เรื่องราวในชีวิตของคนเราสามารถนำมาเขียนแต่งเป็นนิยายได้ทั้งนั้น โดยการใส่พล็อตหรือท้องเรื่องเข้าไป ตีความให้ดูน่าสนใจ แล้วเสาะหา(สร้าง)ข้อมูลเพื่อยัดลงไปในพล็อตที่วางไว้โดยอาจหยิบเพียงบางช่วงบางตอนของชีวิตก็ได้
อย่างไรก็ตาม บางเรื่องราวอาจไม่ค่อยมีความน่าสนใจนักเพราะ “เนื้อหาชีวิต” มีให้เลือกน้อยเกินไป ไม่มีข้อมูลมากพอสำหรับเอาไปใส่ไว้ในพล็อต ขาดความโดดเด่นสำหรับที่จะเป็นนิยายชั้นดี อาทิเช่นชีวิตของเรา ๆ ท่าน ๆ คนเดินดินกินข้าวแกงทั่วไปที่อยู่กับความจำเจ หาเช้ากินค่ำ ขาดสีสัน ไม่มีที่ทางอะไรในประวัติศาสตร์
ในขณะที่บางเรื่องราวน่าสนใจเพราะมีเนื้อหามาก โลดโผน ตื่นเต้น อัดแน่นด้วยความน่าพิศวงและคาดไม่ถึง เช่นชีวิตของนักคิดนักเขียนอย่าง “จิตร ภูมิศักดิ์” ผู้ซึ่งระหกระเหินอยู่ในป่าดื่มกินอุดมการณ์แทนข้าว ชีวิตของผู้อภิวัฒน์อย่าง “ปรีดี พนมยงค์” ที่พลาดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ อย่างถึงรากถึงโคนหรือแม้กระทั่งชีวิตของนักธุรกิจและนักการเมืองอย่าง ”ทักษิณ ชินวัตร” ที่พลิกผันเสียจนตนเองก็คงคาดไม่ถึง
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเรื่องราวของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ แม้จะทำอะไรไว้มากพอสำหรับการกล่าวขานถึงของคนรุ่นหลังจะถูกตีความไปในทางดีเสมอไป (เป็นการยากที่จะตีความเรื่องราวของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ให้เป็นบุคคลที่ยกย่องเชิดชูชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์โดยไม่กระอักกระอ่วนใจ ส่วน “ปรีดี พนมยงค์” นั้นมีความพยายามกันหลายฝ่ายจนประสบความสำเร็จในการแต่งแต้มตบแต่งเรื่องราวเรื่องเล่าให้กลายเป็นผู้ปกป้องสถาบัน)
คนบางคนสามารถบิดผันเรื่องราวและบทบาทเลวร้ายให้กลายเป็นเรื่องเล่าว่าด้วยความดีงามไปเสียได้ เช่นการฆาตกรรมนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย แต่กลับถูกสร้างให้กลายเป็นเรื่องของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และกระทั่งบัดนี้ ในการรับรู้กระแสหลักก็ยังคงเป็นเช่นเดิม นักศึกษาในเวลานั้นยังคงเป็น “ผู้ร้าย” เสมอมา
เราจึงเห็นได้ว่าการสร้างพล็อตให้ตนเองและฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด การสร้างข้อมูลเท็จ หลักฐานปลอม เป็นเรื่องที่ปกติอย่างยิ่งสำหรับสังคมและการเมืองไทยซึ่งอยู่ภายใต้เงาสลัวของจอมบงการตลอดมา
จะว่าไปแล้วเราสร้างพล็อตให้กับสิ่งต่าง ๆ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว การสร้างพล็อตเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นวิธีการในการจัดระเบียบเนื้อหาข้อมูล ช่วยให้เข้าใจได้ง่าย สะดวกในการจดจำและประเมินค่า
จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่มีการสร้างพล็อตให้กลุ่มคนเสื้อแดง มีการสร้างพล็อตให้คนเสื้อเหลือง มีการสร้างพล็อตให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แต่ออกจะเข้าใจได้ยากหรือทำใจยอมรับได้ยากอยู่บ้างที่ฝ่ายเสื้อแดงได้รับบทเป็นผู้ร้ายเสมอมา
คนเสื้อแดงถูกจัดให้เป็นผู้ร้ายเสมอ ไม่ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือผิดก็ตามทั้งนี้เพราะพล็อตของคนเสื้อแดงนั้นไปด้วยกันไม่ได้กับพล็อตใหญ่ซึ่งเป็นพล็อตหลัก (เพราะฉะนั้นคนเสื้อแดงทำความดีให้ตายก็ไม่มีประโยชน์ พล็อตของคนเสื้อแดงเป็นการเพิ่มพลังอำนาจของประชาชนซึ่งไม่มากก็น้อยย่อมกระทบกับอำนาจที่มีอยู่เดิมของจอมบงการ) ในขณะที่ฝ่ายเสื้อเหลืองซึ่งยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน ทำสิ่งสามานย์ร้อยสิ่งพันอย่างกลับกลายเป็นผู้ก่อการดี
ไปไกลกว่านั้น คือการสร้าง “พล็อตซ้อนพล็อต” ซึ่งปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาสาธารณชนในกรณีของคุณ “ศิวรักษ์ ชุติพงษ์” วิศวกรชาวไทยที่ถูกจับกุมคุมขังในคุกกัมพูชาเพราะ “รับงาน” เป็น “ตัวละคร” ตามพล็อตที่ฝั่งรัฐบาลเขียนให้ แต่เมื่อเหตุการณ์กลับตาลปัตร ไม่เป็นไปตามที่วางไว้ ก็มีการสร้างพล็อตขึ้นมาใหม่คลุมทับให้กลายเป็นตัวละครของฝั่งตรงข้ามไป การตกระกำลำบากอยู่ในคุกเขมรถูกลดค่าให้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพล็อตหรือนิยายแหกตา ความเจ็บปวดรวดร้าวซึ่งเกิดขึ้นจริงกลายเป็นละครฉากหนึ่งเท่านั้น
คำถามคือเมื่อไหร่ที่คนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จะเขียนพล็อตหรือสร้างพล็อตได้เอง? เมื่อไหร่ที่คนเสื้อแดงจะเขียนพล็อตให้ตนเองกล้าหาญพอที่จะหักกับพล็อตหลักของจอมบงการได้หากว่ามันจำเป็น?