จากการอ่านปาฐกถาของท่านกีรตยาจารย์ ผมพบว่า มีความเห็นบางอย่างที่น่าจะเป็นการมองสังคมอย่างคลาดเคลื่อนไปจึงไคร่อยากจะแสดงความเห็นในมุมของผมบ้างเกี่ยวกับปาฐกถาดังกล่าว ดังนี้
“งานศึกษา ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล โดย พัชราภา ตันตราจิน อาจายร์จากม.บูรพา เนื่องจากเห็นว่า ความคิดของเสกสรรค์สะท้อนโจทย์การเมืองในทศวรรษหลัง 2535 ได้ดีที่สุด”
การที่ท่านกี่ฯเอางานของอ.เสกสรรค์มาเป็นตัวบทในการวิเคราะห์สังคมไทยนับแต่ยุคหลังปี พ.ศ.2535มา ผมเห็นว่าเป็นการมองสภาพปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างคับแคบไป
“วิกฤตในทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยช่วงนั้น คือ วิกฤตรัฐประหาร รสช.-การลุกฮือในปี 2535 กับวิกฤติต้มย้ำกุ้ง
ในแง่ของวิกฤตทางการเมือง ข้อวิเคราะห์ของคนจำนวนมากชี้ไปทางเดียวกันว่า มูลเหตุของปัญหาคือ นักเลือกตั้ง ระบอบเลือกตั้งธิปไตย หรือการเสื่อมรูป กลายรูปของระบอบประชาธิปไตยที่ไปเน้นที่อำนาจของคนที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วไปตัดองค์ประกอบอื่นของระบอบเสรีประชาธิปไตยทิ้งไป ทำให้การเมืองมีปัญหา คอรัปชั่น การฉวยใช้อำนาจ คำตอบที่ได้ช่วงนั้นคือ การเมืองภาคประชาชน หรือการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจมากขึ้นแทนที่จะพึ่งพาแต่นักการเมือง
ในแง่ของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงบทบาทเจ้าของเงินกู้อย่างไอเอ็มเอฟ และสังคมชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า วิกฤตนี้เกิดขึ้นเพราะไทยเข้าสู่ระเบียบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์แบบไม่พร้อม ขาดประสบการณ์ คำตอบสำหรับยุคสมัยนั้นก็หันไปพึ่งเศรษฐกิจแบบอื่น ในนามเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง”
ครับ จากความเห็นของอ.เสกสรรค์ที่ท่านกีฯยกมา ที่การมองว่ามูลเหตุของวิกฤตการเมืองไทยล้วนเกิดขึ้นเพราะ นักเลือกตั้ง ระบอบเลือกตั้งธิปไตย การเสื่อมรูป กลายรูปของระบอบประชาธิปไตยที่ไปเน้นอำนาจของคนที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วไปตัดองค์ประกอบอื่นของระบอบประชาธิปไตยทิ้งไป ทำให้การเมืองมีปัญหาคอรัปชั่น การฉวยใช้อำนาจ ตรงนี้ ผมว่ามันเป็นปัญหาอย่างแน่นอนในความคิดของอ.เสกสรรค์เอง คือ เป็นการมองสภาพสังคมอย่างคับแคบ มองเห็นแต่ในกรอบที่กระแสสังคมในห้วงนั้น รวมทั้งปัจจุบันพยายามสร้างภาพและให้ค่าไว้ คือ ด่าว่า กล่าวหาแต่นักการเมือง การเลือกตั้งว่า เป็นตัวปัญหาของวิกฤตการเมืองไทยโดยมิพักที่จะเงยมองขึ้นไปให้สูงขึ้น พร้อมตั้งคำถามว่า จริงหรือเปล่า ที่วิกฤตต่างๆมันเกิดขึ้นและจะสิ้นสุดได้ก็กับแค่นักการเมือง หรือมันมีสิ่งใด ปัญหาใดที่อยู่เหนือนักการเมือง เหนือระบอบการเลือกตั้งขึ้นไปอีก ซึ่งการมองแบบแคบและไม่กล้าเงยสูงของอ.เสกสรรค์นี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับผม เพราะนับตั้งแต่ได้มีโอกาสติดตามความคิดและผลงานของอ.เสกสรรค์มา ผมพบว่า การมองสังคมอย่างแจ่มชัดของอ.เสกสรรค์หมดสิ้นไปพร้อมกับวัยหนุ่มของท่านแล้ว หรือหากจะให้ระบุชัดๆ ก็น่าจะนับตั้งแต่ออกจากป่ามาแล้วก็ได้ ครับอ.เสกสรรค์หมดสิ้นความน่าสนใจสำหรับผมไปนานแล้ว เพียงแต่ก็รู้สึกแปลกใจว่า ทำไม..? ท่านกีฯของผมถึงยังได้ยกเอาความเห็นที่แคบและมองต่ำๆไม่กล้าเงยสูงของอ.เสกสรรค์มาเป็นคำตอบ เป็นคำอธิบายถึงสภาพปัญหาในสังคมไทยได้
การมองว่าปัญหาทุกสิ่งของวิกฤตการเมืองในประเทศนี้รวมศูนย์อยู่แต่ที่นักการเมืองนั้นมันเป็นปัญหาคือ เมื่อมองไม่สุด ย่อมไม่พบตัวปัญหาที่แท้จริง เมื่อไม่พบปัญหาที่แท้จริง ก็ย่อมแก้ปัญหานั้นไม่ได้ นี่อย่างหนึ่ง อีกอย่างก็คือ เมื่อมองปัญหาไม่สุด ไม่ถูก แต่ดันทุรังจะแก้ มันจึงได้เกิดปรากฏการณ์ปั่นป่วนในสังคมขึ้นมา เคยได้ยินคำเหล่านี้ไหมครับ? เพราะคนมันโง่ จึงเลือกนักการเมืองเลวๆเข้ามา,คนบ้านนอกโง่ ใช้เงินซื้อได้,ไม่อยากให้คนจน คนบ้านนอกมีสิทธิ์เลือกตั้ง ครับ เอาแค่นี้ก่อน นี่ละคือ ปัญหาที่เกิดทับซ้อนขึ้น จากการที่นักวิชาการมองปัญหาสังคมไม่แตก มองแต่บางส่วนแล้วก็พยายามจะหาวิธีการแก้กัน ครับ ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง จากที่ความเลวจะอยู่ที่นักการเมืองกลับกลายไปอยู่กับมวลชน ประชาชนซะงั้น ผมไม่แน่ใจว่าคนที่เสนอความคิดเห็นอย่างมองไม่สุดอย่างอ.เสกสรรค์จะเริ่มเห็นปัญหาที่เกิดต่อเนื่องมาจากความคิดของท่านหรือเปล่า ซึ่งสำหรับท่านกีฯก็เช่นกัน ผมไม่แน่ใจว่าท่านจะเริ่มมองเห็นปัญหาที่เกิดซ้อนทับถมจากการที่ท่านมองอย่างคล้อยตามอ.เสกสรรค์หรือเปล่าครับ...?
พอมองปัญหาไม่ถูก ก็เสนอทางแก้ที่ไม่ถูกเช่นกัน คือ การออกมาเสนอเรื่องการเมืองภาคประชาชน ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมากขึ้นกว่าการพึ่งพานักการเมือง ซึ่งตรงนี้ก็ถูกกลุ่มพันธมิตรหยิบฉวยไปบิดสร้างเป็นการเมืองใหม่ การเมืองคุณธรรมศีลธรรม จนสุดท้ายก็มาเป็นการขอนายกฯพระราชทานซะงั้น
การมองว่าความเลวร้ายของวิกฤตการเมืองไทยล้วนเกิดแต่จากการนักการเมือง การเลือกตั้ง ของอ.เสกสรรค์เป็นการมองอย่างเลยผ่านจุดสังเกตหลายๆประการที่เกิดขึ้นมาในระหว่างสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆในสังคมไทย ไม่ต้องนับไปถึงหลัง2475หรือตอนกบฏบวรเดชก็ได้ เอาแค่ช่วงสมัยที่อ.เสกสรรเป็นหนุ่มออกมาเป็นผู้นำกลุ่มนักศึกษา ตอนนั้นก็มีจุดสังเกตหลายอย่างในประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดไว้ที่แสดงให้เห็นว่า ปัญหาของสังคมไทย มันไม่ใช่แค่นักการเมือง ไม่ใช่แค่ระบอบการเลือกตั้ง แต่มันมีปัญหาใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่หลังม่านที่คอยอยู่เบื้องหลังมาตลอด 14ตุลา2516,6ตุลา2519,ความเป็นไปช่วงรัฐบาลเปรม,จนมีคำสั่ง66/23ที่ทำให้อ.