Skip to main content

จริงๆ แล้วผมตั้งใจจะประเดิมคอลัมน์ใหม่นี้ ด้วยการเขียนถึงหนังเรื่อง "รักแห่งสยาม" (ที่เขียนเสียช้าขนาดนี้ ก็เพราะผมเพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้จากรอบพิเศษที่ชาว pantip.com ร่วมกันจัดขึ้น) แต่ก็มีเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจกระทันหัน

เหตุผลที่ว่านั่นก็คือการยุติรายการของคลื่นวิทยุ 99.5 The Radio ครับ

20080117 The Radio

ถ้าใครได้ติดตามแวดวงวิทยุในกรุงเทพฯ (หรือถ้าไม่ได้ตามในกรุงเทพฯ จะฟังวิทยุทางเนตก็เช่นกัน) รวมถึงเป็นนักฟังเพลงสากลอยู่บ้าง คงจะรู้จักรายการนี้ในฐานะที่เป็นแหล่งรวมนักจัดรายการระดับ "เทพ" ของวงการวิทยุเมืองไทย ตั้งแต่คุณหมึก - วิโรจน์ ควันธรรม, คุณมาโนช พุฒตาล, คุณเดือนเพ็ญ สีหรัตน์,ป้าแต๋ว - วาสนา วีระชาติพลี ฯลฯ

นักจัดรายการเหล่านี้ เป็นตัวแทนของดีเจ. ในยุคที่วงการวิทยุอุดมไปด้วยดีเจ. ต้องมีความรู้-เข้าใจในตัวเพลงที่เปิด ประกอบกับความสามารถในการดึงคนฟังให้อยู่หมัด

สิ่งที่เราได้ยินจาก The Radio จึงแตกต่างจากรายการวิทยุประเภท "ฟังเพลงต่อเนื่อง 50 นาที" ตรงที่เราจะได้ฟังเพลงพอประมาณ ในขณะเดียวกันดีเจก็ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นผู้พูดเข้ารายการกับปิดท้ายเพลงเพียงเท่านั้น หลายๆ ครั้งที่เราจะได้ยินเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเพลงที่เปิดอยู่ รวมถึงเรื่องราวสัพเพเหระต่างๆ จนบางครั้งสิ่งที่ดีเจพูด น่าสนใจกว่าตัวเพลงที่เปิดเสียอีก (ถ้าใครเคยฟังพี่ซัน - มาโนช พุฒตาล จัดรายการจะเข้าใจเรื่องนี้ดีครับ เพราะหลายๆ คนที่ฟังช่วงที่พี่ซันจัดก็เพื่อรอลุ้นว่าวันนี้พี่ซันจะพูดอะไร และจะคว้า "ไอ้จู๊ด" - กีตาร์ตัวโปรดขึ้นมาเล่นสดๆ ในรายการช่วงไหน)

The Radio แสดงให้เราเห็นว่าดีเจไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เป็นผู้พูดเปิดรายการ, เข้าเพลง, ปิดรายการ และหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการช่วยขายของให้กับสปอนเซอร์ของคลื่นด้วย (ฮา...) แต่ดีเจยังนำเสนอความคิด, ประสบการณ์ และรสนิยมทางดนตรีมาคลุกเคล้าแล้วนำเสนอไปกับวิธีการพูดที่น่าฟัง (ซึ่งสิ่งนี้บรรดาดีเจหน้าหล่อรุ่นหลังๆ ทำไม่ค่อยเป็น)

ทำให้แม้จะไม่ได้เป็นคลื่นวิทยุสังกัดบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่รายการนี้ก็มีผู้ฟังมากพอสมควร และเป็นที่กล่าวขวัญแบบปากต่อปากมากขึ้นเรื่อยๆ (ได้ยินมาว่าแม้กระทั่งในออฟฟิศของประชาไทเอง ก็มีแฟนๆ เดอะเรดิโออยู่หลายคนเหมือนกัน)

แต่แม้ว่ารายการนี้จะมีผู้ฟังเยอะขนาดไหน แต่จำนวนสปอนเซอร์กลับไม่ได้เยอะตามไปด้วย จนในที่สุด นายทุนเลยถอดใจ เปลี่ยนรูปแบบรายการเป็นเน้นเพลงป๊อปเอาใจวัยรุ่น (ทั้งๆ ที่ได้ยินมาว่าหลังช่วงปีใหม่ จะมีสปอนเซอร์อีกหลายเจ้าเข้ามาสนับสนุน แต่ก็ดูว่าจะไม่ทันกาลเสียแล้ว)

เอาเข้าจริงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ The Radio ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับหลายๆ รายการวิทยุชั้นดีในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรายการที่ผสานการเป็นคลื่นวิทยุขวัญใจวัยรุ่นกับรายการวิทยุคุณภาพได้ลงตัวอย่าง Smile Radio FM 88.0 หรืออย่าง 89.0 Pirate Rock ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของคลื่นขวัญใจคออินดี้อย่าง Fat Radio ในปัจจุบัน (แม้กระทั่งพี่หมึก – วิโรจน์ ควันธรรมเองก็เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อนในสมัย 94.5 Love FM.)

