Skip to main content

วันนี้เพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งของสายรุ้งมาโรงเรียนสาย พอครูถามเขาก็ตอบว่าที่บ้านเขากำลังมีปัญหา พ่อของเขาป่วยหนัก

เมื่อสายรุ้งเห็นแววตาเศร้าสร้อยของเพื่อนนักเรียนคนนั้นแล้วรู้สึกสงสารจับใจ เพื่อนนักเรียนกำลังจะร้องไห้อยู่แล้วตอนที่ตอบคำถามของครู

เป็นไปได้ว่าสายรุ้งอาจกำลังคิดถึงตัวเองที่สูญเสียพ่อไปตั้งแต่ยังเล็ก แล้วก็เลยเข้าใจความรู้สึกของเพื่อนนักเรียนคนนั้นดีว่าจะต้องเสียใจมากเพียงใดหากพ่อของเขาต้องมีอันเป็นไป

อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนไม่ได้รู้สึกอย่างที่สายรุ้งรู้สึก ความทุกข์ใจของเพื่อนนักเรียนอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยของพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวนั้น กลายเป็นหัวข้อสนทนาอย่างออกรสชาติของเด็กบางคน

สายรุ้งประหลาดใจมากที่เด็กนักเรียนบางคน กระซิบกระซาบกันอย่างน่าสงสัยถึงสาเหตุที่ทำให้พ่อของเพื่อนนักเรียนคนนั้นป่วย

“พ่อเขาเป็นโรคร้าย”
“ไม่มีทางรักษา”
“พ่อเขาชอบเที่ยวผู้หญิง”
“งั้นแม่ของเขาก็อาจติดโรคด้วย”

สายรุ้งไม่เข้าใจถ้อยคำเหล่านี้เลย แน่ละ จากสถานการณ์ สายรุ้งรู้ว่าพ่อของเพื่อนนักเรียนป่วยด้วยโรคร้ายแรงซึ่งอาจจบลงด้วยการสูญเสีย แต่เท่าที่สายรุ้งรู้ก็คือ โรคทุกชนิดสามารถรักษาได้หรืออย่างน้อยก็อาจยืดชีวิตออกไปได้นาน

แม่บอกสายรุ้งอยู่เสมอว่าโรคทุกชนิดสามารถรักษาได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งและสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วทำไมพวกเด็ก ๆ จึงพากันพูดแบบนี้ ถ้าเพื่อนนักเรียนคนนั้นได้ยินเข้าคงจะเสียใจไม่น้อย

สายรุ้งถามแม่ว่า “แม่ครับ มีคนบอกว่าโรคบางโรครักษาไม่ได้จริงไหมครับ”
อันที่จริงสายรุ้งเกือบจะลืมเรื่องนี้ไปแล้วด้วยซ้ำเมื่อกลับมาถึงบ้าน บ้านอันอบอุ่นที่ความกังวลใจจะไม่มาแผ้วพาน
สายรุ้งหยิบการบ้านขึ้นมาทำ วันนี้มีการบ้านสองวิชา  พอสายรุ้งนึกถึงการบ้าน เขาก็นึกถึงเพื่อนที่ไม่มาโรงเรียน แล้วก็นึกถึงคำพูดที่ได้ยิน

“เรื่องนี้แม่เคยบอกสายรุ้งแล้วนี่”  แม่กำลังทำอาหารอยู่ในครัว
“ครับ แม่เคยบอกผมแล้ว ผมจำได้” แล้วสายรุ้งก็เล่ารายละเอียดให้ฟัง
แม่จึงบอกว่า “โรคทุกโรครักษาได้ เพียงแต่อาจไม่หายขาด อย่างเช่นโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ แต่ถึงแม้ไม่หายขาด เราก็สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับโรคที่อยู่ในร่างกายของเราได้ เพียงแต่เราต้องระมัดระวังไม่ให้มันลุกลาม” แม่อธิบายต่อไปว่า

“มนุษย์ทุกคนมีโรคอยู่ในตัวทั้งนั้น เราจึงต้องดูแลตัวเองไม่ให้โอกาสโรคที่อยู่ในตัวกำเริบออกมา เช่น ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ดื่มน้ำเยอะ ๆ”
“ครับแม่ ผมเข้าใจแล้วครับ”
“แต่เด็กพวกนั้นไม่เข้าใจหรอก”
แม่พูด “เอ่อ คนที่มีประสบการณ์หรือคนที่สนใจเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะรู้”

วันรุ่งขึ้น เพื่อนนักเรียนคนนั้นมาเรียนตามปกติ แต่เขานั่งซึม ดูอ่อนเพลียมาก บางครั้งเขานั่งหลับตา พอถึงเวลาพักเที่ยง เขาก็ยังนั่งอยู่ในห้องเรียน ไม่ไปกินข้าวในโรงอาหารเหมือนเด็กคนอื่น

สายรุ้งจึงเดินเข้าไปหา “นายไม่หิวข้าวเหรอ” สายรุ้งถาม
เด็กคนนั้นสั่นศีรษะ เขาหลบหน้าแล้วก็หันหน้าไปทางหน้าต่าง ใบหน้าของเขาซีดเซียวมาก เขาคงมีความทุกข์ใจอย่างหนัก
สายรุ้งอยากปลอบใจเพื่อน แต่เพื่อนคงไม่อยากให้ใครรบกวน ดังนั้นสายรุ้งจึงเดินถอยออกมา

“พ่อฉันไม่สบาย” เพื่อนนักเรียนพูดขึ้น “ฉันรู้ว่าหลายคนพูดถึงพ่อฉันในทางไม่ดี แม้แต่ครูก็ยังพูด”   สายรุ้งพยักหน้าแสดงว่าเข้าใจในสิ่งที่เพื่อนพูด
“ไม่ว่าพ่อฉันจะเป็นอย่างไร ฉันก็รักพ่อ เพราะพ่อดีกับฉันเสมอ” พอพูดจบประโยค เขาก็น้ำตาไหล  สายรุ้งรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะร้องไห้เหมือนกัน

“แม่บอกว่าโรคทุกชนิดสามารถรักษาได้” สายรุ้งพูด
“แต่มันสายเกินไปแล้ว สำหรับพ่อของฉัน” เขาสะอึกสะอื้น
สายรุ้งหันหน้าไปทางอื่น เขาไม่อยากเห็นเพื่อนร่ำไห้ เขาไม่สบายใจเลยที่เพื่อนมีอาการอย่างนั้น
“เย็นนี้นายไปเที่ยวบ้านฉันมั้ย” สายรุ้งชวน สายรุ้งคิดว่าแม่จะมีวิธีพูดที่ทำให้เพื่อนคลายความทุกข์ลงไปได้
“ฉันต้องกลับไปดูแลพ่อ”
“ถ้าอย่างนั้น ฉันไปเยี่ยมพ่อนายได้ไหม”
เพื่อนนักเรียนมองสายรุ้ง ก่อนตอบว่า “ฉันดีใจที่นายไม่รังเกียจพ่อฉันเหมือนคนอื่น ๆ” เขาหยุดร้องไห้แล้ว
“ทำไมต้องรังเกียจด้วยล่ะ” สายรุ้งว่า “แม่สอนฉันให้รักตัวเองและไม่ให้รังเกียจคนอื่น”

เขายิ้มเมื่อได้ยินคำพูดของสายรุ้ง.

