ ใน ๔ นายทหารได้แก่พลโทโคโค่ รมว.มหาดไทยพม่าคนปัจจุบัน Matthew Brewer ซึ่งเป็นนักวิจัยเรื่องความยุติธรรมระดับโลกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประจำเมืองย่างกุ้ง กล่าวว่า ทั้งที่มีหลักฐานเพียงพอจะสั่งจับกุมตัวนายทหารทั้ง ๔ ทว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใด ๆ เลย จนกว่านายทหารระดับสูงสุดจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนในระบบกระบวนการยุติธรรมที่ควบคุมโดยพลเรือน ทหารก็ยังคงจะกระทำการใด ๆ โดยไม่กลัวถูกลงโทษอยู่ต่อไป เขาชี้ว่า:

“ทหารปักหลักยืนกรานว่าพวกเขาไม่ยอมที่จะเอาเรื่องเอาราวกับพฤติกรรมของตน รวมทั้งข่มขู่ผู้คนที่พยายามจะเอาเรื่องเอาราวดังกล่าวด้วย เราคิดว่าบรรดานักปฏิรูปในรัฐบาลและนักการเมืองฝ่ายค้านที่อยากจะจัดการปัญหานี้ไม่ได้ยืนหยัดเข้มแข็งพอที่จะเอาเรื่องกับปัญหาสิทธิมนุษยชนและพฤติกรรมของทหาร เราคิดด้วยว่าทหารกำลังเลื่อนชั้นให้บรรดาผู้ละเมิดสิทธิได้ไต่ลำดับการบังคับบัญชาสูงขึ้นไปสู่ตำแหน่งชั้นเอกของกองทัพ”

ฝ่ายค้านพม่าชนะเลือกตั้งได้ที่นั่งในรัฐสภาแต่ไม่สามารถยุติอิทธิพลของทหารได้ บรรดานักวิจารณ์ต้องการให้อองซานซูจีผู้นำฝ่ายค้านหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะ กดดันให้มีความพร้อมรับผิด แต่เธอก็ไม่ได้ทำ บ้างเห็นว่าอองซานซูจีหลีกเลี่ยงที่จะพิพาทกับทหารเพื่อช่วยให้ตัวเองมีโอกาสได้เป็นผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมากขึ้น

ส่วนบรรดานายพลพม่าทั้งหลายก็ปกป้องแก้ต่างให้แก่อิทธิพลในประเทศของตน อ้างว่ายังมีกบฎชนชาติต่าง ๆ อยู่ในบางพื้นที่ของประเทศ พม่าใช้จ่ายงบประมาณไปในด้านการทหารถึง ๒๓.๒% ของทั้งหมด คิดเป็นอัตราส่วนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ทหารกล่าวว่างบฯเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกใช้ไปสู้รบกับกลุ่มต่าง ๆ ที่ปฏิเสธรัฐบาล แต่นักสังเกตการณ์ภายนอกกล่าวว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของทหารพม่านั่นแหละเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของกบฎที่เกิดขึ้น Matthew Brewer แห่งมหาวิทยลัยฮาร์วาร์ดระบุว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทหารในพื้นที่ขัดแย้งมีส่วนก่อให้เกิดปัญหา และทำให้กระบวนการสันติภาพยืดเยื้อออกไป อีกทั้งบั่นทอนความไว้วางใจที่ฝ่ายต่าง ๆ มีต่อรัฐบาลและทหารพม่า เดือนพ.ย.ศกก่อน ทหารพม่าได้เปิดฉากระดมยิงใส่สนามฝึกกำลังพลของชนชาติส่วนน้อยในพม่า ทำให้พลรบของชนชาติส่วนน้อยตายไป ๒๗ คน การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการเจรจาสันติภาพสิ้นสุดลงเพียงหนึ่งวัน รัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่งอยากให้มีการหยุดยิงทั่วประเทศก่อนจะจัดเลือกตั้ง

หากจะลดอิทธิพลของทหารในรัฐบาลลงก็จำต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทว่าเดือนพ.ย.นี้เอง ตัวแทนของทหารได้แสดงท่าทีชัดแจ้งว่าพวกเขาไม่ยินยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนที่จะจัดเลือกตั้งขึ้น

 

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก 'Kasian Tejapira' 5 ม.ค.2558

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ด้วยความระลึกถึงจาก "พวกดอกเตอร์สมองบวมบนหอคอยงาช้างทั้งหลาย" ต้องสู้กับทักษิณด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ต้องเอาชนะทักษิณด้วยการชนะใจเสียงข้างมาก ไม่ใช่ต่อต้านเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
คำปราศรัยของคุณสุเทพ ณ กปปส.บ่ายวันนี้ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  คือคำประกาศของขบวนการการเมืองแบบสู้รบของเสียงข้างน้อยที่ปฏิเสธความเสมอภาคทางการเมืองและการปกครองโดยเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
ว่าด้วย "ระบอบทักษิณ" ในสถานการณ์ปฏิวัติโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)
เกษียร เตชะพีระ
ด้วยเงื่อนไขเวลา สถานที่ แกนนำและประเด็นชนวนที่ต่างออกไปบ้าง ม็อบเทพเทือกปัจจุบันกับม็อบพันธมิตรฯเมื่อปี 2549 + 2551 ละม้ายเหมือนกันเป็นพิมพ์เดียวทั้งในแง่....
เกษียร เตชะพีระ
 "เสียงข้างน้อย" ที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงว่าต้องปกป้องไว้จากอำนาจเสียงข้างมากนั้น ไม่ใช่เสียงข้างน้อยธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แต่คืออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ได้อำนาจอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นและเหนือเสียงข้างมากมาจากการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยอำนาจรัฐประหารนั้น
เกษียร เตชะพีระ
กลุ่มอาการม็อบไทย ๆ ในปัจจุบัน: Thai Mob SyndromeOverpoliticization --> Political Fanaticism & Instant Political Awakening --> Lack of Political Experience and Patience
เกษียร เตชะพีระ
บทความ “A Sea of Dissent: nonviolent waves in China” ของ Michael Caster นักวิจัยและเคลื่อนไหวอิสระผู้เน้นศึกษาเรื่องความขัดแย้งและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเอเชีย ได้ประมวลข้อมูลและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวมวลชนระยะใกล้ในจีนไว้อย่างน่าสนใจ ผมขอนำมาเล่าต่อบางส่วนดังนี้
เกษียร เตชะพีระ
สิ่งที่พึงปรารถนาไม่ใช่ "ให้คนเราเหมือนกันหมด จะได้เท่ากัน" (เอาเข้าจริง ถึงเหมือนกันก็ไม่เท่ากันได้) แต่คือ "แตกต่างแต่เท่ากัน" (เพราะมันคนละเรื่อง) หรือ "แตกต่างกันได้โดยไม่ต้องกลัว" ต่างหาก (Different but equal or To be different without fear.)
เกษียร เตชะพีระ
บทสัมภาษณ์ ควินติน สกินเนอร์ นักวิชาการด้านประวัติความคิดการเมืองชาวอังกฤษสำคัญที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันต่อประเด็นเกี่ยวกับงานค้นคว้าประวัติความคิดเรื่องเสรีภาพและ เสรีนิยมของตะวันตกตลอดชีวิตของเขาโดยภาพรวม แนวคิดมหาชนรัฐ, มาเคียเวลลี, ฮ๊อบส์, การปฏิรูปศาสนา, เชคสเปียร์, มิลตัน, คาร์ล มาร์กซ จนถึงเอ็ดเวิร์ด สโนว์เด็น เป็นต้น
เกษียร เตชะพีระ
 ว่าด้วย "เจ็ดไม่พูด"(ชีปู้เจียง) แคมเปนอุดมการณ์ล่าสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คุณค่าสากล, เสรีภาพการพูดและพิมพ์โฆษณา, สิทธิพลเมือง, ประชาสังคม, ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน, กระฎุมพีข้าราชการ และความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