Skip to main content

(ก่อนจะเริ่มบทความ...คุณผู้อ่านรู้สึกไหมครับ ว่าชื่อบทความกับชื่อผม มันคล้องจองกันพิลึก อิอิ...)

 

 

ไม่รู้ว่าท่านผู้อ่านจะมีศิลปิน หรือวงดนตรีใดๆ ที่เมื่อมีอัลบั้มใหม่ของพวกเขา / เธอ ออกวางแผง เราก็ไม่รีรอที่จะรีบไปหาอัลบั้มมาเป็นเจ้าของโดยพลันหรือเปล่า

 

สำหรับตัวผม...โมเดิร์นด็อกสร้างความรู้สึกแบบนี้ให้ผมตลอดมา ตั้งแต่สมัยผมควักเงิน 60 บาทจากกระเป๋านักเรียนสีกากีออกจากกระเป๋า และคว้าอัลบั้ม “โมเดิร์นด็อก” (ที่มีชื่อเล่นว่าอัลบั้ม “เสริมสุขภาพ”) จากแผงเทป

 

จนถึงวันนี้ วันที่โมเดิร์นด็อกมีอัลบั้ม “ทิงนองนอย” ออกมาเป็นอัลบั้มใหม่ ความรู้สึกนั้นก็ยังเกิดกับผมไม่แปรเปลี่ยน เพราะในแต่อัลบั้ม โมเดิร์นด็อกจะกลับมาพบกับเราในรูปแบบที่ไม่ซ้ำเดิม ตั้งแต่การเป็นผู้นำกระแสอัลเทอร์เนทีฟ (โมเดิร์นด็อก), การนำกลิ่นอายของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (คาเฟ่), งานทดลองที่วัดใจทั้งคนทำและคนฟัง (Love me love my life) งานอคูสติก (Very Common of moderndog), การกลับสู่ความเรียบง่าย (แดดส่อง)

 

มาถึงวันนี้ หลังจากอัลบั้ม “แดดส่อง” มา 4 ปี (ซึ่งระหว่างนั้น โมเดิร์นด็อกก็ยังคงตระเวนเล่นสดอย่างสม่ำเสมอ สลับกับโปรเจ็กต์ย่อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมงานในโปรเจ็กต์ “น้ำคือชีวิต” ร่วมกับคาราบาวและเฉลียง, โปรเจ็กต์ BoydPod และการร่วมงานในอัลบั้ม “มนต์เพลงคาราบาว” เป็นต้น) ในวันที่โมเดิร์นด็อกออกนอกร่มเงาของเบเกอรี่ มิวสิค และออกอัลบั้มภายใต้สังกัดของตัวเอง และในวันที่วงการเพลงแตกต่างจากวันที่ผมยังใส่กางเกงขาสั้นสีกากีมากมายเหลือเกิน

 

ผมจึงสนใจว่า ในคราวนี้โมเดิร์นด็อกจะมาไม้ไหนอีก ;-)

ซึ่งพอได้ยินชื่ออัลบั้ม “ทิงนองนอย” แวบแรกที่ผมรู้สึก ผมคิดว่าอัลบั้มนี้น่าจะออกไปทางสนุกสนาน เถิดเทิงทิงนองนอยไปตามเรื่องตามราว ยิ่งเมื่อเห็นปกอัลบั้มและซองใส่ซีดีที่เป็นรูปหินตา หินยายอันชวนสยิวกิ้วแล้ว ก็ยิ่งทำให้คาดเดากันไปว่าอัลบั้มนี้มีฮาแน่ๆ

 

แต่เมื่อสัมผัสตัวเพลงในอัลบั้มจริงๆ ต้องบอกว่าผมคงจะคิดผิดเข้าเสียแล้ว

 

อัลบั้มนี้เหมือนจะเป็นส่วนผสมระหว่างความหม่นของอัลบั้ม “love me love my life” บวกกับความป๊อปของอัลบั้ม “แดดส่อง” ผสมกับสีสันใหม่ๆ อย่างการใช้กลองไทย และวงเครื่องสายในหลายๆ เพลง สัดส่วนของเพลงช้า-เร็วในอัลบั้มก็ดูจะเทน้ำหนักไปทางเพลงจังหวะปานกลางไปถึงช้า มากกว่าจะเป็นเพลงเร็วชวนโดด ซึ่งอาจจะคิดได้ว่าพี่ๆ เขาก็โดดกระจายมาตลอดตั้งแต่เราเด็กๆ จนป่านนี้พี่ๆ เขาน่าจะเข้าวัยกลางคนแล้ว ก็ให้พี่ๆ เขาโดดน้อยลงก็น่าจะดีนะ (ฮา)

 

อัลบั้มนี้ยังมีความน่าสนใจ ตรงที่มีนักแต่งเพลงรับเชิญอย่างคุณแสตมป์แห่งวง 7th Scene มาร่วมแต่งในเพลง “เงินล้าน” และ “BTS” และการกลับมาร่วมงานกับโมเดิร์นด็อกอีกครั้งของคุณพราย – ปฐมพร ปฐมพร ในเพลง “ไปด้วยกัน” หลังจากที่คุณพรายเคยมอบเพลง “...ก่อน” ให้โมเดิร์นด็อกได้แจ้งเกิดมาแล้ว

 

หลังจากที่ผมได้ฟังทั้งอัลบั้มแล้ว ต้องยอมรับว่านี่คืออัลบั้มที่ตัวเพลงไม่ได้พลุ่งพล่านเหมือนกับอัลบั้มก่อนๆ (แม้กระทั่งเพลง “นิยาย” ที่ถูกตัดเป็นเพลงโปรโมทเพลงแรก แม้จะเป็นเพลงเร็ว แต่ก็เบรกอารมณ์ด้วยเสียงของกีตาร์อคูสติก) ซึ่งสำหรับขาโดดก็คงผิดหวังกันบ้าง แต่สิ่งที่ได้ทดแทนความแรง คือความ “เพราะ” ของเพลง อย่างในรอบแรกของการฟัง ผมเองก็ติดใจกับเพลงหวานๆ อย่างเพลง “แสงจันทร์” และเพลงเนื้อหาดีๆ อย่าง “เงินล้าน” รวมทั้งวิธีการร้องของพี่ป๊อดในเพลงช้าๆ ด้วย (ฟังเสียงร้องนุ่มๆ ของพี่ป๊อดแล้วอดสงสัยว่าพี่แกติดมาจากช่วงทำอัลบั้ม BoydPod หรือเปล่าหว่า) ส่วนเพลงเร็วๆ ในอัลบั้มที่แม้จะมีไม่เยอะ แต่ก็มีประสิทธิภาพ อย่าเพลง “ไปด้วยกัน” นี่ติดหูหนับตั้งแต่รอบแรกที่ได้ยินเลยทีเดียว

 

ผมฟังอัลบั้มนี้จบด้วยความรู้สึกว่า นี่อาจจะเป็นอัลบั้มแรกที่เราไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับงานใหม่ของโมเดิร์นด็อก แต่กลับรู้สึกว่าเรานั่งฟังอัลบั้มนี้เพลินไปจนจบแผ่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจเป็นเพราะว่านี่คืออัลบั้มที่ทำเพื่อ “ฟัง” มากกว่าจะเน้นไปที่การทดลองเหมือนงานชิ้นก่อนๆ

 

อาจเป็นไปได้ว่า...หมาทันสมัยกลุ่มนี้อาจจะค้นพบเสียงของตัวเองแล้ว หลังจากแสวงหามานับสิบปี...

 

(เนื้อที่โฆษณา)

 


ผมเคยเขียนถึงวงดนตรี “ภูมิจิต” ใน “บ้านบรรทัดห้าเส้น” ตอนก่อนๆ ในฐานะของวงดนตรีรุ่นใหม่ฝีมือดีที่น่าสนับสนุน เมื่อถึงคราวที่พวกเขาจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ ก็อดไม่ได้ที่จะมาบอกต่อกัน

 

พวกเขาจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล “ศิลปะนานาพันธุ์” ของสถาบันปรีดีพนมยงค์) ในวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน ณ หอประชุมใหญ่ สถาบันปรีดีพนมยงค์ ซอยทองหล่อ

 

บัตรราคา 199 บาท ซื้อได้ที่ร้านดีเจ. สยาม และหน้างานครับ

 

วงดีๆ แบบนี้น่าสนับสนุนครับ

 