บล็อกของ นาลกะ

นาลกะ
-1- หลานเกิดปีเดียวกับที่ผมเดินทางออกจากบ้าน มุ่งหาประสบการณ์และไล่คว้าหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต  คืนวันของหลานที่เติบโตขึ้นด้วยความเอาใจใส่ของพ่อแม่คือจำนวนเวลาที่ผมจากบ้านเกิดเมืองนอน
นาลกะ
    คงเป็นเพราะรูปเล่มงามตาน่าหยิบจับและเครดิตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่บอกว่า “เล็กน้อยมากจนสามารถนั่งอ่านข้าง ๆ เตียง ยิ่งใหญ่มากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิต” เร้าความสนใจให้เปิดพลิกและลงมืออ่าน
นาลกะ
-1- ฉันเดินตัดผ่านสนามหลวงเพื่อไปขึ้นรถเมล์กลับหอพักเกือบทุกวัน เรื่องราวที่แทบจะเป็นแบบฉบับและเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ได้พบเห็นจากผู้คนแห่งสนามหลวงวันแล้ววันเล่า ทำให้เกิดภาพประทับในใจโดยไม่รู้ตัว เมื่อฉันได้รู้จักกับสนามหลวงมากขึ้น ฉันก็ได้พบว่าสถานที่แห่งนี้เปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ที่แห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตของคนระดับล่างมากมาย แต่ละคน แต่ละชีวิตนั้นน่าจะปรากฏอยู่ในนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง คนเหล่านี้ไม่ควรจะมีอยู่จริง!
นาลกะ
“ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก(Man and Wife)” คือนิยายอันละเมียดบรรจงของ Tony Parsons เป็นผลงานภาคต่อจาก “ลูก(ผู้)ชายหัวใจคุณพ่อ (Man and Boy)” ซึ่งเคยสร้างความเกรียวกราวในแวดวงนักอ่านได้มากพอสมควร(ผมเคยวิจารณ์ไว้แล้วที่ http://blogazine.prachatai.com/user/nalaka/post/1562 ) ฝีมือแปลโดย ภัสรี สิงหเดช  
นาลกะ
โดยทั่วไปแล้ว หนังสือของสำนักพิมพ์ “ผีเสื้อ” สามารถการันตีคุณภาพ(แต่ไม่การันตียอดขาย) ได้ในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่มีคำว่าผิดหวังในแทบทุกเล่มเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นวรรณกรรมแปล! “พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร” ซึ่งเขียนโดย ฌ็อง-หลุยส์ ฟูร์นิเย่ร์ และแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ก็เช่นเดียวกัน
นาลกะ
วรรณกรรมเยาวชนรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชน ก่อนวัยรุ่น (12-14) จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี 2530 และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 เล่ม ที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน โดยฝีมือการประพันธ์ของนักเขียนซึ่งเป็นรู้จักกันดี "อัศศิริ ธรรมโชติ"
นาลกะ
ด้วยชื่อเรื่องที่ไม่คุ้นหู และหน้าปกเป็นรูปน้ำตกกลางป่าสวยงาม วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ชวนให้สะดุดใจและเปิดอ่าน ซึ่งก็ใช้เวลาอ่านไม่นานนักก็จบเล่มเพราะมีความหนาไม่ถึง 50 หน้ารวมภาพประกอบ
นาลกะ
ผลงานเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดวรรณกรรมเยาวชนรางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 2 ผู้เขียนคือ “เก็ตตะหวา” วาดภาพประกอบโดย ธีระพงษ์ บัวระเพชร และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค เจ้าเก่า แก่นแกนของเรื่องคือพัฒนาการของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ “ผิงผิง” ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม และไม่ใคร่จะชอบพ่อที่แท้จริงนักเพราะคิดว่าพ่อทอดทิ้งเธอซ้ำยังปล่อยให้แม่ตาย แต่ที่จริงแล้วพ่อของเธอนั้นรักเธอมาก เหตุที่ต้องฝากเธอไว้กับคนอื่นนั้นเพราะหน้าที่การงานที่เป็นนักมายากลต้องตระเวณแสดงไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งคนที่นำลูกไปฝากไว้นั้นก็เป็นเพื่อนเก่าและเป็นนายอำเภอที่ไม่มีลูกของตนเองสามารถดูแลผิงผิงได้
นาลกะ
  เรื่องเล่ามหาสนุกจากทุ่งหญ้าสีเขียว เป็นวรรณกรรมเด็กที่โด่งดังของธอร์นทัน ดับบลิว. เบอเกตส์ (Thornton W. Burgess) เขาได้แต่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติเป็นนิทานก่อนนอนสำหรับลูกชาย ปลูกฝังให้ลูกชายเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชุดรวม 20 เล่ม ได้รับผลสำเร็จอย่างมาก จนเขาได้แต่งเรื่องเล่าเพิ่มเติมรวม 170 เรื่อง
นาลกะ
  วันนี้ขอเปลี่ยนจากวรรณกรรมไทยมาเป็นวรรณกรรมต่างประเทศกันบ้าง หลังจากอ่านวรรณกรรมเล่มนี้จบแล้ว ยอมรับว่ารู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมเยาวชนของไทยและต่างประเทศ ทั้งสำนวนภาษา ทั้งเทคนิคลีลาการเล่าเรื่องและความเข้มข้นจัดจ้านของเนื้อหา ขอบ่นนิดหนึ่งว่าเท่าที่อ่านและเขียนถึงวรรณกรรมเยาวชนของไทย จำนวนไม่น้อยถ้าไม่เล่าเรื่องชนบทเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นติดตามแล้วก็มักจะบรรเจิดเพริศแพร้วในเรื่องจินตนาการมากเสียจนกลายเป็นนิทานก่อนนอนไปหรือไม่ก็เขียนสำหรับให้เยาวชนอ่านเท่านั้น ไม่ท้าทายผู้อ่านวัยอื่น ๆ แต่อย่างไรเสีย เชื่อว่าวรรณกรรมเยาวชนไทยคงจะได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ…
นาลกะ
"โลกนี้ยังมีเพื่อน" คือหนังสือรวมนิทานยอดเยี่ยม รางวัลมูลนิธิเด็ก หนังสือเล่มนี้รวมนิทานไว้ทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ตั้งชื่อเล่มตามชื่อนิทานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดในปีที่ 12 นอกจาก "โลกนี้ยังมีเพื่อน" ซึ่งได้รับรางวัลนิทานยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีเรื่องนิทานเรื่อง "นักวาดพู่กันวิเศษ" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ส่วนที่เหลืออีก 5 เรื่องได้รับรางวัลชมเชย
นาลกะ
ลูกแม่น้ำโขง วรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน "แว่นแก้ว" ชนะเลิศรางวัลที่ 3 คืออีกหนึ่งผลงานจากนานมีบุ๊ค เขียนโดย "เขมชาติ" แม้ว่าลูกแม่น้ำโขงจะเดินตามขนบวรรรกรรมเยาวชนแบบที่เขียน ๆ กัน ที่มักพูดถึงชนบทอันงดงามที่ผู้คนพึ่งพาช่วยเหลือกัน สภาพธรรมชาติที่ผูกพันแวดล้อมวิถีชีวิต การเล่นซนของเด็ก ๆ และข้อคิดทางด้านคุณธรรม เป็นต้นว่า การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ความมีน้ำใจ  ถึงกระนั้น ลูกแม่น้ำโขง ก็ยังคงน่าอ่านด้วยการบรรยายอย่างมีชีวิตชีวา  เพราะแม่น้ำโขงแม้นจะไหลอย่างที่เคยไหลก็ยังคงน่ามองและมีเสน่ห์อยู่เสมอ