Skip to main content
ตอนที่ 3 กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็ง

"แม่ ป่านเบื่อกินยาจังเลย"
ลูกบ่นเบาๆ ขณะที่หยิบยาออกมากินตามปกติทุกวันอย่างมีวินัย เป็นเวลาสามปีกว่าแล้ว ที่ลูกต้องเข้าออกโรงพยาบาลแล้วได้ยามากินระงับอาการปวดท้อง โดยที่ไม่มีใครเฉลียวใจเรื่องอื่น

เริ่มจากคลีนิคในเมืองสกลนคร ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ จนไปถึงโรงพยาบาลรักษ์สกล ก็ยังคงเป็นโรคเครียดลงกระเพาะ  กระทั่งมาถึง โรงพยาบาลที่ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาบันสร้างแพทย์ คือโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น วิเคราะห์ว่าเป็นโรคทาลัสซีเมียร์ โลหิตจาง

พ่อเห็นลูกผอมลงทุกวัน อาการปวดท้องไม่เคยทุเลาลง จึงไม่ละความพยายาม ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 พ่อได้พาป่านไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะคิดว่าที่นั่นน่าจะเป็นที่ๆตรวจพบสาเหตุได้แม่นยำที่สุด

และแล้วเวลาแห่งความตึงเครียดได้พุ่งเป้าเข้ามาที่ครอบครัวเราอย่างรวดเร็ว เพราะ
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ หมอส่องกล้องพบติ่งเนื้อในลำไส้ เจาะเนื้อส่วนนั้นไปวิเคราะห์
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ หมอบอกว่า ผลการวิเคราะห์ติ่งเนื้อ ไม่ใช่เซลเนื้อร้าย หมอให้กลับบ้านพร้อมยากิน ไม่มีการรักษาอื่นใดอีกเลย
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ขณะอยู่ที่บ้านคุณย่า ป่านมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมุกดาหาร หมอตรวจพบก้อนเนื้อในตับ 12 จุด แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
ด้วยความกังวลใจ วันที่ 3 มีนาคม- 19 มีนาคม 2551 พ่อพาป่านไปรักษาตัวที่ศูนย์บำบัดธรรมชาติของหมอเขียว ที่เรียกว่าสวนป่านาบุญ ที่อำเภอดอนตาล

ป่านกลับมาอยู่กับพ่อและแม่อย่างใกล้ชิดอีกครั้งที่บ้านบัว เราได้ดูแลลูกอย่างเต็มความสามารถ ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดของหมอเขียว ที่หมู่บ้านมีอาหารธรรมชาติปลอดสารพิษเป็นอาหารให้ลูกมากมาย อย่างไม่ต้องเป็นกังวล

ถึงแม้ลูกจะป่วย แต่บ่อยครั้งที่ลูกสามารถวิ่งเล่นกับเพื่อนๆได้ ในวันสงกรานต์ลูกยังออกไปเล่นสาดน้ำกับคนอื่นๆด้วย
แต่แล้วสถานการณ์ก็แย่ลงอีกครั้ง วันที่ 24 เมษายน ลูกมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จนต้องส่งโรงพยาบาลรักษ์สกลอย่างกระทันหัน ในช่วงเวลานั้นนั่นเอง ที่ลูกได้เจอกับหลวงพ่อครั้งแรก ด้วยความเมตตาของท่านเป็นอย่างยิ่ง คือในวันที่ 25 เมษายน ซึ่งทำให้ชีวิตของลูกได้พบสิ่งดีๆในท่ามกลางความยุ่งยากของชีวิต ที่แม่คิดว่า นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ

การรักษาที่โรงพยาบาลรักษ์สกลไม่อะไรคืบหน้าเหมือนทุกครั้ง พ่อจึงพาลูกมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีก ในวันที่ 31 เมษายน ครั้งนี้หมอได้เจาะตับ และตรวจพบเซลมะเร็งในตับอ่อน

"ลูกของคุณเป็นมะเร็งที่ตับอ่อน" คำพูดของหมอ เหมือนมีดเล่มใหญ่ที่ผ่ากลางหัวใจของแม่อย่างฉับพลัน แม้จะสังหรณ์ใจอยู่บ้าง แต่ใครล่ะจะอยากยอมรับความจริง เมื่อมันปรากฏตัวอย่างรวดเร็วจู่โจมเข้าทิ่มแทงความรู้สึกจนปวดร้าวอย่างนี้ สิ่งแรกที่แม่จะต้องจะต้องทำให้ได้ในเวลานั้น คือตั้งสติให้มั่นคง

พ่อเริ่มโทรศัพท์ติดต่อใครหลายคนที่รู้จักคุ้นเคยเพื่อขอคำแนะนำ เขาเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ทรงภูมิทางด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือก คำแนะนำยิ่งก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านในจิตใจ  ก่อนหน้านี้พ่อเคยพยายามค้นหาสาเหตุการป่วยไข้จนผ่ายผอมของลูกจากหนังสือจากอินเตอร์เน็ต จนกระทั่ง มาสรุปว่า อาการแบบนี้ยังไม่มีการบันทึกไว้มากนัก พ่อจึงฝากความหวังเอาไว้กับหมอที่โรงพยาบาลรามาฯ

ลูกแม่ คำวินิจฉัยของหมอ ทำให้แม่เจ็บปวดแทบขาดใจ ใครบ้างที่ต้องเผชิญความจริงอย่างนี้แล้วไม่ร้องไห้ แม่คงต้องยกมือไหว้อย่างเคารพ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แม่ต้องยิ้มให้ได้ต่อหน้าลูก ต้องบอกกับลูกว่าไม่เป็นไร ต้องบอกว่าลูกจะต้องหาย ขอให้อดทนไว้ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าลูกกำลังเจ็บปวดกับการกัดกินของมันอยู่

