ด้วยชื่อเรื่องที่ไม่คุ้นหู และหน้าปกเป็นรูปน้ำตกกลางป่าสวยงาม วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ชวนให้สะดุดใจและเปิดอ่าน ซึ่งก็ใช้เวลาอ่านไม่นานนักก็จบเล่มเพราะมีความหนาไม่ถึง 50 หน้ารวมภาพประกอบ
"เจ๊าะเกอโด่ เด็กบ้านดอย" เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ผ่านการคัดสรรจากโครงการวรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน แว่นแก้ว จัดพิมพ์โดยไม่กลัวขาดทุนโดย "นานมีบุ๊ค" เจ้าเก่า และเรียบเรียงโดย "อุดร วงษ์ทับทิม"
วรรณกรรมเรื่องนี้กล่าวถึงความเป็นอยู่ของ "ปาเกอะญอ" ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ตามเชิงเขาหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ชาวเขา" ผ่านสายตาของคนที่ไม่ใช่ "คนใน" หรือไม่ใช่ชาว "ปาเกอะญอ" จะมากจะน้อยเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาว "ปาเกอะญอ" จึงผ่านการ "ตีความ" แล้ว
อย่างไรก็ตาม จากเนื้อหาแล้วแสดงให้เห็นว่าผู้เรียบเรียงใกล้ชิดผูกพันกับชาว"ปาเกอะญอ" ดีพอสมควร คลุกคลีอยู่นานพอที่จะรู้จักลำนำ นิทานหลายบทและออกจะชื่นชมวัฒนธรรมของชาว "ปาเกอะญอ" อยู่ไม่น้อย
"เจ๊าะเกอโด่" คือชื่อของเด็กชายชาว "ปาเกอะญอ" แห่งบ้าน "กะชอเร" ที่ได้รับการปลูกฝังให้ภาคภูมิในคุณค่าวัฒนธรรมของตนเองจากปู่ ย่า ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เขาไม่มีความน้อยเนื้อต่ำใจในการเป็น "ชนกลุ่มน้อย" หรือเป็น "ชาวเขา" หากแต่ยินดีที่จะสืบทอดคุณค่าดั้งเดิมที่สั่งสมมาหลายชั่วอายุคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนับถือผีตามแบบอย่างบรรพบุรุษในขณะที่ "ปาเกอะญอ" หลายครอบครัวเปลี่ยนไปเข้ารีตกับศาสนาใหม่เพราะแรงจูงใจทางด้านสังคมสงเคราะห์ และแรงยั่วเย้าของความทันสมัย
ความเป็นอยู่และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
ของชาว "ปาเกอะญอ" ตามเนื้อเรื่องนั้นมีลำธาร
เป็นแกนกลางที่คอยหล่อเลี้ยงและให้บทเรียนแก่ชีวิต
"เจ๊าะเกอโด่รู้สึกว่าแม่พลอโกรคือสายน้ำ
แห่งความรัก และสันติสุขที่ธรรมชาติได้มอบให้
แก่พี่น้องปาเกอะญอแห่งบ้านกะชอเรทุกคน
โดยไม่แบ่งแยกว่าใครจะอยู่ฟากฝั่งไหนของแม่น้ำ
จะยังคงนับถือผีตามอย่างปู่ย่าตาทวด
หรือว่าแปรเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นใด" (หน้า 26)
ลำธารสอนให้รู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตน
ต่อธรรมชาติซึ่งมนุษย์ต้องพึ่งพาและมอบความรักให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกศาสนา เชื้อชาติ
ปาเกอะญอรุ่มรวยด้วยลำนำ เรื่องเล่าที่เป็นนิทานสอนใจซึ่งเป็นกลวิธีหนึ่งในการปลูกฝังเด็ก ๆ มีลำนำอยู่บทหนึ่ง ซึ่งให้ข้อคิด น่าสนใจ
"แม่น้ำสาละวิน หลงตัวว่าใหญ่เอง"
"แม่น้ำโขงใหญ่ หลงตัวว่าใหญ่เอง"
"ใหญ่เพราะห้วยเล็ก ๆ ไหลลงสู่"
"เล็ก ๆ ไม่ไหลลงสู่ ใหญ่ ๆ ก็จะขอดแห้ง" (หน้า 18)
ความน่าสนใจของ "เจ๊าะเกอโด่ เด็กบ้านดอย" น่าจะอยู่ที่ความเรียบง่าย ใสสะอาดของการดำเนินชีวิต ความงดงามแห่งธรรมชาติ คุณค่าแห่งชีวิตดั้งเดิมที่คนรุ่นหลังควรจะสืบทอดและความรุ่มรวยทางด้านวัฒนธรรม ตลอดจนความรอบรู้ของผู้เรียบเรียงเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาว "ปาเกอะญอ"
อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมเยาวชนแล่มนี้มีส่วนที่จะเพิ่มเติมและปรับปรุงในหลาย ๆ ส่วนด้วยกันคือ
1.เนื้อหา ดูเหมือนว่า "เจ๊าะเกอโด่ เด็กบ้านดอย" จะเป็นวรรณกรรมที่ไม่มี "โครงเรื่อง" (plot) ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีปมให้คลี่คลาย ไม่มีจุดจบของเรื่อง ผู้เรียบเรียงได้แต่เล่าไปเรื่อย ๆ เหมือนไม่รู้จะเล่าอะไร ซึ่งทำให้ "เจ๊าะเกอโด่ เด็กบ้านดอย" ขาดความน่าติดตามเพราะไม่มีอะไรให้ต้องติดตาม
2.ความเชื่อมโยง จากการที่ "เจ๊าะเกอโด่ เด็กบ้านดอย" ไม่มีโครงเรื่อง จึงทำให้ในแต่ละบทขาดความเชื่อมโยง ไม่มีทิศทางและเป้าหมาย มีแต่การบรรยายฉากและรำพึงรำพันไปเรื่อย ๆ เท่านั้น
ผมอยากจะขอยกตัวอย่างโครงเรื่องหรือ plot ที่สามารถจะใส่เข้าไปในวรรณกรรมเล่มนี้ได้ เช่น การต่อสู้เพื่อปกป้องวัฒนธรรมดั้งเดิมจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว หรือ ความพยายามที่ตัวละครที่จะหาทางเรียนต่อในระดับสูง ๆ ขึ้น หรือการเดินทางเพื่อไปหาแหล่งต้นน้ำ ในระหว่างทางอาจพบเจอกับเรื่องสนุก ๆ ได้ผจญภัยระหว่างเดินทางพอหอมปากหอมคอ
3.ความสนุกสนาน ความมีชีวิตชีวา จาก 2 ประการในข้างต้นส่งผลให้ "เจ๊าะเกอโด่ เด็กบ้านดอย" ขาดความมีชีวิตชีวาและไม่สนุก ไม่มีอะไรให้ลุ้น
กระนั้นก็ตาม ขอให้กำลังใจและหวังว่าคงจะได้อ่านวรรณกรรมเยาวชนจากผู้เรียบเรียงท่านนี้อีก.