"แม่ ป่านเบื่อกินยาจังเลย"
ลูกบ่นเบาๆ ขณะที่หยิบยาออกมากินตามปกติทุกวันอย่างมีวินัย เป็นเวลาสามปีกว่าแล้ว ที่ลูกต้องเข้าออกโรงพยาบาลแล้วได้ยามากินระงับอาการปวดท้อง โดยที่ไม่มีใครเฉลียวใจเรื่องอื่น
เริ่มจากคลีนิคในเมืองสกลนคร ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ จนไปถึงโรงพยาบาลรักษ์สกล ก็ยังคงเป็นโรคเครียดลงกระเพาะ กระทั่งมาถึง โรงพยาบาลที่ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาบันสร้างแพทย์ คือโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น วิเคราะห์ว่าเป็นโรคทาลัสซีเมียร์ โลหิตจาง
พ่อเห็นลูกผอมลงทุกวัน อาการปวดท้องไม่เคยทุเลาลง จึงไม่ละความพยายาม ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 พ่อได้พาป่านไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะคิดว่าที่นั่นน่าจะเป็นที่ๆตรวจพบสาเหตุได้แม่นยำที่สุด
และแล้วเวลาแห่งความตึงเครียดได้พุ่งเป้าเข้ามาที่ครอบครัวเราอย่างรวดเร็ว เพราะ
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ หมอส่องกล้องพบติ่งเนื้อในลำไส้ เจาะเนื้อส่วนนั้นไปวิเคราะห์
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ หมอบอกว่า ผลการวิเคราะห์ติ่งเนื้อ ไม่ใช่เซลเนื้อร้าย หมอให้กลับบ้านพร้อมยากิน ไม่มีการรักษาอื่นใดอีกเลย
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ขณะอยู่ที่บ้านคุณย่า ป่านมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมุกดาหาร หมอตรวจพบก้อนเนื้อในตับ 12 จุด แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
ด้วยความกังวลใจ วันที่ 3 มีนาคม- 19 มีนาคม 2551 พ่อพาป่านไปรักษาตัวที่ศูนย์บำบัดธรรมชาติของหมอเขียว ที่เรียกว่าสวนป่านาบุญ ที่อำเภอดอนตาล
ป่านกลับมาอยู่กับพ่อและแม่อย่างใกล้ชิดอีกครั้งที่บ้านบัว เราได้ดูแลลูกอย่างเต็มความสามารถ ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดของหมอเขียว ที่หมู่บ้านมีอาหารธรรมชาติปลอดสารพิษเป็นอาหารให้ลูกมากมาย อย่างไม่ต้องเป็นกังวล
ถึงแม้ลูกจะป่วย แต่บ่อยครั้งที่ลูกสามารถวิ่งเล่นกับเพื่อนๆได้ ในวันสงกรานต์ลูกยังออกไปเล่นสาดน้ำกับคนอื่นๆด้วย
แต่แล้วสถานการณ์ก็แย่ลงอีกครั้ง วันที่ 24 เมษายน ลูกมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จนต้องส่งโรงพยาบาลรักษ์สกลอย่างกระทันหัน ในช่วงเวลานั้นนั่นเอง ที่ลูกได้เจอกับหลวงพ่อครั้งแรก ด้วยความเมตตาของท่านเป็นอย่างยิ่ง คือในวันที่ 25 เมษายน ซึ่งทำให้ชีวิตของลูกได้พบสิ่งดีๆในท่ามกลางความยุ่งยากของชีวิต ที่แม่คิดว่า นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ
การรักษาที่โรงพยาบาลรักษ์สกลไม่อะไรคืบหน้าเหมือนทุกครั้ง พ่อจึงพาลูกมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีก ในวันที่ 31 เมษายน ครั้งนี้หมอได้เจาะตับ และตรวจพบเซลมะเร็งในตับอ่อน
"ลูกของคุณเป็นมะเร็งที่ตับอ่อน" คำพูดของหมอ เหมือนมีดเล่มใหญ่ที่ผ่ากลางหัวใจของแม่อย่างฉับพลัน แม้จะสังหรณ์ใจอยู่บ้าง แต่ใครล่ะจะอยากยอมรับความจริง เมื่อมันปรากฏตัวอย่างรวดเร็วจู่โจมเข้าทิ่มแทงความรู้สึกจนปวดร้าวอย่างนี้ สิ่งแรกที่แม่จะต้องจะต้องทำให้ได้ในเวลานั้น คือตั้งสติให้มั่นคง
พ่อเริ่มโทรศัพท์ติดต่อใครหลายคนที่รู้จักคุ้นเคยเพื่อขอคำแนะนำ เขาเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ทรงภูมิทางด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือก คำแนะนำยิ่งก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านในจิตใจ ก่อนหน้านี้พ่อเคยพยายามค้นหาสาเหตุการป่วยไข้จนผ่ายผอมของลูกจากหนังสือจากอินเตอร์เน็ต จนกระทั่ง มาสรุปว่า อาการแบบนี้ยังไม่มีการบันทึกไว้มากนัก พ่อจึงฝากความหวังเอาไว้กับหมอที่โรงพยาบาลรามาฯ