เสกสรรค์ได้ออกจากป่า ต่อเนื่องมาจนรัฐบาลชาติชาย,รัฐประหารของสุจินดา,จนพฤษภาทมิฬ,มาถึงรัฐประหารปี2549จวบจนปัจจุบัน รหัสนัยที่แสดงถึงต้นตอ สาเหตุแห่งปัญหาของสังคมไทยมีปรากฏให้ศึกษา ให้สังเกต ให้เห็นมากมาย แต่น่าเสียดายว่าทั้งอ.เสกสรรและท่านกีฯต่างเลือกที่จะไม่พูด เลือกที่จะเลี่ยงพูดถึง สังคมก็เลยค้นไม่พบสาเหตุแห่งปัญหาและก็ยิ่งสร้างให้การเมืองไทยเกิดปัญหายุ่งเหยิง ยุ่งยาก พอกพูนมากขึ้นไปอีก ทำนองยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง ราวกับลิงแก้แหในสำนวนสุภาษิตไทยนั่นละครับ
มิพักว่าในด้านเศรษฐกิจ อ.เสกสรรค์ก็มองวิกฤตต้มยำกุ้งในช่วงปี2440อย่างแคบอีก ที่กล่าวว่าเกิดจากเจ้าหนี้อย่างไอเอ็มเอฟ และมองว่า วิกฤตนี้เกิดจากการไม่มีประสบการณ์ การไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมโลกของไทย(ประโยคนี้ก็ทำให้ใครหลายคนคิดฝันถึงการปิดประเทศไปเหมือนกัน) ก็ต้องยอมรับครับว่า กระแสแนวคิดอย่างที่อ.เสกสรรค์แสดงมานี้ มันเป็นกระแสแนวคิดหลักในสังคมช่วงนับตั้งแต่ปี40มาเลยเหมือนกัน ใครที่ศึกษาปัญหาเศรษฐกิจ สังคมในช่วงนั้น ย่อมจะได้ผ่านงานความคิดแนวนี้มาแน่นอน ซึ่งในความเห็นของผมก็เห็นด้วยว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกของไทยจริงๆ แต่อีกส่วน เราก็น่าจะมาตั้งคำถามกันว่า ทำไม? มันถึงเป็นเช่นนั้น...? ก็ในเมื่อทั้งระบบการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์และการบัญชีต่างๆของไทยต่างล้วนลอกแบบมาจากตำราเศรษฐศาสตร์ของโลก แต่ทำไม เราถึงได้แตกต่าง เราถึงได้ไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกทั้งๆที่เราก็คิดว่าเรากำลังอยู่ในเศรษฐกิจโลก...? อันนี้ ผมไม่เห็นงานวิจัยไหนที่กล้าออกมาพูดชัดๆ คงเห็นแต่ความคิดเห็นของนักธุรกิจหนุ่มคนหนึ่งที่เคยออกมาพูดไว้เมื่อช่วงเมษาปี2553เท่านั้น ที่ว่า
“ประเด็นนี้จริงชัด เพราะเอกชนอย่างผม เจ้าของธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะเรียกว่าผู้ประกอบการ หรือชนชั้นนายทุนน้อย คนพวกนี้เวลาจะสร้างสรรค์เศรษฐกิจเพื่อสะสมทุนตัวเอง ผลิตอะไรก็ตาม นำเสนอสินค้าหรือบริการอะไรก็ตาม ถ้าเกิดว่าคน 3 คนแข่งขันกัน คุณไปอิงอำนาจรัฐ ไปอิงอำมาตย์แล้วคุณชนะ ต่อไปผมจะเสียเวลามานั่งคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือผมจะเสียเวลามานั่งนำเสนอบริการใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคไปทำไม ผมเสียเวลาไปเลียดีกว่า
“นี่คือ สิ่งที่บอกว่า ทำไมระบบนี้มันทำให้ทุนนิยมไทยหรือเศรษฐกิจไทยพัฒนาไม่ได้ เพราะว่าคนแทนที่จะมานั่งคิดว่าเราจะแข่งขันกันยังไง ... แต่เราคิดกันว่าทำยังไงเราถึงจะเข้าถึงคนชั้นในได้ ฉะนั้น ในแง่นี้ผมก็เป็นไพร่คนหนึ่งเพราะผมไม่ต้องการให้คู่แข่งของผมมาเอาชนะผมได้เพราะอำนาจรัฐ แต่เรามาแข่งกันอย่างเสรี คุณกับผมมาแข่งกัน พัฒนาเทคโนโลยี ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใครทำได้ดีกว่า คนนั้นนเอาชนะใจลูกค้าไป อย่างนี้แฟร์” นายธนาธรกล่าว และว่า ระบบอุปถัมภ์ เป็นต้นตอของการคอร์รัปชัน”
ครับ ประโยคดังกล่าวเป็นการให้สัมภาษณ์ของคุณธนาทร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่อหนังสือพิมพ์มติชน ผมว่า มันน่าจะช่วยอธิบายถึงสาเหตุต้นธารที่ทำให้ภาคส่วนธุรกิจต่างๆของไทยไม่มีพลัง ไม่มีความสามารถ ไม่พร้อมที่จะเข้าแข่งขันในตลาดเศรษฐกิจโลกได้พอสมควร เพราะในระบบเศรษฐกิจโลกมันหาที่จะให้เลียยากยังไงละครับ
และทั้งหมดนี้ก็คือการมองปัญหาสังคมการเมืองไทยของทางฝั่งเสื้อแดงไงครับ ซึ่งในงานของอ.เสกสรรค์จะไม่มีตรงนี้เพราะเป็นงานที่มีออกมาก่อนการขับเคลื่อนอย่างทรงพลังของเสื้อแดง แต่สำหรับท่านกีฯก็ไม่มีเหมือนกัน อันนี้ผมก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไร? ทำไม? นอกจากจสรุปว่า เพราะท่านมองตามอย่างอ.เสกสรรค์กระมัง ท่านก็เลยไม่เห็นครับ
ในส่วนเรื่อง ปัญหาอำนาจทุน เหลืองเห็น แดงไม่เห็น# นั้น ตรงนี้ข้อคิดเห็นของท่านกีฯมีประเด็นให้แย้งอยู่ คือ การที่ท่านกีฯไปยกนักกฎหมายอย่างนิติราษฎรมาเป็นเป็นตัวแทนของฝั่งเสื้อแดง พร้อมทั้งคาดว่า นิติราษฎรจะแสดงความเห็นในทางเศรษฐกิจในเรื่องปัญหาของทุนบ้าง หรือกระทั่งการคิดหวังว่านิติราษฎรจะโดดเข้ามาสู่การเสนอระบบเศรษฐกิจเหมือนที่อ.ปรีดีเคยเสนอสมุดปกเหลืองนั้น อันนี้ ผมคิดว่าท่านกีฯมองนิติราษฎรผิดไป ผมไม่ใช่นิติราษฎรและไม่เคยรู้จักใดๆเป็นการส่วนตัวกับกลุ่มนิติราษฎรด้วย แต่เท่าที่ผมสังเกตจากการติดตามผลงานของนิติราษฎรมา ก็พอบอกได้ว่านิติราษฎรเป็นการรวมตัวของนักกฎหมายที่เห็นปัญหาของกฎหมายต่างๆรวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายต่างๆในระบบตุลาการของสังคมนี้ที่บิดผันผิดเพี้ยนไปจากหลักนิติรัฐ นิติธรรม นิติราษฎรก็เลยเสนอตัวเข้ามาเพื่อเสนอทางแก้ไขปัญหาตรงนี้ อาจจะผูกโยงพ่วงเรื่องคดีนักโทษการเมือง นักโทษทางความคิดที่เกิดจากกฎหมายอาญามาตรา112เข้าไปมากหน่อย แต่สุดท้ายตัวตนที่แท้จริงของกลุ่มนิติราษฎรก็คือ การเป็นนักกฎหมายที่เข้ามาเสนอตัวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากกฎหมาย ดังนั้น การที่ท่านกีฯเสนอว่าอยากให้นิติราษฎรที่เป็นปัญหาชนฝั่งเสื้อแดงแสดงความคิดเห็นหรือให้มองเห็นปัญหาของทุนอะไรนี่ ผมจึงคิดว่า มันผิดฝาผิดตัวนะครับ
ปัญหาเรื่องอำนาจทุนที่นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของโลกโลกาภิวัตน์ที่ท่านกีฯยกความคิดเห็นของอ.เสกสรรค์มานั้น ผมเห็นด้วยว่า มีข้อตกลงหลายๆอย่าง(ผ่านองค์กรต่างๆระดับโลก)ที่มีอำนาจมากกว่าการเมืองท้องถิ่นในรัฐต่างๆ สามารถทำให้รัฐบาลในรัฐต่างๆต้องยอมจำกัดขอบเขตอำนาจของตนในหลายๆเรื่องที่เกี่ยวข้องไป รวมทั้งทุนใหญ่ในประเทศมหาอำนาจก็อาจจะสามารถพลิกผัน เปลี่ยนแปลง หรือกำหนดกฎเกณฑ์บังคับให้รัฐเล็กๆต้องยอมตามได้
