Skip to main content
ตอนที่ 3 กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็ง

"แม่ ป่านเบื่อกินยาจังเลย"
ลูกบ่นเบาๆ ขณะที่หยิบยาออกมากินตามปกติทุกวันอย่างมีวินัย เป็นเวลาสามปีกว่าแล้ว ที่ลูกต้องเข้าออกโรงพยาบาลแล้วได้ยามากินระงับอาการปวดท้อง โดยที่ไม่มีใครเฉลียวใจเรื่องอื่น

เริ่มจากคลีนิคในเมืองสกลนคร ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ จนไปถึงโรงพยาบาลรักษ์สกล ก็ยังคงเป็นโรคเครียดลงกระเพาะ  กระทั่งมาถึง โรงพยาบาลที่ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาบันสร้างแพทย์ คือโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น วิเคราะห์ว่าเป็นโรคทาลัสซีเมียร์ โลหิตจาง

พ่อเห็นลูกผอมลงทุกวัน อาการปวดท้องไม่เคยทุเลาลง จึงไม่ละความพยายาม ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 พ่อได้พาป่านไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะคิดว่าที่นั่นน่าจะเป็นที่ๆตรวจพบสาเหตุได้แม่นยำที่สุด

และแล้วเวลาแห่งความตึงเครียดได้พุ่งเป้าเข้ามาที่ครอบครัวเราอย่างรวดเร็ว เพราะ
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ หมอส่องกล้องพบติ่งเนื้อในลำไส้ เจาะเนื้อส่วนนั้นไปวิเคราะห์
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ หมอบอกว่า ผลการวิเคราะห์ติ่งเนื้อ ไม่ใช่เซลเนื้อร้าย หมอให้กลับบ้านพร้อมยากิน ไม่มีการรักษาอื่นใดอีกเลย
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ขณะอยู่ที่บ้านคุณย่า ป่านมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมุกดาหาร หมอตรวจพบก้อนเนื้อในตับ 12 จุด แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
ด้วยความกังวลใจ วันที่ 3 มีนาคม- 19 มีนาคม 2551 พ่อพาป่านไปรักษาตัวที่ศูนย์บำบัดธรรมชาติของหมอเขียว ที่เรียกว่าสวนป่านาบุญ ที่อำเภอดอนตาล

ป่านกลับมาอยู่กับพ่อและแม่อย่างใกล้ชิดอีกครั้งที่บ้านบัว เราได้ดูแลลูกอย่างเต็มความสามารถ ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดของหมอเขียว ที่หมู่บ้านมีอาหารธรรมชาติปลอดสารพิษเป็นอาหารให้ลูกมากมาย อย่างไม่ต้องเป็นกังวล

ถึงแม้ลูกจะป่วย แต่บ่อยครั้งที่ลูกสามารถวิ่งเล่นกับเพื่อนๆได้ ในวันสงกรานต์ลูกยังออกไปเล่นสาดน้ำกับคนอื่นๆด้วย
แต่แล้วสถานการณ์ก็แย่ลงอีกครั้ง วันที่ 24 เมษายน ลูกมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จนต้องส่งโรงพยาบาลรักษ์สกลอย่างกระทันหัน ในช่วงเวลานั้นนั่นเอง ที่ลูกได้เจอกับหลวงพ่อครั้งแรก ด้วยความเมตตาของท่านเป็นอย่างยิ่ง คือในวันที่ 25 เมษายน ซึ่งทำให้ชีวิตของลูกได้พบสิ่งดีๆในท่ามกลางความยุ่งยากของชีวิต ที่แม่คิดว่า นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ

การรักษาที่โรงพยาบาลรักษ์สกลไม่อะไรคืบหน้าเหมือนทุกครั้ง พ่อจึงพาลูกมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีก ในวันที่ 31 เมษายน ครั้งนี้หมอได้เจาะตับ และตรวจพบเซลมะเร็งในตับอ่อน

"ลูกของคุณเป็นมะเร็งที่ตับอ่อน" คำพูดของหมอ เหมือนมีดเล่มใหญ่ที่ผ่ากลางหัวใจของแม่อย่างฉับพลัน แม้จะสังหรณ์ใจอยู่บ้าง แต่ใครล่ะจะอยากยอมรับความจริง เมื่อมันปรากฏตัวอย่างรวดเร็วจู่โจมเข้าทิ่มแทงความรู้สึกจนปวดร้าวอย่างนี้ สิ่งแรกที่แม่จะต้องจะต้องทำให้ได้ในเวลานั้น คือตั้งสติให้มั่นคง

พ่อเริ่มโทรศัพท์ติดต่อใครหลายคนที่รู้จักคุ้นเคยเพื่อขอคำแนะนำ เขาเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ทรงภูมิทางด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือก คำแนะนำยิ่งก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านในจิตใจ  ก่อนหน้านี้พ่อเคยพยายามค้นหาสาเหตุการป่วยไข้จนผ่ายผอมของลูกจากหนังสือจากอินเตอร์เน็ต จนกระทั่ง มาสรุปว่า อาการแบบนี้ยังไม่มีการบันทึกไว้มากนัก พ่อจึงฝากความหวังเอาไว้กับหมอที่โรงพยาบาลรามาฯ

ลูกแม่ คำวินิจฉัยของหมอ ทำให้แม่เจ็บปวดแทบขาดใจ ใครบ้างที่ต้องเผชิญความจริงอย่างนี้แล้วไม่ร้องไห้ แม่คงต้องยกมือไหว้อย่างเคารพ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แม่ต้องยิ้มให้ได้ต่อหน้าลูก ต้องบอกกับลูกว่าไม่เป็นไร ต้องบอกว่าลูกจะต้องหาย ขอให้อดทนไว้ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าลูกกำลังเจ็บปวดกับการกัดกินของมันอยู่

ตอนนั้นสภาพการรักษาทางการแพทย์ทำให้ลูกเผชิญกับความทรมานทางร่างกาย จนต้องร้องครวญครางเป็นระยะแม่แทบทนดูความเจ็บปวดของลูกไม่ได้ คิดว่าถ้าแม่สามารถถ่ายทอดความเจ็บปวดมาเป็นของแม่ได้ แม่ก็จะทำ ขอให้แม่เจ็บแทนลูก ดีกว่าที่แม่จะต้องทนเห็นลูกเจ็บและร้องครวญครางอย่างน่าเวทนาอย่างนี้

แต่แล้วความตกใจ ความเจ็บปวดในใจ ยังไม่ทันสร่างซา ความสับสนทรมานในอารมณ์ก็เข้ามาแทรกอย่างต่อเนื่อง นั่นคือพ่อกับแม่ต้องตัดสินใจว่าจะให้ลูกรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือไม่

วันที่ 15 พฤษภาคม ต้องตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษา
โดยพื้นฐานการทำงานของพ่อ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการแพทย์ทางเลือกมาโดยตลอด พ่อรู้ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันมีข้อกำจัดบางอย่างเช่นกัน เช่น ในกรณีที่รักษาและจบลงที่ความตาย คนไข้ต้องผ่านความเจ็บปวด จนต้องให้ยาระงับปวดจนถึงที่สุด เราไม่ได้คิดไกลไปถึงเรื่องอื่น แต่สภาพของลูกที่ผ่านมา 15 วัน ในโรงพยาบาล บอกเราว่าลูกต้องอดทนกับความเจ็บปวดทรมานมากแค่ไหน ยามลูกร้องครางเบาๆในบางคราว แม่ต้องกดมอร์ฟีนเข้าเส้นเลือดให้ลูกเป็นระยะ บ่อยครั้งที่ลูกพร่าเบรอหลับไปเพราะฤทธิ์ยา แล้วตื่นขึ้นมาเพราะความเจ็บปวด จึงมีอารมณ์หงุดหงิดรำคาญใจ เฝ้าบอกกับแม่ว่า
"ป่านอยากกลับบ้าน พาป่านกลับบ้านเถอะนะแม่" ทุกครั้งแม่จะกอดลูก กลั้นน้ำตาไม่ให้หยดลงมาแทบไม่ไหว

เราจะมีทางเลือกอื่นอีกไหมหนอ แม่กับพ่อครุ่นคิดเรื่องทางเลือก  ทั้งที่เช้าวันที่ 15 เราทั้งคู่ได้เข้าฟังการบรรยายเรื่องการดูแลคนป่วยหลังจากรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดแล้ว เรานำเอาคำอธิบายนั้นมาใคร่ครวญซ้ำอีกหลายรอบ เพียงเพื่อรอเวลาเซ็นต์ยินยอมรับการรักษาในเวลาบ่าย จริงๆแล้วเราไม่มีทางเลือกอื่นอีกเลย นอกจากยอมรับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่มีเครื่องมือครบครัน ทำได้แม้กระทั่งดูแลนาทีสุดท้ายของชีวิตให้ปราศจากความเจ็บปวด แต่ขณะเดียวกัน นั่นหมายถึง ภาวะไร้ซึ่งสติ ซึ่งพ่อไม่แน่ใจว่าควรจะให้เป็นเช่นนั้นจริงๆหรือไม่

เหตุผลที่สอง ที่เราต้องใคร่ครวญอย่างหนัก เพราะหมอบอกว่า ถึงแม้จะรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดไปแล้วก็ตาม นั่นทำได้เพียงการระงับการเติบโตของเซลมะเร็งได้เพียงชั่วคราว เป็นการยืดอายุของลูกให้ยืนยาวออกไปเพียง 2 เดือน แต่ลูกต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เหมือนกับคนไข้ทั่วไปต้องเจอ คืออาการทรมานชนิดอื่นๆ ที่เกิดกับร่างกาย ประกอบกับร่างกายลูกไม่แข็งแรงนัก หมอเองยังเกรงว่าร่างกายลูกจะไม่ตอบสนองเคมีบำบัด ซึ่งเท่ากับไร้ประโยชน์ที่จะทำ

ในที่สุด...เวลาเที่ยงวัน ของวันที่ 15 พฤษภาคม
ขณะที่พ่อกับแม่นั่งอยู่ที่หน้าห้องคนป่วย พยาบาลวัยกลางคน ที่แม่มารู้ทีหลังว่าเป็นหัวหน้าพยาบาลของตึกนี้ เดินเข้ามาถามไถ่พูดคุยกับแม่ รู้ว่าเรากำลังลำบากใจเรื่องการตัดสินใจที่จะให้ลูกใช้เคมีบำบัดหรือไม่ พี่พยาบาลคนนั้นพูดว่า

"ถ้าเป็นลูกพี่ พี่จะพาเขากลับบ้าน ไม่มีประโยชน์ที่จะให้เขาทรมานมากไปกว่านี้"
เหมือนพระมาโปรด ชี้ทางเดินให้กับคนที่มองไม่เห็นทางออก หรือช่วยเพิ่มกำลังใจให้กับความไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งที่พ่อกับแม่อยากจะทำอย่างนั้นอยู่แล้ว
"ขอบคุณค่ะ พี่วรรณา" แม่ขอบคุณจากหัวใจที่เต็มตื้น มองป้ายชื่อที่หน้าอก และยังจดจำได้มาจนทุกวันนี้

.....ยังมีต่อ.....

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร