Skip to main content

มันคงเป็นเรื่องเล่าที่ชวนพิศวง ฉันคงสงสัยว่ามันมีความจริงปนอยู่สักเท่าใด หากไม่ได้ถูกบันทึกไว้ด้วยมือของฉันเอง

ภาพในอดีตเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
ฉันเห็นตัวเองเกาะแน่นอยู่บนอานรถมอเตอร์ไซค์ที่ไต่ไปตามคันนาเล็กๆ คนขับชำนาญทางเป็นอย่างดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจได้ลงไปนอนแช่น้ำในผืนนากันทั้งคู่

“พี่หวาด” เป็นหมอยาพื้นบ้านและเป็นเพื่อนร่วมงานของฉัน แกทำหน้าที่เป็นสารถีรวมทั้งเป็นเนวิเกเตอร์ในการไปพบเจอกับแหล่งข้อมูล และนั่นคือที่มาของเรื่องราวที่เหลือเชื่อ ที่หลงเหลือไว้ให้ฉันหยิบจับขึ้นมาอ่านซ้ำอย่างประหลาดใจ

ไม่น่าเชื่อว่าฉันจะเคยพบเจอกับบุคคลที่มีบุคลิกพิเศษมากมาย ปัจจุบันเขาเหล่านั้นลาจากโลกนี้ไปแล้ว เหลือไว้เพียงตำนานแห่งการรักษาด้วยหัวใจและคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นหมอยาสมุนไพร หมอนวด หมอเป่าใช้คาถา หมอลำผีฟ้า หมอเหยา(หมอลำผีฟ้าของชาวภูไท) และหมอดู

การสัมภาษณ์หมอยาพื้นบ้าน โรคที่หมอพูดถึงบ่อยๆ เช่น ไข้หมากไม้ ที่ว่าถ้าไปฉีดยาแบบการแพทย์แผนใหม่คนไข้คนนั้นจะต้องตายแน่นอน หรือไข้ซางประเภทต่างๆ ของเด็กน้อยก็มีหลายซาง แม้แต่เรื่องอาการ “บวม” ก็ยังมีคำเรียกในอาการที่หลากหลาย เช่น บวมผีโพ บวมโอ๊ะโป๊ะเอ๊ะเป๊ะ บวมไข่หรือบวมเป็นจุดๆ บวมแล่นไปทั้งตัว สาเหตุการบวมอาจมาจากกินยาชุด บวมเพราะเป็นโรคตับ บวมเพราะแมลงสัตว์กัดต่อย หรืออื่นๆ ....เหล่านี้เป็นต้น

นี่คือตัวอย่างตำรับยารักษาโรคบวม ที่ฉันจดเอาไว้ ดูแล้วไม่มีอะไรพิศดารจนต้องกลัวเลยสักนิด นั่นคือ

พริกไทย 3 บาท
ดีปลี 3 บาท
กระเทียม 3 บาท
หอมแดง 3 บาท
การบูร 3 บาท
พิมเสน 3 บาท
เมนทอล 3 บาท
เจตมูลเพลิง 15 บาท
ใบผีเสื้อ 3 กำมือ
ใบเปล้า 3 กำมือ
ใบหนาดใหญ่ 3 กำมือ
ตากวง(กำแพงเจ็ดชั้น)ผง 1 ช้อนโต๊ะ
ดีน้ำตาลพอประมาณ
จันท์แดง และจันท์หอม อย่างละ 3 บาท (ใช้เวลามีไข้)
หัวข่าพอประมาณ
วิธีทำ ตากให้แห้ง บดเป็นผง
วิธีใช้ ชงน้ำร้อน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำหนึ่งถ้วย ดื่ม เช้า เที่ยง เย็น


ข้อขะลำ(ข้อห้าม) ในการรักษาโรคบวม คือ ห้ามตากฝน ห้ามกินเนื้อวัว เนื้อควาย บักฮึ(ฟักทอง) บักฟัก แฟง แตงกวา (และพืชทุกชนิดที่มีมือมีตีน) ของหมักดอง และที่สำคัญ...ที่ขะลำยาก คือ ตำบักหุ่ง (ส้มตำ)

ทีนี้ก็เป็นค่า “คาย” หรือค่ารักษา มีอยู่ว่า

ผ้าซิ่น 1 ผืน
แพรวา 1 ชิ้น
เหล้า (ขาว)1 กั๊ก
ไข่ต้ม 1 ใบ
ขันธ์ห้า (ดอกไม้ ธูป เทียน)
เงิน 6 บาท


บันทึกเก่าทำให้ฉันมีอารมณ์ยิ้มลึก เมื่อมาเจอคาถาที่ใช้ในการรักษา ปกติการถ่ายทอดตำรับยาและคาถาที่สำคัญ จะไม่ให้กันง่ายๆ คนที่ได้รับการสืบทอดคาถาจะต้องถูกตรวจสอบคุณธรรมพื้นฐาน ว่าไม่ละโมบโลภมาก ไม่เอาคาถาไปใช้แสวงหาผลประโยชน์จากคนป่วยหรือผู้ที่กำลังทุกข์ ดังนั้นคาถาที่ฉันจดมาได้คงเป็นคาถาธรรมดาเท่านั้น

นี่คือคาถาเป่า รักษาอาการบวม
โอม มะลวน มะลวน แดงฮวนๆกูเป่ากะแว่บ
โอม ปูมปา ปูมเปา ไข่หน้าแข้ง กูฝนยาทา ไข่หน้าขา กูเป่ากะแว่บ

สมุดบันทึกเล่มใหญ่ มีเรื่องราวมากมาย ที่คนบันทึกหาได้เข้าใจอะไรอย่างลึกซึ้งไม่ มาวันนี้ ฉันย้อนกลับไปมองดูอดีตอย่างเสียดาย ที่ฉันไม่ได้ขุดคุ้ยอะไรให้มากกว่านี้ เพราะบางที...โลกใหม่ ภายหลังจากหายนะของธรรมชาติ เราอาจต้องพึ่งพาความรู้เล่านี้อีกครั้ง

แต่บางกรณี ฉันคิดว่าความรู้บางอย่างได้ตายตามหมอยาไปแล้ว....

หมอยาสักลิ้นเลิกเหล้า แกบอกว่า พืชที่ใช้เป็นตัวยาหายาก ต้องไปหาจากที่ไกลๆ แม้จะเอาต้นมาปลูกไว้ข้างบ้านแต่สรรพคุณไม่เท่ากับที่เกิดธรรมชาติ และแกจะไม่ยอมให้ใครรู้จักต้น แกเล่าว่าเคยมีนายแพทย์ใหญ่จากโรงพยาบาลมาสัมภาษณ์และถ่ายรูปต้นไม้ ถึง 3 ครั้ง แกจะชี้ให้ไปถ่ายรูปต้นไม้ชนิดอื่นทุกครั้ง

แน่นอน..แม้แต่ฉันก็ไม่มีสิทธิ์ได้รู้จักมัน

ยี่สิบปีผ่านไป หมดยุคของไข้บวม ไข้หมากไม้ ไข้ป้าง ไข้ซาง เข้าสู่ยุคโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันสูง ผู้คนหลั่งไหลไปรับการรักษาจากโรงพยาบาล แต่ละคนมียากินประจำมื้อราวกับอาหารหวาน จึงดูเหมือนว่าเราสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกัน เรามีโอกาสที่จะเข้าใกล้ความตายได้ง่ายขึ้นด้วย นั่นคือความตายที่มาจากภัยพิบัติ

อา...จบสิ้นแล้วการรักษา ยุคค่าคาย 3 บาท 6 บาท มาสู่ 20 บาท รักษาทุกโรค หมดสิ้นแล้วคาถารักษาโรคแม้อาจหลงเหลือน้ำมือที่มีคุณธรรมอยู่บ้าง แต่เวลาที่ใช้ในการตรวจคนไข้ของนายแพทย์ เฉลี่ยแค่ไม่กี่นาทีต่อคน คิดแล้วใจหาย จนไม่อยากจะป่วย

ฉันจึงต้องมีคาถาที่ช่วยเยียวยาชีวิตได้ล่วงลึกไปถึงจิตวิญญาณ
นั่นคือ... คำว่า “พุทโธ”

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร