วรรณกรรมเยาวชนส่วนใหญ่ มักมุ่งเน้นให้เยาวชนขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน เรียนให้จบชั้นสูง ๆ เพื่อที่จะได้มีอาชีพการงานที่ดีในอนาคต หรืออดทนกัดฟันสู้ต่อความยากลำบาก ต่อความด้อยโอกาสกระทั่งเอาชนะได้ในที่สุด กล่าวอีกแบบก็คืออดทนทำดีเข้าไว้เพื่อตัวเองนั่นแหละที่จะได้ดี
หรือถ้าไม่เป็นไปตามลักษณะข้างต้น วรรณกรรมเยาวชนที่เขียน ๆ กันก็มักจะเน้นการใช้จินตนาการจนหลุดลอยจากโลกแห่งความเป็นจริง กลายเป็นวรรณกรรมเยาวชนเชิงแฟนตาซีที่อะไร ๆ ก็ดูสวยงามไปหมด เหมือนเป็นการพาเยาวชนคนอ่านหลบหนีไปจากโลกจริงสู่โลกจินตนาการของภาษา
แต่วรรณกรรมเรื่อง “กะลาสีเรือผู้กล้าหาญ” ประพันธ์โดย “จังว่าง” ฝีมือการแปลของ “เหมยและพลับพลึง” และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ “เม็ดทราย” นั้นมีจุดมุ่งหมายต่างออกไปอย่างสำคัญ
นอกจากจะเป็นวรรณกรรมแปลจากจีนแล้ว ยังเป็นวรรณกรรม “จีนใหม่” (หมายถึงวรรณกรรมจีนภายหลังการปฏิวัติใหญ่ ปี 1949) กลิ่นอายของแนวความคิดแบบ “สังคมนิยม” ที่พาประเทศจีนสู่ความเปลี่ยนแปลงบรรจุอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้
ในวรรณกรรมเรื่องนี้ จะพบคติที่สอนให้รู้จักการอุทิศตนเพื่อคนอื่น การทำงานเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการใช้แรงงาน ไม่ดูถูกว่างานที่ทำอยู่เป็นงานต่ำต้อยเพราะว่าล้วนแล้วแต่ทำเพื่อส่วนรวม ในขณะเดียวก็สอนว่างานที่ใช้แรงงานนั้นดูเหมือนเป็นงานที่ง่ายแต่ที่จริงแล้วต้องใช้สติปัญญามากเหมือนกัน
“คนเหล่านั้นล้วนแต่ไปทำงานเพื่อความผาสุกของคนนับพันนับหมื่น พวกเขาและสิ่งของที่เรือบรรทุกไป ล้วนแต่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ นี่ช่างสำคัญและมีความหมายเสียจริง ๆ
เมื่อก่อนนั้น เขาดูถูกงานของน้าชายว่าต่ำต้อย แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่คิดเช่นนั้นอีกแล้ว ทุ่นลอยง่าย ๆ ไม่กี่อันนี้ แท้ที่จริงได้แฝงไว้ซึ่งความหมายอันยิ่งใหญ่ ตะเกียงแดงดวงเล็ก ๆ ช่างมีความสำคัญต่อความผาสุกของมนุษย์มากมายเหลือเกิน” (หน้า 122)
“ฉินเสี่ยวผิง” ตัวละครเอกเป็นเด็กชาย 12 ขวบ ที่แสนซน อวดเก่ง เย่อหยิ่ง เอาแต่ใจ ซึ่งต้องไปอยู่กับลุงในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเพราะคุณแม่ของ “ฉินเสี่ยวผิง” เป็นพยาบาล ต้องถูกส่งออกไปตระเวณรักษาโรคระบาดตามที่ต่าง ๆ
อันที่จริง ตอนแรกแม่ต้องการส่ง “ฉินเสี่ยวผิง” พร้อมน้องสาวไปอยู่กับน้าสาว แต่น้าสาวซึ่งรู้จักกิตติศัพท์ของ “ฉินเสี่ยวผิง” เป็นอย่างดีบอกปฏิเสธ ด้วยว่านอกจากจะเกกมะเหรกเกเรแล้ว “ฉินเสี่ยวผิง” ยังมักหาเรื่องทำร้ายน้องสาวของตนเองอยู่เป็นประจำ เมื่อแม่ว่ากล่าวตักเตือน “ฉินเสี่ยวผิง” ก็แสดงอาการต่อต้านแบบต่าง ๆ ทั้งเถียงแม่อย่างไม่ลดละหรือทำเป็นไม่สนใจ จนกระทั่งแม่ต้องรำพึงว่า
“อีกเมื่อไหร่ ลูกจึงจะเป็นคนรู้เรื่องราวเสียทีนะ เมื่อไหร่จึงจะเข้าใจจิตใจของแม่ที่มีต่อลูกนะ !”
ดังนั้นพี่น้องสองคนจึงถูกจับแยกกัน น้องสาวไปอยู่กับน้าสาว ส่วน “ฉินเสี่ยวผิง” ไปอยู่กับลุงที่ชนบทห่างไกล เขาไปหาลุงโดยเดินทางไปกับเรือกลไฟ ความประทับใจหลายสิ่งหลายอย่างบนเรือกลไฟทำให้เกิดความปรารถนาลึก ๆ ว่าต่อไปเขาจะเป็นกะลาสีเรือ
ที่บ้านลุง “ฉินเสี่ยวผิง” ได้รู้จักกับตงตง ลูกสาวของลุง และเพื่อนใหม่อีกหลายคน ตามนิสัยของเขาที่ไม่ยอมรับใครง่าย ๆ เขาจึงมักคิดอยู่เสมอว่าเขาเก่งกาจสามารถกว่าใครทั้งหมด และจะทนไม่ได้เมื่อเพื่อนใหม่ “รู้” ในสิ่งที่เขาไม่รู้
“วัวน้อยและจูสุ่ยเล่อมักจะคุยโวโอ้อวดสิ่งที่ตัวเองรู้ต่อหน้าเขา เขารู้ว่าฉันไม่รู้สิ่งเหล่านั้นก็จงใจโอ้อวดว่าตนเองรู้ ฮึ่ม... ยังมีเรื่องอีกมากมายหรอกที่ฉันรู้มากกว่าพวกเขา” (หน้า 91)
ลุงของ “ฉินเสี่ยวผิง” มีหน้าที่จุดตะเกียงให้สัญญาณแก่เรือกลไฟเพื่อให้เรือกลไฟสามารถหลีเลี่ยงแอ่งน้ำวนและหินโสโครกในแม่น้ำใหญ่ซึ่งเป็นการงานที่ต้องทำอย่างตรงเวลาและซ้ำซากวันแล้ววันเล่า
แม้ว่า “ฉินเสี่ยวผิง” จะชื่นชมในตัวลุงแต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าลุงของเขาน่าจะทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่าการพายเรือออกไปจุดตะเกียง แต่ในเวลาต่อมาเขาได้พบความจริงว่าลุงของเขาเคยเป็นกะลาสีเรือกลไฟผู้ยิ่งใหญ่มาก่อน ลุงเคยสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ไว้มากมายในอดีต ซึ่งยิ่งทำให้เขาเพิ่มความนับถือในตัวลุงเพิ่มมากขึ้น
ลุงค่อย ๆ สอนให้เขาเห็นคุณค่าของการทำงาน แม้ว่าจะเป็นงานเล็ก ๆ แต่มันก็มีความสำคัญ อย่างการพายเรือไปจุดตะเกียงให้สัญญาณกลางแม่น้ำนั้นก็ช่วยทำให้เรือเดินทางสามารถหลบเลี่ยงอันตรายจากสายน้ำเชี่ยวและไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัยได้
“ฉินเสี่ยวผิง” ภาคภูมิใจในตนเองและมีพัฒนาการขึ้นเมื่อเขาได้ช่วยเหลือลุงในการพายเรือฝ่าข้ามแม่น้ำเชี่ยวเพื่อไปจุดตะเกียงให้สัญญาณแก่เรือเดินทางที่กำลังจะมา
ในคืนที่พายุกระหน่ำและฝนตกหนัก ลุงเพียงคนเดียวไม่สามารถพายเรือไปจุดตะเกียงได้เพราะน้ำเชี่ยวกรากและลมพัดแรง ซ้ำลุงได้รับบาดเจ็บจากการโดนท่อนซุงกระแทก “ฉินเสี่ยวผิง” อาสาช่วยเหลือลุงอย่างสุดความสามารถจนกระทั่งพายเรือไปถึงโป๊ะและจุดตะเกียงให้สัญญาณแก่เรือกลไฟที่กำลังจะมาถึงได้
ลุงมอบเหรียญที่ตนเองเคยได้รับจากวีรกรรมความกล้าหาญของในอดีตซึ่งที่เหรียญเขียนว่า “กะลาสีเรือผู้กล้าหาญ” ให้แก่ผู้เป็นหลาน “ฉินเสี่ยวผิง” ปลาบปลื้มใจอย่างมาก เมื่อถึงเวลา เขากลับบ้านพร้อมกับทัศนะอย่างใหม่ต่อตนเอง ต่อแม่ กระทั่งต่อส่วนรวม.