หากวัยรุ่นคนหนึ่งจะเข้ามาร่วมในกลุ่มนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการสมัคร หรือทดสอบก่อน คือ ใครต้องการเข้าร่วมกลุ่มก็สามารถเข้ามาทำความรู้จักได้เลย เพียงแค่มีความเป็นเพื่อนและจริงใจเท่านั้น
การเข้ามาในกลุ่มแก๊งของคนใหม่ๆ หรือการพยายามสร้างตัวแทนของกลุ่ม นับว่าไม่ได้เป็นไปตามกรอบเกณฑ์ เพราะการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในกลุ่มแก๊ง เกิดขึ้นโดยระบบความสัมพันธ์แบบเพื่อนกับเพื่อน การเคารพผู้ที่อายุมากกว่าว่าคือรุ่นพี่ การเคารพผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือรุ่นน้อง เป็นการสร้างความสัมพันธ์แนวราบ คือ การส่งต่อเพื่อนสู่เพื่อน พี่สู่น้อง
การที่คนจะเข้ามาในกลุ่มใหม่นั้นเหมือนเป็นการสร้างฐานความยั่งยืนของกลุ่มเพื่อให้กลุ่มมีคนสืบทอดกิจกรรม เจตนารมณ์ ที่กำหนดไว้ คนที่เข้ามาในกลุ่มใหม่อาจมาได้หลายรูปแบบ บางคนเพื่อนชวนมา บางคนอยากเข้ามา บางคนพี่ชวนมา ตัวอย่างเช่น เพื่อนที่รู้จักชวนเล็กจากที่เป็นเด็กไบรท์ ไปชมคอนเสิร์ตพังก์จนเกิดความชอบและเข้าสู่กลุ่ม จนเป็นเด็กพังก์คนหนึ่ง หรือ การที่จอมชวนน้องๆ ในชุมชนมาตั้งกลุ่มเพื่อนไปเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น
บางกลุ่มมีการรับน้องที่แตกต่างกันไปเช่นการรับน้องโดยการให้ดื่มเหล้าเปล่าๆ หนึ่งแก้ว การรับน้องโดยการพาไปเที่ยว สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่กระชับแก่รุ่นน้องที่เข้ามากับรุ่นพี่ที่รู้จัก รุ่นน้องจะเคารพในการตัดสินใจของรุ่นพี่ แต่โดยส่วนมากการตัดสินใจภายในกลุ่มอาจมีได้หลายลักษณะ บางกลุ่มปรึกษาหารือร่วมกัน
บางกลุ่มเกิดผู้นำที่ตัดสินใจโดยธรรมชาติ บางกลุ่มมีพี่ใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจ แต่ท้ายที่สุดไม่ว่าที่มาของการตัดสินใจจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็ยอมรับการตัดสินใจนั้น
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มจะเป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อน แบบพี่น้องเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีการแบ่งเป็นลูกน้องลูกพี่แต่อย่างใด นอกจากนี้ สมาชิกภายในกลุ่มให้ความเคารพกันตามลำดับความอาวุโส และทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทั้งหมด
การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อจัดการให้กลุ่มซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากมีขอบเขตและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง
ดังนั้นภายในกลุ่มจึงมีข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการรักษาสิทธิส่วนบุคคลของสมาชิก แต่ไม่ได้กำหนดขึ้นเป็นกฎของกลุ่มแต่อย่างใด แต่ถ้าหากในกลุ่มเกิดความขัดแย้ง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการเขม่นกันภายในกลุ่ม หรือหยอกล้อเล่นกันแรงเกินไป ทำให้เกิดความไม่พอใจ แต่หากเกิดข้อขัดแย้งเช่นนี้ สมาชิกภายในกลุ่มสามารถจัดการกันเองได้ และเมื่อคลี่คลายปัญหาแล้วทุกคนยังคงเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม
จะเห็นได้ว่าการที่วัยรุ่นรวมกลุ่มกันนั้น ทางกลุ่มก็มีการจัดระเบียบ มีข้อตกลงร่วมกันเพื่อควบคุม และดูแลสมาชิกภายในกลุ่มให้อยู่ในขอบเขต และไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่บุคคลภายนอก เพื่อที่จะสามารถลดปัญหาสังคมลงได้อีกทางหนึ่งด้วย
รุ่นต่อรุ่น-เรื่องที่พี่และน้องสืบต่อกัน
แม้ว่าการเข้าสู่กลุ่มนั้นจะไม่ใช่เรื่องยากแต่เรื่องที่สำคัญคือการเปลี่ยนถ่ายรุ่นของคนภายในกลุ่ม การเปลี่ยนถ่ายรุ่นต่อรุ่นนั้นอาจทำได้โดยไม่ยากมากนัก การรวมกลุ่มของเยาวชนเกิดขึ้นโดยกระบวนการทางสังคม มีการรวมกลุ่มโดยธรรมชาติ การสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมานั้น
ส่วนใหญ่เป็นการสร้างผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันภายในกลุ่ม เช่น การเต้น การแข่งรถ โดยอาจมีการชวนคนอื่นๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมของกลุ่ม บางคนที่ไม่รู้จักอาจเข้ามาโดยความสนใจหรือคนอื่นชวน เช่น กรณีของเล็ก ที่เข้ามาในกลุ่มพังก์โดยการเชิญชวนของรุ่นพี่
การทำกิจกรรมที่ต่อเนื่องของกลุ่มแก๊ง ถือเป็นการผลิตซ้ำทางความคิด เป็นการแสดงออกที่บอกถึงความเป็นตัวเอง บางกลุ่มสะสมการเที่ยว สะสมการแสดงพลังผ่านการแข่งรถ สะสมการเต้น ฯลฯ หรือแม้แต่การจัดการกับกรณีที่มีการชกต่อยทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งเรียกว่า “เคลียร์” ซึ่งเป็นการจัดระบบกับความรู้สึกของคน ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในสิ่งที่กระทำ
ดังนั้นจึงเป็นจุดแข็งที่สมาชิกกลุ่มมีความรู้สึกร่วมในการเป็นตัวของตัวเองในกลุ่มนั้นๆ และมีความรัก ศรัทธาในการกระทำของตน ซึ่งถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญในการสร้างรุ่นใหม่ และการเปลี่ยนถ่ายรุ่นที่มีความต่อเนื่องและมีจุดหมายร่วมเหมือนกัน
ความเป็นผู้นำในกลุ่ม
อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มแก๊งแต่ละกลุ่มนั้น ไม่ได้มีโครงสร้างอย่างการรวมกลุ่มโดยทั่วไป ไม่ได้มีประธาน รองประธาน หากแต่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หัวหน้ากลุ่มหลายคนที่เรารู้จักมักจะบอกเสมอว่า ไม่ได้เป็นหัวหน้ากลุ่ม เป็นเพียงแค่ต้นคิดสำคัญ หรือภาษาเหนือเรียก “เก๊า” ในการตัดสินใจบางอย่างบุคคลคนนั้นจะเป็นเหมือนคนที่ชี้บอกว่า จะทำอย่างไร จะไปทางไหน แบบไหน และทุกคนในกลุ่มก็จะทำตามนั้น
ทว่าการเป็นหัวหน้ากลุ่มอาจมาได้หลายๆ ทาง เช่นสายเครือญาติ การเคารพผู้ที่มีอายุมากกว่า หรือ รุ่นพี่รุ่นน้อง หรือ คนที่มีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ มีความกล้าในการตัดสินใจ เป็นที่นับถือของคนในกลุ่ม และมีความจริงใจในการแก้ปัญหาของเพื่อนๆ ในกลุ่มเช่น การช่วยเหลือโดยการตีคืน การช่วยเรื่องเงิน เป็นต้น หรือแม้แต่การทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนภายในกลุ่มเพื่อตัดสินใจร่วมกัน
หัวหน้ากลุ่มจึงไม่สามารถบอกได้โดยตรงว่า คนนี้คือหัวหน้า กลุ่มแก๊ง จึงเป็นกลุ่มที่สมาชิกทุกคนภายในกลุ่มมีการตัดสินใจร่วมกัน โดยสมานฉันท์ แบบพี่น้อง โดยมีแกนหลักเป็นผู้จัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนและตัดสินใจ หรือ เป็นผู้นำโดยธรรมชาติ
แต่ก็พบว่ามีบางกลุ่มจะมีลูกพี่ใหญ่ และลูกพี่จะทำตัวให้เป็นที่เคารพเกรงขาม ไม่ทำตัวเหมือนเด็ก เพราะจะต้องดูแลควบคุมสมาชิกในกลุ่มให้ได้ ซึ่งถ้าไปพูดกับใครว่านี่เด็กผม ถ้าแก๊งนี้เป็นแก๊งใหญ่หน่อย แล้วบอกว่า “นี่เด็กผม” หรือ "ละอ่อนผม" ก็จะดูมีอำนาจและน่าเกรงขาม
กลุ่มกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
เรื่องการรวมกลุ่มของเด็กแก๊ง คือ เมื่อประมาณก่อนปี 2542 ยังไม่มีการรวมกันเป็นแก๊งอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเที่ยว เช่น กลุ่มช้างคลาน สันป่าข่อย สันกำแพง เชียงมั่น กาดก้อม ซึ่งชื่อเหล่านี้ตั้งตามตำบลหรือชุมชนที่อาศัยอยู่ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นชื่อเฉพาะกลุ่มหรือภาษาอังกฤษ
ชื่อกลุ่มต่างๆ ที่เมื่อก่อนตั้งชื่อตามแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย แต่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่จะตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ บางชื่อที่ตั้งก็เพื่อแสดงถึงการมีอำนาจ บ้างก็ตั้งชื่อตามแหล่งที่มักจะไปเที่ยวกัน หรือตั้งชื่อตามสถาบันที่เรียน หรือตามลักษณะการแต่งการ เช่น พังก์ แซป เป็นต้น
โปรดตามติดอ่านตอนต่อไป....