Skip to main content
"หม้อนี้เอาไว้ทำอะไรเอ่ย"

ฉันถามเด็กหญิงมุสลิมตัวน้อย เธอเอียงคอ อมยิ้มอย่างเขินอาย ใบหน้ากลมๆ นั้นล้อมกรอบด้วยฮิญาบสีขาว

"บอกหน่อยน่า อยากรู้" ฉันแกล้งเซ้าซี้

"เอาไว้จับแมลง" เธอตอบอุบอิบด้วยเสียงกระซิบ

"น่าสนใจจังเลย" ฉันทำเสียงตื่นเต้น ขณะก้มดูต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงในกระถางดินเผา

.......


แสงแดดยามสายปลายเดือนมกราคมกำลังอาบไล้ยอดหญ้าหน้าห้องสมุดหลังเล็กของโรงเรียนบ้านในไร่ มีกลิ่นน้ำเค็มเจือจางอยู่ในสายลม ต้นไม้อายุน้อยหลายต้นกำลังเติบโตงอกงาม อาคารเรียนและห้องสมุดดูมั่นคงแข็งแรง หนังสือนิทานเล่มใหม่วางรอเด็กๆ อย่างสดชื่นราวกับไม่เคยผ่านเหตุการณ์รุนแรงใดๆ มาก่อน


เด็กหญิงคนนี้ยังเล็กอยู่มาก เมื่อคลื่นมหาภัยซัดเข้าใส่ชุมชนบ้านเกิดของเธอบนฝั่งทะเลอันดามัน น้ำพัดพาทุกอย่างหายไป เหลือไว้แต่ความเจ็บปวดสูญเสียที่ยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำของคนจำนวนมากในอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา แต่ไม่ใช่ในแววตาสดใสของเธอ

.......


"แมลงมันจะตกลงไปในนั้น" เธอบอกและเผลอชะโงกเข้ามาดูด้วย ศีรษะกลมๆ ที่คลุมผ้าไว้เฉียดปลายคางของฉัน

"ในหม้อมันมีน้ำหวานล่อให้แมลงลงไป" เด็กชายผิวเข้มอีกคนเข้ามาช่วยตอบ ตาคมของเขามีแววกระตือรือร้น

"แล้วถ้าไม่มีแมลงตกลงไปล่ะคะ มันจะกินอะไร" ฉันลองภูมิ

"มันเก๊าะกินน้ำไง" เด็กชายตอบแล้วยิ้มโชว์ฟันขาว ฉันมารู้ภายหลังว่าเขาเป็นคนรดน้ำต้นไม้

.......


ปลายธันวาคม 2547 ชุมชนมุสลิมแห่งนี้แทบสิ้นเนื้อประดาตัว เมื่อเครื่องมือทำกินรวมทั้งเรือและบ้านเรือนสูญหายไปในพริบตา รอยยิ้มบนใบหน้าของทุกคนหายไป และเมื่อน้ำแห้ง หัวใจทุกคนกลับแห้งยิ่งกว่า เมื่อพบว่าผืนดินที่อยู่อาศัยมานานนับร้อยปีมีคนอ้างกรรมสิทธิ์


ความพยายามต่อสู้เพื่ออยู่อาศัยในแผ่นดินเกิดของชาวบ้านเป็นข่าวในสื่อหลายแขนง ฉันขออนุญาตไม่เล่าถึงช่วงเวลาอันขมขื่นเหล่านั้น เพราะวันนี้ มีแววตาสุกใสหลายคู่อยู่ตรงหน้า

 

"ชอบอ่านหนังสือหรือคะ" ฉันถาม มีรอยยิ้มร่าแทนคำตอบ ฉันรู้มาว่า ห้องสมุดฟื้นตัวพร้อมกับความสุขของเด็กๆ

"ชอบอ่านเรื่องอะไรเอ่ย"

พวกเขามองปราดไปที่ชั้นหนังสือเล็กๆ ข้างหน้าต่าง ภาพพ่อมดน้อยกับผ้าคลุมและไม้กายสิทธิ์โดดเด่นอยู่บนหน้าปก

"อ๋อ แฮรี่พอตเตอร์" ฉันพูด เด็กๆ ยิ้มพยักเพยิด

"เหรอๆ ดีจัง ชอบเหมือนกันเลย" ฉันดีใจที่รู้ว่าเด็กๆ มีหนังสือเล่มโปรด ในยุคสมัยที่เด็กรุ่นใหม่นิยมเกมคอมพิวเตอร์ เด็กของชุมชนบ้านในไร่ใช้เวลาในห้องสมุด


วรรณกรรมเรื่องดังของเจ.เค.โรวลิ่ง ครบชุด ๗ เล่ม ใหม่เอี่ยมด้วยเงินบริจาคของผู้ใหญ่ใจดีหลายคน เด็กชายเล่าด้วยท่าทีอายๆ ว่าเพิ่งอ่านไปถึงเล่มที่สอง เพราะอ่านหนังสือไม่เก่ง แต่ในท่าทีนั้นบ่งบอกว่าเจ้าตัวตั้งใจจะอ่านให้ครบทุกเล่ม


เราแลกเปลี่ยนกันเรื่องตัวละครที่ชอบ ฉันเหมาสัตว์ทุกตัวในเรื่อง นับตั้งแต่ เฮ็ดวิก นกฮูกหิมะแสนสวย พิกวิดเจียน นกฮูกจิ๋วผู้กระตือรือร้น ไปจนถึงครุกแชงก์ แมวสีส้มขาโก่งที่มีหางเหมือนแปรงล้างขวด แต่หนุ่มน้อยฟันขาวชอบแฮรี่ เด็กชายผู้รอดชีวิต (จากคนที่คุณรู้ว่าใคร) และแน่นอน เด็กหญิงของฉันชอบเฮอร์ไมโอนี่ สาวน้อยแสนฉลาด


"เขาเก่ง" เธอบอกด้วยเสียงกระซิบ ในขณะที่เด็กชายมีสีหน้าสดใสเมื่อนึกถึงการแข่งขันกีฬาควิดดิชบนอากาศ และการเรียนวิชาที่น่าสนุกสนานในโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์

"อยากเรียนวิชาคาถาแบบแฮรี่"

"ถ้าได้เรียนจริงๆ จะเสกอะไรเหรอ" ฉันสนใจอยากรู้ เด็กชายอมยิ้มแทนคำตอบ แววตาคมนั้นมีความลับ

.......


ในวันเวลาแห่งความตื่นตระหนกและเสียขวัญ จินตนาการอันสวยงามของนิทานและวรรณกรรมช่วยเด็กๆ เหล่านี้เอาไว้


ไม่ต่างจากผู้ใหญ่หลายคนที่แม้รู้ว่าดวงจันทร์เป็นดาวเคราะห์ เต็มไปด้วยหลุมบ่อขรุขระ ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่เราก็ยังสมัครใจที่จะหลงไหลในนวลแสงจันทร์ รำพันบทกวี แทนที่จะฝันถึงนีล อาร์มสตรอง


บางครั้งคลื่นลมปรวนแปร มรสุมอาจซัดใส่ชีวิตของเรา และพัดพาทุกอย่างหายไป จินตนาการถึงวันที่สว่างไสวสวยงาม นำพาให้เราเดินต่อไปอย่างเข้มแข็ง


ฉันมองพ่อมดน้อยข้างหน้าต่างอีกครั้งหนึ่ง เวทมนตร์ไม่ได้มีอยู่เพียงในนิทาน ต้นไม้ที่กำลังโต อาคารเรียนและห้องสมุดหลังใหม่ หนังสือนิทานหลายร้อยเล่มที่กลับคืนมาหาเด็กๆ ราวเนรมิต เป็นเวทมนตร์จากน้ำใจของผู้ใหญ่มากมายที่ห่วงใยหัวใจเล็กๆ


จะกี่ครั้งที่พังทลาย แต่ทุกอย่างซ่อมแซม สร้างขึ้นใหม่ได้เสมอ เช่นเดียวกับแววตาสดใสของเด็กๆ และรอยยิ้มแห่งความหวังของคนบ้านในไร่


อย่างที่ไอสไตน์กล่าวไว้ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

....................

 

สะท้อนใจกับดวงตาในภาพนี้ เป็นภาพเด็กนักเรียนมุสลิมในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ดินแดนที่เด็กๆ ผ่านเรื่องราวเสียขวัญมามากมาย หนูน้อยคนนี้วัยเดียวกับสาวน้อยในเรื่องของฉัน แต่ประกายตาผิดกันมาก
(ขอบคุณภาพจาก http://www.flickr.com/)

 


ดูยิ้มของหนุ่มน้อยบ้าง ภาพนี้ที่ภูเก็ต งานรำลึกเหตุการณ์สึนามิ
(ขอบคุณภาพจาก
http://www.basuki.com/)

 

 

บล็อกของ มูน

มูน
 ๑.ฉันรักฤดูร้อน เช่นเดียวกับรักฤดูฝน และฤดูหนาวการได้รอคอยชีวิตชีวาที่มากับความเปลี่ยนแปลง การได้เห็นดอกไม้ที่บานปีละครั้ง ได้ลิ้มรสพืชผักผลไม้ประจำฤดูกาล เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของชีวิต สมัยเป็นเด็ก ฤดูร้อนของฉันคือการปั้นดินเหนียว ดีดลูกหิน ทอยตุ๊กตุ่น เป่ากบ เก็บฝักต้อยติ่งมาแช่น้ำให้แตกดังเปรี๊ยะๆ หรือเดินท่อมๆ ไปช้อนปลาตามท้องร่อง เด็ดใบเรียวของหญ้าคามาพุ่งแข่งกัน ตัดก้านกล้วยมาผ่าเป็นปืนยิงดังตั้บ ตั้บ เด็ดดอกหญ้าแพรกมาเล่นตีไก่ เก็บดอกตูมของหางนกยูงมาแหวกเอาเกสรเกี่ยวกันเล่น หรือไม่ก็เด็ดก้านหญ้าแห้วหมูมาสานรังตั๊กแตนวันดีคืนดี มีบ้านใครสักคนวิดบ่อ…
มูน
๑.คืนวันในภาพถ่าย  พ.ศ.๒๕๐๔ นางสงกรานต์ชื่อ กิริณีเทวี ทัดดอกมณฑา หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จประทับเหนือคชสาร
มูน
"ระหว่างแมวกับหมา เธอรักอะไรมากกว่ากัน"อยู่ๆ เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งก็ตั้งคำถามกับฉัน"ถามทำไม งานวิจัยชิ้นใหม่เหรอ" ฉันแกล้งย้อน"ก็อยากรู้อ้ะ เห็นเลี้ยงแมวหมาเต็มบ้าน น่ารักรึก็ไม่น่ารักสักกะตัว ขี้เรื้อนอีกต่างหาก""ขาดแมวก็เหงา ขาดหมาเราคงเสียใจ ไม่อยากจะเลือกใคร อยากเก็บเอาไว้ทั้งสองตัว" ฉันตอบเป็นเพลงทาทายัง"แต่ฉันว่าเธอน่าจะรักแมวมากกว่า" เธอสรุป "เพราะเธอขยันเก็บแมวมากกว่าเก็บหมา"
มูน
"ผมไม่กล้ามานอนแถวนี้อีกเลย" ได้ยินเสียงคนขับรถคุยกับผู้โดยสารบางคน บนเส้นทางระหว่างบ้านสุขสำราญ จังหวัดระนอง ถึงอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แม้สภาพปรักหักพังทั้งหมดจะไม่หลงเหลือให้เห็น แต่ร่องรอยซ่อมแซมบ้านเรือน รวมทั้งถนนสายยาว ยังคงบอกเล่าเรื่องราวในอดีตฉันเฝ้ามองอย่างตั้งใจประทับความทรงจำในท้องถิ่นที่เพิ่งมีโอกาสผ่านมาเห็นเป็นครั้งแรก ต้นไม้เรียงรายผ่านสายตาตามความเร็วของรถที่แล่นตะบึงไปข้างหน้า แต่ความคิดคำนึงของฉันกำลังเดินช้าๆ และถอยหลัง .......
มูน
"หม้อนี้เอาไว้ทำอะไรเอ่ย" ฉันถามเด็กหญิงมุสลิมตัวน้อย เธอเอียงคอ อมยิ้มอย่างเขินอาย ใบหน้ากลมๆ นั้นล้อมกรอบด้วยฮิญาบสีขาว"บอกหน่อยน่า อยากรู้" ฉันแกล้งเซ้าซี้"เอาไว้จับแมลง" เธอตอบอุบอิบด้วยเสียงกระซิบ"น่าสนใจจังเลย" ฉันทำเสียงตื่นเต้น ขณะก้มดูต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงในกระถางดินเผา.......
มูน
ฉัน เกร็งแขนจับไม้ไผ่ลำยาว ค่อยๆ แหวกกอผักกระเฉดที่กำลังทอดยอดงามอยู่ในบ่อ เพื่อเขี่ยซากงูเห่าตัวเขื่องขึ้นมาบนตลิ่ง ลำตัวงูอุ้มน้ำไว้จนบวมพองเท่าต้นแขน สมาชิกสี่ขาที่ยืนลุ้นอยู่รอบบ่อประสานเสียงเห่า “ใครไม่เกี่ยวถอยไป” ฉันตวาด เมื่อเห็นสองสามตัวถลาเข้ามา ฉัน นั่งยองๆ มองซากงู นอกจากจะบวมอืดเพราะแช่น้ำแล้ว รอยฉีกขาดกลางลำตัวเพราะคมเขี้ยวหมา ยังทำให้เห็นงูตัวน้อยๆ จำนวนมาก ฉันรู้สึกเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก แม่งูเอ๋ย กินน้ำบ่อไหน กินน้ำบ่อหิน บินไปก็บินมา
มูน
นอกเหนือจากการเดินทางระหว่างจังหวัด สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ฉันจำเป็นต้องใช้เวลาไปนั่งทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงเจ้าสี่ขา เป็นบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ริมถนนสายใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นทางรถไฟ ไปอีกไม่ไกลคือท่าอากาศยานดอนเมือง รถบนถนนแล่นผ่านไปมาด้วยความเร็วสูง รถไฟฉึกฉักผ่านวันละหลายขบวน สลับด้วยเครื่องบินนานาชาติที่ขึ้นลงวันละหลายเวลา ชีวิตที่นั่นส่วนหนึ่งจึงอื้ออึงด้วยเสียงรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน บางครั้งผลัดกันมา บางครั้งก็มาพร้อมๆ กัน หากไม่เอาเรื่องหูอื้อมาเป็นประเด็น ข้อดีที่ฉันหาได้คือ มันทำให้เราใส่ใจฟังคนอื่นพูดมากขึ้น (ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ยิน) และรู้จักที่จะเว้นวรรคคำพูดให้ถูกกาลเทศะ…
มูน
ท้องฟ้าเพิ่งหมาดฝน ฉันแนบหน้ากับกระจกเย็นเฉียบ มองสิ่งปลูกสร้างหลากรูปทรงที่แออัดกันอยู่ในคลองสายตารู้สึกอ้างว้าง ในห้องโถงร้างคนบนชั้น ๓๔ ของอาคารสูงกลางมหานครเมื่อวานฉันยังเดินเท้าเปล่าอยู่ริมลำธารเล็กๆ ที่ไหลมาจากเทือกเขาสอยดาว ฟังเรื่องราวของเกษตรกรที่อุตสาหะพลิกฟื้นผืนดิน หวังปลดภาระหนี้สินที่มากับความลำบากยากจน วันนี้ฉันกลับต้องมานั่งหนาวอยู่ในห้องที่มีผนังสีทึม กับพื้นพรมนุ่มหนากว่าฟูกที่บ้าน เพื่อรอพบใครคนหนึ่ง รู้สึกเหมือนเป็นตัวละครในหนังเรื่อง JUMPER ต่างแต่เพียงว่า การเปลี่ยนสถานที่ของฉันบางครั้งไม่ได้เกิดจากความสมัครใจแฟ้มเอกสารในมือมีข้อมูลบุคคล ระบุระดับการศึกษาปริญญาตรี โท เอก…
มูน
ฝนเทลงมาเหมือนฟ้ารั่วฉันยืนหัวเปียกอยู่ริมถนน มองระดับน้ำที่เอ่อขึ้นมาจนปริ่มขอบทางเท้า ถอนใจอย่างหมดหวังที่จะฝ่าการจราจรอัมพาตไปให้ถึงขนส่งสายใต้ รถบขส.กรุงเทพ-ด่านช้าง สายเดียวที่ฉันสามารถโดยสารกลับไปบ้านสี่ขาหมดไปนานแล้ว เป็นอันว่าคืนนี้ฉันต้องกลายเป็นนกขมิ้นเหลืองอ่อนหาที่นอนในเมืองกรุง“ฝนเอยทำไมจึงตก ฝนเอยทำไมจึงตก จำเป็นต้องตกเพราะว่ากบมันร้อง” ฉันฮัมเพลงสลับจามไปเรื่อยๆ อากาศชื้นเย็นแต่รู้สึกใบหน้าร้อนผ่าวและปวดขมับตุบๆ “กบเอยทำไมจึงร้อง กบเอยทำไมจึงร้อง จำเป็นต้องร้องเพราะว่าท้องมันปวด”
มูน
๑.เรากำลังจะไปไหนฉันถามตัวเองในวันหนึ่ง ขณะยืนเคว้งคว้างกลางคลื่นคนที่เดินสวนกันไปมาหนาแน่นเพื่อเข้าออกและสับเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีสยาม สงสัยว่าถ้าจะต่อรถอีกขบวนหนึ่ง ควรจะลงบันไดไปชั้นล่าง หรือขึ้นบันไดต่อไปชั้นบน งุนงงสับสนกับความรีบเร่งที่อยู่รอบๆ ตัวหนีความพลุกพล่านมาเกาะพักอยูริมระเบียง มองฝ่าหมอกควันสีเทาจางไปไกลๆ เห็นแต่ตึกสูงแน่นขนัด เบื้องล่างคือขบวนรถยาวเหยียด สารพัดเสียงอื้ออึงเต็มสองหูนาทีนั้น ฉันรู้สึกว่าราวเหล็กที่จับอยู่เป็นระเบียงไม้ของบ้านไต้ถุนสูง มองไกลออกไปเห็นทิวเขาทอดยาว และไหลเอื่อยช้าเบื้องล่าง คือแม่น้ำที่ไหลผ่านบ้านเกิดของฉันไม่ว่าเมื่อไร…
มูน
“ขอบคุณมากนะที่มาเจอกัน วันนี้ช่างเป็นวันดีจริงๆ” ชิว สู เฟิน พูดด้วยรอยยิ้มแจ่มใส เอื้อมมือมาบีบแขนฉันเบาๆเธอเป็นคนไต้หวันที่มาอาศัยอยู่ในเมืองไทย และพูดไทยเก่งมาก“ฉันเป็นคนไทเป” เธอเล่าให้ฟัง “คุณเชื่อไหม เมื่อก่อนฉันคิดว่าฉันสวยนะ”ใบหน้าไร้เครื่องสำอางนั้นขาวผ่องสดใส ฉันนึกแปลกใจในถ้อยคำของเธอ ชิว สู เฟิน หัวเราะเมื่อเล่าต่อว่า“เสื้อผ้าฉันต้องซื้อที่ฮ่องกง กระเป๋าต้องซื้อที่ฝรั่งเศส เวลาใส่ชุดสวยๆ ออกจากบ้าน โอ มีความสุขมากเลย แต่สุขได้สามวัน มีคนใส่ชุดสวยกว่าฉันอีก ฉันมีความทุกข์แล้ว วันๆ ฉันก็นั่งอยู่ในตลาดหุ้น ขยันหาเงินเพื่อแข่งกับคนอื่นๆ”เธอยกมือขาวๆ ที่ว่างเปล่าขึ้นมา“ฉันชอบใส่เพชร…
มูน
ฉันขี่รถเครื่องฝ่าแดดร้อนเปรี้ยงออกจากหมู่บ้านไปตลาดในอำเภอ ด้วยภารกิจสำคัญสองประการที่ไม่สามารถทำได้แถวๆ บ้านสี่ขาที่อยู่ริมทุ่งนาและคอกควาย หนึ่งคือการหาซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์ กับสอง ตามหาสาวยาคูลท์ภารกิจสองอย่างนี้เกี่ยวกันยังไง แล้วสำคัญขนาดไหนถึงทำให้ฉันต้องเอาผิวเหี่ยวๆ ของตัวเองออกมาทำเนื้อแดดเดียวตอนบ่ายโมงกว่าๆ ที่จัดว่าเป็นช่วงเวลาร้อนที่สุดของวันฉันสงสัย ว่าจะมีใครสงสัยหรือเปล่า ว่าฉันกำลังจะเล่าเรื่องอะไร และเล่าทำไมไอ้ที่ว่าจะเล่าเรื่องอะไรนั้น ฉันพอจะรู้ละ ก็ฉันกำลังจะเล่าอยู่เดี๋ยวนี้ แต่เหตุผลที่ว่า จะเล่าทำไม อันนี้ฉันก็สงสัยตัวเองเหมือนกัน คิดว่าเล่าๆ…