ฉันถามเด็กหญิงมุสลิมตัวน้อย เธอเอียงคอ อมยิ้มอย่างเขินอาย ใบหน้ากลมๆ นั้นล้อมกรอบด้วยฮิญาบสีขาว
"บอกหน่อยน่า อยากรู้" ฉันแกล้งเซ้าซี้
"เอาไว้จับแมลง" เธอตอบอุบอิบด้วยเสียงกระซิบ
"น่าสนใจจังเลย" ฉันทำเสียงตื่นเต้น ขณะก้มดูต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงในกระถางดินเผา
.......
แสงแดดยามสายปลายเดือนมกราคมกำลังอาบไล้ยอดหญ้าหน้าห้องสมุดหลังเล็กของโรงเรียนบ้านในไร่ มีกลิ่นน้ำเค็มเจือจางอยู่ในสายลม ต้นไม้อายุน้อยหลายต้นกำลังเติบโตงอกงาม อาคารเรียนและห้องสมุดดูมั่นคงแข็งแรง หนังสือนิทานเล่มใหม่วางรอเด็กๆ อย่างสดชื่นราวกับไม่เคยผ่านเหตุการณ์รุนแรงใดๆ มาก่อน
เด็กหญิงคนนี้ยังเล็กอยู่มาก เมื่อคลื่นมหาภัยซัดเข้าใส่ชุมชนบ้านเกิดของเธอบนฝั่งทะเลอันดามัน น้ำพัดพาทุกอย่างหายไป เหลือไว้แต่ความเจ็บปวดสูญเสียที่ยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำของคนจำนวนมากในอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา แต่ไม่ใช่ในแววตาสดใสของเธอ
.......
"แมลงมันจะตกลงไปในนั้น" เธอบอกและเผลอชะโงกเข้ามาดูด้วย ศีรษะกลมๆ ที่คลุมผ้าไว้เฉียดปลายคางของฉัน
"ในหม้อมันมีน้ำหวานล่อให้แมลงลงไป" เด็กชายผิวเข้มอีกคนเข้ามาช่วยตอบ ตาคมของเขามีแววกระตือรือร้น
"แล้วถ้าไม่มีแมลงตกลงไปล่ะคะ มันจะกินอะไร" ฉันลองภูมิ
"มันเก๊าะกินน้ำไง" เด็กชายตอบแล้วยิ้มโชว์ฟันขาว ฉันมารู้ภายหลังว่าเขาเป็นคนรดน้ำต้นไม้
.......
ปลายธันวาคม 2547 ชุมชนมุสลิมแห่งนี้แทบสิ้นเนื้อประดาตัว เมื่อเครื่องมือทำกินรวมทั้งเรือและบ้านเรือนสูญหายไปในพริบตา รอยยิ้มบนใบหน้าของทุกคนหายไป และเมื่อน้ำแห้ง หัวใจทุกคนกลับแห้งยิ่งกว่า เมื่อพบว่าผืนดินที่อยู่อาศัยมานานนับร้อยปีมีคนอ้างกรรมสิทธิ์
ความพยายามต่อสู้เพื่ออยู่อาศัยในแผ่นดินเกิดของชาวบ้านเป็นข่าวในสื่อหลายแขนง ฉันขออนุญาตไม่เล่าถึงช่วงเวลาอันขมขื่นเหล่านั้น เพราะวันนี้ มีแววตาสุกใสหลายคู่อยู่ตรงหน้า
"ชอบอ่านหนังสือหรือคะ" ฉันถาม มีรอยยิ้มร่าแทนคำตอบ ฉันรู้มาว่า ห้องสมุดฟื้นตัวพร้อมกับความสุขของเด็กๆ
"ชอบอ่านเรื่องอะไรเอ่ย"
พวกเขามองปราดไปที่ชั้นหนังสือเล็กๆ ข้างหน้าต่าง ภาพพ่อมดน้อยกับผ้าคลุมและไม้กายสิทธิ์โดดเด่นอยู่บนหน้าปก
"อ๋อ แฮรี่พอตเตอร์" ฉันพูด เด็กๆ ยิ้มพยักเพยิด
"เหรอๆ ดีจัง ชอบเหมือนกันเลย" ฉันดีใจที่รู้ว่าเด็กๆ มีหนังสือเล่มโปรด ในยุคสมัยที่เด็กรุ่นใหม่นิยมเกมคอมพิวเตอร์ เด็กของชุมชนบ้านในไร่ใช้เวลาในห้องสมุด
วรรณกรรมเรื่องดังของเจ.เค.โรวลิ่ง ครบชุด ๗ เล่ม ใหม่เอี่ยมด้วยเงินบริจาคของผู้ใหญ่ใจดีหลายคน เด็กชายเล่าด้วยท่าทีอายๆ ว่าเพิ่งอ่านไปถึงเล่มที่สอง เพราะอ่านหนังสือไม่เก่ง แต่ในท่าทีนั้นบ่งบอกว่าเจ้าตัวตั้งใจจะอ่านให้ครบทุกเล่ม
เราแลกเปลี่ยนกันเรื่องตัวละครที่ชอบ ฉันเหมาสัตว์ทุกตัวในเรื่อง นับตั้งแต่ เฮ็ดวิก นกฮูกหิมะแสนสวย พิกวิดเจียน นกฮูกจิ๋วผู้กระตือรือร้น ไปจนถึงครุกแชงก์ แมวสีส้มขาโก่งที่มีหางเหมือนแปรงล้างขวด แต่หนุ่มน้อยฟันขาวชอบแฮรี่ เด็กชายผู้รอดชีวิต (จากคนที่คุณรู้ว่าใคร) และแน่นอน เด็กหญิงของฉันชอบเฮอร์ไมโอนี่ สาวน้อยแสนฉลาด
"เขาเก่ง" เธอบอกด้วยเสียงกระซิบ ในขณะที่เด็กชายมีสีหน้าสดใสเมื่อนึกถึงการแข่งขันกีฬาควิดดิชบนอากาศ และการเรียนวิชาที่น่าสนุกสนานในโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์
"อยากเรียนวิชาคาถาแบบแฮรี่"
"ถ้าได้เรียนจริงๆ จะเสกอะไรเหรอ" ฉันสนใจอยากรู้ เด็กชายอมยิ้มแทนคำตอบ แววตาคมนั้นมีความลับ
.......
ในวันเวลาแห่งความตื่นตระหนกและเสียขวัญ จินตนาการอันสวยงามของนิทานและวรรณกรรมช่วยเด็กๆ เหล่านี้เอาไว้
ไม่ต่างจากผู้ใหญ่หลายคนที่แม้รู้ว่าดวงจันทร์เป็นดาวเคราะห์ เต็มไปด้วยหลุมบ่อขรุขระ ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่เราก็ยังสมัครใจที่จะหลงไหลในนวลแสงจันทร์ รำพันบทกวี แทนที่จะฝันถึงนีล อาร์มสตรอง
บางครั้งคลื่นลมปรวนแปร มรสุมอาจซัดใส่ชีวิตของเรา และพัดพาทุกอย่างหายไป จินตนาการถึงวันที่สว่างไสวสวยงาม นำพาให้เราเดินต่อไปอย่างเข้มแข็ง
ฉันมองพ่อมดน้อยข้างหน้าต่างอีกครั้งหนึ่ง เวทมนตร์ไม่ได้มีอยู่เพียงในนิทาน ต้นไม้ที่กำลังโต อาคารเรียนและห้องสมุดหลังใหม่ หนังสือนิทานหลายร้อยเล่มที่กลับคืนมาหาเด็กๆ ราวเนรมิต เป็นเวทมนตร์จากน้ำใจของผู้ใหญ่มากมายที่ห่วงใยหัวใจเล็กๆ
จะกี่ครั้งที่พังทลาย แต่ทุกอย่างซ่อมแซม สร้างขึ้นใหม่ได้เสมอ เช่นเดียวกับแววตาสดใสของเด็กๆ และรอยยิ้มแห่งความหวังของคนบ้านในไร่
อย่างที่ไอสไตน์กล่าวไว้ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้
....................
สะท้อนใจกับดวงตาในภาพนี้ เป็นภาพเด็กนักเรียนมุสลิมในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ดินแดนที่เด็กๆ ผ่านเรื่องราวเสียขวัญมามากมาย หนูน้อยคนนี้วัยเดียวกับสาวน้อยในเรื่องของฉัน แต่ประกายตาผิดกันมาก
(ขอบคุณภาพจาก http://www.flickr.com/)
ดูยิ้มของหนุ่มน้อยบ้าง ภาพนี้ที่ภูเก็ต งานรำลึกเหตุการณ์สึนามิ
(ขอบคุณภาพจาก http://www.basuki.com/)