Skip to main content

“ดิบส์ลูกรัก แม่และพ่อขอโทษ”1 แปลมาจากเรื่อง “Dibs In Search of Self” เป็นหนังสือเกี่ยวกับเด็กที่ไม่ใช่นวนิยายที่จัดได้ว่าเป็น Bestseller  อย่างไรก็ตามหนังสือเรื่องนี้อ่านสนุกน่าติดตามราวกับเป็นวรรณกรรมเยาวชน (จะว่าไปเรื่องราวของเด็ก ๆ ก็เป็นวรรณกรรมในตัวมันเองอยู่แล้ว)

ผมเจอหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญในห้องสมุด อ่านเพียงผ่าน ๆ แต่แรงดึงดูดบางประการทำให้วางไม่ลงและอ่านต่อไปด้วยความเพลิดเพลินจนจบ ผิดกับหนังสือหลายเล่มที่ในระยะหลังผมมักจะอ่านไม่จบ ไม่ใช่ไม่มีเวลา แต่ไม่มีแรงดึงดูดให้อ่าน แต่สำหรับเรื่อง “ดิบส์ลูกรัก แม่และพ่อขอโทษ” นี้เป็นข้อยกเว้นจริง ๆ

“ดิบส์ลูกรัก แม่และพ่อขอโทษ” เป็นบันทึกของนักจิตวิทยาที่ทำการบำบัดเด็กที่ถูกคุณครูและใครต่อใครมองว่า  ”มีปัญหา” แม้แต่พ่อแม่ของเขาเอง

พฤติกรรมที่ไม่คงที่ของดิบส์ทำให้เขาดูคล้ายจะเป็นเด็กที่มีสติปัญญาไม่สมบูรณ์ แต่บางครั้งก็ดูเป็นเด็กเฉลียวฉลาดกว่าใครอื่น เมื่อไหร่ที่ดิบส์คิดว่ามีคนกำลังจ้องมองเขาอยู่ เขาก็จะก้มหน้า ม้วนตัวหลบทันที และมักจะคลานไปรอบ ๆ ห้อง แล้วก็หลบอยู่ใต้โต๊ะ โยกตัวไปมา เคี้ยวมือหรือดูดนิ้วหัวแม่มือ ถ้ามีคุณครูหรือเด็กคนอื่น ๆ เข้าไปยุ่งด้วย เขาจะทิ้งตัวลงกับพื้นและนอนคว่ำหน้าแน่นิ่งอยู่ตรงนั้น ไม่สนใจใครหรือสิ่งรอบตัวใด ๆ ทั้งสิ้น ราวกับว่าโลกนี้ช่างโหดร้ายและไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย

คณะกรรมการบริหารโรงเรียนที่ดิบส์เรียนอยู่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับดิบส์ เมื่อผู้ปกครองของนักเรียนคนอื่น ๆ แสดงความไม่พอใจที่มีดิบส์เข้ามาอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เด็ก ๆ คนอื่นถูกดิบส์ข่วนและกัดเอา ๆ

ดิบส์ อายุเพียง 5 ขวบเท่านั้น แต่เขาต้องรับมือกับทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรจากคนรอบข้าง พ่อแม่ของเขาเองก็มีความคิดที่จะส่งเขาไปยังโรงเรียนเอกชนสำหรับเด็กพิการทางสมองด้วยซ้ำไป ด้วยเชื่อว่าดิบส์อาจจะเป็นเด็กปัญญาอ่อนหรือไม่ก็สมองพิการ

ปัญหาของดิบส์เริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้าน เขามีพ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์และแม่เป็นศัลยแพทย์ทั้งคู่ต่างกำลังก้าวหน้าในหน้าที่การงาน  แต่แล้วแม่ก็ตั้งครรภ์ดิบส์โดยไม่ตั้งใจ การถือกำเนิดของดิบส์เข้ามาขัดขวางความก้าวหน้าของทั้งคู่  ผู้เป็นแม่กล่าวถึงเด็กน้อยว่า

“เขาได้ทำลายอนาคตและชีวิตเรา การมีเด็กนับว่าโชคร้ายอยู่แล้วแต่การมีเด็กปัญญาอ่อนเป็นสิ่งสุดจะทนได้จริง ๆ เรามีความอับอายมาก เราเจ็บปวดรวดร้าวมาก ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในตระกูลของเราทั้งสองเลย สามีของดิฉันเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในความปราดเปรื่องในอาชีพของเขาและประวัติการทำงานของดิฉันก็อยู่ในระดับเยี่ยมยอด” (หน้า 89)

จากคำกล่าวข้างต้น  คนที่เป็นปัญหาและควรที่จะได้รับการรักษาก่อนเด็กน้อยก็คือผู้เป็นพ่อและแม่นั่นเอง!

