Skip to main content

จริงๆ แล้วผมตั้งใจจะประเดิมคอลัมน์ใหม่นี้ ด้วยการเขียนถึงหนังเรื่อง "รักแห่งสยาม" (ที่เขียนเสียช้าขนาดนี้ ก็เพราะผมเพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้จากรอบพิเศษที่ชาว pantip.com ร่วมกันจัดขึ้น) แต่ก็มีเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจกระทันหัน

เหตุผลที่ว่านั่นก็คือการยุติรายการของคลื่นวิทยุ 99.5 The Radio ครับ

20080117 The Radio

ถ้าใครได้ติดตามแวดวงวิทยุในกรุงเทพฯ (หรือถ้าไม่ได้ตามในกรุงเทพฯ จะฟังวิทยุทางเนตก็เช่นกัน) รวมถึงเป็นนักฟังเพลงสากลอยู่บ้าง คงจะรู้จักรายการนี้ในฐานะที่เป็นแหล่งรวมนักจัดรายการระดับ "เทพ" ของวงการวิทยุเมืองไทย ตั้งแต่คุณหมึก - วิโรจน์ ควันธรรม, คุณมาโนช พุฒตาล, คุณเดือนเพ็ญ สีหรัตน์,ป้าแต๋ว - วาสนา วีระชาติพลี ฯลฯ

นักจัดรายการเหล่านี้ เป็นตัวแทนของดีเจ. ในยุคที่วงการวิทยุอุดมไปด้วยดีเจ. ต้องมีความรู้-เข้าใจในตัวเพลงที่เปิด ประกอบกับความสามารถในการดึงคนฟังให้อยู่หมัด

สิ่งที่เราได้ยินจาก The Radio จึงแตกต่างจากรายการวิทยุประเภท "ฟังเพลงต่อเนื่อง 50 นาที" ตรงที่เราจะได้ฟังเพลงพอประมาณ ในขณะเดียวกันดีเจก็ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นผู้พูดเข้ารายการกับปิดท้ายเพลงเพียงเท่านั้น หลายๆ ครั้งที่เราจะได้ยินเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเพลงที่เปิดอยู่ รวมถึงเรื่องราวสัพเพเหระต่างๆ จนบางครั้งสิ่งที่ดีเจพูด น่าสนใจกว่าตัวเพลงที่เปิดเสียอีก (ถ้าใครเคยฟังพี่ซัน - มาโนช พุฒตาล จัดรายการจะเข้าใจเรื่องนี้ดีครับ เพราะหลายๆ คนที่ฟังช่วงที่พี่ซันจัดก็เพื่อรอลุ้นว่าวันนี้พี่ซันจะพูดอะไร และจะคว้า "ไอ้จู๊ด" - กีตาร์ตัวโปรดขึ้นมาเล่นสดๆ ในรายการช่วงไหน)

The Radio แสดงให้เราเห็นว่าดีเจไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เป็นผู้พูดเปิดรายการ, เข้าเพลง, ปิดรายการ และหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการช่วยขายของให้กับสปอนเซอร์ของคลื่นด้วย (ฮา...) แต่ดีเจยังนำเสนอความคิด, ประสบการณ์ และรสนิยมทางดนตรีมาคลุกเคล้าแล้วนำเสนอไปกับวิธีการพูดที่น่าฟัง (ซึ่งสิ่งนี้บรรดาดีเจหน้าหล่อรุ่นหลังๆ ทำไม่ค่อยเป็น)

ทำให้แม้จะไม่ได้เป็นคลื่นวิทยุสังกัดบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่รายการนี้ก็มีผู้ฟังมากพอสมควร และเป็นที่กล่าวขวัญแบบปากต่อปากมากขึ้นเรื่อยๆ (ได้ยินมาว่าแม้กระทั่งในออฟฟิศของประชาไทเอง ก็มีแฟนๆ เดอะเรดิโออยู่หลายคนเหมือนกัน)

แต่แม้ว่ารายการนี้จะมีผู้ฟังเยอะขนาดไหน แต่จำนวนสปอนเซอร์กลับไม่ได้เยอะตามไปด้วย จนในที่สุด นายทุนเลยถอดใจ เปลี่ยนรูปแบบรายการเป็นเน้นเพลงป๊อปเอาใจวัยรุ่น (ทั้งๆ ที่ได้ยินมาว่าหลังช่วงปีใหม่ จะมีสปอนเซอร์อีกหลายเจ้าเข้ามาสนับสนุน แต่ก็ดูว่าจะไม่ทันกาลเสียแล้ว)

เอาเข้าจริงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ The Radio ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับหลายๆ รายการวิทยุชั้นดีในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรายการที่ผสานการเป็นคลื่นวิทยุขวัญใจวัยรุ่นกับรายการวิทยุคุณภาพได้ลงตัวอย่าง Smile Radio FM 88.0 หรืออย่าง 89.0 Pirate Rock ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของคลื่นขวัญใจคออินดี้อย่าง Fat Radio ในปัจจุบัน (แม้กระทั่งพี่หมึก – วิโรจน์ ควันธรรมเองก็เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อนในสมัย 94.5 Love FM.)

เพราะทุกรายการที่ผมกล่าวมานั้น ต่างเป็นรายการที่มีกลุ่มคนฟังเหนียวแน่นพอสมควร และต่างก็รับคำกล่าวขวัญจากผู้ฟังในด้านคุณภาพ แต่ก็ไม่สามารถรักษาคลื่นวิทยุของตัวเองไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลจากการหาโฆษณาไม่ได้, ไม่ได้ต่อสัญญาสัมปทานกับทางคลื่น เพราะมีเจ้าอื่นที่เงินหนากว่ามาประมูลได้

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยจนเริ่มรู้สึกว่า การทำรายการวิทยุให้ถูกใจคนฟัง อาจไม่สำคัญเท่ากับการทำรายการวิทยุให้ถูกใจเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งบรรดาเอเจนซี่เหล่านี้นะแหละ ที่เป็น “มือที่มองไม่เห็น” ที่คอยกำหนดชี้เป็น ชี้ตายให้กับวิทยุ (เอาเข้าจริง มันก็โอบคลุมไปทั้งวงการวิทยุ, โทรทัศน์, นิตยสาร... หรือให้ง่ายกว่านั้น สื่อทุกประเภทกำลังถูกมือข้างนี้ค่อยๆ บีบทีละน้อย...)

ในขณะที่คนเสพได้แต่มองตาปริบๆ ด้วยความเสียดาย

ผมควรจะจบเรื่องนี้ด้วยการสรุปแบบเศร้าๆ ว่า “นี่คืออีกหนึ่งคลื่นวิทยุดีๆ ที่ต้องจากไปเพราะกระแสทุนเป็นใหญ่”
...แต่มันยังจบไม่ได้ครับ

เพราะว่ามีคนนำเรื่องการยุติรายการของ The Radio ไปโพสต์ลงในเวบบอร์ดในห้อง “เฉลิมไทย” ของเว็บไซต์ Pantip.com (http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A6178823/A6178823.html)  ซึ่งผลที่ได้ก็คือมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นถึง 934 ความเห็น (ในขณะที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้อยู่) ซึ่งความเห็นจำนวนมากนั้นมีความเห็นของพี่หมึก และทีมดีเจหลายๆ ท่านของ The Radio รวมอยู่ด้วย

จากความเห็นเหล่านั้น จุดประกายให้ทีมงาน The Radio เลือกที่จะลองหาทางเคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นการทดลองจัดรายการออนไลน์บนอินเตอร์เน็ต หรืออาจจะเป็นการจัดกิจกรรมพบปะแฟนๆ รายการ (ใครอยากทราบรายละเอียดจริงๆ ลองสอบถามไปที่ theradiolive@hotmail.com ดูแล้วกัน)

ผมเริ่มเห็นสัญญานอันดี ที่ “มือที่มองไม่เห็น” จะถูกทดสอบโดยพลังของผู้ฟัง – ผู้เสพสื่อจริงๆ สักที

