Skip to main content
ทุกอณูเนื้อบนผืนโลก เราล้วนต่างเหยียบย่ำซ้ำรอย น่าแปลก ที่ไม่มีใครจำได้ว่าได้ย่ำมาแล้วกี่ครั้งกี่หน

ฉันหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำซากในปัจจุบันชาติ หรืออาจลากพาย้อนกลับไปหลายอสงไขยชาติ มีบ้างไหมที่พบว่าบางพื้นถิ่นเรารู้สึกคุ้นชินเหมือนเคยอยู่ มีบ้างไหม กับบางคนที่รู้สึกคุ้นเคยเหมือนได้ชิดใกล้กันมาก่อน

 

ถ้าไม่แข็งขืนปฏิเสธการมีอยู่ของความทรงจำซ้ำซาก ที่ไม่เคยชัดเจนแต่ทิ้งเค้าลางเอาไว้อย่างแนบเนียน ฉันว่าใครหลายคนที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมฉัน และทิ้งคำจำนรรเอาไว้บ้างนั้น เราล้วนเคยเป็นพี่น้องกัน ไม่เช่นนั้นหนทางโคจรจะวกวนให้มาเจอกันได้อย่างไร


ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฉันซุ่มเงียบเขียนเรื่องราวของแม่ชีน้อย ผู้ผ่านความเจ็บปวดด้วยโรคมะเร็งไปสู่การปล่อยวางร่างกายและจิตใจได้อย่างหมดจด จนนาทีสุดท้าย เธอได้จากไปอย่างสงบ สันติ เพียงวัย 12 ปี

 

ลองอ่านดูนะคะ...




อัศจรรย์จิต แม่ชีน้อย

ตอนที่ 1


21
สิงหาคม 2551

เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา เธอได้ละทิ้งร่างกายที่เจ็บป่วยไปอย่างสงบ งดงาม

เช้าตรู่ แม่ประคองลูกสาวให้ลุกนั่งเพื่อเช็ดหน้าตาเตรียมตัวรับประทานอาหารเช้า แม้จะรู้สึกว่าลูกมีเรี่ยวแรงที่ลดน้อยลงอย่างผิดสังเกต แต่ก็ไม่ได้ปริปากบอกใคร เพราะในหัวใจของแม่ไม่เคยยอมรับว่าลูกจะต้องจากไป ไม่เคยบอกกับตัวเองว่าลูกจะต้องทิ้งสังขารไปในเร็ววัน แม่เชื่อเสมอว่าลูกจะต้องมีชีวิตต่อไปอีกนาน และถึงแม้ร่างกายจะไม่ปกติเหมือนคนทั่วไปก็ตาม แต่ลูกก็ยังมีความหวังว่าจะต้องหายจากโรคนี้ ลูกยังมีความฝันอีกมากมายที่ต้องทำ และความฝันเหล่านั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อตนเองเลยทั้งสิ้น

 

แม้ว่าเมื่อคืนนี้ พ่อได้กระซิบกับแม่ว่า
"
ลูกเราอาการไม่ดีแล้วนะแม่ สงสัยว่าลูกจะคงอยู่กับเราได้อีกไม่นาน" แม่รับฟังอย่างนิ่งเงียบ จนกระทั่งเมื่อได้สัมผัสกับเนื้อตัวลูกสาวในเช้าวันนี้ ยามต้องประคองให้ลูกลุกนั่ง วันนี้ลูกนั่งตัวตรงไม่ได้แม่ต้องหาที่พิงให้ลูกพร้อมกับนั่งข้างๆลูกเหมือนทุกๆวันในเวลาที่ลูกรับประทานอาหาร

"เหนื่อยไหมลูก" เอ่ยถามด้วยความสงสาร แต่คำตอบที่ได้รับกลับเป็นเช่นทุกวัน

"ไม่เหนื่อยหรอกแม่" พร้อมส่ายหน้า น้ำเสียงใสๆ เล็กๆ เปี่ยมพลังยังคงเดิม สม่ำเสมอ


อาหารเช้าเป็นไปเช่นทุกวัน คือนานาผลไม้ที่พ่อกับแม่ผลัดกันลงไปซื้อหาจากตลาดและตามบ้านของชาวบ้านที่รู้จักคุ้นเคย มื้อนี้พิเศษด้วยข้าวเหนียวนึ่ง ที่ลูกร้องขอว่าอยากกินอีกสักมื้อหนึ่ง เพราะนานแล้วที่ไม่ได้กิน ลูกหยิบข้าวเหนียวมาป้อนให้แม่หนึ่งคำ ก่อนที่จะหยิบกินเองหนึ่งคำ แล้วลูกก็ไม่ได้แตะต้องมันอีกเลย แม้กระทั่งผลไม้ลูกก็ยังกินได้น้อยและมีอาการเชื่องช้ากว่าทุกวัน