ดิบส์เป็นเด็กที่ขาดการยอมรับอย่างรุนแรง อารมณ์ของเขาถูกทอดทิ้งอย่างน่าเวทนาที่สุดจากคนใกล้ตัว  

เด็กที่ไม่มีความสุขแต่ละคน ล้วนประสบความล้มเหลวกับการต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่อย่างภาคภูมิใจในสังคมหรือโลกใบนี้ เด็ก ๆ ผู้อ่อนต่อโลก จึงได้แต่ดิ้นรนต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้อยู่รอดตามวิถีทางที่เขาคิดว่าดีที่สุดแล้ว

ดิบส์ได้รับการ “บำบัดโดยการเล่นสมมติ” จากผู้เชี่ยวชาญ เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ในโลกสมมติของห้องเล่น

ผู้ให้การบำบัดกล่าวว่า “คุณค่าของการบำบัด หรือการรักษาปัญหาทางอารมณ์ขึ้นอยู่กับการที่เด็กจะรู้ว่าตัวเองนั้นเป็นผู้มีความสามารถ และมีความรับผิดชอบซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การที่ตัวเองจะต้องทำความเข้าใจในความจริงสองประการ ประการแรกคือไม่มีใครจะเข้าถึงโลกภายในของตัวเราเองได้อย่างถ่องแท้เท่ากับตัวเราเอง และอีกประการหนึ่งก็คือความจริงที่ว่าอิสระและเสรีภาพนั้นเกิดจากตัวเราเอง สิ่งแรกที่เด็กต้องเรียนรู้ก็คือ “การเคารพในตัวเอง” และ “การมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเด็กจะต้องสร้างขึ้นให้ได้เสียก่อนที่จะเรียนรู้ถึงการให้ความเคารพในตัวบุคคลอื่น ในสิทธิของบุคคลอื่นและในความแตกต่างของบุคคลอื่นได้”  (หน้า 67)

เรื่องราวและปฏิสัมพันธ์ระหว่างดิบส์กับผู้ที่ให้การบำบัดเขานั้นแปลกและสนุก ผู้อ่านจะอดขำไม่ได้กับบุคลิกและพฤติกรรมของดิบส์ บางครั้งเขาจะพูดกับตัวเองบอกให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ ผู้ให้การบำบัดจะทวนคำพูดของเขาซ้ำโดยใช้ประโยคคำถาม เป็นการถามเพื่อเปิดทางในการสร้างความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นไม่ใช่ถามเพื่อเพิ่มรสชาติการสนทนา

ดิบส์พูดว่า “ผมจะดูดขวดนมนะครับ”
ผู้ให้การบำบัดจะใช้ประโยคคำถามว่า “หนูจะดูดขวดนมอย่างนั้นหรือจ๊ะ?”

การสนทนาแบบนี้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการบำบัด มันอาจเป็นเรื่องเครียดของดิบส์และผู้ที่ให้การบำบัด  แต่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมาได้น่ารักน่าชังและน่าอ่านมาก

การบำบัดดิบส์พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ เขาค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการที่จะเข้าใจความรู้สึกตัวเอง เขาเรียนรู้ถึงวิธีที่จะดำรงอยู่กับความรู้สึกของตัวเองและวิธีการควบคุมความรู้สึกเหล่านั้น มีความสามารถที่จะสร้างอิสรภาพให้กับตัวเองได้ เขาไม่ต้องกลัวที่จะเป็นตัวของเขาอีกต่อไป

ในเวลาต่อมา ดิบส์ได้เข้าเรียนในโรงเรียนของเด็กอัจฉริยะ เติบโตเป็นเด็กหนุ่มที่ภาคภูมิ เขาเข้าได้ดีกับครอบครัว เป็นคนอารมณ์ดีและมีความสุขเหมือนเด็กอื่นทั่ว ๆ ไป พลอยทำให้ผู้เป็นพ่อแม่รอดจากคำกล่าวไร้ประโยชน์เมื่อสายไปแล้วว่า “แม่และพ่อขอโทษ”.  

1 ผู้เขียน Virginia M. Axline  ผู้แปล สมลักษณ์ วงลักษณ์ 

 

บล็อกของ นาลกะ

นาลกะ
-1- หลานเกิดปีเดียวกับที่ผมเดินทางออกจากบ้าน มุ่งหาประสบการณ์และไล่คว้าหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต  คืนวันของหลานที่เติบโตขึ้นด้วยความเอาใจใส่ของพ่อแม่คือจำนวนเวลาที่ผมจากบ้านเกิดเมืองนอน
นาลกะ
    คงเป็นเพราะรูปเล่มงามตาน่าหยิบจับและเครดิตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่บอกว่า “เล็กน้อยมากจนสามารถนั่งอ่านข้าง ๆ เตียง ยิ่งใหญ่มากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิต” เร้าความสนใจให้เปิดพลิกและลงมืออ่าน
นาลกะ
-1- ฉันเดินตัดผ่านสนามหลวงเพื่อไปขึ้นรถเมล์กลับหอพักเกือบทุกวัน เรื่องราวที่แทบจะเป็นแบบฉบับและเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ได้พบเห็นจากผู้คนแห่งสนามหลวงวันแล้ววันเล่า ทำให้เกิดภาพประทับในใจโดยไม่รู้ตัว เมื่อฉันได้รู้จักกับสนามหลวงมากขึ้น ฉันก็ได้พบว่าสถานที่แห่งนี้เปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ที่แห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตของคนระดับล่างมากมาย แต่ละคน แต่ละชีวิตนั้นน่าจะปรากฏอยู่ในนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง คนเหล่านี้ไม่ควรจะมีอยู่จริง!
นาลกะ
“ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก(Man and Wife)” คือนิยายอันละเมียดบรรจงของ Tony Parsons เป็นผลงานภาคต่อจาก “ลูก(ผู้)ชายหัวใจคุณพ่อ (Man and Boy)” ซึ่งเคยสร้างความเกรียวกราวในแวดวงนักอ่านได้มากพอสมควร(ผมเคยวิจารณ์ไว้แล้วที่ http://blogazine.prachatai.com/user/nalaka/post/1562 ) ฝีมือแปลโดย ภัสรี สิงหเดช  
นาลกะ
โดยทั่วไปแล้ว หนังสือของสำนักพิมพ์ “ผีเสื้อ” สามารถการันตีคุณภาพ(แต่ไม่การันตียอดขาย) ได้ในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่มีคำว่าผิดหวังในแทบทุกเล่มเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นวรรณกรรมแปล! “พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร” ซึ่งเขียนโดย ฌ็อง-หลุยส์ ฟูร์นิเย่ร์ และแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ก็เช่นเดียวกัน
นาลกะ
วรรณกรรมเยาวชนรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชน ก่อนวัยรุ่น (12-14) จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี 2530 และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 เล่ม ที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน โดยฝีมือการประพันธ์ของนักเขียนซึ่งเป็นรู้จักกันดี "อัศศิริ ธรรมโชติ"
นาลกะ
ด้วยชื่อเรื่องที่ไม่คุ้นหู และหน้าปกเป็นรูปน้ำตกกลางป่าสวยงาม วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ชวนให้สะดุดใจและเปิดอ่าน ซึ่งก็ใช้เวลาอ่านไม่นานนักก็จบเล่มเพราะมีความหนาไม่ถึง 50 หน้ารวมภาพประกอบ
นาลกะ
ผลงานเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดวรรณกรรมเยาวชนรางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 2 ผู้เขียนคือ “เก็ตตะหวา” วาดภาพประกอบโดย ธีระพงษ์ บัวระเพชร และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค เจ้าเก่า แก่นแกนของเรื่องคือพัฒนาการของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ “ผิงผิง” ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม และไม่ใคร่จะชอบพ่อที่แท้จริงนักเพราะคิดว่าพ่อทอดทิ้งเธอซ้ำยังปล่อยให้แม่ตาย แต่ที่จริงแล้วพ่อของเธอนั้นรักเธอมาก เหตุที่ต้องฝากเธอไว้กับคนอื่นนั้นเพราะหน้าที่การงานที่เป็นนักมายากลต้องตระเวณแสดงไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งคนที่นำลูกไปฝากไว้นั้นก็เป็นเพื่อนเก่าและเป็นนายอำเภอที่ไม่มีลูกของตนเองสามารถดูแลผิงผิงได้
นาลกะ
  เรื่องเล่ามหาสนุกจากทุ่งหญ้าสีเขียว เป็นวรรณกรรมเด็กที่โด่งดังของธอร์นทัน ดับบลิว. เบอเกตส์ (Thornton W. Burgess) เขาได้แต่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติเป็นนิทานก่อนนอนสำหรับลูกชาย ปลูกฝังให้ลูกชายเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชุดรวม 20 เล่ม ได้รับผลสำเร็จอย่างมาก จนเขาได้แต่งเรื่องเล่าเพิ่มเติมรวม 170 เรื่อง
นาลกะ
  วันนี้ขอเปลี่ยนจากวรรณกรรมไทยมาเป็นวรรณกรรมต่างประเทศกันบ้าง หลังจากอ่านวรรณกรรมเล่มนี้จบแล้ว ยอมรับว่ารู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมเยาวชนของไทยและต่างประเทศ ทั้งสำนวนภาษา ทั้งเทคนิคลีลาการเล่าเรื่องและความเข้มข้นจัดจ้านของเนื้อหา ขอบ่นนิดหนึ่งว่าเท่าที่อ่านและเขียนถึงวรรณกรรมเยาวชนของไทย จำนวนไม่น้อยถ้าไม่เล่าเรื่องชนบทเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นติดตามแล้วก็มักจะบรรเจิดเพริศแพร้วในเรื่องจินตนาการมากเสียจนกลายเป็นนิทานก่อนนอนไปหรือไม่ก็เขียนสำหรับให้เยาวชนอ่านเท่านั้น ไม่ท้าทายผู้อ่านวัยอื่น ๆ แต่อย่างไรเสีย เชื่อว่าวรรณกรรมเยาวชนไทยคงจะได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ…
นาลกะ
"โลกนี้ยังมีเพื่อน" คือหนังสือรวมนิทานยอดเยี่ยม รางวัลมูลนิธิเด็ก หนังสือเล่มนี้รวมนิทานไว้ทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ตั้งชื่อเล่มตามชื่อนิทานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดในปีที่ 12 นอกจาก "โลกนี้ยังมีเพื่อน" ซึ่งได้รับรางวัลนิทานยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีเรื่องนิทานเรื่อง "นักวาดพู่กันวิเศษ" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ส่วนที่เหลืออีก 5 เรื่องได้รับรางวัลชมเชย
นาลกะ
ลูกแม่น้ำโขง วรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน "แว่นแก้ว" ชนะเลิศรางวัลที่ 3 คืออีกหนึ่งผลงานจากนานมีบุ๊ค เขียนโดย "เขมชาติ" แม้ว่าลูกแม่น้ำโขงจะเดินตามขนบวรรรกรรมเยาวชนแบบที่เขียน ๆ กัน ที่มักพูดถึงชนบทอันงดงามที่ผู้คนพึ่งพาช่วยเหลือกัน สภาพธรรมชาติที่ผูกพันแวดล้อมวิถีชีวิต การเล่นซนของเด็ก ๆ และข้อคิดทางด้านคุณธรรม เป็นต้นว่า การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ความมีน้ำใจ  ถึงกระนั้น ลูกแม่น้ำโขง ก็ยังคงน่าอ่านด้วยการบรรยายอย่างมีชีวิตชีวา  เพราะแม่น้ำโขงแม้นจะไหลอย่างที่เคยไหลก็ยังคงน่ามองและมีเสน่ห์อยู่เสมอ