ผมขอเริ่มต้นบทความชิ้นนี้ ด้วยการย้อนระลึกถึงเมื่อครั้งที่ผมยังเป็นเด็กนักเรียนประถม ในยุคที่สถานีโทรทัศน์ทุกแห่งในประเทศไทยยังไม่มีการออกอากาศช่วงกลางวันในวันธรรมดา และยังไม่มีเคเบิลทีวีให้บริการอย่างเอิกเกริกแบบตอนนี้ ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นสิ่งอภิมหาแพงเกินกว่าที่ทุกครัวเรือนจะมี หรือถึงบ้านไหนจะมี เทคโนโลยีในยุคนั้นก็ยังไม่เอื้อให้คอมพิวเตอร์เป็นศูนย์รวมความบันเทิงแบบทุกวันนี้
ความบันเทิงในยุคนั้นของผม นอกจากรายการทีวีวันเสาร์ - อาทิตย์แล้ว บรรดาวีดิโอจากร้านเช่าก็เป็นความบันเทิงราคาถูกที่พอจะมีกันได้ ซึ่งวีดิโอที่เรามักจะเลือกเช่า ก็หนีไม่พ้นการ์ตูนและหนังต่างๆ
นอกจากนั้น วีดิโอมวยปล้ำก็เป็นอีกตัวเลือกในร้านวีดิโอของพวกเรา
ผมเองยอมรับว่ามวยปล้ำในสายตาเด็กนั้นมันสนุกกว่าดูมวยปล้ำในตอนนี้พอสมควรเชียวล่ะ อาจจะเพราะว่าเราเชื่อสนิทใจว่ามันเป็น “กีฬา” จริงๆ โดยเราก็ไม่เอะใจเลยสักนิดว่า ทำมั้ย...ทำไมกรรมการที่ไม่เคยทันเกมนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมเวลาเล่นตุกติก ถึงไม่โดนไล่ออกสักทีฟะ :-P
แต่ก็นั่นแหละครับ สำหรับตัวผมเองในตอนนั้น นักมวยปล้ำอย่าง Hulk Hogan, Ultimate Warrior, Bret “Hitman” Hart, Sting, “Macho Man” Randy Savage ฯลฯ ดูเท่ห์ไม่ต่างกับที่เรารู้สึกกับบรรดาขบวนการ 5 สี หรือซุปเปอร์ฮีโร่เลยล่ะ
มันดูเท่ห์ถึงขนาดผมเคยเล่นมวยปล้ำกับพี่ชาย โดยใช้เตียงนอนเป็นเวที แล้วใช้หัวเตียงเป็นเหมือนหัวเสาเวที (เวลาจะทำทีเป็นขึ้นเชือก แล้วทิ้งตัวลงมาทับคู่ต่อสู้เนี่ย ผมคิดว่าในตอนนั้นแม่ผมคงกลัวว่าเตียงจะพังบ้างล่ะ)
จนถึงวันหนึ่งที่เราโตขึ้น มวยปล้ำกลายเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากเราไปทุกทีๆ (แม้ว่าปัจจุบันผมจะยังดูมวยปล้ำอยู่ แต่ความบันเทิงอื่นๆ ก็มีมากขึ้น จนเราดูน้อยลงไปมาก ประกอบกับความรู้สึกที่ว่าเดี๋ยวนี้เสน่ห์ของมวยปล้ำมันทอนลงไปเยอะเหลือเกิน) เราเคยสงสัยว่าบรรดาดาราที่เราเคยชื่นชมเขาบนสังเวียน เขาไปอยู่ที่ไหนกัน
หนังเรื่อง The Wrestler อาจจะทำให้เราเห็นภาพเหล่านั้น
The Wrestler เล่าเรื่องของแรนดี้ “เดอะ แรม” โรบินสัน (Mickey Rourke) อดีตนักมวยปล้ำชื่อดังในยุคทศวรรษ 1980 ที่ในยุครุ่งเรืองของเขา เคยถึงขนาดขึ้นสังเวียน ณ เมดิสัน สแควร์ การ์เดน – เวทีสำคัญที่ใช้จัดมวย และมวยปล้ำรายการสำคัญๆ มานักต่อนัก แต่ ณ วันเวลาปัจจุบัน เขาก็ยังคงปล้ำ แต่ก็ปล้ำแค่ในรายการเล็กๆ กับจำนวนคนดูแค่หยิบมือเท่านั้น
แต่มวยปล้ำก็เป็นสิ่งเดียวที่เขาเหลืออยู่ เขาไม่มีครอบครัว (แม้จะมีลูกสาว แต่ก็แทบจะตัดขาดกันไปแล้ว) จะมีก็แค่เพื่อนร่วมสังเวียน และแฟนๆ มวยปล้ำระดับเดนตายเท่านั้น ที่ดูเป็นมิตรสหายที่ดีของเขา (ภาพของวงการมวยปล้ำในหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ภาพดุเดือดเลือดพล่านในหน้าฉาก แต่หลังฉาก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายธรรมะ หรืออธรรม ทุกคนต่างนับถือกันแบบพี่น้อง และช่วยกันแนะนำคิวในการต่อสู้บนเวทีต่างๆ รวมถึงคิดช็อตทำร้ายตัวเองเด็ดๆ ให้คู่ต่อสู้เอาไปใช้ด้วย)
สิ่งที่วัดความสำเร็จของเดอะแรม และนักมวยปล้ำร่วมเวทีไม่ใช่ชัยชนะ แต่เป็นความสะใจ และบ้าคลั่งของแฟนๆนี่ล่ะ ที่เหมือนเป็นเข็มขัดแชมป์ของพวกเรา
