คงเป็นเพราะรูปเล่มงามตาน่าหยิบจับและเครดิตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่บอกว่า “เล็กน้อยมากจนสามารถนั่งอ่านข้าง ๆ เตียง ยิ่งใหญ่มากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิต” เร้าความสนใจให้เปิดพลิกและลงมืออ่าน
เนื้อเรื่องสั้น ๆ เป็นเหมือน “ความเรียง” ที่แม้ภาษาจะไม่หวือหวาแต่สละสลวย บรรจงในการคัดสรรคำแต่ละคำ หรืออาจจะมองว่าเป็น “เรื่องสั้น” ที่มีการดำเนินเรื่องไปสู่การคลายปมในตอนจบ ให้แง่คิดราวกับได้อ่านนิทานสอนใจของนิกายเซน
เรื่องราวทั้งหมดแบ่งออกเป็นตอนที่ไม่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด 19 ตอน มีทั้งเรื่องของเด็กที่คิดว่าตนเองไม่มีค่า, หญิงสาวในชนบทอันเปล่าเปลี่ยวที่ต้องขับเคี่ยวกับแม่สามี, หรือคนแก่ผู้ซึ่งพยายามเติมคุณค่าความหมายให้กับชีวิต ฯลฯ
ผู้แต่งหนังสือ “เล็กน้อยอย่างที่เห็น แต่เป็นโลกทั้งใบ” คือ Gail Van Kleeck ภาคภาษาอังกฤษใช้คำว่า “How you see anything is how you see everything” ผู้แปล ชมมณี สุทธินาค จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ วิตา ในเครือบริษัทแจ่มใส พับลิชชิ่งจำกัดซึ่งต้องขอชื่นชมที่ “แจ่มใส” แหวกแนวดั้งเดิมของตนเองที่นิยมตีพิมพ์งานในแนวพาฝันแบบวัยรุ่น มาจัดพิมพ์งานที่ดูเหมือนจะขายได้ยาก
เนื้อเรื่องโดยรวมกล่าวถึงเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พานพบได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยมุมมองที่ละเอียดอ่อนและคมคายเช่นเรื่อง “นกในยุ้งข้าว” ที่กล่าวถึงเด็กชายคนหนึ่งซึ่งคิดว่าตนเองไม่มีค่าเพราะไม่สามารถเป็นนักกีฬาเบสบอลที่โปรดปรานของโค้ชได้ ทั้งพ่อก็ตั้งความหวังกับตัวเขาไว้สูงซึ่งทำให้เขากดดันอย่างมาก แต่เมื่อเขาเข้าไปในยุ้งข้าวและช่วยปลดปล่อยนกบางตัวซึ่งพยายามบินออกทางหน้าต่างทั้งที่หน้าต่างปิดอยู่ เขาก็ค้นพบว่าตนเองนั้นได้ทำสิ่งมีค่า มันไม่จำเป็นเลยที่ต้องมองหาคุณค่าตนเองจากการเล่นกีฬาเบสบอลเพียงอย่างเดียว
เรื่องสั้นบางเรื่องพาเราไปพบกับความน่าพิศวงในความไร้เดียงสาของเด็กนักเรียน อย่าง เช่นเรื่อง ”ครึ่งหนึ่งของแปด” คุณครูคณิตศาสตร์ผู้ซึ่งเห็นว่า “การสอนเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ต้องใช้หัวใจสัมผัส เธอไม่เคยสิ้นความพิศวงกับความอยากรู้ อยากเห็นของเด็ก ๆ และเธอทึ่งกับความตื่นเต้นของพวกเขาเมื่อได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่” (หน้า 15)
เมื่อคุณครูถามเด็กนักเรียนว่าครึ่งหนึ่งของ 8 คือเท่าไหร่ นักเรียนเกือบทั้งห้องพร้อมใจกันตอบอย่างตื่นเต้นว่าครึ่งหนึ่งของ 8 คือ 4 คุณครูพยักหน้าอย่างพอใจ แต่แล้วสังเกตเห็นว่าเด็กชายตัวสูงผิวซีดที่นั่งอยู่หลังห้องดูอึดอัดใจ งุนงงกับคำตอบของเพื่อน
