“ทำไมพี่ไม่ใช้ตัวพ่วงท้ายที่ไถพรวนไปพร้อมๆ กับตัดหญ้าล่ะครับ ดินจะได้ไม่แข็ง”
เป็นคำแนะนำของยุทธ ซึ่งแวะมาที่ไร่แต่เช้า เพื่อขอยืมพลั่วไปตักปุ๋ยขี้ไก่ ไว้หยอดใส่หลุมแตงโมที่เถาว์เริ่มเลื้อยยาว ขณะที่ฉันขับรถแทรกเตอร์ตัดหญ้าในสวน
เจตนารมณ์ของการทำสวนที่คิดว่าจะเบียดเบียนชีวิตอื่นให้น้อยที่สุด และเพื่อประโยชน์ตนอันสูงสุด เท่าที่จะทำได้ ฉันจึงตั้งใจว่าจะไม่ไถพรวน แม้บางทฤษฎีของบางนักวิชาการจะบอกว่า ดินทรายต้องไถพรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายฤดูฝน เพราะการไถพรวนพลิกหน้าดิน จะช่วยลดการสูญเสียน้ำใต้ดินจากการดูดซึมของต้นหญ้า
ใช่สิ ในภาคอีสานฉันเห็นการไถพรวนในเกือบทุกแปลงการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพืชล้มลุกหรือพืชยืนต้น อันที่จริงฉันไม่น่าจะต่อต้านการไถพรวนแต่เพียงอย่างใด เพราะเห็นแล้วว่า “ได้ผล” แต่เพราะฉันมาจากภูมิภาคที่ไม่นิยมการไถพรวน แม้ที่โน่นกับที่นี่ จะมีลักษณะชุดดินต่างกัน แต่ฉันกำลังพิสูจน์บางอย่างที่เป็นความเชื่อส่วนตัว ที่ต้องอาศัยเวลาและความตั้งใจ
ทุกครั้งที่ฉันเหยียบย่างลงไปบนพื้นดิน ฉันจะซึมซับความยืดหยุ่นและความแข็งกระด้างที่แตกต่างกัน ในเกือบทุกตารางนิ้วของพื้นที่หลายสิบไร่ จากสัมผัสที่ได้ บ่งบอกถึงความมีชีวิตของผิวดิน และเพื่อพิสูจน์ว่าสัมผัสนั้นถูกต้อง ฉันมักจะใช้จอบขุดเจาะลงไปดู และสิ่งที่ฉันสัมผัสได้ด้วยประสาทเท้า มักจะไม่ผิดความจริง
บริเวณใดที่ผิวดินมีความนุ่มหยุ่นสูง บริเวณนั้นจะมีปริมาณของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดินมาก และแน่นอน...สิ่งที่พวกมันอาศัยอยู่กินได้ คือภายใต้ซากหญ้าที่เน่าเปื่อย หรือใต้รากที่เซาะซอนจนดินร่วนซุย
ฉันจึงไม่เชื่อในทฤษฎีการทำลายหญ้าอย่างสิ้นซาก ไม่เชื่อว่าการแทรกแซงดินโดยวิธีการให้ปุ๋ยต้นไม้แบบปราศจากหญ้ารบกวนโดยสิ้นเชิงนั้น จะให้ผลดีในระยะยาวได้
จริงอยู่ที่บางครั้ง การทำสวนมีความจำเป็นต้องกำจัดวัชพืช แต่ไม่ใช่ทุกครั้งไป การปล่อยให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆได้อาศัยรากและใบของวัชพืชเพื่อดำเนินห่วงโซ่ชีวิตที่เกื้อกูลแก่ต้นไม้ของเราบ้าง ก็เท่ากับการยอมรับในพลังของธรรมชาติที่จะไม่มีวันทรยศซึ่งกันและกัน
วัชพืชอาจแย่งอาหารจากต้นไม้ใหญ่ที่เราปลูกได้ในบางจังหวะ แต่ที่สุดแล้วการสิ้นอายุขัยของมันที่สั้นกว่าไม้ยืนต้นมากมายนัก ในวันนั้น มันจะคืนทุกสิ่งทุกอย่างแก่พื้นดิน เพื่อให้ดินจัดสรรต่อไปยังต้นไม้อื่นและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
“ทุกสิ่งที่อุบัติขึ้นในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดที่ไร้ประโยชน์ แม้แต่ความเลวร้าย” นั่นคือสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้
ฉันจึงพยายามเป็นผู้เฝ้าดูและลงมือกระทำ อย่างเชื่อมั่นในหนทางแห่งธรรมชาติ หากจะมีการลงมือแทรกแซงในขั้นตอนใดๆ จึงต้องกระทำอย่างเคารพในกระบวนการของมัน และอย่างมีสติ
ฉันปลูกต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้เลี้ยงชีพฉัน
ฉันดูแลต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้ดูแลผืนดิน
ฉันดูแลผืนดิน เพื่อให้ต้นไม้เติบโต
เกือบทุกวันในยามเย็น ฉันเดินย่ำไปในพงหญ้าสูงท่วมเอว เพื่อมองหาและเก็บเกี่ยวฝักถั่วเขียวที่สุกดำ ก่อนที่ฝักมันจะปริแตกดีดเมล็ดลงสู่ดินเสียหมด ฉันต้องค่อยๆ เดินและมองหา...ทั้งเพื่อจะจดจำภาพของสวนหญ้านี้ไว้ เพราะอีกไม่นานมันจะเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นสวนรกเรื้อด้วยต้นไม้ใหญ่ หากไม่มีอะไรที่ผิดเพี้ยนเกิดขึ้นกับโลกนี้เสียก่อน ฉันคงจะได้เก็บเกี่ยวอาหารธรรมชาติที่หลากหลายกว่านี้
ที่น่าขำ แต่ยากที่จะขำก็คือ เมล็ดถั่วเขียวที่ได้มีขนาดเล็กกว่าเมล็ดพันธุ์ที่หว่านไว้เกือบเท่าตัว ฉันบอกกับตัวเองว่า “ไม่เป็นไรหรอก สิ่งที่ได้มากกว่านั้น นั่นคือสภาพดินที่จะสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ”
เพียงมีความหวังที่มั่นคง ฉันจึงรู้สึกว่าชีวิตนี้ ช่างแสนสุขเสียนี่กระไร
แต่ยามที่จิตประหวัดไปถึงเรื่องราวการเข่นฆ่าในเมืองใหญ่ ฉันได้แต่ถอนหายใจ น้ำตาซึม จนต้องปลอบประโลมตัวเอง ด้วยอมตะวาจาของท่านผู้เฒ่าพ้อเลป่า แห่งดอยแม่แฮคี้ ที่ว่า
“ทุกคนต้องกินข้าว แม้แต่คนขับเครื่องบินก็ต้องลงจากเครื่องบินมากินข้าว”
นั่นสิ รักชาติกันขนาดนี้
“มาแข่งปลูกข้าวกันดีกว่า ฝ่ายไหนชนะ ให้ปกครองประเทศ”
บางที ขณะที่ก้มหน้าลงปักดำ หยาดเหงื่อที่ไหลเข้าตาของผู้รักชาติแต่ละคน อาจทำให้คิดอะไรขึ้นมาได้บ้าง แต่ถ้าหากมีการโกงเกิดขึ้นอีก คงช่วยอะไรไม่ได้อีกแล้ว นอกจาก...ปล่อยให้ “ห่วงโซ่สังหาร” ทำงานของมันต่อไปอย่างยุติธรรม