Skip to main content

"ย่ำสวนป่า" เป็นเรื่องเล่าจากชนบทที่มีกังวานเสียงแห่งความภาคภูมิใจกับการที่ได้เกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมของสวนป่าที่มีสิ่งให้เรียนรู้ได้ไม่รู้จบ และมีรูปแบบชีวิตที่สัมพันธ์เกี่ยวโยงอยู่กับความเป็นไปของธรรมชาติ

ผู้เล่าเรื่องบอกไว้ในตอนท้าย หลังจากที่ปลดปล่อยความทรงจำวัยเด็กให้ออกมามีชีวิตวิ่งเต้นบนหน้ากระดาษเสร็จแล้วว่า

"มันไม่ใช่ความอาลัยอาวรณ์อีกต่อไป แต่เป็นความทรงจำแสนสนุกที่ผมไม่คิดจะลืมเลือน ผมจะจดจำไว้ว่าที่นี่... คือบ้านเก่าของผม..." (หน้า 118)


เช่นเดียวกับเรื่องเล่าหลายเรื่องที่เราได้ยินได้อ่าน คือเป็นเรื่องเล่าย้อนอดีตในวัยเด็กที่สนุกสนานน่าจดจำ ไม่ว่าจะเป็นการไปจับหมูป่าที่ดักจับเอาง่าย ๆ คือรอให้หมูป่าข้ามลำธาร หมูป่าว่ายน้ำไม่เก่งปล่อยให้จับได้ไม่ยาก การตีผึ้งที่ใช้วิธีการรมควันให้ผึ้งมึนเมา การไปเก็บมะม่วงป่าที่ต้องแย่งกันไปเก็บตั้งแต่เช้ามืด การไปส่องกบตอนกลางคืน


เหล่านี้เป็นเรื่องราวในวัยเด็กซึ่งครอบคลุมกิจกรรมแห่งชีวิตไว้ทั้งหมดของเด็กบ้านป่าหรือเด็กบ้านสวน เป็นเหมือนดั่งขุมทรัพย์แห่งความทรงจำที่สามารถหวนกลับไปตักตวงดื่มกินได้อย่างไม่มีวันหมด


ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ "รัศมี เบื่อขุนทด" แม้จะไม่คุ้นชื่อมากนักแต่ลีลาการเขียนนั้นชวนอ่านและน่าติดตามไม่น้อย


"มะขามต้นนี้อยู่ใกล้รั้วบ้าน เปรี้ยวมาก ใครเผลอกินแทบจะถอนฟันทิ้งเพราะเปรี้ยวได้เข็ดฟันชะงัดนัก ช่วงสงกรานต์เวลามีการละเล่นแล้วคนแพ้ต้องกินน้ำ กินของเค็มหรือของเปรี้ยว อันสุดท้ายมะขามบ้านผมนี่ละเป็นพระเอก ใครที่รู้ว่าจะได้กินมะขามต้นนี้เป็นต้องโอดครวญขอเป็นอมเกลือทั้งถุงแทนดีกว่า" (หน้า 16)


"ย่ำสวนป่า" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ "มติชน" ที่นอกเหนือไปจากจะจัดพิมพ์เรื่องสั้นและนวนิยายเพื่อส่งเข้าประกวดรางวัลต่าง ๆ โดยตรงแล้ว นาน ๆ ทีที่สำนักพิมพ์ "มติชน" จะเข็นวรรณกรรมเยาวชนออกมาให้เห็น


หากเปรียบเทียบกับสำนักพิมพ์กับสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ด้วยกันอย่าง "นานมีบุ๊ค" หรือ สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ แล้วพบว่าปริมาณวรรณกรรมเยาวชนของสำนักพิมพ์มติชนจะปรากฏออกมาน้อยกว่ากันมากพอสมควร

 