จนถึงวันหนึ่งที่เขาล้มลงหลังจากการต่อสู้ในแมทช์หนึ่ง เขาถูกส่งเข้าโรงพยาบาล แล้วถูกหมอสั่งห้ามขึ้นสังเวียนอีกต่อไป เพราะหัวใจเขาอ่อนแอเกินกว่าจะรับความหนักของมวยปล้ำแล้ว ประกอบกับเขาค้นพบว่าบรรดานักมวยปล้ำที่เคยอยู่ในรุ่นเดียวกับเขานั้น ไม่กลายเป็นไอ้แก่ไร้ค่าที่ไม่มีใครเหลียวแล ก็กลายเป็นคนพิการไปแล้ว
เขาจึงตัดสินในถอยห่างจากวงการที่เขาใช้ชีวิตมาตลอด แล้วกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการถอดชุดมวยปล้ำ หันมาใส่เสื้อกันเปื้อน แล้วกลายเป็นพนักงานขายในโซนอาหาร, การเริ่มกลับมาสานสัมพันธ์ใหม่กับสเตฟานี่ (Evan Rachel Wood) - ลูกสาวที่แทบจะตัดพ่อ – ลูกไปแล้ว หรือการเริ่มมีความรักครั้งใหม่กับแคสซิดี้ (Marisa Tomei) – สาวนักระบำเปลื้องผ้าที่เขามีใจให้
แต่เขาก็ค้นพบว่า เขากลายเป็นไอ้ห่วยแตกในโลกที่เขาไม่คุ้นเคย ความรัก – ความสัมพันธ์ที่เขาพยายามจะเริ่มมันใหม่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เขาจึงตัดสินใจที่จะกลับไปสู่วงการมวยปล้ำอีกครั้ง เพื่อขึ้นเวทีกับอะยาโตละห์ (Ernest Miller) – อดีตคู่ต่อสู้ที่เคยขับเคี่ยวกับเขาในวัยหนุ่ม
แม้เขาจะรู้ตัวว่า...มันอาจเป็นการต่อสู้ที่เขาอาจต้องจ่ายค่าขึ้นสังเวียนด้วยชีวิตก็ตาม
สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของหนังเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นฝีมือการแสดงของ Mickey Rourke ที่แสดงแบบทุ่มสุดตัว ทำให้เราเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าเขาผ่านเรื่องราวทั้งหลายในชีวิตจนมาถึงจุดตกต่ำในปัจจุบัน ซึ่งคงจะคล้ายชีวิตจริงของ Mickey ที่เคยเป็นดาราดาวรุ่งฝีมือดีในทศวรรษ 1980 แต่ก็มาเสียคนเพราะหลงกับชื่อเสียง จนกลายเป็นดาราตกกระป๋อง และเบนเข็มไปชกมวยสากล แต่เวทีมวยก็ฝากริ้วรอยให้ดาราหนุ่มรูปหล่อระดับเป็นเซ็กส์ซิมโบลของยุค กลายเป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
คงไม่ผิดนัก ถ้าจะพูดได้ว่าเขาถ่ายทอดความเจ็บปวดที่เขาเคยเจอในชีวิต มาอยู่ในร่างตัวละครที่เขาสวมบทบาทอยู่
ผมดูหนังเรื่องนี้จบพร้อมด้วยคำถามหนึ่งที่อยู่ในใจ ว่า “เราจะยอมแลกชีวิตเพื่ออยู่กับสิ่งที่รัก ดีกว่าจะอยู่อย่างปลอดภัยในโลกที่เราใช้ชีวิตแบบแกนๆ” หรือเปล่า ซึ่งแม้คำตอบของตัวเองจะยังไม่แจ่มชัด แต่ผมก็ค้นพบว่าแม้ความมั่นคงปลอดภัยจะเป็นสิ่งที่เราต้องการ แต่ลึกๆ แล้ว “การยอมรับ และที่ทางในสังคม” ก็เป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้เหมือนกัน
เพราะแม้ว่าชีวิตในซุปเปอร์มาเก็ตจะปลอดภัย แต่ก็ปลอดภัยเพราะเขาไม่มีค่าใดๆ ให้ใครมองเห็น แต่กับบนสังเวียน ที่แม้จะมีคนดูแค่หยิบมือ แต่เขาก็อยู่ในฐานะของมนุษย์ผู้ได้รับการยอมรับ
ในโลกที่หาจุดกึ่งกลางลำบากยิ่งนัก บางคนอาจขอเลือกที่จะอยู่กับสิ่งที่เขารักจนตาย ดีกว่าจะเอาชีวิตรอดโดยไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก...
แต่ถึงกระนั้น คนที่น่าเศร้าที่สุด คือคนที่ไหลไปตามโลกไปเรื่อย โดยไม่มีโอกาสรู้ว่าตัวเองรักอะไร...
หมายเหตุ : หากบทความชิ้นนี้มีความดีอยู่บ้าง ผู้เขียนขออนุญาตอุทิศความดีให้กับ Eddie Guerrero และ Chris Benoit สองนักมวยปล้ำฝีมือดีที่จากไปก่อนเวลาอันควร