ซึ่งแม้จะยังไม่รู้ว่า The Radio จะ “เกิดใหม่” ได้อีกครั้งหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าถ้าพวกพี่ๆ สามารถทำได้ การเกิดใหม่คราวนี้จะเป็นเหมือนนกฟินิกซ์ที่เกิดขึ้นจากกองไฟที่เผาร่างตัวเอง

มันจะไม่ตายง่ายๆ แน่นอนครับ

บล็อกของ เด็กใหม่ในเมือง

เด็กใหม่ในเมือง
My Private Radio – รายการเพลงที่ผมมั่นใจว่าดีที่สุดในเว็บประชาไท (เพราะมันมีอยู่รายการเดียว :-P) กลับมาพบกับท่านอีกครั้งแล้วครับ
เด็กใหม่ในเมือง
มาล่าช้ากันสักนิดนึงนะครับสำหรับรายการวิทยุส่วนตัวของผม แต่มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มานะครับหวังว่ารายการนี้จะพอทำให้บรรยากาศอันดุเดือดในช่วงนี้เย็นๆ ลงมาบ้าง และรายการนี้... ไม่ว่าสีใด ก็ฟังกันได้สบายๆ...
เด็กใหม่ในเมือง
ตอนที่ผมกำลังทำรายการวิทยุออนไลน์เล็กๆ รายการนี้ เมื่อมองออกไปที่ท้องฟ้าแถวบ้าน ผมเห็นพระจันทร์ดวงโตสวยส่องสว่างอยู่... เลยอยากจะเลือกเพลงให้เข้ากับบรรยากาศในตอนนั้น พอเลือกเพลงได้ ก็เลยเอาเพลงที่เลือกมาเปิดให้คุณๆ ฟังกันนั่นแหละครับ       
เด็กใหม่ในเมือง
แม้ว่าในประชาไท รายการ My Private Radio จะเพิ่งได้มาโอกาสมาเปิดเพลงเพราะมั่ง ไม่เพราะมั่งให้กับคุณๆ ได้ฟังกันไม่นานนี้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้านับตั้งแต่ที่ผมเริ่มทำรายการตอนแรกลงในเว็บไซต์ http://myprivateradio.ning.com แล้ว ตอนที่คุณได้ฟังอยู่ตอนนี้ นับเป็นตอนที่ 10 แล้วครับ   ในตอนนี้ ผมเลยตั้งโจทย์เล่นๆ ว่า ถ้าผมต้องเลือกเพลงทุกเพลงในรายการ ให้กับคนหลายๆ คน ตั้งแต่เพี่อนของผม เลยเถิดไปจนถึงทีมการท่าเรือไทย เอฟ ซี (!) ผมจะหยิบอะไรมาเปิดบ้าง
เด็กใหม่ในเมือง
 กลับมาอีกครั้งสำหรับรายการวิทยุส่วนตัวของผมครับ :-)ผมบันทึกเสียงรายการตอนนี้ในคืนวันวาเลนไทน์ เลยทำให้บรรยากาศของวันแห่งความรักเผลอตลบอบอวลเข้ามาในรายการด้วยตอนนี้เลยมีเพลงรักดีๆ ให้ฟังกันเยอะครับเชิญฟังกันได้เลยครับ  
เด็กใหม่ในเมือง
  กลับมาอีกครั้งกับรายการวิทยุส่วนตัวของผมครับ :-)   GT 200 กับเพลงโซล – ดิสโก้ ดูมันไม่เกี่ยวกันเลย แต่มันก็มาอยู่ในรายการนี้กันได้ซะงั้น   เชิญฟัง และติ-ชมกันได้ครับ       
เด็กใหม่ในเมือง
ผมกำลังสนุกกับของเล่นชิ้นใหม่อยู่ครับ... ของเล่นชิ้นที่ว่า คือการทำรายการวิทยุออนไลน์ของตัวเองครับ
เด็กใหม่ในเมือง
