Skip to main content

มันคงเป็นเรื่องเล่าที่ชวนพิศวง ฉันคงสงสัยว่ามันมีความจริงปนอยู่สักเท่าใด หากไม่ได้ถูกบันทึกไว้ด้วยมือของฉันเอง

ภาพในอดีตเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
ฉันเห็นตัวเองเกาะแน่นอยู่บนอานรถมอเตอร์ไซค์ที่ไต่ไปตามคันนาเล็กๆ คนขับชำนาญทางเป็นอย่างดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจได้ลงไปนอนแช่น้ำในผืนนากันทั้งคู่

“พี่หวาด” เป็นหมอยาพื้นบ้านและเป็นเพื่อนร่วมงานของฉัน แกทำหน้าที่เป็นสารถีรวมทั้งเป็นเนวิเกเตอร์ในการไปพบเจอกับแหล่งข้อมูล และนั่นคือที่มาของเรื่องราวที่เหลือเชื่อ ที่หลงเหลือไว้ให้ฉันหยิบจับขึ้นมาอ่านซ้ำอย่างประหลาดใจ

ไม่น่าเชื่อว่าฉันจะเคยพบเจอกับบุคคลที่มีบุคลิกพิเศษมากมาย ปัจจุบันเขาเหล่านั้นลาจากโลกนี้ไปแล้ว เหลือไว้เพียงตำนานแห่งการรักษาด้วยหัวใจและคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นหมอยาสมุนไพร หมอนวด หมอเป่าใช้คาถา หมอลำผีฟ้า หมอเหยา(หมอลำผีฟ้าของชาวภูไท) และหมอดู

การสัมภาษณ์หมอยาพื้นบ้าน โรคที่หมอพูดถึงบ่อยๆ เช่น ไข้หมากไม้ ที่ว่าถ้าไปฉีดยาแบบการแพทย์แผนใหม่คนไข้คนนั้นจะต้องตายแน่นอน หรือไข้ซางประเภทต่างๆ ของเด็กน้อยก็มีหลายซาง แม้แต่เรื่องอาการ “บวม” ก็ยังมีคำเรียกในอาการที่หลากหลาย เช่น บวมผีโพ บวมโอ๊ะโป๊ะเอ๊ะเป๊ะ บวมไข่หรือบวมเป็นจุดๆ บวมแล่นไปทั้งตัว สาเหตุการบวมอาจมาจากกินยาชุด บวมเพราะเป็นโรคตับ บวมเพราะแมลงสัตว์กัดต่อย หรืออื่นๆ ....เหล่านี้เป็นต้น

นี่คือตัวอย่างตำรับยารักษาโรคบวม ที่ฉันจดเอาไว้ ดูแล้วไม่มีอะไรพิศดารจนต้องกลัวเลยสักนิด นั่นคือ

พริกไทย 3 บาท
ดีปลี 3 บาท
กระเทียม 3 บาท
หอมแดง 3 บาท
การบูร 3 บาท
พิมเสน 3 บาท
เมนทอล 3 บาท
เจตมูลเพลิง 15 บาท
ใบผีเสื้อ 3 กำมือ
ใบเปล้า 3 กำมือ
ใบหนาดใหญ่ 3 กำมือ
ตากวง(กำแพงเจ็ดชั้น)ผง 1 ช้อนโต๊ะ
ดีน้ำตาลพอประมาณ
จันท์แดง และจันท์หอม อย่างละ 3 บาท (ใช้เวลามีไข้)
หัวข่าพอประมาณ
วิธีทำ ตากให้แห้ง บดเป็นผง
วิธีใช้ ชงน้ำร้อน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำหนึ่งถ้วย ดื่ม เช้า เที่ยง เย็น


ข้อขะลำ(ข้อห้าม) ในการรักษาโรคบวม คือ ห้ามตากฝน ห้ามกินเนื้อวัว เนื้อควาย บักฮึ(ฟักทอง) บักฟัก แฟง แตงกวา (และพืชทุกชนิดที่มีมือมีตีน) ของหมักดอง และที่สำคัญ...ที่ขะลำยาก คือ ตำบักหุ่ง (ส้มตำ)