เพราะทุกรายการที่ผมกล่าวมานั้น ต่างเป็นรายการที่มีกลุ่มคนฟังเหนียวแน่นพอสมควร และต่างก็รับคำกล่าวขวัญจากผู้ฟังในด้านคุณภาพ แต่ก็ไม่สามารถรักษาคลื่นวิทยุของตัวเองไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลจากการหาโฆษณาไม่ได้, ไม่ได้ต่อสัญญาสัมปทานกับทางคลื่น เพราะมีเจ้าอื่นที่เงินหนากว่ามาประมูลได้

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยจนเริ่มรู้สึกว่า การทำรายการวิทยุให้ถูกใจคนฟัง อาจไม่สำคัญเท่ากับการทำรายการวิทยุให้ถูกใจเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งบรรดาเอเจนซี่เหล่านี้นะแหละ ที่เป็น “มือที่มองไม่เห็น” ที่คอยกำหนดชี้เป็น ชี้ตายให้กับวิทยุ (เอาเข้าจริง มันก็โอบคลุมไปทั้งวงการวิทยุ, โทรทัศน์, นิตยสาร... หรือให้ง่ายกว่านั้น สื่อทุกประเภทกำลังถูกมือข้างนี้ค่อยๆ บีบทีละน้อย...)

ในขณะที่คนเสพได้แต่มองตาปริบๆ ด้วยความเสียดาย

ผมควรจะจบเรื่องนี้ด้วยการสรุปแบบเศร้าๆ ว่า “นี่คืออีกหนึ่งคลื่นวิทยุดีๆ ที่ต้องจากไปเพราะกระแสทุนเป็นใหญ่”
...แต่มันยังจบไม่ได้ครับ

เพราะว่ามีคนนำเรื่องการยุติรายการของ The Radio ไปโพสต์ลงในเวบบอร์ดในห้อง “เฉลิมไทย” ของเว็บไซต์ Pantip.com (http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A6178823/A6178823.html)  ซึ่งผลที่ได้ก็คือมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นถึง 934 ความเห็น (ในขณะที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้อยู่) ซึ่งความเห็นจำนวนมากนั้นมีความเห็นของพี่หมึก และทีมดีเจหลายๆ ท่านของ The Radio รวมอยู่ด้วย

จากความเห็นเหล่านั้น จุดประกายให้ทีมงาน The Radio เลือกที่จะลองหาทางเคลื่อนไหวอะไรสักอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นการทดลองจัดรายการออนไลน์บนอินเตอร์เน็ต หรืออาจจะเป็นการจัดกิจกรรมพบปะแฟนๆ รายการ (ใครอยากทราบรายละเอียดจริงๆ ลองสอบถามไปที่ theradiolive@hotmail.com ดูแล้วกัน)

ผมเริ่มเห็นสัญญานอันดี ที่ “มือที่มองไม่เห็น” จะถูกทดสอบโดยพลังของผู้ฟัง – ผู้เสพสื่อจริงๆ สักที

ซึ่งแม้จะยังไม่รู้ว่า The Radio จะ “เกิดใหม่” ได้อีกครั้งหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าถ้าพวกพี่ๆ สามารถทำได้ การเกิดใหม่คราวนี้จะเป็นเหมือนนกฟินิกซ์ที่เกิดขึ้นจากกองไฟที่เผาร่างตัวเอง