  ถ้าคุณผู้อ่านแวะเข้าห้องเฉลิมกรุงของเว็บไซต์ pantip.com (พันทิปไม่ได้มีแค่ห้องราชดำเนินนะครับพี่น้อง...) ซึ่งเป็นเวบบอร์ดที่พูดถึงแวดวงดนตรี ละครเวที และงานศิลปะอยู่เป็นประจำละก็ คุณคงจะรู้ว่าศิลปิน-นักร้องที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงที่สุดในห้องเฉลิมกรุงในช่วงเดือน - สองเดือนที่ผ่านมานั้นเป็นใคร ถ้าคุณไม่ใช่เด็กห้องเหลิมกรุง คุณอาจจะเดาว่าเป็น Wonder Girls, Girl's Generation, ดงบังชินกิ, ซุปเปอร์จูเนียร์ หรือบรรดาบอยแบนด์ - เกิร์ลกรุ๊ปทั้งสัญชาติไทยและเกาหลี
เด็กใหม่ในเมือง
  มีตำนานกล่าวขานถึงเวทมนต์วิเศษที่จะทำให้คนธรรมดา เสียงไพเราะกว่าใครเริงระบำได้เหนือกว่าใคร
เด็กใหม่ในเมือง
ผมเริ่มนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ ตอน 10 โมงกว่าๆ ของวันที่ 14 เมษายน 2552 หลังวันสุกดิบของการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ในหลายๆ จุดทั่วกรุงเทพฯที่จั่วหัวแบบนี้ ผมไม่ได้มาพูดเรื่องการเมืองหรอกครับ (ผมเขียนวัน-เวลาเอาไว้เพื่อเตือนความจำของตัวเองเท่านั้นแหละ)ผมจะมาเล่าเรื่องที่ทำงานประจำของผมให้คุณๆ ฟังครับ
เด็กใหม่ในเมือง
ผมขอเริ่มต้นบทความชิ้นนี้ ด้วยการย้อนระลึกถึงเมื่อครั้งที่ผมยังเป็นเด็กนักเรียนประถม ในยุคที่สถานีโทรทัศน์ทุกแห่งในประเทศไทยยังไม่มีการออกอากาศช่วงกลางวันในวันธรรมดา และยังไม่มีเคเบิลทีวีให้บริการอย่างเอิกเกริกแบบตอนนี้ ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นสิ่งอภิมหาแพงเกินกว่าที่ทุกครัวเรือนจะมี หรือถึงบ้านไหนจะมี เทคโนโลยีในยุคนั้นก็ยังไม่เอื้อให้คอมพิวเตอร์เป็นศูนย์รวมความบันเทิงแบบทุกวันนี้ ความบันเทิงในยุคนั้นของผม นอกจากรายการทีวีวันเสาร์ - อาทิตย์แล้ว บรรดาวีดิโอจากร้านเช่าก็เป็นความบันเทิงราคาถูกที่พอจะมีกันได้ ซึ่งวีดิโอที่เรามักจะเลือกเช่า ก็หนีไม่พ้นการ์ตูนและหนังต่างๆ
เด็กใหม่ในเมือง
(ก่อนจะเริ่มบทความ...คุณผู้อ่านรู้สึกไหมครับ ว่าชื่อบทความกับชื่อผม มันคล้องจองกันพิลึก อิอิ...)  ไม่รู้ว่าท่านผู้อ่านจะมีศิลปิน หรือวงดนตรีใดๆ ที่เมื่อมีอัลบั้มใหม่ของพวกเขา / เธอ ออกวางแผง เราก็ไม่รีรอที่จะรีบไปหาอัลบั้มมาเป็นเจ้าของโดยพลันหรือเปล่า สำหรับตัวผม...โมเดิร์นด็อกสร้างความรู้สึกแบบนี้ให้ผมตลอดมา ตั้งแต่สมัยผมควักเงิน 60 บาทจากกระเป๋านักเรียนสีกากีออกจากกระเป๋า และคว้าอัลบั้ม “โมเดิร์นด็อก” (ที่มีชื่อเล่นว่าอัลบั้ม “เสริมสุขภาพ”) จากแผงเทป จนถึงวันนี้ วันที่โมเดิร์นด็อกมีอัลบั้ม “ทิงนองนอย” ออกมาเป็นอัลบั้มใหม่ ความรู้สึกนั้นก็ยังเกิดกับผมไม่แปรเปลี่ยน…