 

แสงอาทิตย์เริ่มสาดผ่านยอดภูสูง แสงอุ่นอ่อนอาบแผ่นดินแผ่นหินรอบๆ แม่จึงอุ้มลูกมานอนอาบแสงแดดบนแคร่ไม้ไผ่ข้างที่พัก ลูกนอนหลับตานิ่ง แม่พิจดูรูปร่างผอมบางราวกับเปลือกไม้ แขนขาของลูกเล็กนิดเดียวยกเว้นช่วงท้องเท่านั้นที่โตขึ้น ใบหน้าที่เคยอิ่มเอิบเปล่งปลั่งไร้วี่แววของความป่วยกลับผิดปกติ ซีดเซียวกว่าทุกวัน ริมฝีปากที่เคยเป็นสีชมพู ก็ซีดลง ทั้งยังมีอาการเย็นเฉียบตั้งปลายเท้าจนถึงเข่า แม่ต้องพยายามนวดเฟ้นให้ความอบอุ่นอย่างเบามือ


ดวงตาที่ปิดลงทำให้มองเห็นขนตายาวดกดำงอนงาม จนแม่แปลกใจ ลูกแม่เป็นเด็กป่วย แต่ทำไมจึงมีแววตาดำสนิทสุกใส ในส่วนสีขาวไม่เคยมีความเหลืองเข้ามาเจือปนเช่นคนป่วยมะเร็งตับทั่วไป หรือว่าเป็นเพราะจิตใจของลูกได้พัฒนาไปสู่การปล่อยวางอย่างเห็นได้ชัด แม้แม่จะไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมที่ลึกซึ้งแต่แม่ก็รู้ว่าลูกของแม่ไม่ใช่เด็กธรรมดา เพราะไม่เช่นนั้นแล้วลูกจะมีความสงบนิ่งปราศจากความเจ็บปวดได้อย่างไร ในเมื่อไม่มียาระงับปวดใดๆทั้งสิ้น หรือเป็นเพราะอาหารตามแนวทางของบำบัดธรรมชาติ


ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ แม่คิดว่าเป็นเพราะลูกดูแลจิตใจของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยมจนใครๆรู้ว่าลูกเป็นคนป่วยที่ไม่ก่อภาระให้แก่คนดูแลเลยสักนิด

 

"วันนี้ลูกกินอาหารได้น้อยมาก" แม่บอกน้านีที่นั่งอยู่ใกล้ๆ

เย็นวาน ลูกยังนอนที่ระเบียงกุฏิ แม่ชีน้อยของแม่ได้อัดเสียงสวดมนต์ทำวัตรเย็นไว้ในเอ็มพีสามที่พ่อเพิ่งซื้อให้ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน แม้จะมีน้ำเสียงสะดุดและไอเล็กน้อยเป็นบางครั้งก็ตาม แต่ลูกก็พยายามสวดมนต์จนจบ จากนั้นแม่ก็ประคองให้ลูกเอนตัวลงนอน แล้วเราก็เปิดฟังเสียงสวดนั้นด้วยกัน


"ลูกแม่เก่งจังเลย" แม่หมายความตามนั้นจริงๆ

 

(ยังมีต่อ)

 

ฉันเขียนเรื่องนี้เอาไว้ เพื่อว่าจะสรุปเป็นบทเรียนสำหรับคนที่มีลูก และสำหรับครอบครัวที่มีคนป่วยต้องดูแล แต่ที่อยากบอกเล่าต่อกัลยาณมิตรในที่นี้ คือ การเดินทางออกนอกไร่ของฉันแต่ละครั้ง ทำให้พบกับคนเดิมๆ ที่มีเรื่องราวเข้ามาเกี่ยวข้องกันอีกครั้งอย่างไม่ตั้งใจ แต่ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่ฉันใคร่ครวญครุ่นคิดและแสวงหาแทบทั้งนั้น น่าแปลก...ทุกคนกำลังหาในสิ่งเดียวกัน

 

การรวบรวมบทเรียนการดูแลคนป่วยที่เป็นมะเร็ง ในกรณีศึกษาของแม่ชีน้อย ป่าน หรือ วิมุตตา กุณวงษ์ จึงทำให้ฉันใจจดจ่อกับเรื่องนี้นานหลายเดือน

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร