Skip to main content

นักศึกษาอเมริกันกลุ่มหนึ่งเพิ่งกลับมาจากการลงภาคสนาม ฉันถามว่าพวกเขาพบชาวบ้าน ‘เสื้อแดง’ บ้างไหม ? หลายคนทำหน้าตาเลิ่กลั่กตอบว่าไม่แน่ใจ  แต่นักศึกษาชายคนหนึ่งยกมือตอบว่า “คนที่ผมไปคุยด้วยบอกว่าเขาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยแต่ไม่แน่ใจว่าเขาเป็น ‘เสื้อแดง’ หรือเปล่า”

นักศึกษาเหล่านี้เพิ่งไปค้างคืนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคอีสานเพื่อศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ พวกเขาถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งไปอยู่กับชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์ และอีกกลุ่มหนึ่งไปอยู่กับชาวบ้านที่ไม่ทำเกษตรอินทรีย์ พวกเขาเรียนรู้วิธีการจัดการฟาร์ม วิถีชีวิตชาวบ้าน และเหตุผลในการเลือกหรือไม่เลือกการทำเกษตรอินทรีย์

ฉันพบว่านักศึกษากลับมาจากสนามพร้อมกับความเข้าใจในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างดี แถมด้วยความประทับใจกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนชนบท แต่ความเข้าใจของพวกเขายังไม่ได้เชื่อมโยงกับเรื่องของเศรษฐกิจการเมืองในสังคมไทยใด ๆ เลย นักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักแม้กระทั่งว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่นักพัฒนาเอกชนที่จัดการดูแลการลงภาคสนามก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองระดับชาติหรืออื่นใด นอกจากปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ซึ่งเกี่ยวพันกับนโยบายของรัฐบาลและกฎหมายที่กำกับควบคุมพื้นที่

ฉันถามเจ้าหน้าที่ที่พาลงภาคสนามว่าในจังหวัดนั้นพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้ง เขาตอบว่าพรรคเพื่อไทย เขายังบอกด้วยว่าพอจะเดาได้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็น ‘เสื้อแดง’

---

ในทำนองเดียวกัน ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือ ฉันไปสัมภาษณ์น้องสาวที่ทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เป็นเวลานับสิบปี ถามเธอว่าในหมู่บ้านมี “คนเสื้อแดง” มากแค่ไหน เธอว่าไม่ค่อยมี หรืออาจมี...ไม่แน่ใจ...

น้องสาวคนนี้ความจริงเกิดและเติบโตในหมู่บ้าน แต่ออกไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อื่น ก่อนที่จะกลับไปทำงานที่บ้านด้วยการสนับสนุนขององค์กรพัฒนาเอกชน หมู่บ้านของเธอได้รับการกล่าวถึงในแวดวงการพัฒนาในฐานะหมู่บ้านที่ “จัดการตนเอง” ได้เป็นอย่างดี มีระบบเศรษฐกิจพอเพียง และทำเกษตรอินทรีย์ระดับ “แถวหน้า”  มีผู้นำชุมชนหลายคนที่ได้รับการยกย่องในฐานะปราชญ์ด้านการเกษตรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

เมื่อถามว่าความคิดทางการเมืองของคนในหมู่บ้านนั้นเป็นอย่างไร น้องตอบว่าชาวบ้านไม่ค่อยสนใจการเมืองระดับชาติมากนัก แต่พวกเขามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนด้วยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีกลุ่มและองค์กรต่าง ๆ ที่ชาวบ้านจัดกันตั้งขึ้นมาเอง มีนักพัฒนาและผู้อาวุโสในชุมชนเป็นที่ปรึกษา มี “ผู้ใหญ่” เป็นกำลังหลักในการบริหารจัดการกิจการต่าง ๆ และมี “คนรุ่นใหม่” เป็นกำลังสำคัญในการทำงานและเตรียมสืบทอดกิจการจากผู้ใหญ่ แค่นั้นก็เหมือนจะ “พอแล้ว” สำหรับความเป็นประชาธิปไตยในชุมชนของเธอ ซึ่งสำหรับเธอประชาธิปไตย หมายถึง “การมีส่วนร่วม” ในการบริหารจัดการชุมชนของตนเอง โดยที่ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่อย่างพอเพียง และมีความสุข

น้องบอกว่าแต่ละวัน นอกจากทำงานในชุมชนแล้ว เธอก็ติดต่อกับเพื่อน ๆ นอกชุมชนผ่านทางอินเตอร์เน็ต เธอชอบดูทีวีเฉพาะรายการสารคดีและรายการอื่น ๆ ในช่อง TPBS และเดินทางออกไปนอกชุมชนบ้างเมื่อจำเป็นต้องติดต่องาน ซื้อของ หรือไปเที่ยว เมื่อพูดคุยกัน สังเกตได้ว่าเรื่องราวและภาษาที่น้องใช้ไม่แตกต่างจากเนื้อหาและถ้อยคำที่มักได้ยินจากนักพัฒนาจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าน้องเองก็มีอาชีพเป็น “นักพัฒนา” แม้จะเป็นลูกสาวชาวบ้าน แต่เธอก็เติบโตมาในแวดวงนี้โดยมีพ่อเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องจากแวดวงการพัฒนาเช่นกัน

กระนั้นก็ตาม น้องเล่าข้อเท็จจริงว่าหลายสิบปีที่มีการส่งเสริมเกษตรยั่งยืนในชุมชนแห่งนี้ อัตราการขยายตัวของพื้นที่เกษตรและผู้ทำเกษตรยั่งยืนนั้นต่ำมาก ขณะที่ในปัจจุบันคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านรุ่นราวคราวเดียวกับเธอนับสิบคนออกจากหมู่บ้านไปทำงานโรงงานในประเทศไต้หวัน และเกาหลี เพราะเป็นหนทางสร้างรายได้ที่ดีกว่าการทำเกษตรหรือหางานทำในเมืองไทย เธอว่าคนในหมู่บ้านคิดไม่เหมือนกัน  คนที่ยังไม่ “พอเพียง” ยังมีอีกมาก และคนที่มีหนี้มีสินก็มีไม่น้อย

เมื่อถามวกกลับไปถึงผลการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมาน้องบอกว่าคนส่วนใหญ่ในตำบลลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย ทั้ง ๆ ที่เธอคิดว่าชาวบ้านไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองมากนัก แต่เมื่อฉันได้ถามป้าคนหนึ่งในร้านก๋วยเตี๋ยวในหมู่บ้านแห่งนี้ว่าชอบดูทีวีช่องไหน ป้าตอบว่าดูทุกช่อง แต่ชอบ “ช่องเสื้อแดง” เป็นพิเศษ นอกจากนั้นป้ายังเอ่ยถึงชื่อพิธีกรรายการต่าง ๆ ในทีวีช่องดังกล่าว และชื่อแกนนำของขบวนการเสื้อแดงที่เธอชื่นชอบอีกด้วย

 ---

จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาชี้ชัดว่าในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ชาวบ้าน” ส่วนใหญ่เป็น “คนเสื้อแดง” หรือไม่ก็สนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่มีข้อสังเกตจากคนในแวดวงนักพัฒนาเอกชนว่านักพัฒนาในพื้นที่เหล่านี้โดยส่วนใหญ่หรือจำนวนมาก (แต่ไม่ทั้งหมด) “เป็นเสื้อเหลือง” หรือไม่ก็ “ไม่ชอบเสื้อแดง” ด้วยหลายเหตุผล เช่น ไม่ชอบนโยบายประชานิยมที่สนับสนุนทุนนิยม ไม่ชอบทักษิณที่เป็นนักธุรกิจการเมือง ไม่ชอบการคอรัปชั่น หรือชอบนโยบายบางอย่างของพรรคประชาธิปไตยมากกว่าและเชื่อว่าสามารถเจรจาต่อรองกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อผลักดันนโยบายที่ต้องการได้ง่ายกว่า หรืออื่น ๆ อีกมากมายหลายเหตุผล นอกจากนักพัฒนาแล้วพบว่าแกนนำชาวบ้านบางส่วนที่ใกล้ชิดกับนักพัฒนาก็มีแนวคิดในทำนองเดียวกันกับนักพัฒนาด้วยเช่นกัน

ในสายตาของนักพัฒนาที่สนับสนุนแนวทางวัฒนธรรมชุมชน การที่ชาวบ้านรากหญ้าชื่นชอบนโยบายประชานิยม และการพัฒนาในทางวัตถุตามวิถีทุนนิยม อาจดูขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับการอนุรักษ์ป่า การทำเกษตรยั่งยืน และการมีวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง แต่สำหรับชาวบ้านผู้เป็นหัวใจของกระบวนการพัฒนานั้นเล่าคิดอย่างไร? ทางเลือกในการดำเนินชีวิตอาจไม่สุดขั้วขาว-ดำแบบนั้น และอาจมีผู้ที่เห็นว่านโยบายประชานิยม หรือการพัฒนาแบบทุนนิยมนั้นมัน “เวิร์ค” สำหรับพวกเขา หรือแต่ละทางเลือกอาจไปด้วยกันได้ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง จากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ฉันเคยเล่าไปแล้วในข้อเขียนก่อนหน้านี้ (http://blogazine.in.th/blogs/noname/post/3970) ในฐานะเกษตรกรตัวอย่างในการทำเกษตรอินทรีย์และมีวิถีชีวิตแบบพอเพียง บอกกับฉันว่าแกชอบนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลปัจจุบันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านจะไม่โกงรัฐบาลด้วยการนำผลผลิตคุณภาพต่ำไปจำนำ นโยบายนี้จะเป็นนโยบายที่ดีต่อส่วนรวมและเกิดประโยชน์กับชาวนาอย่างมาก ในรอบการผลิตที่ผ่านมาลุงทองเหมาะเองก็เอาผลผลิตข้าวที่ปลูกได้ไปเข้าโครงการจำนำข้าวเต็มอัตราด้วยเหมือนกัน ส่วนข้าวที่เหลือในปริมาณเกินโควตารับจำนำ ลุงเก็บไว้สีเพื่อขายให้แก่โรงพยาบาลหรือแหล่งจำหน่ายอื่น ๆ

ไม่ว่าจะระบบเกษตรแบบไหน การจัดการป่าอย่างไร หรือระบบเศรษฐกิจแบบใด การมีชีวิตที่กินดีอยู่ดี มีความสะดวกสบาย รวมถึงมีหน้ามีตา (มีศักดิ์ศรี) ทัดเทียมกับคนอื่นในสังคม ยังเป็นความต้องการพื้นฐานของคนทั่วไป ไม่จำกัดว่าจะเป็นเศรษฐี มนุษย์เงินเดือนระดับกลาง ๆ หรือชาวไร่ชาวนาที่มีรายได้เป็นรายปี ชีวิตที่กินดีอยู่ดีสัมพันธ์อย่างไรกับการเมืองระดับชาติ นโยบายรัฐบาล  การเลือกตั้ง และพรรคการเมืองที่ประชาชนนิยมชมชอบ เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนเกินไปนักหากจะวิเคราะห์เชื่อมโยงและทำความเข้าใจ

ข้อเขียนนี้ไม่ได้จะถกเถียงว่าทำไมนักพัฒนาจึงเป็น “เสื้อเหลือง”  หรือทำไมชาวบ้านจำนวนมากจึงเป็น “เสื้อแดง” หรือ “เหลืองกับแดงอะไรดีกว่ากัน” เพียงแค่อยากจะเล่าเรื่องที่ได้พบและได้ยินมาซึ่งเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงการพัฒนา ข้อสังเกตที่น่าคิดก็คือว่าเหตุใดการทำงานพัฒนาตามแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็น “องค์รวม” หรือมีลักษณะบูรณาการ  จึงละเว้นที่จะทำความเข้าใจความคิดและชีวิตทางการเมืองของชาวบ้านผู้เป็น “ศูนย์กลาง” ของการพัฒนา

แม้ว่านักพัฒนาส่วนใหญ่ไม่ได้คับแคบเกินไปจนดูแคลนหรือกีดกันชาวบ้านที่เป็น “เสื้อแดง” ออกจากกระบวนการทำงานของตน แต่พบว่าการทำงานในลักษณะ “ตัดตอน”  เป็นเรื่อง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร การจัดการทรัพยากร หรือด้านอื่น ๆ  โดยไม่เชื่อมโยงกับชีวิตทางการเมืองของชาวบ้าน ซึ่งไม่เพียงมองไม่เห็น หรือเลือกไม่มอง แต่ยังบดบังไม่ให้คนอื่นมองเห็นด้วยการเลือกไม่นำเสนอเรื่องดังกล่าวสู่สาธารณะ รังแต่จะทำให้การคิดค้นและนำเสนอทางเลือกของการพัฒนามีข้อจำกัด และยังอาจไปปิดกั้นแนวทางที่ชาวบ้านเห็นว่าดีสำหรับตนเองและอยากจะเลือก แต่นักพัฒนาเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ “ไม่เวิร์ค”

ฉันว่าก่อนที่จะเสนอทางเลือกอะไรให้แก่ชาวบ้าน นักพัฒนาอาจต้องเริ่มจากการมองให้เห็นเสียก่อนว่าชาวบ้านที่พวกเขาทำงานอยู่ด้วยนั้นเป็นคนธรรมดาที่มีตัวตนอยู่จริงในโลกใบนี้ มีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเอง และมีชีวิตทางการเมืองด้วยเช่นกัน พวกเขาไม่ใช่มนุษย์ในอุดมคติที่ “ควร” จะทำแต่ในสิ่งที่คนอื่นเห็นว่า “ดี” หรือ “ชอบ” เท่านั้น

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า