มันจะไม่ตายง่ายๆ แน่นอนครับ

บล็อกของ เด็กใหม่ในเมือง

เด็กใหม่ในเมือง
คุณรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับข่าวการเมืองในตอนนี้บ้างหรือเปล่าครับ? เอาเข้าจริง ถ้าคุณเป็นคนปกติทั่วไป แม้ว่าจะสนใจการเมืองมากขนาดไหน แต่ถ้ารับปริมาณข่าวการเมืองจากหลากหลายฝ่ายถี่ๆ มันก็พาลจะเกิดอาการเอียน พาลให้ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว หรือหนักๆ เข้าอาจจะเล่นเอาอ้วกแตกเอาง่ายๆ (อันนี้ผมขอยกเว้นบรรดานักเสพติดการเมืองตามบรรดาเวบบอร์ดการเมืองต่างๆ นะ ไม่รู้ว่าพวกพี่แกกินอะไรกัน ถึงได้สนใจเรื่องพรรค์นี้กันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย) และด้วยภาวะการเมืองอันชวนพะอืดพะอมแบบนี้ อาจทำให้หลายๆ คนไม่มีอารมณ์จะสนใจเรื่องหนัง ละคร รวมถึงเรื่องบันเทิงเริงใจต่างๆ…
เด็กใหม่ในเมือง
ตั้งแต่เขียนคอลัมน์ “บ้านบรรทัดห้าเส้น” แบบขาดๆ หายๆ มาได้หลายปีนั้น มีบทความแบบหนึ่งที่ผมพยายามเขียนมามากครั้ง...แล้วก็เขียนไม่ค่อยได้สักที บทความประเภทที่ว่าก็คือรายงานคอนเสิร์ตนั่นเอง ด้วยความที่ผมมักหาเรื่องไปดูคอนเสิร์ตทั้งฟรี และไม่ฟรีอยู่เสมอๆ นัยว่าเพื่อเป็นการหาประสบการณ์ทางดนตรี เพื่อเพิ่มพูนความรู้เรื่องดนตรีไปด้วย (...ข้ออ้างดังกล่าวฟังดูสวยหรูนะครับ แต่มันเป็นเหตุผลที่ผมจะเก็บเอาไว้อธิบายให้แฟนตัวเองเข้าใจ เวลาที่เธอบ่นถึงราคาบัตรคอนเสิร์ตที่ผมจ่ายไปในแต่ละเดือน) พอได้ดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง แล้วได้เจออะไรดีๆ ก็อยากจะเอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง แต่พอจะเริ่มต้นเขียน…
เด็กใหม่ในเมือง
แม้ว่าช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงตกต่ำของวงการดนตรีไทย ด้วยยอดขายของซีดีที่นับวันจะต่ำเตี้ยติดดินลงทุกที แต่ถ้าเรามองกันถึงเนื้องาน ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้มีงานที่น่าสนใจออกมาหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานของภูมิจิตที่ผมพูดไปถึงเมื่อคราวที่แล้ว, โปรเจ็กต์โฟล์คของคุณมาโนช พุฒตาลที่เริ่มต้นด้วยซิงเกิ้ล “อยู่อยุธยา” (ทั้งนี้ไม่นับรวมถึงงานที่ผมสนใจด้วยความลำเอียงล้วนๆ อย่างอัลบั้มใหม่ของโฟร์ – มด... แหม ก็น้องมดเขาน่ารักนี่ อิอิ...)รวมถึงงานชิ้นนี้ที่ผมจะพูดถึงในครั้งนี้ด้วยผมกำลังจะพูดถึงอัลบั้ม “ต้นฉบับเสียงหวาน” ของ “สวีทนุช” ครับ
เด็กใหม่ในเมือง
ในขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ เราได้เห็นบรรดานักคว้าดาวปรากฏในหน้าจอของโมเดิร์นไนน์ทีวี และในอีกไม่นานก็คงถึงคราวของรายการ Academy Fantasia ที่จะกลับมาอยู่ในความสนใจกันอีกครั้งพูดถึงรายการเรียลิตี้โชว์ทั้ง 2 รายการที่ว่านั่น ดูจะเป็นเส้นทางลัดของบรรดา “นักล่าฝัน” หลายๆ คนที่หวังจะเข้าสู่วงการดนตรี ซึ่งดูจะเป็นเส้นทางที่คนจับจ้อง และหลายคนพร้อมจะกระโดดลงไปหามันมากที่สุด... แม้ในที่สุดเราจะได้เห็นว่า เอาเข้าจริงคนที่ถูกลืมจากเวทีเหล่านี้มีมากกว่าผู้ที่ได้รับชื่อเสียงหลายเท่านักแต่ในคราวนี้ ผมจะพูดถึงวงดนตรีวงหนึ่ง ที่เส้นทางการเดินทางของพวกเขาดูจะขรุขระ ไม่ได้มีสปอตไลท์สาดส่อง…
เด็กใหม่ในเมือง
จริงๆ แล้วผมตั้งใจจะประเดิมคอลัมน์ใหม่นี้ ด้วยการเขียนถึงหนังเรื่อง "รักแห่งสยาม" (ที่เขียนเสียช้าขนาดนี้ ก็เพราะผมเพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้จากรอบพิเศษที่ชาว pantip.com ร่วมกันจัดขึ้น) แต่ก็มีเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจกระทันหัน เหตุผลที่ว่านั่นก็คือการยุติรายการของคลื่นวิทยุ 99.5 The Radio ครับ ถ้าใครได้ติดตามแวดวงวิทยุในกรุงเทพฯ (หรือถ้าไม่ได้ตามในกรุงเทพฯ จะฟังวิทยุทางเนตก็เช่นกัน) รวมถึงเป็นนักฟังเพลงสากลอยู่บ้าง คงจะรู้จักรายการนี้ในฐานะที่เป็นแหล่งรวมนักจัดรายการระดับ "เทพ" ของวงการวิทยุเมืองไทย ตั้งแต่คุณหมึก - วิโรจน์ ควันธรรม, คุณมาโนช พุฒตาล, คุณเดือนเพ็ญ สีหรัตน์,ป้าแต๋ว - วาสนา…