ครูไม่พูดอะไรเพราะไม่ต้องการทำให้เขาอึดอัดมากขึ้นกว่าเดิม เป็นเด็กชายที่พูดขึ้นมาเองว่า “ผมไม่เข้าใจฮะ ทำไมครึ่งหนึ่งของ 8 ถึงเท่ากับ 4 ล่ะ”
เพื่อนบางคนหัวเราะคิกคัก เด็กชายเดินออกมาหน้าห้องเพื่อทำบางอย่างให้ครูดู พอเดินไปถึงกระดานดำ เขียนเลข 8 ตัวใหญ่ลงบนกระดานดำ ยืนนิ่งอยู่นานก่อนจะปิดวงกลมส่วนบนของแลข 8 ไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง แล้วก้าวถอยหลังเพื่อให้เพื่อนในชั้นเรียนได้เห็น
“ดูสิ” เขาพูดอย่างอาย ๆ “ครึ่งหนึ่งของแปดคือศูนย์”
เด็กชายก้าวเท้าเข้าไปใกล้ตัวเลขบนกระดานดำ ยกสองมือปิดครึ่งด้านซ้ายของตัวเลขนั้น แล้วอธิบายว่า “ทีนี้ครึ่งหนึ่งของ 8 เท่ากับ 3”
คุณครูทึ่งและชื่นชมเด็กชายอย่างจริงใจ อย่างไรก็ตาม คุณครูก็มีวิธีที่จะสอนเด็กชายโดยคุณครูหุบนิ้วโป้งของทั้งสองมือไว้แล้วยื่นสองมือนั้นให้เด็กชายดู แล้วถามว่าครูชูกี่นิ้ว
“ครูชูแปดนิ้ว มือละสี่นิ้ว” เด็กชายตอบ
“บอกครูซิว่า ถ้าครูเอาออกไปครึ่งหนึ่งจะเหลือเท่าไหร่”
รอยยิ้มฉายขึ้นบนใบหน้าของเด็กชายผู้ไม่มีเพื่อน “เหลือสี่นิ้ว ผมเข้าใจแล้วฮะ” เขาพูด พอใจในสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ “ครึ่งหนึ่งของแปดก็เป็นสี่ได้เหมือนกัน” (หน้า 18)
เรื่องสั้นที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ “เร่งรีบอย่างเชื่องช้า” เป็นเรื่องราวของชายชราผู้ซึ่งเพียรพยายามจะต่อเรือขึ้นสักลำ แต่ลูกเขยมักจะปรามาส ค่อนขอดอยู่เสมอว่าเป็นงานที่มองไม่เห็นว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร
ชายชราผู้ซึ่งมีความสุขกับงานของตนเอง ตอบลูกเขยด้วยถ้อยคำคมคายที่เหมือนจะเป็นบทสรุปของชีวิตว่า
“ชีวิตไม่ใช่เรื่องของการทำให้เสร็จ เมื่อลูกดูงานทั้งหมดนี้ ลูกเห็นแต่โครงการที่ชายแก่คนหนึ่งไม่มีทางทำให้เกิดขึ้นได้และภารกิจไร้ความหวังอันไม่รู้จักจบสิ้น แต่เมื่อพ่อมองมัน พ่อเห็นแนวไม้และรอยร่างแห่งความฝันที่เฝ้าปรารถนามาตลอดชีวิต พ่อไม่เคยมัวแต่มานั่งคิดว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะทำเรือลำนี้เสร็จ สิ่งที่พ่อเห็นคือระยะทางไกลเท่าไหร่แล้วที่พ่อได้มุ่งมั่นเดินทางมาถึง” (หน้า 33-34)
นอกจากนี้แล้ว ถ้อยคำสั้น ๆ กินใจ อัดแน่นอยู่มากมายในตอนต้นของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องซึ่งชวนให้ขบคิดตีความ เป็นต้นว่า “เคล็ดลับของการมีความสุขซ่อนเร้นอยู่ในสายตาที่สามารถมองเห็นความอัศจรรย์ของชีวิตแม้จะอยู่ภายใต้ขอบเขตของความจำกัดก็ตาม” (หน้า 24) ทั้งหมดทั้งปวง พอกล่าวได้ว่า วรรณกรรมเล่มนี้มีดีพอสำหรับคอวรรณกรรมที่มองหาความรื่นรมย์จากการอ่าน.