Skip to main content

"ย่ำสวนป่า" เป็นเรื่องเล่าจากชนบทที่มีกังวานเสียงแห่งความภาคภูมิใจกับการที่ได้เกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมของสวนป่าที่มีสิ่งให้เรียนรู้ได้ไม่รู้จบ และมีรูปแบบชีวิตที่สัมพันธ์เกี่ยวโยงอยู่กับความเป็นไปของธรรมชาติ

ผู้เล่าเรื่องบอกไว้ในตอนท้าย หลังจากที่ปลดปล่อยความทรงจำวัยเด็กให้ออกมามีชีวิตวิ่งเต้นบนหน้ากระดาษเสร็จแล้วว่า

"มันไม่ใช่ความอาลัยอาวรณ์อีกต่อไป แต่เป็นความทรงจำแสนสนุกที่ผมไม่คิดจะลืมเลือน ผมจะจดจำไว้ว่าที่นี่... คือบ้านเก่าของผม..." (หน้า 118)


เช่นเดียวกับเรื่องเล่าหลายเรื่องที่เราได้ยินได้อ่าน คือเป็นเรื่องเล่าย้อนอดีตในวัยเด็กที่สนุกสนานน่าจดจำ ไม่ว่าจะเป็นการไปจับหมูป่าที่ดักจับเอาง่าย ๆ คือรอให้หมูป่าข้ามลำธาร หมูป่าว่ายน้ำไม่เก่งปล่อยให้จับได้ไม่ยาก การตีผึ้งที่ใช้วิธีการรมควันให้ผึ้งมึนเมา การไปเก็บมะม่วงป่าที่ต้องแย่งกันไปเก็บตั้งแต่เช้ามืด การไปส่องกบตอนกลางคืน


เหล่านี้เป็นเรื่องราวในวัยเด็กซึ่งครอบคลุมกิจกรรมแห่งชีวิตไว้ทั้งหมดของเด็กบ้านป่าหรือเด็กบ้านสวน เป็นเหมือนดั่งขุมทรัพย์แห่งความทรงจำที่สามารถหวนกลับไปตักตวงดื่มกินได้อย่างไม่มีวันหมด


ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ "รัศมี เบื่อขุนทด" แม้จะไม่คุ้นชื่อมากนักแต่ลีลาการเขียนนั้นชวนอ่านและน่าติดตามไม่น้อย


"มะขามต้นนี้อยู่ใกล้รั้วบ้าน เปรี้ยวมาก ใครเผลอกินแทบจะถอนฟันทิ้งเพราะเปรี้ยวได้เข็ดฟันชะงัดนัก ช่วงสงกรานต์เวลามีการละเล่นแล้วคนแพ้ต้องกินน้ำ กินของเค็มหรือของเปรี้ยว อันสุดท้ายมะขามบ้านผมนี่ละเป็นพระเอก ใครที่รู้ว่าจะได้กินมะขามต้นนี้เป็นต้องโอดครวญขอเป็นอมเกลือทั้งถุงแทนดีกว่า" (หน้า 16)


"ย่ำสวนป่า" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ "มติชน" ที่นอกเหนือไปจากจะจัดพิมพ์เรื่องสั้นและนวนิยายเพื่อส่งเข้าประกวดรางวัลต่าง ๆ โดยตรงแล้ว นาน ๆ ทีที่สำนักพิมพ์ "มติชน" จะเข็นวรรณกรรมเยาวชนออกมาให้เห็น


หากเปรียบเทียบกับสำนักพิมพ์กับสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ด้วยกันอย่าง "นานมีบุ๊ค" หรือ สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ แล้วพบว่าปริมาณวรรณกรรมเยาวชนของสำนักพิมพ์มติชนจะปรากฏออกมาน้อยกว่ากันมากพอสมควร

 

ว่าที่จริง เรื่องเล่าเกี่ยวกับชนบทบ้านป่านั้นมีอยู่ไม่น้อยในแวดวงวรรณกรรมเยาวชนของไทยแต่มีไม่มากเลยที่เล่าได้อย่างสนุกและเพลิดเพลินแบบหนังสือเล่มนี้ ผู้เล่ามีข้อมูลเนื้อหามากมายที่จะเล่า จนน่าเชื่อได้ว่าเป็นประสบการณ์ตรงที่สัมผัสด้วยตนเองไม่ใช่ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านมาแล้วนำมาเล่าต่ออีกที


ที่สำคัญคือเล่าได้อย่างสนุก มีชีวิตชีวามากโดยเฉพาะเรื่องเล่าเกี่ยวกับ "ไอ้แดง" ไก่งวงตัวฉกาจ


"การเข้าออกบ้านผมไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เฉพาะกับชาวบ้าน ผมก็ด้วย สาเหตุมาจากตัวร้ายหนึ่งเดียวของบ้าน ไอ้แดง ไก่งวงสีแดงเดือด มีคนเพียงสองคนที่มันไม่ตีคือพ่อกับแม่ผม บ้านผมเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนเตี้ย มีบันไดสี่ห้าขั้น เวลาจะลงจากบ้านต้องมองให้แน่ใจก่อนว่าไอ้แดงไม่อยู่แถวนั้น จึงวิ่งปร๋อลงมาแล้วก็โกยอ้าวออกไป ขาออกง่ายกว่าขาเข้า" (หน้า 21)


หรือตอนที่เล่าเกี่ยวกับเรื่องวุ่น ๆ ของไก่และเป็ด อันเกิดจากแม่ไก่ไปฟักไข่เป็ดจนออกมาเป็นลูกเป็ดปะปนกับลูกไก่


"อยู่ ๆ ไป แม่ไก่พาลูกไปหากินข้างบ่อ ด้วยสัญชาตญาณของเป็ด ลูกเป็ดถลาลงไปเล่นน้ำ แม่ไก่ตกใจ ! ... วิ่งตามลงไปในน้ำ ! ด้วยความห่วงลูก กลัวลูกจะจมน้ำ แต่พอเห็นลูกน้อยลอยฟ่องอยู่บนผิวน้ำ แม่ไก่ก็ตาลีตาเหลือกตะกายกลับขึ้นมาบนฝั่ง ยืนเปียกโชกด้วยความภาคภูมิใจที่เห็นลูกเป็นอภิชาตบุตร เก่งกว่าพ่อแม่ พ่อแม่ว่ายน้ำไม่เป็น ลูกว่ายได้... นับแต่นั้น แม่ไก่ก็จะคุ้ยเขี่ยหาอาหารริมบ่อ ลูกเป็ดของแม่ไก่ก็จะว่ายไซ้จอกแหนหากินอยู่ในบ่อ" (หน้า 32)


ในตอนท้าย ๆ จะเห็นได้ว่า "ความเจริญ" ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากที่เป็นป่าเป็นสวนก็กลายเป็นอิฐเป็นปูน ผู้เล่าเรื่องต้องย้ายบ้านออกจากบ้านสวนเพราะมีท่อน้ำประปาเข้ามาในหมู่บ้าน


หลังจากย้ายไปอยู่บ้านใหม่แล้ว ผู้เล่าเรื่องพบว่า "บ้านใหม่" ไม่ใช่ "บ้าน" ในความหมายเดิมอีกต่อไปเพราะ "บ้าน" ไม่ใช่แค่ตัวอาคารวัตถุแต่มันคือความรู้สึกผูกพันทางใจต่อสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ด้วยซึ่งต้องใช้เวลานานในการสร้างความรู้สึกที่ว่านี้ขึ้นมาใหม่


แม้ว่า "ย่ำสวนป่า" จะเหมือนกับเรื่องเล่าอื่น ๆ คือเป็นการมองย้อนกลับไปในอดีตเพื่อดื่มด่ำกำซาบกับความทรงจำแต่ต่างออกไปตรงที่ "ย่ำสวนป่า" ไม่ถึงกับโหยหาอดีตที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ไม่ใช่เรื่องเล่าที่คร่ำครวญถึงอดีตอันงดงาม โรแมนติก เพราะผู้เล่าเรื่องรู้ว่าอดีตไม่ได้หายไปหากแต่เป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่อยู่ในความทรงจำรอคอยให้กลับไปดื่มกิน.