แต่การที่จะเชื่อมโยงว่าเพราะระบบระเบียบโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดสภาพสังคมที่ผู้คนมองเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองน้อยลง เสื่อมความยอมรับทางการเมือง และเป็นเหตุให้เกิดปรากฎการณ์อย่างหน้ากากขาวอะไรนี่ ผมว่าเป็นการอธิบายที่ค่อนข้างจะไม่ถูกนะครับ คือ คือ ภาวการณ์ไม่เห็นพ้องต้องกันทางการเมืองที่เกิดจากทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ นี่ น่าจะเอาไปอธิบายกลุ่มคนประเภทนิยมอนาธิปไตยมากกว่านะครับ เพราะพวกนี้จะชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้ใครมาปกครองพวกเขาเลย ซึ่งมันต่างจากกลุ่มหน้ากากขาวที่เป็นการรวมกลุ่มของผู้คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองชี้นำอย่างชัดเจนว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และออกมาเรียกร้องเพื่ออะไร พร้อมทั้งต้องการอะไร และสุดท้ายก็เผยไต๋ให้เห็นแล้วว่า ความต้องการสูงสุดของพวกเขาคืออะไร ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการขับเคลื่อนอย่างมีนัยยะทางการเมือง ซึ่งต่างจากอนาธิปไตยที่เป็นพวกที่ได้รับผลกระทบ หรือเบื่อหน่ายอำนาจทุนโลกาภิวัตน์จริงๆ ก็เลยรวมกลุ่มแสดงเจตจำนงของพวกเขาออกมา
ส่วนความคิดเห็นเรื่องทุนของฝ่ายเหลืองที่ท่านกีฯบอกว่าพวกเขาเห็นปัญหานั้น พวกเขามองอย่างหวาดระแวงทุนมากเกินไป กลัวไปหมด กลัวไปก่อน โดยไม่ย้อนมองว่าวิกฤตอย่างต้มยำกุ้งที่เคยเกิดขึ้นนั้น มันเป็นเพราะอะไร (เป็นเพราะทุนไทยไม่พร้อม) ไม่พร้อมเพราะอะไร...? พวกเขาหวาดระแวง ขลาดกลัวพร้อมจินตนาการเชื่อมโยงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกในสังคมให้มีต้นตอจากทุนไปซะหมด โดยมิพักหยุดคิดและตระหนักบ้างว่า โลกสมัยใหม่ต้องขับเคลื่อนด้วยทุน ทุนนิยมล้อมโลกไว้หมดแล้ว
ทุกวันนี้เราดื่ม เรากิน เราใช้ และเรานอนอยู่กับสิ่งที่เกิดสร้างมาจากระบอบทุนกันทั้งนั้น สมัยก่อนหลายสิ่งหลายอย่างไม่เคยมี แม้กระทั่งการที่ผมได้อ่านความเห็นของท่านกีฯ และท่านอื่นๆได้อ่านความเห็นของผมอยู่นี่ เราก็อ่านกันและเห็นกันจากสิ่งประดิษฐิ์สร้างที่เกิดขึ้นได้เพราะระบอบทุนนิยมกันทั้งนั้น ดังนั้นการที่เราจะเอาความคิดของนักคิดเสื้อเหลือง NGOsสีเหลืองมามาปกคลุมสังคม หล่อหลอมปลูกสร้างให้สังคมขลาดกลัวทุนนิยมอย่างเดียวนี่ ผมว่าไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน
ทุนมันจะดีไม่ดีก็อยู่ที่คนนำไปใช้ เอาไปใช้ศึกษาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆออกมาให้สังคมได้ใช้สอยสะดวกสบายขึ้นมันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเอาทุนเอาเงินไปซื้อปืนมายิงคนมันก็เป็นสิงที่ไม่ดี เราหวาดระแวงเพราะมองคนมีทุนมีเงินในแง่ร้าย นอกจากส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นจากการครอบงำความคิดในสังคมปัจจุบัน อีกส่วนก็เกิดจากการครอบงำมาแต่อดีตผ่านวรรณกรรมเรื่องเล่าต่างๆที่ให้ภาพคนมีเงินว่าเป็นผู้ชั่วร้าย ผู้กอบโกย คดโกงจนรวย ซึ่งไม่มีใครเคยศึกษาวิจัยเลยว่า ทำไมผู้ปกครองในอดีตจึงได้หนุนให้สร้างภาพคนรวยออกมาดูเลวร้ายอย่างนั้น ทั้งที่ เหล่าผู้ปกครองในอดีตต่างก็ร่ำรวยและมีเงินทองจากการเก็บส่วนสาอากรโดยไม่ได้ออกเรี่ยวแรงทำงานเองเลยทั้งนั้น
มินับว่า การมองทุนว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายเลวทรามของนักคิดสีเหลืองนั้น ก็เป็นการมองและกล่าวหาอย่างสองมาตรฐาน คือเลือกที่จะมอง พร้อมทั้งเชื่อมโยงปัญหาของทุนแก่นักการเมือง ผู้ที่มีเงินและเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น โดยไม่กล้ากล่าวหานายทุนที่ร่ำรวยมีธุรกิจครอบคลุมแทบจะทั้งสังคม โดยที่เขาหลบตัวไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือหากเกี่ยวก็เกี่ยวอย่างแอบๆอยู่หลังฉาก ตรงนี้ก็จะช่วยอธิบายให้เราทราบว่า ทำไม การโจมตีทุนสามารย์จึงพุ่งเป้าไปแต่นักการเมือง นายทุนที่เข้ามาสู่ระบบการเมือง แต่กลับยกเว้น ละเลย ไม่แตะต้องกลุ่มธุรกิจนายทุนที่ผูกขาดครอบงำธุรกิจที่เป็นพื้นฐานของสังคม อย่าว่าแต่นักคิดสีเหลืองที่อิงแอบกับศักดินาเลย แม้กระทั่งNGOsที่ชอบอ้างว่าทำงานกับชาวบ้านเพื่อชาวบ้าน มองเห็นชาวบ้านถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบโครงสร้างต่างๆที่นายทุนผูกขาดไว้ก็ยังละเว้นไว้ไม่กล้าแตะ
การณ์ดังนี้ ผมจึงคงไม่ต้องกล่าวถึงทุนอื่นๆที่ยิ่งใหญ่และเปี่ยมบารมีมากกว่านายทุนผูกขาด ทุนอื่นๆที่ร่ำรวยยิ่งใหญ่และไร้การตรวจสอบ ที่ไม่ได้ลงทุนในระบบเศรษฐกิจอะไรเลย แต่สามารถเก็บดอกผลได้จากการทำงานทางวัฒนธรรม ประเพณีและค่านิยมรวมทั้งการมีอำนาจอยู่ข้างบนที่ครอบทุนและสิ่งๆต่างๆในสังคมอีกที... ซึ่งทุนอันนี้ทุกท่านก็คงจะทราบกันอยู่ หรืออย่างน้อยที่สุดท่านกีฯก็น่าจะทราบเป็นอย่างดี เพียงแต่เลือกที่จะไม่กล่าวออกมา
ข้างบนเป็นการตอบปัญหาที่ว่า ทำไม? สังคมไทยจึงเล่นเรื่องความเลวร้ายของทุนเฉพาะบางคน และวรรคตอนนี้จะตอบคำถามที่ว่า เราเป็นสังคมทุนนิยมจริงหรือไม่? ตอบก็คือ เป็น เราเป็นสังคมทุนนิยมแบบอีแอบ คือ ครอบคลุม ครอบงำสังคมด้วยทุน แต่ไม่กล้าที่จะกล้าบอกใครๆว่าตนเป็นนายทุนใหญ่ เพราะอะไร? ก็เพราะตนได้มีส่วนร่วมด้วยช่วยเสริมให้ภาพลักษณ์ของนายทุนดูเลวร้ายในสายตาของสังคมไปแล้ว จึงไม่กล้าที่จะสวมใส่บทบาทนายทุนของตน ซึ่งมันก็ช่วยอธิบายให้เราทราบว่า ทำไมเราจึงเห็นภาพข่าวว่าคนรวย คนมั่งคั่ง นายทุนคนนั้นต้องไปทำบุญที่นั่นที่นี่ นั่นก็เพื่อหวังเอาคราบแห่งการเป็นศาสนิกในศาสนามาห่อคลุมพรางความเป็นนายทุนของตนอีกทีนั่นเอง
ทุนไทยเป็นอยู่และดำรงสืบมาด้วยการสมสยบยอมต่อผู้กุมอำนาจทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม ระบบมันวางต่อเนื่องกันมาอย่างนี้(ลองกลับไปอ่านคำพูดของคุณธนาทรข้างบน) และสำหรับนายทุนที่เข้าสยบยอมแล้ว เขาก็ย่อมสามารถดำเนินกิจการต่างๆได้อย่างอิสระ สามารถผูกขาดและครอบงำตลาดในประเทศนี้ได้ ตราบใดที่ผู้ที่รับการสยบยอมของเขาเห็นว่าเขายังอ่อนน้อมและไม่คิดตีตัวเสมอ ดังนี้ จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายๆฉบับที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการดูดดึงทรัพยากรต่างๆจากคนตัวเล็กตัวน้อย จากคนชนบทเข้ามากระจุกอยู่กับเมืองและคนรวยในเมืองที่มีอยู่แค่ไม่กี่กลุ่ม ชาวบ้านประชาชนทั่วไปถูกทอดทิ้งให้อยู่ไปตามมีตามเกิด เป็นเพียงกลไกอันเล็กๆสำหรับผลิตสร้างกำไรป้อนให้แก่นายทุน พร้อมกับมีความหวังลมๆแล้งๆไปกับการโฆษณาสร้างภาพไปวันๆเท่านั้นเอง
สิ่งเหล่านี้ยังดำเนินสืบเนื่องมาอยู่ อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างก็เมื่อรัฐบาลไทยรักไทยได้ใช้เงินจากรัฐเผื่อแผ่แบ่งปันกลับคืนสู่ประชาชนในรูปกองทุนและสวัสดิการต่างๆบ้างเท่านั้น ซึ่งแม้มันจะเล็กน้อยแต่ก็ทำให้เกิดการตื่นตัวในหมู่ประชาชนมากหลายที่เพิ่งสำนึกรู้ว่า การเมืองมันสามารถให้ผลประโยชน์และความสะดวกสบายรวมทั้งสวัดิการต่างๆแก่พวกตนได้เช่นกัน ประชาชนไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่อย่างหญ้าคอยฟ้าคอยฝน ลมๆแล้งๆอีกต่อไป อันนี้ผมเห็นร่วมด้วยกับที่ท่านกีฯกล่าวมา
ส่วนทางออกในการแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงนั้น ท่านกีฯได้ให้ความหวังกับการเลือกตั้งในระดับต่างๆที่จะช่วยแก้ไขตรงนี้ได้มากกว่าการเมืองภาคประชาสังคมที่จะต้องออกมาก่อม็อบชุมนุม อันนี้ผมก็เห็นด้วย และอยากจะเสริมนิดว่า ประชาชนและ สังคมควรจะใส่ใจดำเนินตามความคิดเห็นของอ.นิธิ เอี่ยวศรีวงค์ที่เสนอให้สังคมผลักดัน กดดันพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนให้ใช้ระบบไพรมารี่โหวตให้ได้ ตรงนี้หากทำได้จะช่วยให้ประชาชนในสังคมสามารถควบคุมและต่อรองกับนักการเมืองที่ตนเลือกได้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะให้นักการเมืองต้องฟังเสียงของประชาชนที่เลือกตนเข้ามา พร้อมทั้งต้องพยายามผลักดันนโยบายต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตรงนี้จะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหานักการเมืองเข้าไปไม่ทำงาน เข้าไปเพื่อหวังกอบโกย หรือกระทั่งการได้เป็นตัวแทนของพรรคเพราะเป็นผู้บริจาครายใหญ่แก่พรรคเช่นที่เป็นอยู่ได้
