วรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน “แว่นแก้ว” เรื่อง “คำใส” นี้ได้รับรางวัลชนะเลิศประจำปี 2546 ประเภทนวนิยาย ส่งเข้าประกวดโดย “วีระศักดิ์ สุยะลา” นักเขียนหน้าใหม่จากจังหวัดอุบลราชธานี และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ “นานมีบุ๊ค” สำนักพิมพ์ที่เล็งเห็นความสำคัญของวรรณกรรมเยาวชน
จุดเด่นของวรรณกรรมเรื่องนี้ คือ การฉายให้เห็นถึงความเป็นไปของชนบทภาคอีสานที่กำลังอยู่ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับโลกภายนอกหมู่บ้าน
ดังนั้นเราจึงได้พบว่า เมื่อมีปัญหาทางการเงิน ตัวละครบางตัวจึงตัดใจทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลังเพื่อเข้ามาทำงานขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพ ฯ หรือปัญหาเด็กติดเกมส์ที่แพร่ระบาดไปทั่วทุกระแหงแม้แต่ในชนบทที่ห่างไกล ทีวี ตู้เย็น ก็จำเป็นต้องใช้ แม้ว่าจะต้องซื้อด้วยเงินผ่อนดอกเบี้ยแพงก็ตาม
ชนบทอีสานในเรื่องนี้ไม่ใช่อีสานที่แห้งแล้งแบบ “ลูกอีสาน” ของ “คำพูน บุญทวี” ไม่ใช่อีสานที่ต้องพึ่งฟ้าพลอยฝนหรือรอคอยความปราณีจากธรรมชาติหรือชาวอีสานที่ปรารถนาจะยืนหยัดอยู่บนแผ่นเกิดที่ไม่ยอมจากไปไหน
แต่เป็นอีสานที่เหมือน ๆ กับภาคอื่นของประเทศ คือได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนประเทศเข้าสู่การโลกของอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้เด็ก ๆ ต่างรู้จักการเล่นฟุตบอลใน “โลกเสมือน”
วัฒนธรรมการจัดงานวันเกิดซึ่งเคยเห็นแต่ในเมืองและในโทรทัศน์ได้แพร่เข้าไปในหมู่บ้านนี้ด้วยเช่นกัน
“คืนนี้ดูเหมือนจะเป็นคืนพิเศษสุดสำหรับคำใส เด็กน้อยนั่งอยู่ระหว่างพ่อกับแม่ ดูทุกคนจะให้ความสนใจเขาเป็นอย่างดี คงเป็นเพราะวันนี้เป็นวันของเขานั่นเอง
ไอศกรีมถ้วยใหญ่หลากสีพร้อมขนมเค้กชั้นดีถูกสั่งมาวางบนโต๊ะ คำใสใช้ช้อนตักเข้าปากหม่ำอย่างเอร็ดอร่อยโดยมีสายตาของผู้เป็นพ่อนั่งมองด้วยความชื่นชม อาจเป็นเพราะบุญมีต้องการชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปในช่วงวัยเด็กของตนที่ไม่มีโอกาสสัมผัสขนมเค้กวันเกิดและการได้มานั่งรับประทานไอศกรีมในห้องแอร์คอนดิชั่นเฉกเช่นนี้” (หน้า 24)
ดูเหมือนว่าสภาพความเป็นไปในชนบทจากวรรณกรรมเรื่องนี้ จะถอดแบบมาจากปัญหาของสังคมเมืองคือมีทั้งปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในหมู่เยาวชน เด็กนักเรียนจับกลุ่มมั่วสุมไม่ยอมเรียนหนังสือ ความต้องการอยากได้โทรศัพท์มือถือทั้งที่ยังเรียนอยู่ในชั้นประถมด้วยซ้ำ หรือการตั้งกลุ่มแก๊งค์มาเฟียเพื่อไถเงินจากเด็กที่อ่อนกว่า ฯลฯ
