Skip to main content
ตอนที่ 3 กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็ง

"แม่ ป่านเบื่อกินยาจังเลย"
ลูกบ่นเบาๆ ขณะที่หยิบยาออกมากินตามปกติทุกวันอย่างมีวินัย เป็นเวลาสามปีกว่าแล้ว ที่ลูกต้องเข้าออกโรงพยาบาลแล้วได้ยามากินระงับอาการปวดท้อง โดยที่ไม่มีใครเฉลียวใจเรื่องอื่น

เริ่มจากคลีนิคในเมืองสกลนคร ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ จนไปถึงโรงพยาบาลรักษ์สกล ก็ยังคงเป็นโรคเครียดลงกระเพาะ  กระทั่งมาถึง โรงพยาบาลที่ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาบันสร้างแพทย์ คือโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น วิเคราะห์ว่าเป็นโรคทาลัสซีเมียร์ โลหิตจาง

พ่อเห็นลูกผอมลงทุกวัน อาการปวดท้องไม่เคยทุเลาลง จึงไม่ละความพยายาม ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 พ่อได้พาป่านไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะคิดว่าที่นั่นน่าจะเป็นที่ๆตรวจพบสาเหตุได้แม่นยำที่สุด

และแล้วเวลาแห่งความตึงเครียดได้พุ่งเป้าเข้ามาที่ครอบครัวเราอย่างรวดเร็ว เพราะ
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ หมอส่องกล้องพบติ่งเนื้อในลำไส้ เจาะเนื้อส่วนนั้นไปวิเคราะห์
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ หมอบอกว่า ผลการวิเคราะห์ติ่งเนื้อ ไม่ใช่เซลเนื้อร้าย หมอให้กลับบ้านพร้อมยากิน ไม่มีการรักษาอื่นใดอีกเลย
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ขณะอยู่ที่บ้านคุณย่า ป่านมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมุกดาหาร หมอตรวจพบก้อนเนื้อในตับ 12 จุด แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
ด้วยความกังวลใจ วันที่ 3 มีนาคม- 19 มีนาคม 2551 พ่อพาป่านไปรักษาตัวที่ศูนย์บำบัดธรรมชาติของหมอเขียว ที่เรียกว่าสวนป่านาบุญ ที่อำเภอดอนตาล

ป่านกลับมาอยู่กับพ่อและแม่อย่างใกล้ชิดอีกครั้งที่บ้านบัว เราได้ดูแลลูกอย่างเต็มความสามารถ ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดของหมอเขียว ที่หมู่บ้านมีอาหารธรรมชาติปลอดสารพิษเป็นอาหารให้ลูกมากมาย อย่างไม่ต้องเป็นกังวล

ถึงแม้ลูกจะป่วย แต่บ่อยครั้งที่ลูกสามารถวิ่งเล่นกับเพื่อนๆได้ ในวันสงกรานต์ลูกยังออกไปเล่นสาดน้ำกับคนอื่นๆด้วย
แต่แล้วสถานการณ์ก็แย่ลงอีกครั้ง วันที่ 24 เมษายน ลูกมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จนต้องส่งโรงพยาบาลรักษ์สกลอย่างกระทันหัน ในช่วงเวลานั้นนั่นเอง ที่ลูกได้เจอกับหลวงพ่อครั้งแรก ด้วยความเมตตาของท่านเป็นอย่างยิ่ง คือในวันที่ 25 เมษายน ซึ่งทำให้ชีวิตของลูกได้พบสิ่งดีๆในท่ามกลางความยุ่งยากของชีวิต ที่แม่คิดว่า นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ

การรักษาที่โรงพยาบาลรักษ์สกลไม่อะไรคืบหน้าเหมือนทุกครั้ง พ่อจึงพาลูกมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีก ในวันที่ 31 เมษายน ครั้งนี้หมอได้เจาะตับ และตรวจพบเซลมะเร็งในตับอ่อน

"ลูกของคุณเป็นมะเร็งที่ตับอ่อน" คำพูดของหมอ เหมือนมีดเล่มใหญ่ที่ผ่ากลางหัวใจของแม่อย่างฉับพลัน แม้จะสังหรณ์ใจอยู่บ้าง แต่ใครล่ะจะอยากยอมรับความจริง เมื่อมันปรากฏตัวอย่างรวดเร็วจู่โจมเข้าทิ่มแทงความรู้สึกจนปวดร้าวอย่างนี้ สิ่งแรกที่แม่จะต้องจะต้องทำให้ได้ในเวลานั้น คือตั้งสติให้มั่นคง

พ่อเริ่มโทรศัพท์ติดต่อใครหลายคนที่รู้จักคุ้นเคยเพื่อขอคำแนะนำ เขาเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ทรงภูมิทางด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือก คำแนะนำยิ่งก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านในจิตใจ  ก่อนหน้านี้พ่อเคยพยายามค้นหาสาเหตุการป่วยไข้จนผ่ายผอมของลูกจากหนังสือจากอินเตอร์เน็ต จนกระทั่ง มาสรุปว่า อาการแบบนี้ยังไม่มีการบันทึกไว้มากนัก พ่อจึงฝากความหวังเอาไว้กับหมอที่โรงพยาบาลรามาฯ

ลูกแม่ คำวินิจฉัยของหมอ ทำให้แม่เจ็บปวดแทบขาดใจ ใครบ้างที่ต้องเผชิญความจริงอย่างนี้แล้วไม่ร้องไห้ แม่คงต้องยกมือไหว้อย่างเคารพ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แม่ต้องยิ้มให้ได้ต่อหน้าลูก ต้องบอกกับลูกว่าไม่เป็นไร ต้องบอกว่าลูกจะต้องหาย ขอให้อดทนไว้ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าลูกกำลังเจ็บปวดกับการกัดกินของมันอยู่

ตอนนั้นสภาพการรักษาทางการแพทย์ทำให้ลูกเผชิญกับความทรมานทางร่างกาย จนต้องร้องครวญครางเป็นระยะแม่แทบทนดูความเจ็บปวดของลูกไม่ได้ คิดว่าถ้าแม่สามารถถ่ายทอดความเจ็บปวดมาเป็นของแม่ได้ แม่ก็จะทำ ขอให้แม่เจ็บแทนลูก ดีกว่าที่แม่จะต้องทนเห็นลูกเจ็บและร้องครวญครางอย่างน่าเวทนาอย่างนี้

แต่แล้วความตกใจ ความเจ็บปวดในใจ ยังไม่ทันสร่างซา ความสับสนทรมานในอารมณ์ก็เข้ามาแทรกอย่างต่อเนื่อง นั่นคือพ่อกับแม่ต้องตัดสินใจว่าจะให้ลูกรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือไม่

วันที่ 15 พฤษภาคม ต้องตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษา
โดยพื้นฐานการทำงานของพ่อ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการแพทย์ทางเลือกมาโดยตลอด พ่อรู้ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันมีข้อกำจัดบางอย่างเช่นกัน เช่น ในกรณีที่รักษาและจบลงที่ความตาย คนไข้ต้องผ่านความเจ็บปวด จนต้องให้ยาระงับปวดจนถึงที่สุด เราไม่ได้คิดไกลไปถึงเรื่องอื่น แต่สภาพของลูกที่ผ่านมา 15 วัน ในโรงพยาบาล บอกเราว่าลูกต้องอดทนกับความเจ็บปวดทรมานมากแค่ไหน ยามลูกร้องครางเบาๆในบางคราว แม่ต้องกดมอร์ฟีนเข้าเส้นเลือดให้ลูกเป็นระยะ บ่อยครั้งที่ลูกพร่าเบรอหลับไปเพราะฤทธิ์ยา แล้วตื่นขึ้นมาเพราะความเจ็บปวด จึงมีอารมณ์หงุดหงิดรำคาญใจ เฝ้าบอกกับแม่ว่า
"ป่านอยากกลับบ้าน พาป่านกลับบ้านเถอะนะแม่" ทุกครั้งแม่จะกอดลูก กลั้นน้ำตาไม่ให้หยดลงมาแทบไม่ไหว