ลูกแม่ คำวินิจฉัยของหมอ ทำให้แม่เจ็บปวดแทบขาดใจ ใครบ้างที่ต้องเผชิญความจริงอย่างนี้แล้วไม่ร้องไห้ แม่คงต้องยกมือไหว้อย่างเคารพ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แม่ต้องยิ้มให้ได้ต่อหน้าลูก ต้องบอกกับลูกว่าไม่เป็นไร ต้องบอกว่าลูกจะต้องหาย ขอให้อดทนไว้ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าลูกกำลังเจ็บปวดกับการกัดกินของมันอยู่
ตอนนั้นสภาพการรักษาทางการแพทย์ทำให้ลูกเผชิญกับความทรมานทางร่างกาย จนต้องร้องครวญครางเป็นระยะแม่แทบทนดูความเจ็บปวดของลูกไม่ได้ คิดว่าถ้าแม่สามารถถ่ายทอดความเจ็บปวดมาเป็นของแม่ได้ แม่ก็จะทำ ขอให้แม่เจ็บแทนลูก ดีกว่าที่แม่จะต้องทนเห็นลูกเจ็บและร้องครวญครางอย่างน่าเวทนาอย่างนี้
แต่แล้วความตกใจ ความเจ็บปวดในใจ ยังไม่ทันสร่างซา ความสับสนทรมานในอารมณ์ก็เข้ามาแทรกอย่างต่อเนื่อง นั่นคือพ่อกับแม่ต้องตัดสินใจว่าจะให้ลูกรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือไม่
วันที่ 15 พฤษภาคม ต้องตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษา
โดยพื้นฐานการทำงานของพ่อ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการแพทย์ทางเลือกมาโดยตลอด พ่อรู้ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันมีข้อกำจัดบางอย่างเช่นกัน เช่น ในกรณีที่รักษาและจบลงที่ความตาย คนไข้ต้องผ่านความเจ็บปวด จนต้องให้ยาระงับปวดจนถึงที่สุด เราไม่ได้คิดไกลไปถึงเรื่องอื่น แต่สภาพของลูกที่ผ่านมา 15 วัน ในโรงพยาบาล บอกเราว่าลูกต้องอดทนกับความเจ็บปวดทรมานมากแค่ไหน ยามลูกร้องครางเบาๆในบางคราว แม่ต้องกดมอร์ฟีนเข้าเส้นเลือดให้ลูกเป็นระยะ บ่อยครั้งที่ลูกพร่าเบรอหลับไปเพราะฤทธิ์ยา แล้วตื่นขึ้นมาเพราะความเจ็บปวด จึงมีอารมณ์หงุดหงิดรำคาญใจ เฝ้าบอกกับแม่ว่า
"ป่านอยากกลับบ้าน พาป่านกลับบ้านเถอะนะแม่" ทุกครั้งแม่จะกอดลูก กลั้นน้ำตาไม่ให้หยดลงมาแทบไม่ไหว
เราจะมีทางเลือกอื่นอีกไหมหนอ แม่กับพ่อครุ่นคิดเรื่องทางเลือก ทั้งที่เช้าวันที่ 15 เราทั้งคู่ได้เข้าฟังการบรรยายเรื่องการดูแลคนป่วยหลังจากรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดแล้ว เรานำเอาคำอธิบายนั้นมาใคร่ครวญซ้ำอีกหลายรอบ เพียงเพื่อรอเวลาเซ็นต์ยินยอมรับการรักษาในเวลาบ่าย จริงๆแล้วเราไม่มีทางเลือกอื่นอีกเลย นอกจากยอมรับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่มีเครื่องมือครบครัน ทำได้แม้กระทั่งดูแลนาทีสุดท้ายของชีวิตให้ปราศจากความเจ็บปวด แต่ขณะเดียวกัน นั่นหมายถึง ภาวะไร้ซึ่งสติ ซึ่งพ่อไม่แน่ใจว่าควรจะให้เป็นเช่นนั้นจริงๆหรือไม่
เหตุผลที่สอง ที่เราต้องใคร่ครวญอย่างหนัก เพราะหมอบอกว่า ถึงแม้จะรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดไปแล้วก็ตาม นั่นทำได้เพียงการระงับการเติบโตของเซลมะเร็งได้เพียงชั่วคราว เป็นการยืดอายุของลูกให้ยืนยาวออกไปเพียง 2 เดือน แต่ลูกต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เหมือนกับคนไข้ทั่วไปต้องเจอ คืออาการทรมานชนิดอื่นๆ ที่เกิดกับร่างกาย ประกอบกับร่างกายลูกไม่แข็งแรงนัก หมอเองยังเกรงว่าร่างกายลูกจะไม่ตอบสนองเคมีบำบัด ซึ่งเท่ากับไร้ประโยชน์ที่จะทำ
ในที่สุด...เวลาเที่ยงวัน ของวันที่ 15 พฤษภาคม
ขณะที่พ่อกับแม่นั่งอยู่ที่หน้าห้องคนป่วย พยาบาลวัยกลางคน ที่แม่มารู้ทีหลังว่าเป็นหัวหน้าพยาบาลของตึกนี้ เดินเข้ามาถามไถ่พูดคุยกับแม่ รู้ว่าเรากำลังลำบากใจเรื่องการตัดสินใจที่จะให้ลูกใช้เคมีบำบัดหรือไม่ พี่พยาบาลคนนั้นพูดว่า
"ถ้าเป็นลูกพี่ พี่จะพาเขากลับบ้าน ไม่มีประโยชน์ที่จะให้เขาทรมานมากไปกว่านี้"
เหมือนพระมาโปรด ชี้ทางเดินให้กับคนที่มองไม่เห็นทางออก หรือช่วยเพิ่มกำลังใจให้กับความไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งที่พ่อกับแม่อยากจะทำอย่างนั้นอยู่แล้ว
"ขอบคุณค่ะ พี่วรรณา" แม่ขอบคุณจากหัวใจที่เต็มตื้น มองป้ายชื่อที่หน้าอก และยังจดจำได้มาจนทุกวันนี้
.....ยังมีต่อ.....