เหล่านี้ ต่างเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้นในสังคมเมืองและสังคมชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลงทั่วประเทศกำลังเดินตามรอย สภาพเช่นนี้เป็นบรรยากาศแวดล้อมรายรอบชีวิตของคำใสและเด็กคนอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของ “คำใส” เด็กชายวัยหกปีก็ยังมีความเรียบง่ายตามแบบแผนของคนชนบทที่อย่างไรเสียก็ยังมี น้ำ ฟ้า ป่า เขา มีพ่อแม่ประกอบอาชีพทำนาและขยันขันแข็งแบบเดียว กับคนชนบททั่วไป มีญาติพี่น้องมากมายล้อมหน้าล้อมหลัง
ภัยธรรมชาติยังคงเป็นตัวแปรที่ทอดทิ้งไม่ได้ในวรรณกรรมเยาวชนที่ใช้ฉากชนบท เมื่อไร่นาเสียหายจากน้ำท่วม “บุญมี” พ่อของ “คำใส” จึงเข้าทำงานในกรุงเทพ ฯ ซึ่งมีพี่น้องบางคนล่วงหน้ามาทำอยู่ก่อนแล้ว
แม้ว่าเมืองกรุงจะหาเงินได้ง่ายกว่าชนบท แต่เมืองกรุงก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่มั่นคง ตามแบบฉบับของงานวรรณกรรมในแนวนี้ที่จะต้องให้เห็นภาพความลำบากเลวร้ายของเมืองกรุง ผู้แต่งจึงให้พ่อของ “คำใส” ต้องไปลิ้มรสชาติของการติดคุก เป็นการติดคุกที่เกิดจากการเข้าใจผิด
หลังออกจากคุก บุญมีกลับบ้าน มาอยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้งแม้ว่าเขาจะไม่มีเงินแต่ “บ้าน” ก็ต้องการเขา
ถึงแม้ว่าวรรณกรรมเล่มนี้ จะชี้ให้เห็นถึงกระแสของการรุกบ่าทางวัฒนธรรมที่ชนบทไม่มีทางต้านทานได้ แต่วรรณกรรมก็ไม่ได้มุ่งพร่ำพรรณาถึงผลร้ายหรือความโศกเศร้าสูญเสียที่เป็นผลมาจากกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้แบบที่เราเคยเห็นในงานอื่น ๆ ที่มาจากทางอีสานอย่างงานบทกวีของ “ไพวรินทร์ ขาวงาม” ที่เอาแต่โศกเศร้าและรำพึงรำพันถึงความรุ่มรวยและความดีงามในอดีต
ผู้เขียนแก้ปัญหาให้ชุมชนชนบทและสถาบันครอบครัวโดยใช้ความรัก ความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ตลอดจนญาติพี่น้องเป็นปราการป้องกันเด็กไม่ให้หลงเตลิดไปกับความเพลิดเพลินรูปแบบใหม่ ๆ ที่พ่อแม่ตามไม่ทัน บางฉากบางตอนเราจึงได้เห็น “ความรัก” ที่พ่อแม่มีต่อลูกในแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นกันทั่วไปในชนบท
นอกจากนี้แล้ว กีฬาก็เป็นหนทางหนึ่งในการดึงความสนใจของเด็กไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ความฝันอยากจะเป็นนักฟุตบอลทีมชาติของ “คำใส” ช่วยให้เขาค่อย ๆ ถอนตัวออกจากการไปมั่วสุมในร้านเกมส์ได้
วรรณกรรมเรื่องนี้จบลงด้วยประโยคที่ “คำใส” พูดกับน้องที่เพิ่งคลอดว่า “เราจะเป็นพี่ชายที่ดี และเป็นลูกสุดที่รักของพ่อแม่ตลอดกาล”
ใครที่เบื่อการเมืองก็อ่านวรรณกรรมเยาวชนแก้เบื่อได้ไม่มากก็น้อย.