Skip to main content

เพราะไม่รู้ จึงต้องไปดูให้เห็นกับตา

     เมื่อแรกที่ได้ยินเรื่องราวการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ผู้เขียนก็ได้ติดตามอ่านข้อมูลที่มีผู้นำมาเผยแพร่ด้วยความสนใจ ทั้งลองค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในกูเกิล และดูแผนที่จากกูเกิลแมพ ก็พบว่ายังไม่เข้าใจสภาพพื้นที่ในบริเวณเหล่านั้นดีพอ และข่าวสารจากแต่ละสื่อฯก็ลงเนื้อหาอย่างไม่สอดคล้องกัน บางข่าวถึงกับขัดแย้งกันก็มี แม้ผู้เขียนจะเคยผ่านเข้าไปในพื้นที่แถบนั้นมาถึงสองครั้งแล้วก็ตาม ความที่อยากจะทราบสภาพพื้นที่ภูมิศาสตร์ของพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนเดินทางเข้าไปดูสภาพพื้นที่จริง คือที่ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ถนนทางเข้ามาบ้านแม่หอย ทางมุมซ้ายของภาพคือผาวิ่งจู๊ จุดที่เป็นหัวงานเขื่อนแม่แจ่ม #ภาพจากเพจRosejovi

 

ผาวิ่งจู๊ ฉากหลังคือดอยอินทนนย์

ผาวิ่งจู๊ ฉากหลังคือดอยอินทนนย์ #ภาพจากเพจRosejovi

 

     จากข้อมูลที่ได้มาจากหน่วยงาน องค์กรที่ศึกษาเรื่องการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม บอกไว้ว่า รัฐบาลมีแนวคิดที่จะสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำแม่แจ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 โดยตอนนั้นได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น กรณีที่มีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่แจ่มโดยการสร้างเขื่อน ก่อนที่โครงการดังกล่าวจะเงียบหายไป พร้อมทั้งรายงานผลการศึกษาก็ไม่มีการเปิดเผย

ภาพจากกูเกิล แสดงผาวิ่งจู๊ทางด้านขวาของภาพ ส่วนทางซ้ายคือเส้นทางเข้าไปบ้านแม่หอยและทางสายนี้ยังทอดยาวเชื่อมไปหาวัดจันทร์ จุดที่น้ำจะท่วมก็คือ เส้นทางช่วงโค้งลงในหุบเขา ## ภาพจาก Googie earth

 

     และมาในปีนี้ที่โครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มได้รับการปัดฝุ่นรื้อออกมาอีก ก็ด้วยอาศัยเหตุจากอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ.2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั้งในพื้นที่ กทม. ภาคกลางและตัว อ.แม่แจ่มก็ได้มีน้ำท่วมอย่างหนักด้วยเช่นกัน มีรายงานว่าระดับน้ำในลำน้ำแม่แจ่มสูงกว่าระดับปกติถึง 3 เมตร สร้างความเสียหายให้แก่ชุมชนบริเวณริมน้ำแม่แจ่มในอำเภอแม่แจ่มหลายหลังคาเรือน และนี่จึงเป็นเหตุให้ทางฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตเทศบาลแม่แจ่มรวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงเริ่มพูดถึงการสร้างเขื่อนเพื่อหวังป้องกันน้ำท่วม  โดยประจวบเหมาะกับการที่รัฐบาลก็ได้มี การจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. เพื่อให้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการและยั่งยืน โดยมีงบประมาณในการจัดการถึง 3.5 แสนล้านบาท และเขื่อนแม่แจ่มก็ได้รับการบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนการจัดการดังกล่าวนี้ด้วย

ระดับปกติในฤดูฝนของน้ำแม่แจ่มในเขตเทศบาลแม่แจ่ม #ภาพจากเพจRosejovi

 

     ข้อมูลของเขื่อนแม่แจ่มมีดังนี้ เขื่อนแม่แจ่ม หรือ อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม มีความจุประมาณ 134 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเขตป่าต้นน้ำชั้น 1 เอ บริเวณผาวิ่งจู๊ ซึ่งหากก่อสร้าง จะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 12,628 ไร่ และใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 2,352 ล้านบาท จัดอยู่ในโมดูลเอ 1 ของแผนบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ของรัฐบาล

     โดยในแผนของ กยน. ระบุว่า หากสร้างเสร็จ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมชลประทาน ประมาณ 71,836 ไร่ และยังช่วยเป็นแหล่งประมง แหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ แหล่งเติมน้ำบาดาลธรรมชาติ และรักษาความสมดุลของระบบนิเวศอีกด้วย

 

รัฐฯบอก มีข้อดีมากมาย แต่ทำไมจึงมีการต่อต้านเขื่อน

     ข้อมูลจากหน่วยงาน องค์กรที่ติดตามการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ระบุว่า โครงการนี้ของรัฐบาลที่บรรจุในแผนเร่งด่วนนั้น ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ถือเป็นการไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งยังไม่มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA)

 

     และยังได้มีการแจกแจงผลกระทบในทางที่เลวร้ายจากการสร้างเขื่อนอีกหลายข้อ เช่น การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศน์อันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำแม่แจ่มถูกทำลาย ทำให้พื้นที่ริมน้ำแม่แจ่มเสื่อมคุณภาพและพันธุ์ปลาพันธ์สัตว์เฉพาะถิ่นของแม่แจ่มจะศูนย์พันธุ์ไป พื้นที่หัวงานเขื่อนและบริเวณที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำเป็นพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1A และบางส่วนเป็นพื้นที่อาศัยและทำกินของชาวบ้านซึ่งหากสร้างเขื่อนจะมีอย่างน้อย 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีสามหมู่บ้านที่ต้องอพยพ มีความกังวลเรื่องความไม่มั่นคงของเขื่อน เพราะตั้งอยู่ในบริเวณรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่มีพลังถึง 4 รอยเลื่อน ปัญหาเรื่องตะกอนสะสมหน้าเขื่อนที่จะทำให้เขื่อนตื้นเขินไปในเวลารวดเร็วและที่สุดก็จะไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ตามแผน ทำให้ต้องระบายน้ำออกไป ซึ่งตรงนี้ก็จะไม่ได้ช่วยในการป้องกันน้ำท่วมได้แต่อย่างใด และสุดท้ายเขื่อนแม่แจ่ม ไม่ใช่ความต้องการของคนในพื้นที่ ตรงนี้หากรัฐบาลโดย กยน. ผลักดันจนสร้างได้สำเร็จก็จะเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง

ไร่ข้าวโพดในหุบเขา บอกถึงความลาดเอียงของพื้นที่ #ภาพจากเพจRosejovi

 

ในพื้นที่

     จากการลงพื้นที่ของผู้เขียนก็ทำให้ได้เห็นสภาพแวดล้อมของพื้นที่ พร้อมทั้งได้พบปะพูดคุยรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านหลายๆคน จากหลายๆหมู่บ้าน ได้ความดังนี้

พื้นที่

     สภาพพื้นที่ของ อ.แม่แจ่ม เป็นพื้นที่ราบกลางหุบเขาบนเทือกเขาถนนธงชัย มีเทือกดอยน้อยใหญ่สลับซับซ้อนกันมีความลาดเอียงมาก พื้นที่ป่าธรรมชาติยังมีอยู่มากจึงเป็นแหล่งต้นน้ำหลายสายที่ไหลมาเติมลำน้ำแม่แจ่ม โดยลำน้ำแม่แจ่มมีต้นน้ำอยู่ที่ ป่าสนวัดจันทร์ อ.กัลยานิวัฒนา โดยในพื้นที่ ต.แม่นาจรบริเวณที่คิดว่าจะเป็นตัวเขื่อน มีแม่น้ำสาขาของลำน้ำแม่แจ่ม 4 สาย คือ ห้วยแม่หอย,ห้วยแม่เอาะ,ห้วยแม่ขอและห้วยขุนแม่แมะ มีลำห้วยสาขาท้ายเขื่อนจาก ต.แม่นาจรไปหา อ.แม่แจ่มอีก 13 ลำห้วย คือ ห้วยแม่สะแงะ,ห้วยแม่หมุ,ห้วยแม่วาก,ห้วยแม่หยอด,ห้วยแม่ศึก,ห้วยแม่แทน,ห้วยแม่กึ๋น,ห้วยแม่ปาน,ห้วยแม่แรก,ห้วยแม่ขาน,ห้วยแม่ขี้มูก,ห้วยแม่ตูมและห้วยแม่ลอง

สภาพพื้นที่่ เป็นเทือกสลับซับซ้อนดอยอุดมสมบูรณ์เป็นป่าต้นน้ำชั้น 1 เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยที่กั้นระหว่างแม่ฮ่องสอนกับเชียงใหม่ #ภาพจากเพจRosejovi

 

ผู้คน

     ผู้เขียนได้พูดคุยกับชาวบ้านแม่แจ่มซึ่งจะแบ่งเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ คนในตัวอำเภอแม่แจ่ม ชาวบ้านใน ต.แม่นาจรที่อยู่ใต้เขื่อน และชาวกะเหรี่ยงที่อยู่เหนือเขื่อนที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

ชาวบ้านแม่ซา นับถือศาสนาคริสต์ ที่นี่จึงไม่มีการดื่มหรือขายสุรา การต้อนรับแขกแปลกหน้าจึงเป็นน้ำชาจีนร้อนๆเหยาะเกลือ #ภาพจากเพจRosejovi

 

 

     ชาวบ้านในตัว อ.แม่แจ่ม บอกว่า  คนในตัวอำเภอมีอยู่สองกลุ่ม คือฝ่ายที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน เพราะคาดหวังว่าจะได้รับผลดีจากการมีเขื่อน เช่นมีแหล่งท่องเที่ยว,มีที่กักเก็บน้ำและมีน้ำสำหรับใช้ชลประทาน ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนก็บอกว่า กลัวว่าสายน้ำแม่แจ่มจะเปลี่ยนไป เช่นตอนนี้น้ำก็น้อยลงกว่าเมื่อก่อนมากแล้ว หากมีเขื่อนมาคอยกักน้ำไว้อีก สายน้ำแม่แจ่มก็ย่อมจะลดน้อยลง คนหาปลาก็จะหาได้น้อยลง ส่วนการชลประทานนั้น ในตอนนี้ชาวบ้านยังสามารถจัดการน้ำได้เองอยู่ แต่หากมีเขื่อนการจัดการน้ำก็จะตกไปอยู่ในมือของของภาครัฐ ตรงนี้ก็กังวลกันว่าจะมีปัญหาขึ้นได้ หรือธุรกิจการล่องแก่งที่สร้างชื่อให้กับการท่องเที่ยวแม่แจ่มก็คงจะเปลี่ยนแปลงไป บางคนก็กังวลเรื่องการตั้งอยู่ในเขตรอยเลื่อน ซึ่งหากมีแผ่นดินไหวรุนแรงจนเขื่อนร้าวหรือพัง น้ำที่กักเก็บก็จะทะลักเข้าท่วม อ.แม่แจ่มที่อยู่ใต้เขื่อน ซึ่งกรณีนี้มันจะหนักยิ่งกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ.2554 แน่นอน

     ชาวบ้านในตำบลแม่นาจร ก็มีความเห็นไปในสองกระแสเช่นกัน คือ เห็นด้วย เพื่อจะได้มีแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น กับอีกฝ่ายที่หวาดเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสายน้ำ ปริมาณน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการล่องแก่งของแม่นาจร โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็บอกตรงกันว่า ยังไม่รู้เรื่องการสร้างเขื่อนอย่างแน่ชัด ได้แต่รับฟังข่าวคร่าวๆจากสื่อเท่านั้น จึงยังไม่แน่ใจว่าตนจะได้รับประโยชน์หรือผลกระทบอย่างไรบ้าง

ลำน้ำแม่แจ่ม ช่วงที่ไหลผ่านบ้านแม่ซา ชาวบ้านบอกว่า แม้จะอยู่ติดลำน้ำอย่างนี้ แต่น้ำไม่เคยท่วมบ้านเรือน เพราะความลาดเอียงของพื้นที่ แม้น้ำป่าจะมาเยอะก็ไหลไปอย่างรวดเร็ว #ภาพจากเพจRosejovi

 

 

นาข้าวในหุบเขาริมลำน้ำแม่แจ่ม #ภาพจากเพจRosejovi

 

 

หมู่บ้านไม่เคยน้ำท่วม แต่หากมีเขื่อนจะต้องย้ายหมู่บ้านหนีน้ำท่วมเพราะเขื่อน #ภาพจากเพจRosejovi

 

 

     ชาวบ้านกลุ่มที่สามคือ ชาวกะเหรี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาการสร้างเขื่อนแน่นอน มีอย่างน้อย 6 หมู่บ้าน เพิ่งมีการจัดประชุมประชาคมไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทุกคนต่างบอกตรงกันว่า ไม่เอาเขื่อนแน่นอน และจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด ชาวบ้านในที่นี่อาศัยอยู่กันมานาน อาจจะมีการโยกย้ายกันไปมาบ้าง แต่ก็จะอยู่รอบๆริมน้ำแม่แจ่ม และเท่าที่ปักหลักสร้างบ้านเรือนอย่างถาวรนี้ก็หลายชั่วคนแล้ว หากสร้างเขื่อนแล้วต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนแล้ว เพราะป่าก็ถูกประกาศเป็นเขตต่างๆไปหมด อีกอย่างที่อื่นก็คงไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนที่นี่ริมน้ำแม่แจ่ม ชาวบ้านแม่ซาชี้ให้ดูเสาไฟฟ้า บอกว่า ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาที่นี่ราวๆสี่-ห้าเดือนที่แล้วนี่เอง คนตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ก็เข้ามาสำรวจจะตั้งเสาทวนสัญญาณ หมู่บ้านกำลังจะเจริญแล้วจะมาสร้างเขื่อนทำไม? (ตอนนี้ในหมู่บ้านไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ต้องขึ้นไปบนดอยสูงจึงจะมีคลื่น) 

สภาพบ้านเรือนของชาวบ้านที่สร้างอย่างมั่นคงถาวรบอกถึงการตั้งรกรากอยู่กันมาช้านาน ที่ดินของชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิืเพราะอยู่ในเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์และติดอุทยานแห่งชาติ บางแห่งอาจจะมีก็แค่ใบ ภบท.5 #ภาพจากเพจRosejovi

 

ความคิดเห็น

     จากการได้เห็นสภาพพื้นที่และได้พูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ผู้เขียนคิดว่าโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่มที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะเป็นปัญหา ก่อผลในทางร้ายมากกว่าแง่ดีอย่างแน่นอน เพราะด้วยสภาพพื้นที่ของโครงการที่จะต้องมีการบุกรุกทำลายผืนป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์อันเป็นบ่อเกิดของสายน้ำสาขาที่มาเติมลำน้ำแม่แจ่ม อีกทั้งยังเป็นการบุกรุกไล่ที่ชาวบ้านที่ปักหลักอยู่กันอย่างสงบสุขมานาน โดยที่ไม่มีการเข้าไปสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการเลบย ตรงนี้เป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง ยังไม่นับว่าโครงการจัดการบริหารน้ำของ กยน. ที่ทุกโครงการยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ภาครัฐกลับเปิดให้บริษัทเอกชนต่างๆเข้ามายื่นซองประมูลเลือกสรรเอาพื้นที่ต่างๆไปก่อน ตรงนี้เป็นการกระทำไม่ถูกต้อง เป็นการผลักภาระให้ชาวบ้านที่จะเดือดร้อนจากโครงการต่างๆต้องไปเผชิญหน้ากับบริษัทเอกชนที่รับประมูลงาน เช่นกรณีชาวกะเหรี่ยงทั้ง 5 หมู่บ้านนี้ ต่างเห็นตรงกันว่า เมื่อตนต้องถูกย้ายออกไป บริษัทเอกชนที่รับประมูลงานก็จะจ่ายชดเชยให้ในราคาที่ต่ำมากๆ เพราะที่ดินของหมู่บ้านเหล่านี้ตั้งอยู่คาบเกี่ยวในพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ทางราชการไม่ออกเอกสารสิทธิ์ให้ถือครอบครอง หรือบางบ้านหากมี ก็เป็นเพียงใบ ภบท.5 เท่านั้น เรื่องนี้ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านให้ทุกข์ยากมากขึ้น ยังมินับว่า หากต้องย้าย พวกเขาจะย้ายไปอยู่ที่ไหน??

แผนที่แสดงการคาดการณ์พื้นที่ที่น้ำจะท่วมหากสร้างเขื่อนแม่แจ่ม จัดทำโดยสถาบันอ้อผญา องค์กรสาธารณประโยชน์ ## ภาพจากเอกสารในเว็บสถาบันอ้อผญา

 

 

     จากรายงานที่ว่าจะมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราว 6 หมู่บ้าน นั้น มีรายละเอียดดังนี้ คือ มีสามหมู่บ้านที่จะต้องถูกน้ำท่วมและต้องย้ายออกไปคือ บ้านแม่สบขอ,บ้านแม่เอาะใต้และบ้านแม่ซา ส่วนหมู่บ้านที่เหลือก็จะได้รับผลกระทบเป็นส่วนน้อยคือ ทางเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาดและน้ำท่วมที่ทำกิน แต่ จากที่ผู้เขียนได้เข้าไปในพื้นที่ พบว่า เส้นทางสายนี้ที่เชื่อมต่อระหว่าง อ.แม่แจ่มไปหา อ.กัลยาณิวัฒนา โดยมีจุดเริ่มต้นแยกจากเส้นทางสาย 1088 ก็จะพาดผ่านไหล่ดอยก่อนจะลงไปในหุบแล้วขึ้นสู่ไหล่เขาอีกครั้งที่บ้านแม่หอย ซึ่งตรงนี้ หากมีการสร้างเขื่อนแม่แจ่มที่ผาวิ่งจู๊ น้ำก็จะท่วมเส้นทางในหุบเขาก่อนที่จะเข้าสู่บ้านแม่หอย ซึ่งกับเท่ากับเป็นการตัดขาดเส้นทางเชื่อมระหว่างสองอำเภอนี้ทันที และจะทำให้หมู่บ้านอีกหลายๆหมู่บ้านข้างในที่ตั้งอยู่เลียบไปกับลำน้ำแม่แจ่มถูกตัดขาดจาก อ.แม่แจ่มไปเลยเช่นกัน และสมมุติว่า หากจะมีการตัดเส้นทางใหม่ ก็จะต้องตัดผ่านเทือกดอยข้างๆซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำอันสมบูรณ์ ก็เท่ากับเป็นการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นอีกนั่นเอง และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของประเทศไทย เมื่อป่าถูกรุกเบิก ก็จะมีการเข้าหักล้างตัดฟันต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้น การสร้างเขื่อนที่นี่ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้เกิดการบุกรุกทำลายป่ามากขึ้นนั่นเอง

ถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่าง อ.แม่แจ่มกับ อ.กัลยาฯ เลียบขนานไปกับลำน้ำแม่แจ่ม ถนนสายนี้จะถูกตัดขาดทันทีตรงหุบดอยที่จะขึ้นสู่บ้านแม่หอย หากมีการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ## ภาพจากกูเกิล แมพ

 

สภาพพื้นที่ ที่เป็นเทือกดอยสูงชันสลับซับซ้อน เป็นพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น1A 1B สลับกับพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน #ภาพจากเพจRosejovi

 

     ด้วยสภาพพื้นที่อันลาดเอียงเพราะเป็นทิวดอยสูงชันสลับซับซ้อน ตรงนี้ก็จะช่วยตอกย้ำข้อกังวลเรื่องการตกตะกอนที่หน้าเขื่อนได้เป็นอย่างดี เทือกดอยที่มีความลาดชันมากๆ เมื่อเกิดฝนตกหนักก็ย่อมชะล้างและนำพาเศษหินดินหญ้าไหลมาถมเป็นตะกอนหน้าเขื่อนทำให้เขื่อนที่อยู่ในพื้นที่หุบเขาตื้นเขินเร็วยิ่งขึ้น  จากข้อมูลสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน ได้วัดตะกอนน้ำแม่แจ่มตั้งแต่ปี 2511-2548 (สถานี P.14 น้ำแม่แจ่ม อ.ฮอด จ.เชียงใหม่) พบว่าตะกอนน้ำแม่แจ่มเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 771,418 ตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแต่ละปี ถ้าปีไหนน้ำมากตะกอนก็มากตามไปด้วย อย่างเช่น ปีพ.ศ.2548 ปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1,199.42 ล้าน ลบ.ม. มีตะกอนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1,487,688 ตัน ซึ่งนั่นก็หมายความว่าในปี 2548 มีปริมาณตะกอนมากกว่าปริมาณน้ำ 2 แสนกว่าตัน และด้วยปริมาณตะกอนต่อปีจำนวนขนาดนี้ เขื่อนแม่แจ่มที่จะตั้งอยู่ตรงสันดอยผาวิ่งจู๊จะตื้นเขินเร็วเท่าใด โดยที่ไม่สามารถจะตักตะกอนเหล่านี้ออกได้อีกด้วย มินับว่าตะกอนเหล่านี้แหละคือแร่ธาตุอาหารที่ลำน้ำแม่แจ่มพัดพาไปสู่ที่ไร่ที่นาของชาวแม่แจ่ม ทำให้พื้นที่การเกษตรของชาวแม่แจ่มมีแร่ธาตุอาหารของพืชอุดมสมบูรณ์ หากตะกอนเหล่านี้ต้องมาถูกกักไว้ที่เขื่อนก็จะทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินของชาวแม่แจ่มลดลงเช่นกัน

 

กราฟแสดงปริมาณตะกอนน้ำในลำน้ำแม่แจ่ม จากสถานีP14 ออบหลวง ## ภาพจากกูเกิล

 

พื้นที่นาในหุบเขาริมน้ำแม่แจ่ม นาเหล่านี้มีแร่ธาตุอาหารสำหรับพืชอุดมสมบูรณ์ ด้วยเพราะช่วงต้นฤดูฝนที่น้ำหลากท่วมพื้นที่ กระแสน้ำแม่แจ่มได้พัดพาตะกอนแร่ธาตุจากบนภูดอยเหนือน้ำจากต้นแม่น้ำมาทิ้งไว้ด้วย จึงที่ทำให้ผืนดินมีความสมบูรณ์ ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 ที่ผ่าานมาจะเห็นได้ว่าในภาพชาวบ้านเพิ่งปักดำกล้าเสร็จ เพราะต้องเว้นให้น้ำหลากผ่านไปก่อน #ภาพจากเพจRosejovi

 

 

     ต่อข้ออ้างที่ว่า เขื่อนแม่แจ่มจะช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมชลประทาน ประมาณ 71,836 ไร่ นั่น น่าสนใจว่า ตรงนี้ กบอ. ไปเอาข้อมูลมาจากที่ใด ในเมื่อมีข้อมูลพื้นที่การเกษตร ดังนี้ อำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่นาซึ่งใช้ปลูกข้าวและพืชอื่นๆ 33,056 ไร่ มีแหล่งน้ำที่พัฒนาแล้ว 38 แห่ง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ สระเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ และฝายขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป รองรับพื้นที่ใช้น้ำการเกษตร 27,264 ไร่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า อ.แม่แจ่มมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำการเกษตรเพียง 5,792 ไร่เท่านั้น พื้นที่ดังกล่าว กรมชลประทานมีแผนสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำทุกตำบล จำนวน 7 โครงการ โดยจะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 – 2561 ด้วยเงินลงทุน 1,165 ล้านบาท นอกจากนั้นกรมทรัพยากรน้ำยังมีแผนพัฒนา ฟื้นฟู และปรับปรุงแหล่งน้ำอีก 7 โครงการ/ตำบล ดังนั้นปัญหาขาดแคลนน้ำการเกษตรก็จะหมดไป จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนให้เสียงบประมาณโดยใช่เหตุ

พื้นที่เกษตรกรรมในเขตเทศบาลแม่แจ่มก็ไม่ต่างจากพื้นที่บนดอย เพราะเป็นที่ราบกลางหุบเขา มีแม่น้ำแม่แจ่มเป็นน้ำสายหลักและด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าก็ทำให้มีแม่น้ำสาขาอีกหลายสายไหลหล่อเลี้ยงชาวแม่แจ่ม #ภาพจากเพจRosejovi

 