ตอนนั้นสภาพการรักษาทางการแพทย์ทำให้ลูกเผชิญกับความทรมานทางร่างกาย จนต้องร้องครวญครางเป็นระยะแม่แทบทนดูความเจ็บปวดของลูกไม่ได้ คิดว่าถ้าแม่สามารถถ่ายทอดความเจ็บปวดมาเป็นของแม่ได้ แม่ก็จะทำ ขอให้แม่เจ็บแทนลูก ดีกว่าที่แม่จะต้องทนเห็นลูกเจ็บและร้องครวญครางอย่างน่าเวทนาอย่างนี้

แต่แล้วความตกใจ ความเจ็บปวดในใจ ยังไม่ทันสร่างซา ความสับสนทรมานในอารมณ์ก็เข้ามาแทรกอย่างต่อเนื่อง นั่นคือพ่อกับแม่ต้องตัดสินใจว่าจะให้ลูกรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือไม่

วันที่ 15 พฤษภาคม ต้องตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษา
โดยพื้นฐานการทำงานของพ่อ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการแพทย์ทางเลือกมาโดยตลอด พ่อรู้ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันมีข้อกำจัดบางอย่างเช่นกัน เช่น ในกรณีที่รักษาและจบลงที่ความตาย คนไข้ต้องผ่านความเจ็บปวด จนต้องให้ยาระงับปวดจนถึงที่สุด เราไม่ได้คิดไกลไปถึงเรื่องอื่น แต่สภาพของลูกที่ผ่านมา 15 วัน ในโรงพยาบาล บอกเราว่าลูกต้องอดทนกับความเจ็บปวดทรมานมากแค่ไหน ยามลูกร้องครางเบาๆในบางคราว แม่ต้องกดมอร์ฟีนเข้าเส้นเลือดให้ลูกเป็นระยะ บ่อยครั้งที่ลูกพร่าเบรอหลับไปเพราะฤทธิ์ยา แล้วตื่นขึ้นมาเพราะความเจ็บปวด จึงมีอารมณ์หงุดหงิดรำคาญใจ เฝ้าบอกกับแม่ว่า
"ป่านอยากกลับบ้าน พาป่านกลับบ้านเถอะนะแม่" ทุกครั้งแม่จะกอดลูก กลั้นน้ำตาไม่ให้หยดลงมาแทบไม่ไหว

เราจะมีทางเลือกอื่นอีกไหมหนอ แม่กับพ่อครุ่นคิดเรื่องทางเลือก  ทั้งที่เช้าวันที่ 15 เราทั้งคู่ได้เข้าฟังการบรรยายเรื่องการดูแลคนป่วยหลังจากรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดแล้ว เรานำเอาคำอธิบายนั้นมาใคร่ครวญซ้ำอีกหลายรอบ เพียงเพื่อรอเวลาเซ็นต์ยินยอมรับการรักษาในเวลาบ่าย จริงๆแล้วเราไม่มีทางเลือกอื่นอีกเลย นอกจากยอมรับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่มีเครื่องมือครบครัน ทำได้แม้กระทั่งดูแลนาทีสุดท้ายของชีวิตให้ปราศจากความเจ็บปวด แต่ขณะเดียวกัน นั่นหมายถึง ภาวะไร้ซึ่งสติ ซึ่งพ่อไม่แน่ใจว่าควรจะให้เป็นเช่นนั้นจริงๆหรือไม่

เหตุผลที่สอง ที่เราต้องใคร่ครวญอย่างหนัก เพราะหมอบอกว่า ถึงแม้จะรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดไปแล้วก็ตาม นั่นทำได้เพียงการระงับการเติบโตของเซลมะเร็งได้เพียงชั่วคราว เป็นการยืดอายุของลูกให้ยืนยาวออกไปเพียง 2 เดือน แต่ลูกต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เหมือนกับคนไข้ทั่วไปต้องเจอ คืออาการทรมานชนิดอื่นๆ ที่เกิดกับร่างกาย ประกอบกับร่างกายลูกไม่แข็งแรงนัก หมอเองยังเกรงว่าร่างกายลูกจะไม่ตอบสนองเคมีบำบัด ซึ่งเท่ากับไร้ประโยชน์ที่จะทำ

ในที่สุด...เวลาเที่ยงวัน ของวันที่ 15 พฤษภาคม
ขณะที่พ่อกับแม่นั่งอยู่ที่หน้าห้องคนป่วย พยาบาลวัยกลางคน ที่แม่มารู้ทีหลังว่าเป็นหัวหน้าพยาบาลของตึกนี้ เดินเข้ามาถามไถ่พูดคุยกับแม่ รู้ว่าเรากำลังลำบากใจเรื่องการตัดสินใจที่จะให้ลูกใช้เคมีบำบัดหรือไม่ พี่พยาบาลคนนั้นพูดว่า

"ถ้าเป็นลูกพี่ พี่จะพาเขากลับบ้าน ไม่มีประโยชน์ที่จะให้เขาทรมานมากไปกว่านี้"
เหมือนพระมาโปรด ชี้ทางเดินให้กับคนที่มองไม่เห็นทางออก หรือช่วยเพิ่มกำลังใจให้กับความไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งที่พ่อกับแม่อยากจะทำอย่างนั้นอยู่แล้ว
"ขอบคุณค่ะ พี่วรรณา" แม่ขอบคุณจากหัวใจที่เต็มตื้น มองป้ายชื่อที่หน้าอก และยังจดจำได้มาจนทุกวันนี้

.....ยังมีต่อ.....

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล