เรียวรุ้งเหนือทุ่งกว้าง เป็นวรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนำงานที่ชนะการประกวดใน โครงการพัฒนาทักษะด้านการเขียนวรรณกรรมสำหรับเยาวชน มารวมเล่ม
โครงการนี้เกิดจากการร่วมมือของกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ กับบริษัทนานมี บุ๊ค จำกัด โดยได้อัญเชิญวรรณกรรมเยาวชนในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพเรื่อง แก้วจอมซน และ แก้วจอมแก่น มาจุดประกาย
หนังสือเล่มนี้บรรจุวรรณกรรมเยาวชนในรูปแบบเรื่องสั้นทั้งหมด 30 ชิ้น จาก 30 ผู้เขียน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามอายุ
เรียวรุ้งเหนือทุ่งกว้าง เป็นชื่อเรื่องสั้นเยาวชนที่ได้รางวัลชนะเลิศในระดับ 14-18 ปี ส่วนในระดับ 9-13 ปี และ 19-25 ปี คือ เรื่อง กว่าจะมาเป็นฝน และ เครื่องบินกระดาษของดอกฝ้าย ตามลำดับ
เรื่องสั้น กว่าจะมาเป็นฝน เขียนโดย “เด็กหญิงปัฐพร ตุกชูแสง” จากจังหวัดกระบี่ เป็นเรื่องราวของสายน้ำที่มีชีวิตจิตใจ สามารถคิดและรู้สึกได้เหมือนมนุษย์ สายน้ำบอกเล่าให้ฟังถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นขณะไหลผ่านไป เช่น ปลาที่กำลังจะตายเพราะน้ำเน่าเสีย ก่อนจะไปบรรจบพบพูดคุยกับสายน้ำสายอื่น ๆ ในมหาสมุทรกว้างแล้วแปรรูปกลายร่างไปเป็นเมฆขาวที่ลอยล่องบนท้องฟ้าหาทางกลับมาเป็นหยาดน้ำอีกหน
งานชิ้นนี้น่าใช้วิธีการเล่าแบบบุคลาธิษฐาน จินตนาการที่สอดใส่ลงไปทำให้รู้สึกเหมือนกับว่ากำลังอ่านเทพนิยาย มากไปกว่านั้น ยังแทรกประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไว้พองาม น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อคิดไปว่าผู้แต่งเรื่องนี้คือเด็กที่อยู่ช่วงวัย 9-13 ปีเท่านั้น
“บางครั้งฉันลอยผ่านทุ่งนาก็เห็นชาวนาแหงนหน้ามองมาที่ฉันแล้วทำตาละห้อยอย่างน่าสงสาร เขาคงอยากให้ฉันตกลงไปเป็นฝนเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวของเขา ฉันก็อยากลงไปช่วยเขาเช่นกันแต่ยังไม่ถึงเวลา ฉันจึงทำตาละห้อยตอบเขาแล้วลอยจากมา”
เรียวรุ้งเหนือทุ่งกว้าง เขียนโดย นางสาวปนัดดา ทวีวงศ์ จากจังหวัดจันทบุรี เขียนถึงชีวิตในวัยเรียนชั้นประถมตั้งแต่วันเปิดเรียนเข้า ชั้นประถม 1 จนจบชั้นประถม 6 ผู้เขียนบรรยายโดยใช้ ภาษาราวกับเป็นบทกวี
“ความชื้นของเทือกเขา
ถูกพัดพามากับสายลมป่ายามเย็น
เหล่ากระรอกต่างส่งเสียง
เรียกหากันดังสะเทือนอยู่บนต้นเงาะ
ตะวันกำลังลับเหลี่ยมเขา
ความคิดมากมายของผม
เริ่มผุดขึ้นมาในสมอง
เหมือนหนังที่เอามาฉายซ้ำอีก
คิดถึงความสุข ความสนุกสนาน
กับชีวิตในวัยเรียน”
นอกจากนี้แล้วเรื่องเล่าสมัยประถมยังเปี่ยมด้วยอารมณ์ขันที่เกิดจากความไม่ประสีประสาของเด็ก เมื่อเข้าห้องเรียนครั้งแรก ครูประจำชั้นก็ทำการขานชื่อนักเรียน พอถึงรายชื่อของนักเรียนที่ชื่อ “สงกรานต์” กลับไม่มีนักเรียนคนใดขานรับ ครูขานชื่อซ้ำอีกแต่ก็ไม่มีใครตอบรับ ครูเดินไปที่เด็กนักเรียนคนหนึ่งแล้วถามว่า
“เธอชื่ออะไร”
“ชื่อหนูแดงครับ” เด็กชายลุกขึ้นตอบ
“ใครเป็นคนตั้งชื่อให้เธอ”
“แม่คับ แม่บอกว่าตอนที่ผมเกิดใหม่ ๆ ไข่ผมแดงแปร๊ดเลยคับ”
“เธอนั่นแหละชื่อสงกรานต์ ไม่ใช่หนูแดง”
เครื่องบินกระดาษของดอกฝ้าย เขียนโดยนายณัฏฐ์ธร กังวานไกล สมุทรปราการ เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงดอกฝ้าย ที่สนใจอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์อันได้เชื้อมาจากคุณปู่ที่เป็นนักประดิษฐ์และคุณพ่อที่ซ่อมแซมวิทยุและโทรทัศน์เก่ง
เด็กหญิงดอกฝ้ายซึ่งเกิดในครอบครัวฐานะดีต้องการจะเป็นเพื่อนกับเด็กหญิงฟ้าครามซึ่งมีฐานะยากจนอาศัยอยู่ในสลัม เด็กหญิงดอกฝ้ายใช้เครื่องบินกระดาษในการสื่อสารข้อความถึงกันจนกระทั่งได้เป็นเพื่อนรักกันในที่สุด ความโดดเด่นของเรื่องนี้น่าจะอยู่ตรงที่การใช้จินตนาการได้อย่างร่าเริง การใช้ภาษาอาจจะกระโดกเดกอยู่บ้างแต่เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่สอดแทรกไว้ก็ทำให้มีเสน่ห์น่าติดตาม.