 

 

บล็อกของ นาลกะ

นาลกะ
วรรณกรรมจากแดนไกลเล่มนี้ คงไม่ใช่วรรณกรรมเยาวชนในความหมายที่เหมาะสำหรับการส่งเสริมจินตนาการและการผจญภัยอันสนุกสนานของเด็ก ๆ ในแบบเดียวกับ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” แม้ว่าชื่อเรื่องจะฟังดูชวนฝัน เสริมสร้างจินตนาการแบบเดียวกับ “เจ้าชายน้อย” ของ อังตวน เดอ เซงเตก ซูเปรี ก็ตาม ตรงกันข้ามทีเดียวนี่เป็นวรรณกรรมที่เหมาะสำหรับนักอ่านประเภท “ฮาร์ดคอร์” โดยแท้ ซึ่งวรรณกรรมประเภทนี้เนื้อหาสาระจะนำมาซึ่งความบันเทิงประทับใจ เนื้อหาสาระอันเข้มข้นและลีลาลูกเล่นในการเล่าเรื่องต่างหากที่จะก่อให้เกิดความบันเทิงเริงใจ ไม่ใช่สาระบันเทิงแบบรายการ “ตาสว่าง” ที่ดูแล้วชวนให้มืดมัวด้วยอคติและความไม่เข้าใจมากยิ่งขึ้น…
นาลกะ
เคยได้ยินชื่อ “ขบวนการนกกางเขน” มานานแล้ว แต่ไม่เคยรู้ว่าคืออะไร จนกระทั่งเห็นหนังสือชื่อเดียวกันนี้วางอยู่บนชั้นและลงมืออ่าน จึงได้รู้ว่า “ขบวนการนกกางเขน” เป็นวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศที่แปลโดย “แว่นแก้ว” “ขบวนการนกกางเขน” เป็นทั้งชื่อหนังสือและชื่อเรียกของกลุ่มตัวละครเด็ก ๆ ในเรื่อง เด็ก ๆ ถูกวาดให้มีหลากหลายบุคลิก ตั้งขบวนการ รวมตัวกันหาเรื่องสนุก ๆ ทำ จนกระทั่งเข้าไปผจญภัยในห้องใต้ดินและนำไปสู่การค้นพบขุมทรัพย์ในที่สุด ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้น่าจะอยู่ที่ผู้แปลมากกว่าผู้เขียน  สำหรับผู้เขียนชาวฝรั่งเศสคือ Madeleine Treherne  ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ในภาคฝรั่งเศสว่า Rossignols…
นาลกะ
“ดิบส์ลูกรัก แม่และพ่อขอโทษ”1 แปลมาจากเรื่อง “Dibs In Search of Self” เป็นหนังสือเกี่ยวกับเด็กที่ไม่ใช่นวนิยายที่จัดได้ว่าเป็น Bestseller  อย่างไรก็ตามหนังสือเรื่องนี้อ่านสนุกน่าติดตามราวกับเป็นวรรณกรรมเยาวชน (จะว่าไปเรื่องราวของเด็ก ๆ ก็เป็นวรรณกรรมในตัวมันเองอยู่แล้ว)ผมเจอหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญในห้องสมุด อ่านเพียงผ่าน ๆ แต่แรงดึงดูดบางประการทำให้วางไม่ลงและอ่านต่อไปด้วยความเพลิดเพลินจนจบ ผิดกับหนังสือหลายเล่มที่ในระยะหลังผมมักจะอ่านไม่จบ ไม่ใช่ไม่มีเวลา แต่ไม่มีแรงดึงดูดให้อ่าน แต่สำหรับเรื่อง “ดิบส์ลูกรัก แม่และพ่อขอโทษ” นี้เป็นข้อยกเว้นจริง ๆ“ดิบส์ลูกรัก แม่และพ่อขอโทษ”…
นาลกะ
 อนาโตล ฟรองซ์  เขียนไกรวรรณ  สีดาฟอง แปลอนาโตล ฟรองซ์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปี 1921 เขาเป็นชาวปารีส กำเนิดมาท่ามกลางกองหนังสือเก่าของบิดา เขากลายเป็นนักเขียนแถวหน้าด้วยผลงานเรื่อง “ซิลเวอร์แตร์ บงนาร์ด” (1881)  หลังจากนั้นก็สร้างสรรค์นวนิยายออกมาหลายชิ้นที่โด่งดังมากก็คือ “หมู่เกาะนกเพ็นกวิน” (1908) นวนิยายเชิงเสียดสีที่มีฉากหลังเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมเล่มหนึ่งของศตวรรษ 20ผลงานเรื่อง “หมู่เด็กแห่งทุ่งดอกไม้”  เขียนขึ้นตอนบั้นปลายของชีวิตของเขา น่าสังเกตว่าหลังจากเขียนงานวรรณกรรมประเภท “สร้างสรรค์…
นาลกะ
“รพินทรนาถ ฐากูร” เขียน“วิทุร  แสงสิงแก้ว” แปล“ปรีชา  ช่อปทุมมา” แปล“เยี่ยมหน้าให้เขายล อ้ายหนูเอ๋ย เพื่อว่าพวกเขาจะได้ซึมซาบในความหมายแห่งสรรพสิ่ง จงทำตัวให้พวกเขารักเพื่อว่าพวกเขาจะได้รู้จักรักใคร่ซึ่งกันและกันบ้าง”(สำนวนแปลของปรีชา ช่อปทุมมา)
นาลกะ
 จอห์น  โฮลท์  เขียนกาญจนา  ถอดความหนังสือเล่มนี้พูดถึงเด็ก ๆ ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับพวกเรา โดยต้องการพิจารณาดูว่าเด็กทั้งหลายนั้นถูกจัดวางให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ใดในสังคม (หรือสังคมปัจจุบันอาจจะไม่ได้มีที่ว่างไว้ให้พวกเด็ก  ๆ เลย?)  ผู้เขียนมีทัศนะที่ก้าวหน้ามากในประเด็นที่รายล้อมอยู่รอบตัวเด็ก และเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ค่านิยม ความเชื่อและพฤติกรรมที่มีผู้ใหญ่มีต่อเด็กอย่างถึงรากถึงโคนจนบางคนอาจจะรับไม่ได้ นอกจากหนังสือเล่มนี้ที่แปลมาจาก Escape from Childhood แล้วผู้เขียนซึ่งเคยเป็นครู มีประสบการณ์ในการคลุกคลีกับเด็กมายาวนาน  …
นาลกะ
อาการป่วยของแม่ทุเลาลง แต่ยังไม่หายเป็นปกติเพราะโรคฉวยโอกาสบางชนิดที่ยังทำให้แม่อ่อนเพลีย คุณหมอมาดูแลอาการของแม่บ่อยครั้ง คุณหมอจะยิ้มอย่างปลอดโปร่งใจทุกครั้งเมื่อตรวจดูอาการของแม่เสร็จ สายรุ้งไม่แน่ใจว่ารอยยิ้มของคุณหมอมีความหมายว่าอะไร อาจหมายถึงว่าแม่จะกลับมามีสุขภาพแข็งแรงดังเดิมหรือเพื่อปลอบใจสายรุ้งกันแน่ หรือว่าคุณหมอที่ไหน ๆ ต่างก็มีรอยยิ้มลักษณะเช่นนี้“แม่ผมเป็นยังไงบ้างครับ”คุณหมอทำท่าตรึกตรองราวกับกำลังหาคำอธิบายที่เหมาะ ๆ นั่นยิ่งทำให้สายรุ้งรู้สึกกังวลหนักขึ้น“หนูต้องดูแลแม่ดี ๆ นะ” คุณหมอตอบ “หนูรู้ไหมว่าหนูมีส่วนอย่างมากในการทำให้คุณแม่หายจากอาการป่วยไว ๆ” “…
นาลกะ
คุณตาและน้ามลมาที่บ้านสายรุ้งบ่อยขึ้น เพราะแม่ของสายรุ้งไม่สบาย แม่เป็นลมหมดสติขณะกำลังทำงาน โชคดีที่ตอนนั้นสายรุ้งอยู่ที่บ้านด้วย สายรุ้งตกใจมากที่เห็นแม่ล้มลงและหมดสติเขาวิ่งไปตามคุณตาและน้ามลสายรุ้งไม่เข้าใจเลยว่าแม่ล้มป่วยได้อย่างไรในเมื่อดูแลตัวเองดีมาโดยตลอด  แม่เคร่งครัดต่อวิถีชีวิตประจำวันอย่างมาก นอนและตื่นตรงเวลาเหมือนกันทุกวัน ระวังให้ไม่โดนแดด โดนฝน แม่เลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเท่านั้น อาหารที่ผ่านการหมักดองแม่ไม่ทานเด็ดขาด ผัก ผลไม้ที่ซื้อมาจากตลาดแม่ล้างแล้วล้างอีก อาหารทอดหรือปิ้งย่าง แม่ก็ไม่ทาน ทั้งแม่ยังออกกำลังกายเป็นประจำอีกด้วย…
นาลกะ
วันเวลาเคลื่อนคล้อยไปจนใกล้สิ้นปี สายรุ้งและแม่ผ่านวันเวลาร่วมกันมาอย่างกล้าหาญ เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางลมพายุ รู้จักการโอนเอนตามแรงลมเมื่อพายุกระหน่ำหนักในขณะที่รากนั้นยึดเกาะดินไว้อย่างมั่นคงสายรุ้งมีอายุเพิ่มมากขึ้นอีกปี การผ่านวันเวลาไปจนมีอายุเพิ่มขึ้นหนึ่งปีนั้นอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับคนอื่น ๆ แต่สำหรับแม่ของสายรุ้งแล้ว เธอรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่มีความหมาย และความสำคัญอย่างยิ่งยวด เธอตระหนักถึงคุณค่าของแต่ละวินาที และรู้ว่ากาลเวลาในหนึ่งวินาทีของเธอกับของคนอื่นนั้นแตกต่างกันด้วยเหตุว่าเธอมีมาตรวัดความยาวนานของเวลาต่างออกไป ส่วนสายรุ้งอาจยังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจในเรื่องนี้ “…
นาลกะ
สายรุ้งก็เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่เพลิดเพลินกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์  เกมที่มีภาพสวยงามดึงดูดสายตาและสามารถติดต่อสัมพันธ์ คุยเล่นสนุกกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนได้ผ่านการเชื่อมต่อกับโลกไซเบอร์ การสร้างสีสันสวยงามเกินจริง การออกแบบฉากที่อลังการ ไม่ว่าจะเป็นตึกอาคาร ตัวสัตว์ประเภทต่าง ๆ  และความน่าตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ปรากฏในเกม ยั่วเย้าเร้าความสนใจของสายรุ้งและเด็กคนอื่นๆ จนไม่อาจต้านทานได้หากเล่นเกมที่ร้านเกมซึ่งมีเด็กๆ ไปชุมนุมกันนั้น สายรุ้งจะนั่งเล่นไม่นานนัก แค่เพียงชั่วโมงหรือสองชั่วโมงเท่านั้น เพราะแม่ไม่ต้องการให้เขาขลุกอยู่ที่ร้านเกมนานเกินไป…
นาลกะ
เมฆฝนตั้งเค้าทำท่าเหมือนว่าจะเทน้ำลงมา แต่ก็ไม่เคยหล่นลงมาสักหยด สายลมจะพัดพาเมฆให้ลอยไปที่อื่น จากนั้นท้องฟ้าก็จะปลอดโปร่งเหมือนเดิม ชาวสวนที่เฝ้ารออยู่แหงนหน้าขึ้นฟ้าหวังจะได้เห็นเม็ดฝนโปรยปราย เมล็ดพืชที่หว่านไว้รอเพียงฝนแรกเท่านั้นก็จะแทงยอดอ่อนออกมาท้องฟ้าครึ้ม เมฆสีดำลอยต่ำและบดบังความร้อนแรงแห่งแสงอาทิตย์ อากาศยามสายขมุกขมัว  “วันนี้ฝนจะตก” ตาพูดกับเด่นและสายรุ้ง “ดูฝงมดพวกนั้นสิพากันอพยพเพราะมันรู้ว่าน้ำจะเจิ่งนองท่วมรังของมัน” สายรุ้งแหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ท้องฟ้าช่างดูอึดอัดด้วยบรรยากาศอันอึมครึม นกฝูงบินตัดก้อนเมฆที่คล้อยลงต่ำ“เราจะได้เล่นน้ำ” เด่นว่าแล้วฝนก็เทลงมาจริงๆ…
นาลกะ
วันนี้เพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งของสายรุ้งมาโรงเรียนสาย พอครูถามเขาก็ตอบว่าที่บ้านเขากำลังมีปัญหา พ่อของเขาป่วยหนัก เมื่อสายรุ้งเห็นแววตาเศร้าสร้อยของเพื่อนนักเรียนคนนั้นแล้วรู้สึกสงสารจับใจ เพื่อนนักเรียนกำลังจะร้องไห้อยู่แล้วตอนที่ตอบคำถามของครู เป็นไปได้ว่าสายรุ้งอาจกำลังคิดถึงตัวเองที่สูญเสียพ่อไปตั้งแต่ยังเล็ก แล้วก็เลยเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนนักเรียนคนนั้นดีว่าจะต้องเสียใจมากเพียงใดหากพ่อของเขาต้องมีอันเป็นไป อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนไม่ได้รู้สึกอย่างที่สายรุ้งรู้สึก ความทุกข์ใจของเพื่อนนักเรียนอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยของพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวนั้น…