มันคงเป็นเรื่องเล่าที่ชวนพิศวง ฉันคงสงสัยว่ามันมีความจริงปนอยู่สักเท่าใด หากไม่ได้ถูกบันทึกไว้ด้วยมือของฉันเอง
ภาพในอดีตเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว
ฉันเห็นตัวเองเกาะแน่นอยู่บนอานรถมอเตอร์ไซค์ที่ไต่ไปตามคันนาเล็กๆ คนขับชำนาญทางเป็นอย่างดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจได้ลงไปนอนแช่น้ำในผืนนากันทั้งคู่
“พี่หวาด” เป็นหมอยาพื้นบ้านและเป็นเพื่อนร่วมงานของฉัน แกทำหน้าที่เป็นสารถีรวมทั้งเป็นเนวิเกเตอร์ในการไปพบเจอกับแหล่งข้อมูล และนั่นคือที่มาของเรื่องราวที่เหลือเชื่อ ที่หลงเหลือไว้ให้ฉันหยิบจับขึ้นมาอ่านซ้ำอย่างประหลาดใจ
ไม่น่าเชื่อว่าฉันจะเคยพบเจอกับบุคคลที่มีบุคลิกพิเศษมากมาย ปัจจุบันเขาเหล่านั้นลาจากโลกนี้ไปแล้ว เหลือไว้เพียงตำนานแห่งการรักษาด้วยหัวใจและคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นหมอยาสมุนไพร หมอนวด หมอเป่าใช้คาถา หมอลำผีฟ้า หมอเหยา(หมอลำผีฟ้าของชาวภูไท) และหมอดู
การสัมภาษณ์หมอยาพื้นบ้าน โรคที่หมอพูดถึงบ่อยๆ เช่น ไข้หมากไม้ ที่ว่าถ้าไปฉีดยาแบบการแพทย์แผนใหม่คนไข้คนนั้นจะต้องตายแน่นอน หรือไข้ซางประเภทต่างๆ ของเด็กน้อยก็มีหลายซาง แม้แต่เรื่องอาการ “บวม” ก็ยังมีคำเรียกในอาการที่หลากหลาย เช่น บวมผีโพ บวมโอ๊ะโป๊ะเอ๊ะเป๊ะ บวมไข่หรือบวมเป็นจุดๆ บวมแล่นไปทั้งตัว สาเหตุการบวมอาจมาจากกินยาชุด บวมเพราะเป็นโรคตับ บวมเพราะแมลงสัตว์กัดต่อย หรืออื่นๆ ....เหล่านี้เป็นต้น
นี่คือตัวอย่างตำรับยารักษาโรคบวม ที่ฉันจดเอาไว้ ดูแล้วไม่มีอะไรพิศดารจนต้องกลัวเลยสักนิด นั่นคือ
พริกไทย 3 บาท
ดีปลี 3 บาท
กระเทียม 3 บาท
หอมแดง 3 บาท
การบูร 3 บาท
พิมเสน 3 บาท
เมนทอล 3 บาท
เจตมูลเพลิง 15 บาท
ใบผีเสื้อ 3 กำมือ
ใบเปล้า 3 กำมือ
ใบหนาดใหญ่ 3 กำมือ
ตากวง(กำแพงเจ็ดชั้น)ผง 1 ช้อนโต๊ะ
ดีน้ำตาลพอประมาณ
จันท์แดง และจันท์หอม อย่างละ 3 บาท (ใช้เวลามีไข้)
หัวข่าพอประมาณ
วิธีทำ ตากให้แห้ง บดเป็นผง
วิธีใช้ ชงน้ำร้อน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำหนึ่งถ้วย ดื่ม เช้า เที่ยง เย็น
ข้อขะลำ(ข้อห้าม) ในการรักษาโรคบวม คือ ห้ามตากฝน ห้ามกินเนื้อวัว เนื้อควาย บักฮึ(ฟักทอง) บักฟัก แฟง แตงกวา (และพืชทุกชนิดที่มีมือมีตีน) ของหมักดอง และที่สำคัญ...ที่ขะลำยาก คือ ตำบักหุ่ง (ส้มตำ)
ทีนี้ก็เป็นค่า “คาย” หรือค่ารักษา มีอยู่ว่า
ผ้าซิ่น 1 ผืน
แพรวา 1 ชิ้น
เหล้า (ขาว)1 กั๊ก
ไข่ต้ม 1 ใบ
ขันธ์ห้า (ดอกไม้ ธูป เทียน)
เงิน 6 บาท
บันทึกเก่าทำให้ฉันมีอารมณ์ยิ้มลึก เมื่อมาเจอคาถาที่ใช้ในการรักษา ปกติการถ่ายทอดตำรับยาและคาถาที่สำคัญ จะไม่ให้กันง่ายๆ คนที่ได้รับการสืบทอดคาถาจะต้องถูกตรวจสอบคุณธรรมพื้นฐาน ว่าไม่ละโมบโลภมาก ไม่เอาคาถาไปใช้แสวงหาผลประโยชน์จากคนป่วยหรือผู้ที่กำลังทุกข์ ดังนั้นคาถาที่ฉันจดมาได้คงเป็นคาถาธรรมดาเท่านั้น
นี่คือคาถาเป่า รักษาอาการบวม
โอม มะลวน มะลวน แดงฮวนๆกูเป่ากะแว่บ
โอม ปูมปา ปูมเปา ไข่หน้าแข้ง กูฝนยาทา ไข่หน้าขา กูเป่ากะแว่บ
สมุดบันทึกเล่มใหญ่ มีเรื่องราวมากมาย ที่คนบันทึกหาได้เข้าใจอะไรอย่างลึกซึ้งไม่ มาวันนี้ ฉันย้อนกลับไปมองดูอดีตอย่างเสียดาย ที่ฉันไม่ได้ขุดคุ้ยอะไรให้มากกว่านี้ เพราะบางที...โลกใหม่ ภายหลังจากหายนะของธรรมชาติ เราอาจต้องพึ่งพาความรู้เล่านี้อีกครั้ง
แต่บางกรณี ฉันคิดว่าความรู้บางอย่างได้ตายตามหมอยาไปแล้ว....
หมอยาสักลิ้นเลิกเหล้า แกบอกว่า พืชที่ใช้เป็นตัวยาหายาก ต้องไปหาจากที่ไกลๆ แม้จะเอาต้นมาปลูกไว้ข้างบ้านแต่สรรพคุณไม่เท่ากับที่เกิดธรรมชาติ และแกจะไม่ยอมให้ใครรู้จักต้น แกเล่าว่าเคยมีนายแพทย์ใหญ่จากโรงพยาบาลมาสัมภาษณ์และถ่ายรูปต้นไม้ ถึง 3 ครั้ง แกจะชี้ให้ไปถ่ายรูปต้นไม้ชนิดอื่นทุกครั้ง
แน่นอน..แม้แต่ฉันก็ไม่มีสิทธิ์ได้รู้จักมัน
ยี่สิบปีผ่านไป หมดยุคของไข้บวม ไข้หมากไม้ ไข้ป้าง ไข้ซาง เข้าสู่ยุคโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันสูง ผู้คนหลั่งไหลไปรับการรักษาจากโรงพยาบาล แต่ละคนมียากินประจำมื้อราวกับอาหารหวาน จึงดูเหมือนว่าเราสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกัน เรามีโอกาสที่จะเข้าใกล้ความตายได้ง่ายขึ้นด้วย นั่นคือความตายที่มาจากภัยพิบัติ
อา...จบสิ้นแล้วการรักษา ยุคค่าคาย 3 บาท 6 บาท มาสู่ 20 บาท รักษาทุกโรค หมดสิ้นแล้วคาถารักษาโรคแม้อาจหลงเหลือน้ำมือที่มีคุณธรรมอยู่บ้าง แต่เวลาที่ใช้ในการตรวจคนไข้ของนายแพทย์ เฉลี่ยแค่ไม่กี่นาทีต่อคน คิดแล้วใจหาย จนไม่อยากจะป่วย
ฉันจึงต้องมีคาถาที่ช่วยเยียวยาชีวิตได้ล่วงลึกไปถึงจิตวิญญาณ
นั่นคือ... คำว่า “พุทโธ”