ว่าที่จริง เรื่องเล่าเกี่ยวกับชนบทบ้านป่านั้นมีอยู่ไม่น้อยในแวดวงวรรณกรรมเยาวชนของไทยแต่มีไม่มากเลยที่เล่าได้อย่างสนุกและเพลิดเพลินแบบหนังสือเล่มนี้ ผู้เล่ามีข้อมูลเนื้อหามากมายที่จะเล่า จนน่าเชื่อได้ว่าเป็นประสบการณ์ตรงที่สัมผัสด้วยตนเองไม่ใช่ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านมาแล้วนำมาเล่าต่ออีกที


ที่สำคัญคือเล่าได้อย่างสนุก มีชีวิตชีวามากโดยเฉพาะเรื่องเล่าเกี่ยวกับ "ไอ้แดง" ไก่งวงตัวฉกาจ


"การเข้าออกบ้านผมไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เฉพาะกับชาวบ้าน ผมก็ด้วย สาเหตุมาจากตัวร้ายหนึ่งเดียวของบ้าน ไอ้แดง ไก่งวงสีแดงเดือด มีคนเพียงสองคนที่มันไม่ตีคือพ่อกับแม่ผม บ้านผมเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนเตี้ย มีบันไดสี่ห้าขั้น เวลาจะลงจากบ้านต้องมองให้แน่ใจก่อนว่าไอ้แดงไม่อยู่แถวนั้น จึงวิ่งปร๋อลงมาแล้วก็โกยอ้าวออกไป ขาออกง่ายกว่าขาเข้า" (หน้า 21)


หรือตอนที่เล่าเกี่ยวกับเรื่องวุ่น ๆ ของไก่และเป็ด อันเกิดจากแม่ไก่ไปฟักไข่เป็ดจนออกมาเป็นลูกเป็ดปะปนกับลูกไก่


"อยู่ ๆ ไป แม่ไก่พาลูกไปหากินข้างบ่อ ด้วยสัญชาตญาณของเป็ด ลูกเป็ดถลาลงไปเล่นน้ำ แม่ไก่ตกใจ ! ... วิ่งตามลงไปในน้ำ ! ด้วยความห่วงลูก กลัวลูกจะจมน้ำ แต่พอเห็นลูกน้อยลอยฟ่องอยู่บนผิวน้ำ แม่ไก่ก็ตาลีตาเหลือกตะกายกลับขึ้นมาบนฝั่ง ยืนเปียกโชกด้วยความภาคภูมิใจที่เห็นลูกเป็นอภิชาตบุตร เก่งกว่าพ่อแม่ พ่อแม่ว่ายน้ำไม่เป็น ลูกว่ายได้... นับแต่นั้น แม่ไก่ก็จะคุ้ยเขี่ยหาอาหารริมบ่อ ลูกเป็ดของแม่ไก่ก็จะว่ายไซ้จอกแหนหากินอยู่ในบ่อ" (หน้า 32)


ในตอนท้าย ๆ จะเห็นได้ว่า "ความเจริญ" ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากที่เป็นป่าเป็นสวนก็กลายเป็นอิฐเป็นปูน ผู้เล่าเรื่องต้องย้ายบ้านออกจากบ้านสวนเพราะมีท่อน้ำประปาเข้ามาในหมู่บ้าน


หลังจากย้ายไปอยู่บ้านใหม่แล้ว ผู้เล่าเรื่องพบว่า "บ้านใหม่" ไม่ใช่ "บ้าน" ในความหมายเดิมอีกต่อไปเพราะ "บ้าน" ไม่ใช่แค่ตัวอาคารวัตถุแต่มันคือความรู้สึกผูกพันทางใจต่อสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ด้วยซึ่งต้องใช้เวลานานในการสร้างความรู้สึกที่ว่านี้ขึ้นมาใหม่


แม้ว่า "ย่ำสวนป่า" จะเหมือนกับเรื่องเล่าอื่น ๆ คือเป็นการมองย้อนกลับไปในอดีตเพื่อดื่มด่ำกำซาบกับความทรงจำแต่ต่างออกไปตรงที่ "ย่ำสวนป่า" ไม่ถึงกับโหยหาอดีตที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ไม่ใช่เรื่องเล่าที่คร่ำครวญถึงอดีตอันงดงาม โรแมนติก เพราะผู้เล่าเรื่องรู้ว่าอดีตไม่ได้หายไปหากแต่เป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่อยู่ในความทรงจำรอคอยให้กลับไปดื่มกิน.