     จากข้อมูลข้างบน อ.แม่แจ่มมีพื้นที่เพื่อการเกษตรเพียง 33,056 ไร่ แต่ กยน.ที่อยากจะสร้างเขื่อนยกตัวเลขมาถึง 71,836 ไร่ ตรงนี้ผู้เขียนเดาว่า กยน.คงยกเอาตัวเลขพื้นที่เกษตรกรรมริมลำน้ำแม่แจ่มที่ยาวขนานไปกับลำน้ำจนถึง อ.ฮอดเลยกระมังมาเป็นข้ออ้างสนับสนุน ซึ่งหากจะยกมาอย่างนั้น มันก็จะต่างอะไรกับการที่สายน้ำแม่แจ่มไหลอย่างอิสระเช่นทุกวันนี้ซึ่งก็หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมริมลำน้ำแม่แจ่มอยู่แล้ว จากข้อมูลข้างบน พื้นที่การเกษตรของ อ.แม่แจ่มมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพียง ราว5,792 ไร่ และมีแผนในการพัฒนา ฟื้นฟู ปรับปรุงและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอยู่แล้ว ตรงนี้ก็ไม่จำเป็นใดๆที่จะต้องสร้างเขื่อนขึ้นมาอีก

      มันเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย หาก กยน.หรือฝ่ายที่จะสร้างเขื่อนอ้างว่า เขื่อนแม่แจ่มสามารถช่วยกักเก็บน้ำได้ในฤดูฝน พร้อมปล่อยให้ชาวบ้านได้ใช้ในฤดูแล้ง เพราะด้วยขนาดความจุเขื่อนที่เล็กเพียง134 ล้านลูกบาศก์เมตร การตั้งอยู่ในพื้นที่เทือกดอยสลับซับซ้อน ที่หากฝนตกหนักต่อเนื่องน้ำป่าก็ไหลมาแรงและเร็ว เพียงไม่นานก็จะเต็มความจุของเขื่อนจนต้องปล่อยให้ไหลออกไปอยู่ดี มินับว่า ว่ามีเขื่อนหรือไม่มีเขื่อน มันเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในเวลานี้ที่สายน้ำยังเป็นอิสระชาวบ้านสามารถบริหารจัดการ จัดสรรแบ่งปันน้ำในชุมชนริมลำน้ำแม่แจ่มได้ด้วยตนเอง แต่หากมีเขื่อนสิทธ์ในการจัดการน้ำก็จะตกอยู่กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้น้ำ ตรงนี้ก็น่ากังวลว่าจะเกิดปัญหาเหมือนการจัดการเขื่อนในพื้นที่อื่นๆ เช่น กรณีเขื่อนปากมูล หรือเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อน สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำ ในปีที่ฝนแล้งน้ำน้อย เขื่อนก็จะอ้างว่าต้องเก็บรักษาน้ำไว้ ไม่ปล่อยน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ หรือในปีที่ฝนมาก เขื่อนก็มีปริมาณความจุจำกัด ก็จะต้องปล่อยน้ำออกให้ไหลไปซ้ำเติมชาวบ้านที่กำลังตกอยู่ท่ามกลางสายฝนอีกเช่นกัน ต้องอย่าลืมว่า ใต้เขื่อนแม่แจ่ม จากผาวิ่งจู๊ไปจนถึงตัว อ.แม่แจ่มมีลำน้ำสาขาถึง 13 ลำน้ำ และมีถึง 5 ลำน้ำที่ไหลจากเทือกดอยอินทนนย์ที่มีน้ำไหลตลอดปี

ดอยอินทนนย์ที่กลั่นสายน้ำจากป่าไหลเติมลำน้ำแม่แจ่มตลอดทั้งปี ในภาพจะสังเกตเห็นน้ำตกสามสายที่ไหลลงมาจากดอย #ภาพจากเพจRosejovi

 

     มีข้ออ้างของฝ่ายที่อยากสร้างเขื่อนอีกอย่างที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นการกล่าวอ้างอย่างเอาแต่ได้ คือ การที่มองป่าไม้ที่จะต้องถูกตัดออกเพื่อสร้างเขื่อน และต้องเอาออกเพื่อป้องกันน้ำในอ่างเน่าเสียว่าเป็น ผลประโยชน์เป็นผลพลอยได้จากการสร้างเขื่อน ทั้งๆที่จริงผืนป่าที่จะสร้างเขื่อนนั้น เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร กรณีเขื่อนแม่แจ่ม หัวงานที่อยู่ตรงผาวิ่งจู๊ก็เป็นป่าต้นน้ำชั้น 1 A ไล่ไปก็เป็นสลับกันระหว่างป่าชั้น 1A กับ 1B ความสำคัญของป่าต้นน้ำก็คือแหล่งป่าไม้ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนให้แก่โลกและยังเป็นแหล่งสะสมน้ำธรรมชาติก่อนจะปล่อยไหลเป็นลำห้วยสาขาเติมให้แก่ลำน้ำแม่แจ่ม ความสำคัญของผืนป่าต้นน้ำเหล่านี้และการต้องสูญเสียมันไปจะไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นมูลค่าความเสียหายของธรรมชาติ แต่กลับถูกนำไปคำนวณเป็นผลกำไรพลอยได้ของโครงการสร้างเขื่อนแทน ยังไม่นับถึงสาธารณูปโภคต่างๆในหมู่บ้านต่างๆที่น้ำท่วมถึง ซึ่งเป็นการลงทุนของภาครัฐ เช่น ถนน ไฟฟ้า และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่นโรงเรียน สถานีอนามัยและวัดหรือโบสถ์ ที่การคำนวณของฝ่ายสร้างเขื่อนจะให้มูลค่าเท่ากับต้นทุนที่ภาครัฐและชาวบ้านได้ลงทุนไปแล้วหรือเปล่า กรณีอย่างบ้านแม่หอย,บ้านแม่ซาที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพิ่งเข้าไปตั้งเสา,หม้อแปลง เดินไฟให้ชาวบ้านได้ใช้แค่ไม่กี่เดือน เรื่องนี้ฝ่ายสร้างเขื่อนจะเคลียร์กับ กฟภ.อย่างไร เพราะเท่าที่ผู้เขียนลองค้นดูจากโครงการต่างๆที่ผ่านมา ไม่มีการรายงานไว้เลย หรือคิดว่าเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน ก็เลยหยวนๆปล่อยให้จมน้ำไปเลยก็ได้

ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งก่อเกิดสายน้ำ และเป็นที่กักเก็บน้ำตามธรรมชาติ #ภาพจากเพจRosejovi

 

     สำหรับข้ออ้างที่บอกว่า เขื่อนแม่แจ่มจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ อ.แม่แจ่ม เรื่องนี้ก็แทบจะไร้สาระสำคัญและไม่จำเป็น จากการลงพื้นที่ของผู้เขียน พบว่า อ.แม่แจ่มมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ในตัวอำเภอก็มีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่นวัดวาอาราม โบราณสถานเก่าแก่ ให้ได้ท่องเที่ยวศึกษา มีหมู่บ้านหัตถรรมขึ้นชื่อ ทั้งการทอผ้าฝ้าย ผ้าลายน้ำไหล การทำปิ่นเงิน รอบลำน้ำแม่แจ่มที่ลาดชันไปสู่เชิงเขาก็เป็นพื้นที่เกษตรกรรมขั้นบันไดอันสวยงาม มินับว่าชาวแม่แจ่มก็มีวัฒนธรรม ประเพณีดังเดิมที่เรียบง่ายงาม ให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมหรือแวะพักค้างแรม ส่วนสายน้ำแม่แจ่มในฤดูฝนก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชมชอบการผจญภัยโดยการล่องแก่ง มีน้ำตกหลายสายให้ได้เข้าไปสัมผัส ส่วนที่ผาวิ่งจู๊ก็มีถ้ำ มีโบราณสถานของชาวลั่วะ มีชุมชนวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง ให้ได้ไปสัมผัส เรียนรู้ และจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นอำเภอกลางหุบเขาเส้นทางเข้าออกต้องผ่านหุบเขาสลับซับซ้อนอันสวยงาม จึงเหมาะแก่การขับรถท่องเที่ยว ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงที่ขึ้นชื่อ ทั้งดอยอินทนนย์ ดอยสูงที่สุดของประเทศ ออบหลวงที่สายน้ำแม่แจ่มถูกบีบอัดให้แคบด้วยผาหิน บ่อน้ำพุร้อนเทพนมที่ อ.ฮอด ปางอุ๋งแหล่งปลุกพืชผักเมืองหนาวบนเส้นทางไป อ.ขุนยวม แม่ฮ่องสอน และดอยแม่อูคอที่มีดอกบัวตองบานสะพรั่งในฤดูหนาว ยังมีเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยัง อ.กัลยาณิวัฒนาซึ่งเลียบขนานไปกับสายน้ำแม่แจ่ม ที่ยังเป็นเส้นทางผ่านป่าธรรมชาติสลับทุ่งนาและไร่ข้าวที่สวยงามของชาวกะเหรี่ยง จากแหล่งท่องเที่ยวที่กล่าวมา ก็คงจะพอบอกได้ถึงความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเขต อ.แม่แจ่ม และใกล้เคียง ซึ่งก็ไม่มีความจำเป็นใดๆที่เราจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำให้เป็นทะเลสาปกลางหุบเขา ท่วมบ้านเรือนไร่นาของชาวบ้านและทำให้คนใต้เขื่อนต้องนอนผวายามได้ฟังข่าวแผ่นดินไหวแต่อย่างใด

เจดีย์หกเหลี่ยมที่วัดเจียง แม่แจ่ม #ภาพจากเพจRosejovi

 

วิหารอันสวยงานของวัดพระพุทธเอิ้น ที่มีตำนานน้ำศักดิ์สิทธิืที่ชาวบ้านใช้ดื่มกินมาแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน #ภาพจากเพจRosejovi

 

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิื ที่เป็นน้ำผุดจากพื้นดิน ในภาพชาวบ้านกำลังเอาถังมากรอกน้ำไปไว้ดื่มกินที่บ้าน #ภาพจากเพจRosejovi

 

     มีข้อความฝากจากชาวบ้านกลางหุบเขาคือ พวกเขาไม่เอาเขื่อน ไม่อยากให้สร้างเขื่อน หากรัฐบาลอยากจะช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนบ้านป่าจริงๆ ในตอนนี้หมู่บ้านพวกเขากำลังจะพัฒนา จะเจริญ ไฟฟ้าก็เข้าถึงแล้ว สัญญาณโทรศัพท์ก็คงจะเริ่มครอบคลุมต่อไป สิ่งที่คนบ้านป่าตามสายน้ำแม่แจ่มจากแม่นาจรไปถึงบ้านวัดจันทร์ต้องการคือฝาย หรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สำหรับกักเก็บน้ำตามหุบเขาลาดชัน เพราะชุมชนในหุบเขาจะมีปัญหาเรื่องน้ำในฤดูแล้ง หากรัฐบาลจริงใจจะช่วยเหลือประชาชนจริงๆ ยุบ ยกเลิกโครงการเขื่อนแม่แจ่ม แล้วมาลงพื้นที่ ร่วมสำรวจกับชาวบ้านว่า ควรจะทำฝาย ทำอ่างขนาดเล็กตรงไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่มากที่สุด

 

สรุป

     จากเหตุผลต่างๆที่กล่าวมา ผู้เขียนเห็นว่า โครงการเขื่อนแม่แจ่ม เป็นโครงการที่ไม่ควรจะก่อสร้างเลย เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาของลุ่มน้ำแม่แจ่มอย่างมาก อีกทั้งยังไปลิดรอน ละเมิดสิทธ์ของชาวบ้าน จะเป็นเหตุสร้างปัญหาให้ชาวบ้านในพื้นที่อย่างไม่รู้จบ และด้วยความที่โครงการนี้มีขึ้นจากความคิดเห็นของผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ไม่เคยเห็นพื้นที่ จึงไม่เคยรับรู้สภาพปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ การคิดโครงการพร้อมจะอนุมัติให้สร้างโดยที่ไม่ฟังเสียงความเดือดร้อนทุกข์ยากของชาวบ้าน ตรงนี้เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิชุมชนผิดกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างแน่นอน

ข้อความในภาพบอกถึงเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่ #ภาพจากเพจRosejovi

 

     ผู้เขียนนึกหาผลประโยชน์ที่ชาวบ้านในพื้นที่แม่แจ่มจะได้รับจากโครงการนี้ไม่ได้เลย โครงการเขื่อนแม่แจ่มเป็นโครงการที่มีผลเสียต่อคนในพื้นที่มากกว่าผลดี

     เมื่อนึกไปว่าโครงการนี้ถูกหยิบขึ้นมาจาก กยน. ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดหลักของ กยน.อยู่ดี ที่คิดว่าจะต้องสร้างเขื่อนกักสายน้ำทุกสายเพื่อจะได้สามารถบริหารจัดการได้ เพราะเหตุที่มีอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 จึงทำให้เกิดหน่วยงานนี้ขึ้นมา และเพราะความจำเป็นเร่งด่วนจึงทำให้ กยน. คิด สรรหาแนวทางต่างๆอย่างรีบเร่ง จนละเลยที่จะลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงของพื้นที่ต่างๆ ลุ่มน้ำสายต่างๆว่าเป็นอย่างไร การทำงานอย่างเร่งด่วนของ กยน. ในแง่หนึ่งก็ดูว่าขยัน แต่ความขยันขันแข็งทำงาน โดยที่ไม่มีการศึกษาสภาพแวดล้อม สภาพปัญหาและสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาให้ครบถ้วนรอบด้าน นั่น ก็ไม่ใช่ความขยันที่ดีเลย เพราะเมื่อไม่ได้ศึกษาจนรู้เรื่องอย่างปรุโปร่งก็มีแต่จะสร้างปัญหาต่างๆให้สะสมเพิ่มพูนขึ้นเท่านั้นเอง มินับว่า โครงการในโมดูลเอ 1 เป็นโครงการเงินกู้ระยะเวลาในการดำเนินงานสั้นและมีความเร่งด่วน จึงมีความจำเป็นต้องใช้ระบบ Design & Build” คือเป็นโครงการออกแบบไปสร้างไป มีปัญหาก็แก้ไขกันไปพร้อมๆ กับการก่อสร้าง ไม่มีรายละเอียดโครงการชัดเจนในแผน 3.5 แสนล้าน เช่นเดียวกันกับเขื่อนอื่นๆ   

ความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ #ภาพจากเพจRosejovi

 

     ด้วยแนวคิดการทำโครงการอย่างที่ยกมา ยิ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกชุมชนทุกคนในประเทศนี้จะต้องร่วมช่วยกันคัดค้านโครงการก่อสร้างต่างๆของ กยน. เพราะ ด้วยโครงการที่ใหญ่โต กระจายไปในแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งใช้เงินงบประมาณสูงถึง 350,000 ล้านบาท ย่อมมีผลในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการเหล่านั้นทั้งสิ้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะทำไปโดยไม่ศึกษาเสียก่อน การทำโครงการใหญ่โตโดนไม่ศึกษาคิดง่ายๆแค่ว่า ทำไปแก้ไปก็เหมือนกับเด็กเล่นขายของ หรือคบเด็กสร้างบ้าน ที่นอกจากจะไม่เสร็จและ/หรือเสร็จอย่างไม่เรียบร้อยแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะเป็นโครงการอันไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงทั้งแก่ชุมชนที่ตั้งโครงการ ชุมชนรอบๆ และทั้งประเทศ

เสียงจากชาวบ้าน จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา #ภาพจากเพจRosejovi

 

     ในสภาพที่เศรษฐกิจโลกถดถอย เศรษฐกิจของไทยก็หดตัว หากรัฐบาลอนุมัติเงินสามแสนกว่าล้านไปกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะไม่ได้ทำการศึกษาให้ดีเสียก่อน พอเกิดปัญหาความเดือนร้อนของคนในพื้นที่ให้แก้ไข ก็จะต้องไปหากู้เงินมาไล่ตามแก้ปัญหาอีก พูดง่ายๆได้ว่า ตอนสร้างก็กู้ตอนแก้ปัญหาก็ต้องกู้ ดังนี้ ประเทศก็คงจะดิ่งเหวอย่างไม่มีวันคืนกลับ

ไร่ข้าวโพดคือพืชเศรษฐกิจของที่นี่ #ภาพจากเพจRosejovi

 

     ฉะนั้น ผู้เขียนจึงจะเสนอความเห็นแก่รัฐบาล/ผู้รับผิดชอบโครงการต่างๆว่า ไม่ควรที่จะเร่งดำเนินงานโดยใช้แนวคิดสร้างไปแก้ปัญหาไป แต่ควรจะมีการศึกษาสภาพพื้นที่ สภาพปัญหา ผลกระทบที่จะเกิดหรืออาจเกิดในพื้นที่โครงการต่างๆให้ละเอียดถ่องแท้เสียก่อน จึงค่อยลงมือทำ จึงค่อยนำเรื่องเข้าสภาเพื่ออนุมัติโครงการ และเมื่อศึกษาผลกระทบและผลประโยชน์ต่างๆได้เป็นอย่างดีแล้ว ในการเจรจาแก้ปัญหากับชาวบ้านที่ได้รับความเดือนร้อนจากโครงการ ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐฯ ไม่ใช่ยกให้เป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชนที่รับเหมาประมูลงาน เป็นเรื่องที่เราทราบกันดีว่าบริษัทเอกชนก็ย่อมดำเนินงานเพื่อผลกำไรของบริษัท ในเมื่อเขาประมูลงานได้ เขาก็ต้องพยายามทำงานเพื่อหวังสร้างผลกำไรแก่บริษัทของเขา ไม่ใช่ทำเพื่อประชาชน

     ต่างจากรัฐบาล ที่มาจากการเลือกสรรของประชาชน พร้อมยังคิดทำโครงการต่างๆโดยบอกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็ควรที่จะใช้หน่วยงานของรัฐฯเข้ามาศึกษาและเคลียร์ปัญหาต่างๆกับชาวบ้านประชาชน ทำอย่างนี้ ก็เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจรัฐบาลมากขึ้น พร้อมๆกับที่รัฐบาลก็เข้าใจประชาชนมากขึ้นเช่นกัน เมื่อเข้าใจกันและกันมากขึ้น ความสำเร็จของโครงการต่างๆที่จะเกิดตามมาก็จะได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างแท้จริง  