เราจะมีทางเลือกอื่นอีกไหมหนอ แม่กับพ่อครุ่นคิดเรื่องทางเลือก  ทั้งที่เช้าวันที่ 15 เราทั้งคู่ได้เข้าฟังการบรรยายเรื่องการดูแลคนป่วยหลังจากรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดแล้ว เรานำเอาคำอธิบายนั้นมาใคร่ครวญซ้ำอีกหลายรอบ เพียงเพื่อรอเวลาเซ็นต์ยินยอมรับการรักษาในเวลาบ่าย จริงๆแล้วเราไม่มีทางเลือกอื่นอีกเลย นอกจากยอมรับการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่มีเครื่องมือครบครัน ทำได้แม้กระทั่งดูแลนาทีสุดท้ายของชีวิตให้ปราศจากความเจ็บปวด แต่ขณะเดียวกัน นั่นหมายถึง ภาวะไร้ซึ่งสติ ซึ่งพ่อไม่แน่ใจว่าควรจะให้เป็นเช่นนั้นจริงๆหรือไม่

เหตุผลที่สอง ที่เราต้องใคร่ครวญอย่างหนัก เพราะหมอบอกว่า ถึงแม้จะรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดไปแล้วก็ตาม นั่นทำได้เพียงการระงับการเติบโตของเซลมะเร็งได้เพียงชั่วคราว เป็นการยืดอายุของลูกให้ยืนยาวออกไปเพียง 2 เดือน แต่ลูกต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เหมือนกับคนไข้ทั่วไปต้องเจอ คืออาการทรมานชนิดอื่นๆ ที่เกิดกับร่างกาย ประกอบกับร่างกายลูกไม่แข็งแรงนัก หมอเองยังเกรงว่าร่างกายลูกจะไม่ตอบสนองเคมีบำบัด ซึ่งเท่ากับไร้ประโยชน์ที่จะทำ

ในที่สุด...เวลาเที่ยงวัน ของวันที่ 15 พฤษภาคม
ขณะที่พ่อกับแม่นั่งอยู่ที่หน้าห้องคนป่วย พยาบาลวัยกลางคน ที่แม่มารู้ทีหลังว่าเป็นหัวหน้าพยาบาลของตึกนี้ เดินเข้ามาถามไถ่พูดคุยกับแม่ รู้ว่าเรากำลังลำบากใจเรื่องการตัดสินใจที่จะให้ลูกใช้เคมีบำบัดหรือไม่ พี่พยาบาลคนนั้นพูดว่า

"ถ้าเป็นลูกพี่ พี่จะพาเขากลับบ้าน ไม่มีประโยชน์ที่จะให้เขาทรมานมากไปกว่านี้"
เหมือนพระมาโปรด ชี้ทางเดินให้กับคนที่มองไม่เห็นทางออก หรือช่วยเพิ่มกำลังใจให้กับความไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งที่พ่อกับแม่อยากจะทำอย่างนั้นอยู่แล้ว
"ขอบคุณค่ะ พี่วรรณา" แม่ขอบคุณจากหัวใจที่เต็มตื้น มองป้ายชื่อที่หน้าอก และยังจดจำได้มาจนทุกวันนี้

.....ยังมีต่อ.....

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ฉันสังเกตดูรอบๆ บ้านหลังน้อยของลุงลี แทบไม่มีพืชผักที่พอจะเก็บกินได้ สงสัยอยู่ครามครันว่า ทำไมไม่ปลูก ในเมื่อแกเป็นคนเก่าแก่และเป็นคนเดียวที่อยู่ในป่านี้มานานถึง 20 กว่าปี ตอนที่ฉันได้หน่อกล้วยหอมพันธุ์ดีมาจากหนองคาย แกก็ยังอุตส่าห์เอาปุ๋ยขี้ควายมาให้ตั้งสามกระสอบ แถมยังสอนวิธีปลูกให้อีกด้วย เมื่อเห็นฉันลงมือขุดหลุมห่างๆ เพราะคิดว่าในอนาคตมันต้องแตกหน่อมาชนกันเอง แกกลับบอกว่าให้ชิดๆกันหน่อยจะดีกว่า เป็นแรงดึงดูดให้กล้วยโตเร็วขึ้น ฉันก็เอาตามนั้น ก้นหลุมกว้างลึกรองด้วยปุ๋ยมูลสัตว์สลับหญ้าแห้ง ดูเป็นวิชาการมากๆ ตามคำแนะนำของแกถามแกว่าจะเอาไปปลูกเองสักต้นไหม…
เงาศิลป์
ฟืนท่อนใหญ่ถูกซุนเพิ่มเข้าไปอีกท่อน มันเป็นไม้ส้มเสี้ยวที่ถูกโค่นล้มลงเพราะขวางทางรถยนต์คันใหญ่ คนตัดบอกว่าไม้ชนิดนี้ยากที่จะแปรรูปเพราะเนื้อไม้บิดเป็นเกลียว ฉันจึงขอให้เขาตัดเป็นท่อนสั้นๆ เพื่อจะใช้ประโยชน์ตามแต่จะคิดได้ แต่พอลมหนาวทายทักแข็งขันมากขึ้น ฉันต้องตัดใจตัวเองจนเลือดซิบ ขณะที่ก้มลงลากมันมาใส่ไฟอย่างยากเย็น เพราะทั้งหนักและเสียดาย และรู้สึกผิดต่อตัวเองหมาน้อยสองตัวต้องการความอบอุ่นตลอดคืน ฉันเองก็ต้องการ แม้จะมีผ้าห่มแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะกันหนาวได้ การใช้ฟืนดุ้นเล็กๆ คือภาระที่ต้องลุกขึ้นมาใส่ไฟเกือบตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนั้นฉันคงไม่มีเรี่ยวแรงเหลือไว้ทำงานในไร่ยามกลางวันอีกเป็นแน่…
เงาศิลป์
สวัสดีค่ะ ขาดหายไปนานสำหรับเรื่องของชะตากรรมคนขาหัก ขอสารภาพว่าที่ทิ้งช่วงห่างหายไปนานขนาดนี้ เพราะว่าขาดความเชื่อมั่นที่จะเขียน (อย่างรุนแรง) เนื่องจากรู้สึกว่าท่านผู้อ่านประชาไท ค่อนข้างมีภูมิปัญญาสูง แต่คนเขียนปัญญาต่ำ ครุ่นคิดอยู่นานว่าจะจบเรื่องนี้อย่างไรดี ในท่ามกลางสภาพปัญหาการดิ้นรนรักษาตนเองและบางครั้งได้รับการดูแลอย่างไม่คาดคิด ค่ะ...ตอนนี้ขอสรุปรวบรัดเล่าให้ฟังว่า เกิดอะไรขึ้นในที่สุด.....หลายครั้งที่ได้พบและเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจากผู้รู้ แต่ครั้งที่เป็นประสบการณ์ตรงที่สุดก็คือ การฝังเข็มจากพี่อ้อย (กัลยา ใหญ่ประสาน) รุ่นพี่ที่เคารพรัก เจ้าของร้านอาหารสุขภาพโขง-สาละวิน…
เงาศิลป์
วันเวลาที่ผ่านไป ฉันค่อยๆ คลายความกังวล แม้ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะมาอยู่เป็นเพื่อนเกือบตลอดเวลา แต่วิชาเกลือจิ้มเกลือ เจ็บแก้เจ็บ ยังใช้ได้เสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปทดลอง)และแล้วเหมือนกรรมบันดาล (อีกแล้ว) วันหนึ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่า คนเราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงแค่ 60 – 70 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่เคยรู้จักมัน และปล่อยให้มายาคติบางอย่างครอบงำ โดยเฉพาะคำว่า “อย่าทำ” .... “ไม่ควรทำ”.....หรือ “ไม่เหมาะสมที่จะทำ” และอะไรอีกหลายความคิดที่ปิดกั้นโอกาสของตัวเองกลางเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง ฉันเร่ร่อนลงเรือไปที่หาดไร่เล ตอนนั้นแทบว่าไม่มีคนไทยรู้จักหาดไร่เล นอกจากฮิปปี้และนักปีนผา (…
เงาศิลป์
การขึ้นภูกระดึงอย่างไร้ความพร้อม กลับทำให้ฉันได้สิ่งดีๆมากมายคุณนิมิตร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้เขียนจดหมายน้อยอย่างไม่เป็นทางการ ให้ฉันถือไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่บนภู ที่เป็นเพื่อนกัน ในจดหมายเขียนว่า “ช่วยดูแลคนที่ถือจดหมายฉบับนี้ด้วย ตามสมควร” ที่อาคารลงทะเบียนบนภู ฉันยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ คะเนจากหน้าตา เขาคนนั้นคงมีอายุพอๆกับฉัน เมื่ออ่านจบเขามองหน้าฉันอย่างเฉยเมย บอกว่าบ้านพักเต็มหมดแล้ว เหลือแต่เต๊นท์  ฉันบอกว่าฉันตั้งใจจะพักเต๊นท์อยู่แล้ว“มากันกี่คน” น้ำเสียงห้วนๆ  ไม่รู้ทำไม“คุณเห็นกี่คนล่ะคะ คุณเห็นแค่ไหนก็แค่นั้นล่ะค่ะ” ฉันตอบกึ่งยียวน…
เงาศิลป์
เช้าวันนี้….ใบไม้สีเหลืองเกลื่อนพื้น ดูสวยงาม แต่ไม่นานมันจะถูกเรียกว่า “ขยะ” ด้วยเรียวไม้กวาดก้านมะพร้าว ค่อยๆลากให้มันมากองรวมกัน ทีละนิดรอยทรายเป็นเส้นลดเลี้ยวตามแนวกวาด ลีลาคล้ายบทกวีร้อยบท ที่มีเนื้อหาเดียว คือความสงบทุกเช้า ฉันจะอยู่กับมัน ทั้งไม้กวาด พื้นทรายและใบไม้ร่วงสายตาจับอยู่ที่พื้น..แต่ด้วยหางตา เห็นบางอย่างเคลื่อนไหวอยู่บนถนนหน้าบ้าน  จากที่ยืนอยู่ ระยะทางราวร้อยก้าว เงาร่างเดินโยกเยก บดบังด้วยแนวพุ่มไม้เตี้ยๆ จึงมุ่งมองอย่างตั้งใจ เห็นใครบางคนเคลื่อนไหวอย่างช้าๆจึงเดินออกไปดูร่างล่ำสันค่อยๆ เคลื่อนไปอย่างลำบาก เขาใช้ไม้ยาวๆ ค้ำถ่อ ประคองร่างกายให้ขาตวัดสลับกันไป …
เงาศิลป์
“ฉันจะต้องไม่พิการ”ฉันคำรามหนักแน่นอยู่ในใจ ในคืนวันหนึ่ง เมื่อนอนอยู่ในท่าทีเอาขาขวาพาดไว้บนกำแพง เพื่อดัดขาไล่ความเมื่อยล้า จากงานหนักจากวันนั้น อะไรก็ตามที่ทำให้เข่าของฉันเจ็บน้อยลง ฉันจะทำทันที เริ่มจากการค้นหาวิธีแก้ไข ควบคู่ไปกับการยอมรับความเจ็บปวดของขาข้างขวาว่าเป็นคู่แท้ของชีวิตปีแรก ฉันเดินกะเผลกแบบคนขาเป๋ เพราะขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย และยังไม่มีพละกำลัง เวลาเดินจึงเห็นว่าตัวเอียงมาก เป็นที่เวทนาตัวเองยามคนจ้องมอง ทำให้ฉันเข้าใจหัวอกคนพิการมากขึ้นแต่แล้ววันหนึ่ง เหมือนพระมาโปรด ฉันกลับมากรุงเทพฯ แล้วไปเยี่ยมเพื่อนๆที่มหาวิทยาลัย ขณะนั่งอยู่ริมสนามฟุตบอล มองคนอื่นๆเล่นกิฬา อย่างเสียดาย…