บล็อกของ เด็กใหม่ในเมือง

เด็กใหม่ในเมือง
คุณรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับข่าวการเมืองในตอนนี้บ้างหรือเปล่าครับ? เอาเข้าจริง ถ้าคุณเป็นคนปกติทั่วไป แม้ว่าจะสนใจการเมืองมากขนาดไหน แต่ถ้ารับปริมาณข่าวการเมืองจากหลากหลายฝ่ายถี่ๆ มันก็พาลจะเกิดอาการเอียน พาลให้ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว หรือหนักๆ เข้าอาจจะเล่นเอาอ้วกแตกเอาง่ายๆ (อันนี้ผมขอยกเว้นบรรดานักเสพติดการเมืองตามบรรดาเวบบอร์ดการเมืองต่างๆ นะ ไม่รู้ว่าพวกพี่แกกินอะไรกัน ถึงได้สนใจเรื่องพรรค์นี้กันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย) และด้วยภาวะการเมืองอันชวนพะอืดพะอมแบบนี้ อาจทำให้หลายๆ คนไม่มีอารมณ์จะสนใจเรื่องหนัง ละคร รวมถึงเรื่องบันเทิงเริงใจต่างๆ…
เด็กใหม่ในเมือง
ตั้งแต่เขียนคอลัมน์ “บ้านบรรทัดห้าเส้น” แบบขาดๆ หายๆ มาได้หลายปีนั้น มีบทความแบบหนึ่งที่ผมพยายามเขียนมามากครั้ง...แล้วก็เขียนไม่ค่อยได้สักที บทความประเภทที่ว่าก็คือรายงานคอนเสิร์ตนั่นเอง ด้วยความที่ผมมักหาเรื่องไปดูคอนเสิร์ตทั้งฟรี และไม่ฟรีอยู่เสมอๆ นัยว่าเพื่อเป็นการหาประสบการณ์ทางดนตรี เพื่อเพิ่มพูนความรู้เรื่องดนตรีไปด้วย (...ข้ออ้างดังกล่าวฟังดูสวยหรูนะครับ แต่มันเป็นเหตุผลที่ผมจะเก็บเอาไว้อธิบายให้แฟนตัวเองเข้าใจ เวลาที่เธอบ่นถึงราคาบัตรคอนเสิร์ตที่ผมจ่ายไปในแต่ละเดือน) พอได้ดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง แล้วได้เจออะไรดีๆ ก็อยากจะเอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง แต่พอจะเริ่มต้นเขียน…
เด็กใหม่ในเมือง
แม้ว่าช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงตกต่ำของวงการดนตรีไทย ด้วยยอดขายของซีดีที่นับวันจะต่ำเตี้ยติดดินลงทุกที แต่ถ้าเรามองกันถึงเนื้องาน ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้มีงานที่น่าสนใจออกมาหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานของภูมิจิตที่ผมพูดไปถึงเมื่อคราวที่แล้ว, โปรเจ็กต์โฟล์คของคุณมาโนช พุฒตาลที่เริ่มต้นด้วยซิงเกิ้ล “อยู่อยุธยา” (ทั้งนี้ไม่นับรวมถึงงานที่ผมสนใจด้วยความลำเอียงล้วนๆ อย่างอัลบั้มใหม่ของโฟร์ – มด... แหม ก็น้องมดเขาน่ารักนี่ อิอิ...)รวมถึงงานชิ้นนี้ที่ผมจะพูดถึงในครั้งนี้ด้วยผมกำลังจะพูดถึงอัลบั้ม “ต้นฉบับเสียงหวาน” ของ “สวีทนุช” ครับ
เด็กใหม่ในเมือง
ในขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ เราได้เห็นบรรดานักคว้าดาวปรากฏในหน้าจอของโมเดิร์นไนน์ทีวี และในอีกไม่นานก็คงถึงคราวของรายการ Academy Fantasia ที่จะกลับมาอยู่ในความสนใจกันอีกครั้งพูดถึงรายการเรียลิตี้โชว์ทั้ง 2 รายการที่ว่านั่น ดูจะเป็นเส้นทางลัดของบรรดา “นักล่าฝัน” หลายๆ คนที่หวังจะเข้าสู่วงการดนตรี ซึ่งดูจะเป็นเส้นทางที่คนจับจ้อง และหลายคนพร้อมจะกระโดดลงไปหามันมากที่สุด... แม้ในที่สุดเราจะได้เห็นว่า เอาเข้าจริงคนที่ถูกลืมจากเวทีเหล่านี้มีมากกว่าผู้ที่ได้รับชื่อเสียงหลายเท่านักแต่ในคราวนี้ ผมจะพูดถึงวงดนตรีวงหนึ่ง ที่เส้นทางการเดินทางของพวกเขาดูจะขรุขระ ไม่ได้มีสปอตไลท์สาดส่อง…
เด็กใหม่ในเมือง
จริงๆ แล้วผมตั้งใจจะประเดิมคอลัมน์ใหม่นี้ ด้วยการเขียนถึงหนังเรื่อง "รักแห่งสยาม" (ที่เขียนเสียช้าขนาดนี้ ก็เพราะผมเพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้จากรอบพิเศษที่ชาว pantip.com ร่วมกันจัดขึ้น) แต่ก็มีเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจกระทันหัน เหตุผลที่ว่านั่นก็คือการยุติรายการของคลื่นวิทยุ 99.5 The Radio ครับ ถ้าใครได้ติดตามแวดวงวิทยุในกรุงเทพฯ (หรือถ้าไม่ได้ตามในกรุงเทพฯ จะฟังวิทยุทางเนตก็เช่นกัน) รวมถึงเป็นนักฟังเพลงสากลอยู่บ้าง คงจะรู้จักรายการนี้ในฐานะที่เป็นแหล่งรวมนักจัดรายการระดับ "เทพ" ของวงการวิทยุเมืองไทย ตั้งแต่คุณหมึก - วิโรจน์ ควันธรรม, คุณมาโนช พุฒตาล, คุณเดือนเพ็ญ สีหรัตน์,ป้าแต๋ว - วาสนา…