ที่ราบกลางหุบเขาที่หาได้ยาก #ภาพจากเพจRosejovi

 

     สุดท้าย ผู้เขียนขอให้รัฐบาลทบทวนแนวคิด แนวทางของ กยน.ทั้งหมด อย่าได้ขัดฝืน ดื้อรั้นทำโดยที่ไม่ฟังเสียงร้องเรียนท้วงติงจากประชาชน เพราะการดื้อรั้นดันทุรังทำโครงการต่างๆโดยไม่ฟังเสียงทัดทาน ทักท้วงจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ เป็นการกระทำอย่างลุแก่อำนาจของเผด็จการ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับสังคมโลกปัจจุบันที่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลไทยในปัจจุบันก็ขึ้นมาอยู่และใช้อำนาจได้ก็เพราะจากการเลือกของประชาชน จึงควรที่จะทำงานเพื่อรับใช้ ช่วยเหลือ ดูแลประชาชน พร้อมๆกับรับฟังเสียงทักท้วงของประชาชน ทำได้อย่างนี้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่ดีของประชาชน เป็นรัฐบาลที่สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย

     กลับกัน หากทำตรงกันข้าม ก็เท่ากับรัฐบาลขีดเส้นวงรอบตน เพื่อกำจัดที่ยืนของรัฐบาลออกจากใจของประชาชนเช่นกัน

..............................................................................................................................................................................................................................................................

....................................................................................................................................................................................................

................................................................................................................................

 

### ข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ค้นเพิ่มได้ตามลิ้งค์เหล่านี้

         http://www.orphya.org/downloads/76463435.pdf

         http://www.greenworld.or.th/greenworld/population/2125

         http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=3001

 

        กยน.

        http://politicalbase.in.th/index.php/%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3_(%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%99.)

       http://thaiflood.kapook.com/view35531.html

 

       ภบท.5

       http://www.sureprop.com/page/%E0%B8%A0.%E0%B8%9A.%E0%B8%97.-5-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%3F

 

       เขื่อนปากมูล

       http://www.greenworld.or.th/library/environment-popular/1119

 

       เขื่อนศรีนครินทร์

       http://hilight.kapook.com/view/40408

 

       สิทธิชุมชน

          http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20120829143243.pdf

      

       งานวิชาการของ สืบ นาคะเสถียรที่กล่าวถึงการประเมินราคาของป่าไม้ว่าเป็นผลพลอยได้จากการสร้างเขื่อน ไม่ใช่ต้นทุนที่สังคมจะต้องสูญเสียไป

       http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=116:seub&catid=24:2009-11-02-06-29-34&Itemid=40

บล็อกของ Road Jovi

Road Jovi
หลายวันก่อน มีชายสูงอายุ ท่าทางเหมือนคนจรจัดเข้ามาดูต้นไม้ 
Road Jovi
ป่าไม้น่านหายไปไหน?-เป็นแคมเปญเรียกความสนใจของกลุ่มเอ็นจีโอบางกลุ่มอยู่...-คำตอบของคำถามข้างบน หากไปถามนักอนุรักษ์(ทำท่าจะเดินทางไปหาคำตอบกันอยู่นี่) ก็ไม่พ้นเกี่ยวเนื่องกับซีพี ข้าวโพดอาหารสัตว์ บลา บลา บลา....
Road Jovi
van van.รถแว๊นซ์เพื่อชีวิต
Road Jovi
ผมจะเขียนเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อที่จะจบประเด็นทั้งหมดก็แล้วกันนะครับ เพราะคิดว่าการถกเถียงกันไป-มาในโลกออนไลน์ ด้วยการโพสต์หรือเม้นเฉพาะข้อมูลที่ตนต้องการนำเสนอ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่ได้ช่วยให้สังคมเข้าใจความจริงมากขึ้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านหรือภาครัฐ ทั้งรังแต่จะทำให้สังคมเกิด
Road Jovi
 ข่าวสารในโลกวันนี้มีความหลากหลาย.......หลายอย่างก็เป็นความจริงที่เสนอตัวเองอย่างครบถ้วนรอบด้าน พอๆกับที่หลายอย่างก็เป็นความเท็จหรือจริงปนเท็จที่แต่งเติมเสริมเรื่องราวจนโอเวอร์เกินไป
Road Jovi
เมื่อหมู่คนให้ความชื่นชมแก่ใคร คนๆนั้นก็จะได้รับความนิยม.เมื่อได้รับความนิยมมากๆ ก็จะมีความสำคัญ.และเมื่อสำคัญมากๆ เขาย่อมได้รับการสถาปนาให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันใครจะแตะต้องมิได้...... 
Road Jovi
     ไปเชียงใหม่ครั้งที่ผ่านมา นั่งคุยกับมิตรสหายทั่นพี่นักเขียน ผมเล่าว่า พักหลังมันยากเหลือเกินที่ผมจะทำใจไปร่วมงานกับกลุ่มอนุรักษ์ ngoหรรมใหญ่หรรมน้อยทั้งหลาย เพราะทัศนะคติไม่ตรงกัน ในช่วงกปปส.ออกมาไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเขาเหล่าต่างชัดเจนว่าเห็นด้วยร่วมเป็นแรงพลังหน
Road Jovi
ไม่มีเสียงใดๆ ความเงียบยังปกคลุม กสม.จนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นแถลงการณ์ ไม่เห็นการโผล่ออกมากล่าวคำใดของ กสม. ต่อกรณีการถูกลอบดักยิงจนเสียชีวิตของคุณไม้หนึ่ง ก.กุนที หรือนายกมล ดวงผาสุก กวีและนักเคลื่อนไหวเสื้อแดง
Road Jovi
เฮ่อ.... เหนื่อยเหมือนกันนะ เห็นตรรกะการออกมาสนับสนุนเห็นด้วยกับพรบ.สุดซอยนี้แล้ว...ถ้าเพื่อหวังความสงบสุขสมานฉันท์ แล้วเราต้องลืม ต้องยกเว้นกันไปนี่ เขาทำมากันเท่าไหร่แล้ว หลายครั้งแล้วในประวัติศาสตร์ และผลสุดท้าย ลืมกันได้ไม่นานก็ออกมาฆ่ากันอีก เพราะอะไร..??