“รพินทรนาถ ฐากูร” เขียน
“วิทุร แสงสิงแก้ว” แปล
“ปรีชา ช่อปทุมมา” แปล
“เยี่ยมหน้าให้เขายล อ้ายหนูเอ๋ย
เพื่อว่าพวกเขาจะได้ซึมซาบในความหมาย
แห่งสรรพสิ่ง จงทำตัวให้พวกเขารัก
เพื่อว่าพวกเขาจะได้รู้จักรักใคร่ซึ่งกันและกันบ้าง”
(สำนวนแปลของปรีชา ช่อปทุมมา)
นอกจากปรีชา ช่อปทุมมา ศิษย์แห่ง “สำนักศานตินิเกตัน” โดยตรงซึ่งพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปีพ.ศ. 2526 แล้วยังมีนายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว อีกผู้หนึ่ง ที่แปลบทกวีล้ำค่าเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 ทั้งยังเคยได้รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านประกอบวิชาภาษาไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อหลายปีมาแล้ว
แม้ว่าบทกวี “จันทร์เสี้ยว” นี้จะพูดถึงเรื่องเด็ก ตลอดจนความสัมพันธ์อันลึกล้ำระหว่างแม่กับลูก (หรืออาจเป็นพ่อกับลูกก็ได้แล้วแต่จินตนาการและความต้องการของผู้อ่าน) แต่ก็เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับใครก็ตามที่กำลังค้นหาแรงดลใจจากคุณค่าชีวิต จากความสัมพันธ์อ่อนโยนระหว่างมนุษย์พึงมีกับมนุษย์
จำได้ว่า บทกวี “จันทร์เสี้ยว” นี้ ข้าพเจ้าเคยนำติดตัวอยู่เสมอในยามเดินทางท่องไปในวัยหนุ่มราวกับเป็นคัมภีร์ชีวิต สะท้อนสะท้านใจกับโลกของความเป็นเด็ก(ที่หลบซ่อนอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งในตัวเอง) ตลอดจนความรักที่ผู้เป็นพ่อหรือแม่มีต่อลูกน้อย และรู้สึกประหลาดใจกับความสามารถของผู้ประพันธ์ที่วาดแต่งจินตนาการแห่งความเป็นเด็กใส่ไว้ในโลกของภาษาอย่างไพเราะ
บทกวี “จันทร์เสี้ยว” ทำให้เชื่อว่าความงามแห่งความเป็นมนุษย์และความรักอันสูงส่งนั้นมีอยู่จริงซึ่งไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล หากแต่สามารถหาได้จากความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวซึ่งในที่นี้คือแม่กับลูกน้อย
ข้าพเจ้าอ่านจนจำได้ขึ้นใจว่าแต่ละบทแต่ละคำนั้นไพเราะอย่างไร จินตนาการของผู้ประพันธ์เกี่ยวกับเด็กนั้นช่างน่าพิศวงซึ่งมีแต่กวีที่แท้จริงเท่านั้นที่ทำได้ คนที่แสร้งทำเป็นกวีหรือนักแกะสลักถ้อยคำโดยทั่วไปนั้นไม่อาจทำเช่นที่ “รพินทรนาถ ฐากูร” กวีรางวัลโนเบลที่น่าภาคภูมิใจของโลกตะวันออกทำได้
อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งต้องยกความดีให้กับผู้แปลทั้งสองท่านด้วยที่นอกจากมีรสนิยมในการอ่าน การแปลแล้ว ยังสามารถในการเลือกสรรคำร้อยเรียงออกมาเป็นภาษาไทยซึ่งใครจะชอบสำนวนแปลของใครมากกว่ากันนั้นก็แล้วแต่ผู้อ่าน
คำว่า “จันทร์เสี้ยว” นั้น ผู้รู้บางท่านให้ความหมายว่าคือสิ่งสวยงามที่จุติมาครั้งแรกด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องและจะต้องเติบโตขึ้นไปจนเต็มที่ตามวันเวลาที่ผ่านไป เช่นเดียวกับความงามของพระจันทร์วันเพ็ญซึ่งค่อย ๆ สว่างมาจากรัศมีของพระจันทร์เสี้ยวในคืนแรก ๆ ที่ปรากฏขึ้นบนขอบฟ้า
ข้าพเจ้าขอยกบทกวีมาให้อ่านสักบทหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงจินตนาการของผู้ประพันธ์ที่เสมือนเข้าไปนั่งอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของเด็ก
ความเห็นใจ
ถ้าผมเป็นเพียงลูกหมาตัวเล็ก ๆ ไม่ใช่ลูกแม่ละก้อ เมื่อผมพยายามจะกินอาหารจากจาน แม่ครับ, แม่จะพูดไหมว่า “ไม่เอานะ”
แม่จะไล่ผม และตวาดไหมว่า “ไปให้พ้น ไอ้ลูกหมาซุกซน”
ไปซิครับแม่ ผมจะไปเด็ด ๆ ! จะไม่เดินเข้ามาหาเมื่อแม่เรียก จะไม่ยอมให้แม่เลี้ยงอีกเลย
ถ้าผมเป็นเพียงนกแก้วขนเขียวตัวเล็ก ๆ ไม่ใช่ลูกแม่ละก้อ แม่ครับ, แม่จะล่ามโซ่เพราะเกรงว่าผมจะบินหนีไหม แม่จะชี้นิ้วและดุไหมว่า “ไอ้นกเนรคุณ จิกโซ่ได้ทั้งวันทั้งคืน”
ไปซิครับแม่, ผมจะไปจริง ๆ ! จะบินเข้าป่า ไม่ยอมให้แม่กอดอีกแล้ว.
(สำนวนแปล ปรีชา ช่อปทุมมา)
ความไร้เดียงสาน่ารักในวัยเด็กถูกแปรรูป และยกระดับขึ้นให้กลายเป็นความงดงามที่จรรโลงใจโดยถ้อยคำง่าย ๆ ลองดูอีกบทหนึ่ง
เมื่อใดและทำไม
เมื่อใดที่พ่อนำของเล่นสารพัดสีมาฝากเจ้า ลูกเอ๋ย พ่อเกิดความเข้าใจขึ้นว่า ทำไมจึงมีการเล่นสีสันบนก้อนเมฆ บนท้องฟ้าและบนกลีบผกา...เมื่อพ่อนำของเล่นสารพัดสีมาฝากเจ้านั่นแหละ
เมื่อใดที่พ่อร้องเพลงเพื่อเป็นจังหวะให้เจ้าเต้น พ่อรู้ชัดว่าทำไมจึงมีเสียงดนตรีจากใบไม้และทำไมคลื่นจึงประสานเสียงบำเรอโสตแห่งแผ่นดิน...เมื่อพ่อร้องเพลงเป็นจังหวะให้เจ้าเต้นนั่นแหละ
เมื่อใดที่พ่อยื่นขนมใส่มือตะกละของเจ้า พ่อรู้ชัดว่าทำไมจึงมีน้ำหวานในกระเปาะดอกไม้และทำไมผลไม้แผกพันธุ์จึงถูกเติมด้วยรสเลิศอย่างลึกลับ...เมื่อพ่อยื่นขนมใส่มือตะกละของเจ้านั่นแหละ
เมื่อใดที่พ่อจูบแก้มเจ้าเพื่อเย้าให้ยิ้ม ลูกเอ๋ย พ่อเกิดความรู้สึกว่าลำแสง จากท้องฟ้ายามเช้าและสายลมเย็นแห่งคิมหันต์นำความสุขเพียงใดมาสู่พ่อ...เมื่อพ่อจูบแก้มเจ้าเพื่อเย้าให้ยิ้มนั่นแหละ
(สำนวนแปล ปรีชา ช่อปทุมมา)
ข้าพเจ้ากลับมาอ่าน “จันทร์เสี้ยว” อีกครั้งหนึ่งเพื่อค้นหาแรงดลใจให้กับตัวเอง กลับบ้านหนนี้ข้าพเจ้าจึงนำ “จันทร์เสี้ยว” ติดตัวไปด้วย