ทีนี้ก็เป็นค่า “คาย” หรือค่ารักษา มีอยู่ว่า

ผ้าซิ่น 1 ผืน
แพรวา 1 ชิ้น
เหล้า (ขาว)1 กั๊ก
ไข่ต้ม 1 ใบ
ขันธ์ห้า (ดอกไม้ ธูป เทียน)
เงิน 6 บาท


บันทึกเก่าทำให้ฉันมีอารมณ์ยิ้มลึก เมื่อมาเจอคาถาที่ใช้ในการรักษา ปกติการถ่ายทอดตำรับยาและคาถาที่สำคัญ จะไม่ให้กันง่ายๆ คนที่ได้รับการสืบทอดคาถาจะต้องถูกตรวจสอบคุณธรรมพื้นฐาน ว่าไม่ละโมบโลภมาก ไม่เอาคาถาไปใช้แสวงหาผลประโยชน์จากคนป่วยหรือผู้ที่กำลังทุกข์ ดังนั้นคาถาที่ฉันจดมาได้คงเป็นคาถาธรรมดาเท่านั้น

นี่คือคาถาเป่า รักษาอาการบวม
โอม มะลวน มะลวน แดงฮวนๆกูเป่ากะแว่บ
โอม ปูมปา ปูมเปา ไข่หน้าแข้ง กูฝนยาทา ไข่หน้าขา กูเป่ากะแว่บ

สมุดบันทึกเล่มใหญ่ มีเรื่องราวมากมาย ที่คนบันทึกหาได้เข้าใจอะไรอย่างลึกซึ้งไม่ มาวันนี้ ฉันย้อนกลับไปมองดูอดีตอย่างเสียดาย ที่ฉันไม่ได้ขุดคุ้ยอะไรให้มากกว่านี้ เพราะบางที...โลกใหม่ ภายหลังจากหายนะของธรรมชาติ เราอาจต้องพึ่งพาความรู้เล่านี้อีกครั้ง

แต่บางกรณี ฉันคิดว่าความรู้บางอย่างได้ตายตามหมอยาไปแล้ว....

หมอยาสักลิ้นเลิกเหล้า แกบอกว่า พืชที่ใช้เป็นตัวยาหายาก ต้องไปหาจากที่ไกลๆ แม้จะเอาต้นมาปลูกไว้ข้างบ้านแต่สรรพคุณไม่เท่ากับที่เกิดธรรมชาติ และแกจะไม่ยอมให้ใครรู้จักต้น แกเล่าว่าเคยมีนายแพทย์ใหญ่จากโรงพยาบาลมาสัมภาษณ์และถ่ายรูปต้นไม้ ถึง 3 ครั้ง แกจะชี้ให้ไปถ่ายรูปต้นไม้ชนิดอื่นทุกครั้ง

แน่นอน..แม้แต่ฉันก็ไม่มีสิทธิ์ได้รู้จักมัน

ยี่สิบปีผ่านไป หมดยุคของไข้บวม ไข้หมากไม้ ไข้ป้าง ไข้ซาง เข้าสู่ยุคโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันสูง ผู้คนหลั่งไหลไปรับการรักษาจากโรงพยาบาล แต่ละคนมียากินประจำมื้อราวกับอาหารหวาน จึงดูเหมือนว่าเราสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกัน เรามีโอกาสที่จะเข้าใกล้ความตายได้ง่ายขึ้นด้วย นั่นคือความตายที่มาจากภัยพิบัติ

อา...จบสิ้นแล้วการรักษา ยุคค่าคาย 3 บาท 6 บาท มาสู่ 20 บาท รักษาทุกโรค หมดสิ้นแล้วคาถารักษาโรคแม้อาจหลงเหลือน้ำมือที่มีคุณธรรมอยู่บ้าง แต่เวลาที่ใช้ในการตรวจคนไข้ของนายแพทย์ เฉลี่ยแค่ไม่กี่นาทีต่อคน คิดแล้วใจหาย จนไม่อยากจะป่วย

ฉันจึงต้องมีคาถาที่ช่วยเยียวยาชีวิตได้ล่วงลึกไปถึงจิตวิญญาณ
นั่นคือ... คำว่า “พุทโธ”

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล