ก้อนเมฆหนาสีเทาทึมทึบ ขยับเคลื่อนช้าๆมาจากทิศตะวันตก จากโค้งฟ้าไกลๆค่อยๆเคลื่อนผ่านศรีษะฉันไปอย่างไม่เร่งร้อน คล้ายลังเลว่าจะแวะพักสักครู่ดีหรือไม่ คงไม่อาจรีรอได้ จึงบ่ายคล้อยต่อไปยังทิศตรงข้าม ทิ้งไอฉ่ำระเรี่ยพื้นพอให้คนรอคอยใจหายเล่น
ชีวิตบางชีวิตก็เช่นกัน
..............
(ต่อ)
อีกเรื่องหนึ่ง ที่แม่อยากบอกกับลูก ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่คงไม่ส่งลูกไปเรียนหนังสือในเมือง แม้ว่าการไปอยู่ที่นั่นเป็นเรื่องที่ดีต่ออนาคตก็ตาม
“ป่านต้องเรียนในเมืองนะลูก ไปอยู่กับปู่กับย่า กับพี่ปุ้ย” แม่บอกลูกกระทันหันเกินไปใช่ไหม ลูกจึงตกใจมองหน้าแม่อย่างนิ่งอึ้ง แต่ไม่มีคำใดเอ่ยออกมา เพราะแม่กับพ่อตกลงกันโดยไม่ได้ถามความสมัครใจของลูก แต่ลูกก็ไม่ได้ขัดขืน เมื่อแม่สัญญาว่าจะไปเยี่ยมลูกให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะไปหาลูกทุกครั้งที่ลูกต้องการ แล้วแม่กับพ่อก็ทำตามนั้นจริงๆ เราไม่เคยห่างกันเกินไป โดยเฉพาะในเวลาที่ลูกป่วยแม่จะอยู่ข้างๆลูกเสมอ แต่ความป่วยไข้ก็ยังพรากลูกไปอยู่ดี
แม่วางใจว่าลูกเป็นเด็กที่เข้มแข็งทั้งกายและใจ เมื่อได้อ่านเรียงความของลูก ที่คุณครูให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องแม่ ลูกเขียนไว้ว่า
“แม่ให้ฉันมาเรียนหนังสือในเมือง เพราะแม่อยากให้ฉันมีอนาคตที่ดี เพื่อนฉันบางคนไม่มีพ่อแม่แต่เขายังเรียนหนังสือได้ ฉันยังมีแม่ที่เป็นกำลังใจ ฉันต้องอยู่ได้เช่นกัน”
แต่ทว่าปีแรกที่ลูกอยู่ในเมืองมุกดาหาร ในชั้นเรียนประถมปีที่ 3 ลูกเริ่มมีอาการปวดท้องด้านซ้าย พี่ปุ้ยบอกว่าทุกครั้งที่ปวดท้อง น้องยังตั้งใจไปโรงเรียน บางวันปวดมากจนต้องไปนอนพักในห้องพยาบาล แต่เมื่อพี่ถามว่าเป็นยังไงบ้าง ปวดมากไหม ลูกจะตอบเหมือนๆกันทุกครั้งว่า
“ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วงป่าน” พี่ปุ้ยไม่แน่ใจว่าน้องจะตอบตามความจริง จึงถามซ้ำอย่างเป็นกังวล
“ไม่เป็นไรจริงๆ ไม่ต้องถามมาก”
นั่นล่ะ ที่ทำให้แม่เห็นถึงความเข้มแข็งของลูก ไม่ว่าร่างกายจะป่วยไข้อย่างไร แต่การเรียนของลูกไม่เคยตกต่ำ เพียงปีแรกที่เข้ามาเรียนในเมืองลูกก็สอบได้ที่ 1 แล้ว แม้แต่ภาษาอังกฤษที่แม่กังวลว่าลูกจะสู้เพื่อนๆไม่ได้ ลูกกลับทำได้ดีจนอาจารย์ที่สอนเอ่ยปากชมกับแม่
เพราะลูกเป็นเด็กเรียนเก่ง การไปหาหมอในครั้งแรกๆ หมอบอกว่าลูกเป็นโรคเครียด ความเครียดลงกระเพาะ หมอจะจ่ายยารักษาอาการปวดท้องให้เท่านั้น และเป็นเช่นนั้นทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลใดก็ตาม
จนกระทั่งหนึ่งปีผ่านไป อาการปวดท้องของลูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยปวดเพียงเดือนละครั้ง กลายมาเป็นหลายครั้ง แม่ต้องเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาล แต่แล้วการวินิจฉัยโรคก็ไม่ต่างไปจากเดิม
จริงอยู่ที่ประวัติการเรียนของลูกดีเยี่ยม ด้วยความตั้งใจเรียนของลูก ไม่มีใครบังคับลูกเลยสักนิด ลูกมีวินัยในตัวเอง คุณย่าบอกว่าตลอดเวลาที่อยู่กับคุณปู่คุณย่า ลูกไม่เคยเหลวไหลในเรื่องการเรียน กลับจากโรงเรียนลูกจะต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนแล้วจึงจะเล่นตามประสาเด็กๆ ลูกเล่นเกมคอมพิวเตอร์เหมือนเด็กอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องควบคุมระวังว่าลูกจะติดเกม เพราะสิ่งที่ลูกติดมากกว่าคือนิทานก่อนนอน
ทุกคืน แม้กระทั่งตอนที่ลูกป่วยมาก ลูกจะขอให้พ่อกับแม่เล่านิทานก่อนนอน เรื่องเดิมๆซ้ำๆ ลูกฟังได้ไม่เบื่อคือเรื่องสโนว์ไวท์ และเรื่องชีวิตวัยเด็กของแม่ที่ยากจนมากต้องเดินเท้าไปไกล เพื่อขอข้าวจากหมู่บ้านอื่นมากิน ดังนั้นแม่คิดว่า เรื่องจิตใจที่ตึงเครียดไม่น่าจะเกิดกับลูก เพราะลูกมีคนเล่านิทานให้ลูกฟังหมุนเวียนกันไป ทั้งปู่ ทั้งพ่อ และแม่ เราอยู่ใกล้ๆลูกตลอดเวลา เราให้เวลากับลูกมากเท่าที่จะทำได้ แม้กระทั่งพ่อที่มีงานยุ่งเป็นที่สุด
แต่สาเหตุการปวดท้องของลูก แม่ก็ไม่เคยคาดเดาไปไกล
เรื่องจิตใจที่เติบโตเป็นปกติตามวัย แม่รู้ว่าลูกโตขึ้นและพร้อมที่จะเข้าใจคนอื่น รู้จักการให้กำลังใจคนอื่นได้แล้วด้วย โดยเฉพาะกับแม่ เมื่อเวลาที่แม่ไปเยี่ยมไปนอนค้างกับลูกในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เวลาที่แม่ต้องกลับหมู่บ้าน ลูกจะร้องเพลงให้กำลังใจ บางครั้งก็เป็นเพลงตลกๆ ของโปงลางสะออน แล้วบอกว่า “หนูไม่คิดถึงแม่หรอกนะ” แล้วส่งยิ้มทะเล้นให้แม่ ก่อนโบกมือบายบาย เมื่อแม่ขับรถจากมาแล้ว ลูกยังส่งข้อความทางโทรศัพม์มือถือมาให้กำลังใจแม่ บอกว่า “แม่ขับรถดีๆนะ รักแม่นะ”
การเป็นเด็กในเมืองไม่ได้ทำให้ลูกเปลี่ยนแปลง ทุกปิดเทอมลูกกลับมาบ้านบัวของเรา ลูกมีเพื่อนเล่นของลูกราวๆสิบคน ลูกตั้งตัวเป็นผู้นำ ทุกปิดเทอม เด็กทุกคนจะต้องมีงานเป็นของตัวเอง นั่นคือการดูแลความสะอาดของศูนย์อินแปง ลูกประชุมจัดเวรกวาดขยะ ทุกคนต้องช่วยทำงานให้เสร็จก่อนที่จะวิ่งเล่น สิ่งที่ลูกและเพื่อนๆชอบมากที่สุดคือเกมไล่แตะตัว ที่คนเก่งๆมักจะปีนหนีขึ้นไปอยู่บนเถาวัลย์สูง และลูกนั่นเองที่ปีนได้สูงกว่าทุกคน
เถาวัลย์ใหญ่ยังคงอยู่ ทุกครั้งที่แม่เหลียวเห็น มันเป็นสิ่งบาดตาบาดใจ ลูกรู้ไหม เสียงหัวเราะร่าเริงแจ่มใสของลูกยังคงอยู่ เพื่อนๆของลูกไม่มีใครปีนป่ายเล่นบนนั้นอีกเลย ทุกคนคงคิดถึงลูก
อาการป่วยของลูกชัดเจนขึ้น เมื่อตอนปิดเทอมครั้งสุดท้าย เดือนเมษายน ปี 2551 ลูกปวดท้องนอนซมอยู่ในบ้าน นานหลายชั่วโมง แม่จึงให้กินยาประจำตัว คือยารักษาโรคกระเพาะ ลูกจึงลุกขึ้นมาเล่นกับเพื่อนๆที่นั่งรออยู่ที่ข้างล่างได้
นั่นคือการเล่นปีนป่ายเถาวัลย์ครั้งสุดท้ายของลูก
..............(ยังมีต่อ)
ฉันมองฝอยฝนด้วยใจหวั่นเศร้า คนที่เป็นชาวไร่ชาวนา ย่อมจะรู้ซึ้งถึงการรอคอยแบบนี้ เหมือนชีวิตบางชีวิต ที่เข้ามาเพื่อจะเติมเต็ม แต่ทว่าเป็นการเติมเต็มที่ยากยิ่งต่อการ “หยั่งรู้” ในความจริงของธรรมชาติ เมื่อการเติมเต็มนั้น
“ต้องเริ่มจากการสูญเสีย”