 

 

บล็อกของ นาลกะ

นาลกะ
-1- หลานเกิดปีเดียวกับที่ผมเดินทางออกจากบ้าน มุ่งหาประสบการณ์และไล่คว้าหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต  คืนวันของหลานที่เติบโตขึ้นด้วยความเอาใจใส่ของพ่อแม่คือจำนวนเวลาที่ผมจากบ้านเกิดเมืองนอน
นาลกะ
    คงเป็นเพราะรูปเล่มงามตาน่าหยิบจับและเครดิตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่บอกว่า “เล็กน้อยมากจนสามารถนั่งอ่านข้าง ๆ เตียง ยิ่งใหญ่มากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิต” เร้าความสนใจให้เปิดพลิกและลงมืออ่าน
นาลกะ
-1- ฉันเดินตัดผ่านสนามหลวงเพื่อไปขึ้นรถเมล์กลับหอพักเกือบทุกวัน เรื่องราวที่แทบจะเป็นแบบฉบับและเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ได้พบเห็นจากผู้คนแห่งสนามหลวงวันแล้ววันเล่า ทำให้เกิดภาพประทับในใจโดยไม่รู้ตัว เมื่อฉันได้รู้จักกับสนามหลวงมากขึ้น ฉันก็ได้พบว่าสถานที่แห่งนี้เปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ที่แห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตของคนระดับล่างมากมาย แต่ละคน แต่ละชีวิตนั้นน่าจะปรากฏอยู่ในนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง คนเหล่านี้ไม่ควรจะมีอยู่จริง!
นาลกะ
“ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก(Man and Wife)” คือนิยายอันละเมียดบรรจงของ Tony Parsons เป็นผลงานภาคต่อจาก “ลูก(ผู้)ชายหัวใจคุณพ่อ (Man and Boy)” ซึ่งเคยสร้างความเกรียวกราวในแวดวงนักอ่านได้มากพอสมควร(ผมเคยวิจารณ์ไว้แล้วที่ http://blogazine.prachatai.com/user/nalaka/post/1562 ) ฝีมือแปลโดย ภัสรี สิงหเดช  
นาลกะ
โดยทั่วไปแล้ว หนังสือของสำนักพิมพ์ “ผีเสื้อ” สามารถการันตีคุณภาพ(แต่ไม่การันตียอดขาย) ได้ในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่มีคำว่าผิดหวังในแทบทุกเล่มเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นวรรณกรรมแปล! “พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร” ซึ่งเขียนโดย ฌ็อง-หลุยส์ ฟูร์นิเย่ร์ และแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ก็เช่นเดียวกัน
นาลกะ
วรรณกรรมเยาวชนรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชน ก่อนวัยรุ่น (12-14) จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี 2530 และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 เล่ม ที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน โดยฝีมือการประพันธ์ของนักเขียนซึ่งเป็นรู้จักกันดี "อัศศิริ ธรรมโชติ"
นาลกะ
ด้วยชื่อเรื่องที่ไม่คุ้นหู และหน้าปกเป็นรูปน้ำตกกลางป่าสวยงาม วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ชวนให้สะดุดใจและเปิดอ่าน ซึ่งก็ใช้เวลาอ่านไม่นานนักก็จบเล่มเพราะมีความหนาไม่ถึง 50 หน้ารวมภาพประกอบ
นาลกะ
ผลงานเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดวรรณกรรมเยาวชนรางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 2 ผู้เขียนคือ “เก็ตตะหวา” วาดภาพประกอบโดย ธีระพงษ์ บัวระเพชร และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค เจ้าเก่า แก่นแกนของเรื่องคือพัฒนาการของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ “ผิงผิง” ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม และไม่ใคร่จะชอบพ่อที่แท้จริงนักเพราะคิดว่าพ่อทอดทิ้งเธอซ้ำยังปล่อยให้แม่ตาย แต่ที่จริงแล้วพ่อของเธอนั้นรักเธอมาก เหตุที่ต้องฝากเธอไว้กับคนอื่นนั้นเพราะหน้าที่การงานที่เป็นนักมายากลต้องตระเวณแสดงไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งคนที่นำลูกไปฝากไว้นั้นก็เป็นเพื่อนเก่าและเป็นนายอำเภอที่ไม่มีลูกของตนเองสามารถดูแลผิงผิงได้
นาลกะ
  เรื่องเล่ามหาสนุกจากทุ่งหญ้าสีเขียว เป็นวรรณกรรมเด็กที่โด่งดังของธอร์นทัน ดับบลิว. เบอเกตส์ (Thornton W. Burgess) เขาได้แต่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติเป็นนิทานก่อนนอนสำหรับลูกชาย ปลูกฝังให้ลูกชายเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชุดรวม 20 เล่ม ได้รับผลสำเร็จอย่างมาก จนเขาได้แต่งเรื่องเล่าเพิ่มเติมรวม 170 เรื่อง
นาลกะ
  วันนี้ขอเปลี่ยนจากวรรณกรรมไทยมาเป็นวรรณกรรมต่างประเทศกันบ้าง หลังจากอ่านวรรณกรรมเล่มนี้จบแล้ว ยอมรับว่ารู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมเยาวชนของไทยและต่างประเทศ ทั้งสำนวนภาษา ทั้งเทคนิคลีลาการเล่าเรื่องและความเข้มข้นจัดจ้านของเนื้อหา ขอบ่นนิดหนึ่งว่าเท่าที่อ่านและเขียนถึงวรรณกรรมเยาวชนของไทย จำนวนไม่น้อยถ้าไม่เล่าเรื่องชนบทเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นติดตามแล้วก็มักจะบรรเจิดเพริศแพร้วในเรื่องจินตนาการมากเสียจนกลายเป็นนิทานก่อนนอนไปหรือไม่ก็เขียนสำหรับให้เยาวชนอ่านเท่านั้น ไม่ท้าทายผู้อ่านวัยอื่น ๆ แต่อย่างไรเสีย เชื่อว่าวรรณกรรมเยาวชนไทยคงจะได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ…
นาลกะ
"โลกนี้ยังมีเพื่อน" คือหนังสือรวมนิทานยอดเยี่ยม รางวัลมูลนิธิเด็ก หนังสือเล่มนี้รวมนิทานไว้ทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ตั้งชื่อเล่มตามชื่อนิทานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดในปีที่ 12 นอกจาก "โลกนี้ยังมีเพื่อน" ซึ่งได้รับรางวัลนิทานยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีเรื่องนิทานเรื่อง "นักวาดพู่กันวิเศษ" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ส่วนที่เหลืออีก 5 เรื่องได้รับรางวัลชมเชย
นาลกะ
ลูกแม่น้ำโขง วรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน "แว่นแก้ว" ชนะเลิศรางวัลที่ 3 คืออีกหนึ่งผลงานจากนานมีบุ๊ค เขียนโดย "เขมชาติ" แม้ว่าลูกแม่น้ำโขงจะเดินตามขนบวรรรกรรมเยาวชนแบบที่เขียน ๆ กัน ที่มักพูดถึงชนบทอันงดงามที่ผู้คนพึ่งพาช่วยเหลือกัน สภาพธรรมชาติที่ผูกพันแวดล้อมวิถีชีวิต การเล่นซนของเด็ก ๆ และข้อคิดทางด้านคุณธรรม เป็นต้นว่า การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ความมีน้ำใจ  ถึงกระนั้น ลูกแม่น้ำโขง ก็ยังคงน่าอ่านด้วยการบรรยายอย่างมีชีวิตชีวา  เพราะแม่น้ำโขงแม้นจะไหลอย่างที่เคยไหลก็ยังคงน่ามองและมีเสน่ห์อยู่เสมอ