และที่ท่านกีฯบอกว่า เมื่อรัฐได้ปลุกประชาชนให้ตื่นด้วยการอุดหนุนต่างๆแล้ว หากไม่อยากให้เป็นปัญหาการเงินการคลังอย่างหมักหมมต่อไป ก็ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างโครงการ 2.2ล้านๆ เพื่อรองรับชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ที่เพิ่งหลุดจากการทำเกษตรกรรม อันนี้ผมเห็นด้วย และคิดว่า ประเทศนี้หยุดนิ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยยกระดับประเทศของตนมานานแล้ว สมควรที่จะมีการลงทุนทำเสียที การลงทุนรถไฟเร็วสูงจะเป็นการเปิดโอกาสให้ความเจริญหลั่งไหลออกจากเมืองมากระจายในชนบทมากขึ้น ซึ่งทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้คน เมื่อผู้คนมีการเคลื่อนย้ายไปมาได้อย่างรวดเร็วก็ย่อมจะทำให้เกิดการลงทุนโครงการใหญ่ๆในพื้นที่ตามต่างจังหวัดต่างๆมากขึ้น ตรงนี้ก็จะช่วยเป็นฐานให้แก่ระบบเศรษฐกิจในประเทศนี้ต่อไปภายภาคหน้า
มีข้อเห็นต่างจากท่านกีฯอีกนิด เรื่องที่กล่าวว่าคนชนบทมีวัฒนธรรมการเมืองที่เห็นแต่ผลประโยชน์เป็นหลักต่างจากคนในเมือง ตรงนี้ ผมว่าทั้งคนในเมืองและคนชนบทต่างเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่า คนเมืองอาจจะแสดงอาการออกน้อยกว่าคนชนบทหน่อย นั่นก็เพราะว่าพวกเขาอยู่ในเมืองที่ในระบบรัฐรวมศูนย์ของไทยได้ดูดดึงทรัพยากรจากชนบทมาปลูกสร้างและหนุนเสริมให้เมืองอยู่ตลอด ทำให้คนในเมืองเห็นว่าตนถึงพร้อมแล้วซึ่งทุกสิ่งอย่างจึงไม่แสดงออกอย่างออกนอกหน้ามากเท่านั้น (ทั้งที่จริงๆก็มองผลประโยชน์เหมือนกัน) ตรงนี้ต่างจากชนบทที่นอกจากจะถูกละลืมการพัฒนาจากรัฐมาเนิ่นนาน พร้อมทั้งต้องคอยถูกกดขี่รีดไถ เป็นเบี้ยสร้างผลประโยชน์ให้เมืองมาตลอด เมื่อตอนนี้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศนี้มันเปิดมากขึ้น และเขาก็เห็นว่าพวกเขาสามารถได้รับสิทธิต่างๆเช่นกัน และนั่นจึงเป็นเหตุให้คนชนบทแสดงออกอย่างจะดูดุเดือดและเหมือนมองการเมืองด้วยผลประโยชน์มากเกินไป แต่ถ้าเราคิดว่า ในเมื่อมีบางสิ่งที่ปิดกั้นจนอัดอั้นมานาน เมื่อได้รับการเปิดปลดปล่อย สิ่งที่อัดอั้นนั้นก็ย่อมจะทะลักหลั่งออกมา และนี่ก็คือสิ่งที่ชนบทกำลังเป็นอยู่
ส่วนเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม ที่ท่านกีฯได้อธิบายยืดยาว ผมเห็นด้วยทุกอย่างครับ และจะขอเสริมว่า ด้วยสภาพสังคมไทยที่เป็นอยู่ ที่ผู้คนในสังคมยังไม่กล้าจะพูดความจริงกันในเรื่องที่ควรพูด(รวมท่านกีฯด้วย) การจะเอามาตรฐานทางศีลธรรมมาใช้หรือเอามากำกับการเมืองนั้น มันก็เท่ากับการยอมรับกลุ่มคนที่ตรวจสอบไม่ได้ ที่แอบอ้างตนเองว่า ดี เหนือ เก่ง กว่าคนอื่นๆในสังคม ในมาคอยออกกฎเกณฑ์บังคับและบีบคั้นผู้คนในสังคมให้ต้องทำตามมาตรฐานที่ผู้ออกกฎก็ไม่สามารถประพฤติ ปฏิบัติได้ ก็เท่านั้นเอง....
อ้างอิง : โจทย์ใหม่เหลือง-แดง และการเมืองแบบศีลธรรม http://www.prachatai.com/journal/2013/06/47422
: หาบทสัมภาษณ์ธนาทร แบบเต็มๆในมติชนสุดฯไม่เจอ เลยเอาลิ้งค์คัดย่อจากเว็บเนชั่นมาแทน http://www.oknation.net/blog/print.php?id=585662
: นิธิ เอี่ยวศรีวงค์ : รัฐธรรมนูญใหม่-จินตนาการใหม่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1332165008&grpid=03&catid=02&subcatid=0207