เคยอ่านวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้นานมากแล้ว สมัยนั้นยังติดใจเสน่ห์ของงานเขียนแบบอัศศิริ ธรรมโชติ ที่มักจะเล่นกับอารมณ์ซึ้ง เศร้า หวาน จนสามารถพูดได้ว่าติดตามอ่านงานเขียนของเขาหมดแล้วทุกเล่มรวมทั้งเล่มนี้ด้วย แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมองงานเขียนของอัศศิริ ธรรมโชติ ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป
หนังสือเล่มนี้จะพาผูอ่านไปพบกับวิถีชีวิตอันอาทรในแบบของชาวชนบท ซึ่งหาได้ยากแล้วในปัจจุบัน เป็นชนบทที่อบอุ่นด้วยน้ำใจไมตรีของคนบ้านเดียวกัน ผสานกันไประหว่างงานหนักในท้องไร่ ท้องนากับกิจกรรมการละเล่นอันหลากหลายเพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย
ในท้องถิ่นชนบทแห่งนี้ ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์มากพอที่จะทำให้ชีวิตมั่นคง ใครทำมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย เมื่อไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกันเรื่องทรัพยากร ชีวิตก็สงบสุขกระทั่งมีน้ำใจไมตรีต่อกัน
เด็ก ๆ มีเสรีที่จะวิ่งเล่นไปในท้องทุ่งกว้าง สภาพธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาลนั่นล่ะคือสนามเด็กเล่นที่มีครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการหาปลากัดในบึงมากัดกัน กัดจิ้งหรีด การเล่นว่าว หรือสนุกสนานกันไปตามประสาในมหรสพงานวัด เหล่านี้เป็นทั้งสนามเด็กเล่นและห้องเรียนธรรมชาติที่สอนให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ
"มหกรรมในท้องทุ่ง" เป็นเหมือนบันทึกทางวัฒนธรรมของชาวนาภาคกลาง เช่น ประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว หนังเร่-ซึ่งปัจจุบันเกือบจะไม่เห็นแล้วเพราะถูกแทนที่ด้วยหนังแผ่น และที่แปลกคือการเล่นเข้าทรงผี "แม่ศรี" ในเทศกาลสงกรานต์ที่คนและผีมาร่วมเล่นรื่นเริงด้วยกัน ไม่มีการแยกคน แยกผี
"แม่ศรีเอย...
แม่ศรีสาวสะ
ยกมือไหว้พระ จะมีคนชม
ขนคิ้วเจ้าต่อ ขนคอเจ้ากลม
ชักผ้าปิดนม
ชมแม่ศรีเอย..." (หน้า 130-131)
ในพิธีกรรม-การละเล่นนี้มีการอัญเชิญผี "แม่ศรี" มาร่วมร้องรำทำเพลงกับชาวบ้านและเด็ก ๆ โดยเลือกคนทรงมาคนหนึ่ง
"เชิญเอ๋ย... เชิญลง
เชิญพระองค์สิบทิศ
องค์ไหนศักดิ์สิทธิ์
ก็เชิญลงมา...
เชิญเอ๋ยเชิญลง
เชิญพระองค์เขาเขียว
ขี่ช้างงาเดียว
มาเข้าตัวน้องข้า...
เจ้าพญาผีเอย..." (หน้า 131)
แม่ผี "แม่ศรี" เข้าทรงแล้ว ความบันเทิงสนุกสนานก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น แม้แต่เด็กๆ ก็ไม่หวาดกลัวผี ผู้เขียนบรรยายว่า
"ศรีนวล หลับตาพริ้ม แต่เธอลุกขึ้นร่ายรำอ่อนไหวไปกับเสียงเพลงที่ร่ำร้อง-ผีแม่ศรีและปู่เจ้ามาจากขุนเขาที่ไหนบ้างและทำไมถึงมาได้เล่นเต้นสนุกอยู่เฉพาะกับงานสงกรานต์นั้นไม่เคยมีใครคิดถามหรือว่าคิดอยากจะรู้ ทั้งผีและคนแม้เด็ก ๆ ในเทศกาลเช่นนี้ไม่มีใครหวาดกลัวใคร เส้นสายใยที่โยงไว้กับตัวของแม่ศรีในร่างของเด็กนั้นมีเพียงแค่ผ้าบางที่คอยดึงเอวเอาไว้มิให้รำออกไปไกลห่างกับสำเนียงเสียงร้องด้วยท่วงทำนองต่าง ๆ กัน เมื่อเพลงหยุด แม่ศรีก็ล้มลงในอ้อมแขนของลำไย" (หน้า 131-132)
นวนิยายขนาดสั้นที่จบในตอนเรื่องนี้เชื่อมโยงกันไว้ด้วยกิจกรรมการละเล่นของเด็ก ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด ความเป็นชนบทถูกเล่าผ่านตัวละครสองวัยคือเด็กๆ และผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งดูจะไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งยังได้สอดแทรกปัญหาสังคมหรือปัญหาการพัฒนาที่กำลังจะมาสู่ชุมชนไว้พอหอมปากหอมคอ เช่น การสร้างเขื่อน
การเลือกใช้ถ้อยคำของผู้เขียนนั้นดูเหมือนง่าย ไหวเอนเหมือนต้นข้าว เรียบง่ายเหมือนรูปแบบชีวิตของตัวละคร แต่อันที่จริงแล้วเป็นความสามารถเฉพาะตัวของนักเขียนที่ผ่านการฝึกฝน ขัดเกลามาอย่างดี
หลังจากที่หวนกลับไปอ่านอีกครั้ง ความถวิลอาวรณ์วัยเยาว์หวนกลับมาแม้จะไม่สวยงามเหมือนและสนุกสนานเหมือนตัวละครในหนังสือก็ตามทั้งยังตระหนักได้ว่าคนโบราณและของโบราณ ประเพณี พิธีกรรมในอดีตนั้นรุ่มรวยและสวยงามแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม.