Skip to main content

วรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน “แว่นแก้ว” เรื่อง “คำใส” นี้ได้รับรางวัลชนะเลิศประจำปี 2546 ประเภทนวนิยาย ส่งเข้าประกวดโดย “วีระศักดิ์ สุยะลา” นักเขียนหน้าใหม่จากจังหวัดอุบลราชธานี และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ “นานมีบุ๊ค” สำนักพิมพ์ที่เล็งเห็นความสำคัญของวรรณกรรมเยาวชน


จุดเด่นของวรรณกรรมเรื่องนี้ คือ การฉายให้เห็นถึงความเป็นไปของชนบทภาคอีสานที่กำลังอยู่ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับโลกภายนอกหมู่บ้าน


ดังนั้นเราจึงได้พบว่า เมื่อมีปัญหาทางการเงิน ตัวละครบางตัวจึงตัดใจทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลังเพื่อเข้ามาทำงานขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพ ฯ หรือปัญหาเด็กติดเกมส์ที่แพร่ระบาดไปทั่วทุกระแหงแม้แต่ในชนบทที่ห่างไกล ทีวี ตู้เย็น ก็จำเป็นต้องใช้ แม้ว่าจะต้องซื้อด้วยเงินผ่อนดอกเบี้ยแพงก็ตาม


ชนบทอีสานในเรื่องนี้ไม่ใช่อีสานที่แห้งแล้งแบบ “ลูกอีสาน” ของ “คำพูน บุญทวี” ไม่ใช่อีสานที่ต้องพึ่งฟ้าพลอยฝนหรือรอคอยความปราณีจากธรรมชาติหรือชาวอีสานที่ปรารถนาจะยืนหยัดอยู่บนแผ่นเกิดที่ไม่ยอมจากไปไหน


แต่เป็นอีสานที่เหมือน ๆ กับภาคอื่นของประเทศ คือได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนประเทศเข้าสู่การโลกของอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้เด็ก ๆ ต่างรู้จักการเล่นฟุตบอลใน “โลกเสมือน”


วัฒนธรรมการจัดงานวันเกิดซึ่งเคยเห็นแต่ในเมืองและในโทรทัศน์ได้แพร่เข้าไปในหมู่บ้านนี้ด้วยเช่นกัน


คืนนี้ดูเหมือนจะเป็นคืนพิเศษสุดสำหรับคำใส เด็กน้อยนั่งอยู่ระหว่างพ่อกับแม่ ดูทุกคนจะให้ความสนใจเขาเป็นอย่างดี คงเป็นเพราะวันนี้เป็นวันของเขานั่นเอง
ไอศกรีมถ้วยใหญ่หลากสีพร้อมขนมเค้กชั้นดีถูกสั่งมาวางบนโต๊ะ คำใสใช้ช้อนตักเข้าปากหม่ำอย่างเอร็ดอร่อยโดยมีสายตาของผู้เป็นพ่อนั่งมองด้วยความชื่นชม อาจเป็นเพราะบุญมีต้องการชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปในช่วงวัยเด็กของตนที่ไม่มีโอกาสสัมผัสขนมเค้กวันเกิดและการได้มานั่งรับประทานไอศกรีมในห้องแอร์คอนดิชั่นเฉกเช่นนี้” (หน้า 24)


ดูเหมือนว่าสภาพความเป็นไปในชนบทจากวรรณกรรมเรื่องนี้ จะถอดแบบมาจากปัญหาของสังคมเมืองคือมีทั้งปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในหมู่เยาวชน เด็กนักเรียนจับกลุ่มมั่วสุมไม่ยอมเรียนหนังสือ ความต้องการอยากได้โทรศัพท์มือถือทั้งที่ยังเรียนอยู่ในชั้นประถมด้วยซ้ำ หรือการตั้งกลุ่มแก๊งค์มาเฟียเพื่อไถเงินจากเด็กที่อ่อนกว่า ฯลฯ


เหล่านี้ ต่างเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้นในสังคมเมืองและสังคมชนบทที่กำลังเปลี่ยนแปลงทั่วประเทศกำลังเดินตามรอย สภาพเช่นนี้เป็นบรรยากาศแวดล้อมรายรอบชีวิตของคำใสและเด็กคนอื่น ๆ


อย่างไรก็ตาม ชีวิตของ “คำใส” เด็กชายวัยหกปีก็ยังมีความเรียบง่ายตามแบบแผนของคนชนบทที่อย่างไรเสียก็ยังมี น้ำ ฟ้า ป่า เขา มีพ่อแม่ประกอบอาชีพทำนาและขยันขันแข็งแบบเดียว กับคนชนบททั่วไป มีญาติพี่น้องมากมายล้อมหน้าล้อมหลัง


ภัยธรรมชาติยังคงเป็นตัวแปรที่ทอดทิ้งไม่ได้ในวรรณกรรมเยาวชนที่ใช้ฉากชนบท เมื่อไร่นาเสียหายจากน้ำท่วม “บุญมี” พ่อของ “คำใส” จึงเข้าทำงานในกรุงเทพ ฯ ซึ่งมีพี่น้องบางคนล่วงหน้ามาทำอยู่ก่อนแล้ว


แม้ว่าเมืองกรุงจะหาเงินได้ง่ายกว่าชนบท แต่เมืองกรุงก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่มั่นคง ตามแบบฉบับของงานวรรณกรรมในแนวนี้ที่จะต้องให้เห็นภาพความลำบากเลวร้ายของเมืองกรุง ผู้แต่งจึงให้พ่อของ “คำใส” ต้องไปลิ้มรสชาติของการติดคุก เป็นการติดคุกที่เกิดจากการเข้าใจผิด


หลังออกจากคุก บุญมีกลับบ้าน มาอยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้งแม้ว่าเขาจะไม่มีเงินแต่ “บ้าน” ก็ต้องการเขา


ถึงแม้ว่าวรรณกรรมเล่มนี้ จะชี้ให้เห็นถึงกระแสของการรุกบ่าทางวัฒนธรรมที่ชนบทไม่มีทางต้านทานได้ แต่วรรณกรรมก็ไม่ได้มุ่งพร่ำพรรณาถึงผลร้ายหรือความโศกเศร้าสูญเสียที่เป็นผลมาจากกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้แบบที่เราเคยเห็นในงานอื่น ๆ ที่มาจากทางอีสานอย่างงานบทกวีของ “ไพวรินทร์ ขาวงาม” ที่เอาแต่โศกเศร้าและรำพึงรำพันถึงความรุ่มรวยและความดีงามในอดีต


ผู้เขียนแก้ปัญหาให้ชุมชนชนบทและสถาบันครอบครัวโดยใช้ความรัก ความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ตลอดจนญาติพี่น้องเป็นปราการป้องกันเด็กไม่ให้หลงเตลิดไปกับความเพลิดเพลินรูปแบบใหม่ ๆ ที่พ่อแม่ตามไม่ทัน บางฉากบางตอนเราจึงได้เห็น “ความรัก” ที่พ่อแม่มีต่อลูกในแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นกันทั่วไปในชนบท


นอกจากนี้แล้ว กีฬาก็เป็นหนทางหนึ่งในการดึงความสนใจของเด็กไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ความฝันอยากจะเป็นนักฟุตบอลทีมชาติของ “คำใส” ช่วยให้เขาค่อย ๆ ถอนตัวออกจากการไปมั่วสุมในร้านเกมส์ได้


วรรณกรรมเรื่องนี้จบลงด้วยประโยคที่ “คำใส” พูดกับน้องที่เพิ่งคลอดว่า “เราจะเป็นพี่ชายที่ดี และเป็นลูกสุดที่รักของพ่อแม่ตลอดกาล”


ใครที่เบื่อการเมืองก็อ่านวรรณกรรมเยาวชนแก้เบื่อได้ไม่มากก็น้อย.


บล็อกของ นาลกะ

นาลกะ
-1- หลานเกิดปีเดียวกับที่ผมเดินทางออกจากบ้าน มุ่งหาประสบการณ์และไล่คว้าหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต  คืนวันของหลานที่เติบโตขึ้นด้วยความเอาใจใส่ของพ่อแม่คือจำนวนเวลาที่ผมจากบ้านเกิดเมืองนอน
นาลกะ
    คงเป็นเพราะรูปเล่มงามตาน่าหยิบจับและเครดิตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่บอกว่า “เล็กน้อยมากจนสามารถนั่งอ่านข้าง ๆ เตียง ยิ่งใหญ่มากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิต” เร้าความสนใจให้เปิดพลิกและลงมืออ่าน
นาลกะ
-1- ฉันเดินตัดผ่านสนามหลวงเพื่อไปขึ้นรถเมล์กลับหอพักเกือบทุกวัน เรื่องราวที่แทบจะเป็นแบบฉบับและเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ได้พบเห็นจากผู้คนแห่งสนามหลวงวันแล้ววันเล่า ทำให้เกิดภาพประทับในใจโดยไม่รู้ตัว เมื่อฉันได้รู้จักกับสนามหลวงมากขึ้น ฉันก็ได้พบว่าสถานที่แห่งนี้เปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ที่แห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตของคนระดับล่างมากมาย แต่ละคน แต่ละชีวิตนั้นน่าจะปรากฏอยู่ในนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง คนเหล่านี้ไม่ควรจะมีอยู่จริง!
นาลกะ
“ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก(Man and Wife)” คือนิยายอันละเมียดบรรจงของ Tony Parsons เป็นผลงานภาคต่อจาก “ลูก(ผู้)ชายหัวใจคุณพ่อ (Man and Boy)” ซึ่งเคยสร้างความเกรียวกราวในแวดวงนักอ่านได้มากพอสมควร(ผมเคยวิจารณ์ไว้แล้วที่ http://blogazine.prachatai.com/user/nalaka/post/1562 ) ฝีมือแปลโดย ภัสรี สิงหเดช  
นาลกะ
โดยทั่วไปแล้ว หนังสือของสำนักพิมพ์ “ผีเสื้อ” สามารถการันตีคุณภาพ(แต่ไม่การันตียอดขาย) ได้ในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่มีคำว่าผิดหวังในแทบทุกเล่มเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นวรรณกรรมแปล! “พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร” ซึ่งเขียนโดย ฌ็อง-หลุยส์ ฟูร์นิเย่ร์ และแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ก็เช่นเดียวกัน
นาลกะ
วรรณกรรมเยาวชนรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชน ก่อนวัยรุ่น (12-14) จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี 2530 และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 เล่ม ที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน โดยฝีมือการประพันธ์ของนักเขียนซึ่งเป็นรู้จักกันดี "อัศศิริ ธรรมโชติ"
นาลกะ
ด้วยชื่อเรื่องที่ไม่คุ้นหู และหน้าปกเป็นรูปน้ำตกกลางป่าสวยงาม วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ชวนให้สะดุดใจและเปิดอ่าน ซึ่งก็ใช้เวลาอ่านไม่นานนักก็จบเล่มเพราะมีความหนาไม่ถึง 50 หน้ารวมภาพประกอบ
นาลกะ
ผลงานเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดวรรณกรรมเยาวชนรางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 2 ผู้เขียนคือ “เก็ตตะหวา” วาดภาพประกอบโดย ธีระพงษ์ บัวระเพชร และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค เจ้าเก่า แก่นแกนของเรื่องคือพัฒนาการของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ “ผิงผิง” ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม และไม่ใคร่จะชอบพ่อที่แท้จริงนักเพราะคิดว่าพ่อทอดทิ้งเธอซ้ำยังปล่อยให้แม่ตาย แต่ที่จริงแล้วพ่อของเธอนั้นรักเธอมาก เหตุที่ต้องฝากเธอไว้กับคนอื่นนั้นเพราะหน้าที่การงานที่เป็นนักมายากลต้องตระเวณแสดงไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งคนที่นำลูกไปฝากไว้นั้นก็เป็นเพื่อนเก่าและเป็นนายอำเภอที่ไม่มีลูกของตนเองสามารถดูแลผิงผิงได้
นาลกะ
  เรื่องเล่ามหาสนุกจากทุ่งหญ้าสีเขียว เป็นวรรณกรรมเด็กที่โด่งดังของธอร์นทัน ดับบลิว. เบอเกตส์ (Thornton W. Burgess) เขาได้แต่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติเป็นนิทานก่อนนอนสำหรับลูกชาย ปลูกฝังให้ลูกชายเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชุดรวม 20 เล่ม ได้รับผลสำเร็จอย่างมาก จนเขาได้แต่งเรื่องเล่าเพิ่มเติมรวม 170 เรื่อง
นาลกะ
  วันนี้ขอเปลี่ยนจากวรรณกรรมไทยมาเป็นวรรณกรรมต่างประเทศกันบ้าง หลังจากอ่านวรรณกรรมเล่มนี้จบแล้ว ยอมรับว่ารู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมเยาวชนของไทยและต่างประเทศ ทั้งสำนวนภาษา ทั้งเทคนิคลีลาการเล่าเรื่องและความเข้มข้นจัดจ้านของเนื้อหา ขอบ่นนิดหนึ่งว่าเท่าที่อ่านและเขียนถึงวรรณกรรมเยาวชนของไทย จำนวนไม่น้อยถ้าไม่เล่าเรื่องชนบทเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นติดตามแล้วก็มักจะบรรเจิดเพริศแพร้วในเรื่องจินตนาการมากเสียจนกลายเป็นนิทานก่อนนอนไปหรือไม่ก็เขียนสำหรับให้เยาวชนอ่านเท่านั้น ไม่ท้าทายผู้อ่านวัยอื่น ๆ แต่อย่างไรเสีย เชื่อว่าวรรณกรรมเยาวชนไทยคงจะได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ…
นาลกะ
"โลกนี้ยังมีเพื่อน" คือหนังสือรวมนิทานยอดเยี่ยม รางวัลมูลนิธิเด็ก หนังสือเล่มนี้รวมนิทานไว้ทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ตั้งชื่อเล่มตามชื่อนิทานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดในปีที่ 12 นอกจาก "โลกนี้ยังมีเพื่อน" ซึ่งได้รับรางวัลนิทานยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีเรื่องนิทานเรื่อง "นักวาดพู่กันวิเศษ" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ส่วนที่เหลืออีก 5 เรื่องได้รับรางวัลชมเชย
นาลกะ
ลูกแม่น้ำโขง วรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน "แว่นแก้ว" ชนะเลิศรางวัลที่ 3 คืออีกหนึ่งผลงานจากนานมีบุ๊ค เขียนโดย "เขมชาติ" แม้ว่าลูกแม่น้ำโขงจะเดินตามขนบวรรรกรรมเยาวชนแบบที่เขียน ๆ กัน ที่มักพูดถึงชนบทอันงดงามที่ผู้คนพึ่งพาช่วยเหลือกัน สภาพธรรมชาติที่ผูกพันแวดล้อมวิถีชีวิต การเล่นซนของเด็ก ๆ และข้อคิดทางด้านคุณธรรม เป็นต้นว่า การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ความมีน้ำใจ  ถึงกระนั้น ลูกแม่น้ำโขง ก็ยังคงน่าอ่านด้วยการบรรยายอย่างมีชีวิตชีวา  เพราะแม่น้ำโขงแม้นจะไหลอย่างที่เคยไหลก็ยังคงน่ามองและมีเสน่ห์อยู่เสมอ