Skip to main content
ทุกอณูเนื้อบนผืนโลก เราล้วนต่างเหยียบย่ำซ้ำรอย น่าแปลก ที่ไม่มีใครจำได้ว่าได้ย่ำมาแล้วกี่ครั้งกี่หน

ฉันหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำซากในปัจจุบันชาติ หรืออาจลากพาย้อนกลับไปหลายอสงไขยชาติ มีบ้างไหมที่พบว่าบางพื้นถิ่นเรารู้สึกคุ้นชินเหมือนเคยอยู่ มีบ้างไหม กับบางคนที่รู้สึกคุ้นเคยเหมือนได้ชิดใกล้กันมาก่อน

 

ถ้าไม่แข็งขืนปฏิเสธการมีอยู่ของความทรงจำซ้ำซาก ที่ไม่เคยชัดเจนแต่ทิ้งเค้าลางเอาไว้อย่างแนบเนียน ฉันว่าใครหลายคนที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมฉัน และทิ้งคำจำนรรเอาไว้บ้างนั้น เราล้วนเคยเป็นพี่น้องกัน ไม่เช่นนั้นหนทางโคจรจะวกวนให้มาเจอกันได้อย่างไร


ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฉันซุ่มเงียบเขียนเรื่องราวของแม่ชีน้อย ผู้ผ่านความเจ็บปวดด้วยโรคมะเร็งไปสู่การปล่อยวางร่างกายและจิตใจได้อย่างหมดจด จนนาทีสุดท้าย เธอได้จากไปอย่างสงบ สันติ เพียงวัย 12 ปี

 

ลองอ่านดูนะคะ...




อัศจรรย์จิต แม่ชีน้อย

ตอนที่ 1


21
สิงหาคม 2551

เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา เธอได้ละทิ้งร่างกายที่เจ็บป่วยไปอย่างสงบ งดงาม

เช้าตรู่ แม่ประคองลูกสาวให้ลุกนั่งเพื่อเช็ดหน้าตาเตรียมตัวรับประทานอาหารเช้า แม้จะรู้สึกว่าลูกมีเรี่ยวแรงที่ลดน้อยลงอย่างผิดสังเกต แต่ก็ไม่ได้ปริปากบอกใคร เพราะในหัวใจของแม่ไม่เคยยอมรับว่าลูกจะต้องจากไป ไม่เคยบอกกับตัวเองว่าลูกจะต้องทิ้งสังขารไปในเร็ววัน แม่เชื่อเสมอว่าลูกจะต้องมีชีวิตต่อไปอีกนาน และถึงแม้ร่างกายจะไม่ปกติเหมือนคนทั่วไปก็ตาม แต่ลูกก็ยังมีความหวังว่าจะต้องหายจากโรคนี้ ลูกยังมีความฝันอีกมากมายที่ต้องทำ และความฝันเหล่านั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อตนเองเลยทั้งสิ้น

 

แม้ว่าเมื่อคืนนี้ พ่อได้กระซิบกับแม่ว่า
"
ลูกเราอาการไม่ดีแล้วนะแม่ สงสัยว่าลูกจะคงอยู่กับเราได้อีกไม่นาน" แม่รับฟังอย่างนิ่งเงียบ จนกระทั่งเมื่อได้สัมผัสกับเนื้อตัวลูกสาวในเช้าวันนี้ ยามต้องประคองให้ลูกลุกนั่ง วันนี้ลูกนั่งตัวตรงไม่ได้แม่ต้องหาที่พิงให้ลูกพร้อมกับนั่งข้างๆลูกเหมือนทุกๆวันในเวลาที่ลูกรับประทานอาหาร

"เหนื่อยไหมลูก" เอ่ยถามด้วยความสงสาร แต่คำตอบที่ได้รับกลับเป็นเช่นทุกวัน

"ไม่เหนื่อยหรอกแม่" พร้อมส่ายหน้า น้ำเสียงใสๆ เล็กๆ เปี่ยมพลังยังคงเดิม สม่ำเสมอ


อาหารเช้าเป็นไปเช่นทุกวัน คือนานาผลไม้ที่พ่อกับแม่ผลัดกันลงไปซื้อหาจากตลาดและตามบ้านของชาวบ้านที่รู้จักคุ้นเคย มื้อนี้พิเศษด้วยข้าวเหนียวนึ่ง ที่ลูกร้องขอว่าอยากกินอีกสักมื้อหนึ่ง เพราะนานแล้วที่ไม่ได้กิน ลูกหยิบข้าวเหนียวมาป้อนให้แม่หนึ่งคำ ก่อนที่จะหยิบกินเองหนึ่งคำ แล้วลูกก็ไม่ได้แตะต้องมันอีกเลย แม้กระทั่งผลไม้ลูกก็ยังกินได้น้อยและมีอาการเชื่องช้ากว่าทุกวัน

 

แสงอาทิตย์เริ่มสาดผ่านยอดภูสูง แสงอุ่นอ่อนอาบแผ่นดินแผ่นหินรอบๆ แม่จึงอุ้มลูกมานอนอาบแสงแดดบนแคร่ไม้ไผ่ข้างที่พัก ลูกนอนหลับตานิ่ง แม่พิจดูรูปร่างผอมบางราวกับเปลือกไม้ แขนขาของลูกเล็กนิดเดียวยกเว้นช่วงท้องเท่านั้นที่โตขึ้น ใบหน้าที่เคยอิ่มเอิบเปล่งปลั่งไร้วี่แววของความป่วยกลับผิดปกติ ซีดเซียวกว่าทุกวัน ริมฝีปากที่เคยเป็นสีชมพู ก็ซีดลง ทั้งยังมีอาการเย็นเฉียบตั้งปลายเท้าจนถึงเข่า แม่ต้องพยายามนวดเฟ้นให้ความอบอุ่นอย่างเบามือ


ดวงตาที่ปิดลงทำให้มองเห็นขนตายาวดกดำงอนงาม จนแม่แปลกใจ ลูกแม่เป็นเด็กป่วย แต่ทำไมจึงมีแววตาดำสนิทสุกใส ในส่วนสีขาวไม่เคยมีความเหลืองเข้ามาเจือปนเช่นคนป่วยมะเร็งตับทั่วไป หรือว่าเป็นเพราะจิตใจของลูกได้พัฒนาไปสู่การปล่อยวางอย่างเห็นได้ชัด แม้แม่จะไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมที่ลึกซึ้งแต่แม่ก็รู้ว่าลูกของแม่ไม่ใช่เด็กธรรมดา เพราะไม่เช่นนั้นแล้วลูกจะมีความสงบนิ่งปราศจากความเจ็บปวดได้อย่างไร ในเมื่อไม่มียาระงับปวดใดๆทั้งสิ้น หรือเป็นเพราะอาหารตามแนวทางของบำบัดธรรมชาติ


ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ แม่คิดว่าเป็นเพราะลูกดูแลจิตใจของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยมจนใครๆรู้ว่าลูกเป็นคนป่วยที่ไม่ก่อภาระให้แก่คนดูแลเลยสักนิด

 

"วันนี้ลูกกินอาหารได้น้อยมาก" แม่บอกน้านีที่นั่งอยู่ใกล้ๆ

เย็นวาน ลูกยังนอนที่ระเบียงกุฏิ แม่ชีน้อยของแม่ได้อัดเสียงสวดมนต์ทำวัตรเย็นไว้ในเอ็มพีสามที่พ่อเพิ่งซื้อให้ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน แม้จะมีน้ำเสียงสะดุดและไอเล็กน้อยเป็นบางครั้งก็ตาม แต่ลูกก็พยายามสวดมนต์จนจบ จากนั้นแม่ก็ประคองให้ลูกเอนตัวลงนอน แล้วเราก็เปิดฟังเสียงสวดนั้นด้วยกัน


"ลูกแม่เก่งจังเลย" แม่หมายความตามนั้นจริงๆ

 

(ยังมีต่อ)

 

ฉันเขียนเรื่องนี้เอาไว้ เพื่อว่าจะสรุปเป็นบทเรียนสำหรับคนที่มีลูก และสำหรับครอบครัวที่มีคนป่วยต้องดูแล แต่ที่อยากบอกเล่าต่อกัลยาณมิตรในที่นี้ คือ การเดินทางออกนอกไร่ของฉันแต่ละครั้ง ทำให้พบกับคนเดิมๆ ที่มีเรื่องราวเข้ามาเกี่ยวข้องกันอีกครั้งอย่างไม่ตั้งใจ แต่ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่ฉันใคร่ครวญครุ่นคิดและแสวงหาแทบทั้งนั้น น่าแปลก...ทุกคนกำลังหาในสิ่งเดียวกัน

 

การรวบรวมบทเรียนการดูแลคนป่วยที่เป็นมะเร็ง ในกรณีศึกษาของแม่ชีน้อย ป่าน หรือ วิมุตตา กุณวงษ์ จึงทำให้ฉันใจจดจ่อกับเรื่องนี้นานหลายเดือน

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล