เวลาพูดถึงลูกจ้างที่ถูกบังคับควบคุมเรามักนึกถึงคนหน้าตาบูดบึ้ง หรือไม่ก็เฉยชาไร้อารมณ์ความรู้สึก เวลาพูดถึง “แรงงาน” ที่ถูกกดขี่เรามักถึงคนงานในโรงงานที่ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ ได้รับค่าแรงน้อย ทำงานซ้ำซากจำเจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
แต่เราอาจไม่ค่อยนึกกันว่าพนักงานโรงแรมหรูที่หน้าตาสะสวยยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลานั้นก็เป็น “แรงงาน” ประเภทหนึ่งที่ถูกบังคับควบคุม ถูกเปลี่ยนจากคนที่มีชีวิตจิตใจให้กลายเป็นหุ่นยนต์ที่ต้องยิ้มเสมอไม่ว่าตนเองกำลังรู้สึกนึกคิดสิ่งใดอยู่
สายลับในโรงแรม
“น้ำหวาน” (นามสมมติ) นักศึกษาหญิงในระดับปริญญาตรีคนหนึ่งได้แฝงตัวเข้าไปฝึกงานในโรงแรมห้าด้าวกลางกรุงเทพมหานคร เธอได้รับตำแหน่งพนักบริการในห้องอาหารสุดหรูที่ให้บริการเฉพาะแขกของผู้บริหารโรงแรม หรือแขกวีไอพีที่ซื้อแพ็คเกจที่พักและบริการในราคาพิเศษสุด แม้จะไม่ได้เรียนเกี่ยวกับการโรงแรมมาโดยตรงแต่เธอก็ถูกเรียกร้องให้ทำหน้าที่แบบ “มืออาชีพ” แต่งหน้าทำผมและสวมเครื่องแบบเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไป โดยจะต้องไม่มีแขกคนใดล่วงรู้ได้เลยว่าเธอเป็นนักศึกษาฝึกงานหากไม่มองไปที่ป้ายชื่อเล็ก ๆ ที่หน้าอกซึ่งติดคำว่า “Trainee”
สำหรับพนักงานโรงแรมทั่วไปที่อยู่ในบทบาทหน้าที่นั้น สิ่งที่ทำอยู่เป็นการ “ทำงาน” ซึ่งไม่ว่าจะชอบใจแค่ไหนก็ตามพวกเขาและเธอเป็นผู้เลือกมาทำงานนี้โดยได้รับค่าตอบแทนซึ่งตนคิดคำนวณแล้วว่ามันคุ้มค่า แต่น้ำหวานเป็นนักศึกษาฝึกงาน ยังไม่ใช่ “แรงงาน” ภายใต้ระบบนี้อย่างเต็มตัว เธอรับบทบาทนี้โดยไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ นอกจากข้อมูลที่จะนำไปเขียนรายงานวิจัย และใบรับรองจากโรงแรมว่าผ่านการฝึกงาน สถานะของน้ำหวานจึงก้ำกึ่งระหว่างการเป็นคนในและคนนอก เธอไม่อยากอยู่ภายใต้กฎกติกาบางอย่างแต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธกฎกติกาเหล่านั้นได้ สภาวะเช่นนี้ได้ทำให้น้ำหวานมีข้อสังเกต มีคำถาม และได้เรียนรู้มากมาย
ร่างกายภายใต้บงการ
ปลาบปลื้มกับเครื่องแบบพนักงานสง่างามราวกับชุดแอร์โฮสเตสได้เพียงวันเดียว น้ำหวานก็เริ่มขัดข้องใจ “ใครจะสวยอยู่ได้ตลอดเวลาวะ” เธอเริ่มบ่นในใจ เมื่อพนักงานรุ่นพี่ในแผนกบอกให้เธอไปเติมลิปสติกบนริมฝีปากที่เริ่มซีดจาง อันที่จริงเมื่ออยู่มหาวิทยาลัยหรือไปไหน ๆ น้ำหวานก็แต่งหน้าไปเรียนอยู่แล้ว แต่การแต่งหน้าที่ว่า "เยอะ" ของเธอก็ยังไม่มากพอสำหรับที่นี่
“เมืองไทยเป็นแลนด์ออฟสไมล์ เลยคิดว่าฉันต้องยิ้มได้ตลอดเวลาเลยเหรอวะ ฉันจะต้องยิ้มกว้างขนาดไหนถึงจะพอใจ” เธอบ่นในใจอีกเมื่อลูกค้าบ่นว่ายังยิ้มไม่กว้างพอ
จากนักศึกษาที่มีชีวิตค่อนข้างอิสระ น้ำหวานเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมวินัยในทุกอิริยาบถ เธอกำหนดไม่ได้แม้แต่สีลิปสติกบนริมฝีปากของตนเอง “เขาห้ามทาสีแดงแจ๊ด ดูไม่เป็นมิตร” น้ำหวานจึงต้องเลือกสีที่อ่อนแต่ต้องทาให้หนาเข้มเข้าไว้ สองสามวันผ่านไปเธอยังคงบ่นไม่เลิก “ลิปติกจะหมดแท่งอยู่แล้วเนี่ย”
“ทำงานแบบนี้ได้เงินเดือนเท่าไรกัน (วะ)” น้ำหวานสงสัยและเริ่มสืบเสาะ เมื่อเธอจำเป็นต้องลงทุนซื้อรองเท้าคู่ใหม่ในราคาสองพันบาทเพราะทนปวดเท้าไม่ไหวและมีอาการเมื่อยล้าจากการยืนอยู่บนรองเท้าส้นสูงเกือบสิบชั่วโมงในแต่ละวัน
น้ำหวานสังเกตว่าพนักงานส่วนใหญ่ในแผนกใช้กระเป๋า-รองเท้าแบรนด์เนม ซึ่งเมื่อลองพูดคุยเรื่องนี้ พวกพนักงานบอกว่าการใช้สิ่งของแบรนด์เนมเป็นเรื่องธรรมดา ๆ สำหรับพนักงานอย่างพวกเธอ พนักงานส่วนใหญ่พูดถึงหน้าที่การงานของตนเองอย่างภาคภูมิใจ แต่น้ำหวานไม่ค่อยแน่ใจนักว่าพนักงานพึงพอใจกับงานจริง ๆ สำหรับน้ำหวานงานที่ทำอยู่ทั้งหนักและเหนื่อย นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าสังเกตว่าพนักงานในแผนกส่วนใหญ่มีอายุน้อย และมีอายุงานไม่นานนัก บางคนเพิ่งเริ่มงานได้เพียงสองเดือนและอีกหลายคนมีแผนจะไปสมัครงานที่อื่น เพียงไม่กี่วันจากนั้นน้ำหวานก็เริ่มสังเกตเห็นความลักลั่นบางอย่าง
“fake นะ fake กันทั้งนั้น แบกถาดอาหารหนักจะตาย ยังต้องเดินให้สวย ยิ้มเข้าไว้ ฮ่า ๆ ๆ “ น้ำหวานเริ่มสนุกสนานกับการเฝ้าสังเกต
ทุกอย่างในห้องอาหารแห่งนี้ต้องพิเศษไปเสียทั้งหมด แม้แต่ศัพท์แสงที่ใช้กัน พนักงานนิยมใช้ภาษาอังกฤษเรียกชื่ออาหารในการสื่อสารระหว่างพนักงานด้วยกันเอง หรือไม่ก็ใช้ในลักษณะไทยคำอังกฤษคำ ทั้ง ๆ ที่คำบางคำไม่ใช่ศัพท์เทคนิคแต่เป็นศัพท์ง่าย ๆ อย่างคำว่า “ไข่ต้ม” หรือแม้แต่คำว่า “กับ” ก็ใช้คำว่า with โดยไม่พูดเป็นภาษาไทย น้ำหวานคิดว่านั่นอาจเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการทำให้พนักงาน “ดูดี” สมฐานะห้องอาหาร เหตุผลอย่างหนึ่งที่น้ำหวานได้มารับหน้าที่ในแผนกนี้ก็เพราะเธอสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี แต่เธอบอกว่าภาษาอังกฤษที่นี้ใช้คำพื้น ๆ แค่ทักทาย มีบทสนทนาง่าย ๆ และรับออร์เดอร์ได้เป็นพอ และไม่แน่ว่าพนักงานทุกคนจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เธอพบว่าครั้งหนึ่งกุ๊กขอให้เธอสอนคำศัพท์ให้เพราะทำอาหารผิดด้วยความสับสนระหว่างคำว่า “ไข่ลวก” กับ”ไข่ต้ม” ที่พนักงานสั่งเป็นภาษาอังกฤษ
“ใช้ของแบรนด์เนม แต่ใช้เครื่องสำอางยี่ห้อ....เนี่ยนะ” น้ำหวานเอ่ยยี่ห้อเครื่องสำอางราคาถูกที่โฆษณาขายตามโทรทัศน์ เธอทราบมาอีกว่าพนักงานส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถเมล์ไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว นั่นยิ่งทำให้น้ำหวานสงสัยอัตราค่าตอบแทนของพนักงานในแผนก
การสืบเสาะในเบื้องต้นทำให้ทราบว่าพนักงานในแผนกที่เธอทำงานอยู่ได้รับค่าตอบแทนเริ่มต้นที่หนึ่งหมื่นเศษ หากบวกเซอร์วิสชาร์จและทิปที่นำมารวมแล้วแบ่งกัน พนักงานแต่ละคนในแผนกมีรายได้เกือบสองหมื่นบาทต่อเดือน เธอคิดว่าอัตราค่าตอบแทนดังกล่าวไม่น่าจะคุ้มกับค่าครองชีพในกรุงเทพฯและดูไม่สมเหตุสมผลกับการใช้สินค้าแบรนด์เนม แต่เม็ดเงินก็อาจไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้พนักงานเลือกมาทำงานที่นี่ และจำนวนรายได้ก็ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับค่าแอสเซสเซอรี่ของพวกเธอ
โรงแรมมีข้อกำหนดว่าห้ามนำเครื่องแบบออกจากโรงแรม พนักงานจึงไม่จำเป็นต้องแต่งตัวสวยมาจากบ้าน ในบางเช้าน้ำหวานพบพนักงานเข้าโรงแรมมาด้วยหน้าตา “อย่างกะศพ” ใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ลากรองเท้าแตะ แต่ก็มา “ทำสวย” ที่โรงแรม ด้วยการแต่งหน้าทาปาก ทำผมตามแบบที่โรงแรมกำหนด และเมื่อเสร็จสิ้นเวลาทำงานพวกเธอจะถอดเครื่องแบบ มีแม่บ้านเก็บไปซักรีดเตรียมไว้สำหรับวันถัดไป ดังนั้น เมื่อพ้นจากรั้วโรงแรมก็แทบไม่มีบุคคลภายนอกทราบได้เลยว่าพวกเขาและเธอเป็นพนักงานของโรงแรมแห่งนี้
นอกเหนือจากเสื้อผ้าหน้าผมที่เป็นข้อกำหนดแล้ว พนักงานทุกคนในแผนกถูกกำหนดให้สวมเครื่องรับสัญญาณมีลักษณะเหมือนนาฬิกาข้อมืออันโต เมื่อแขกกำลังเดินมายังห้องอาหารจะมีผู้กดส่งสัญญาณ เครื่องที่ข้อมือจะสั่นและมีตัวเลขของประตูแสดงที่หน้าปัดแจ้งให้พนักงานเตรียมพร้อมสำหรับการทักทายและให้บริการแขก “นาฬิกาแจ้งเตือนมันใหญ่ก็ใหญ่ ไม่สวย และเกะกะมาก” บางครั้งมีแขกถามว่าทำไมพนักงานที่นี่จึงใส่นาฬิกาสองเรือนซ้อนกัน “เหมือนคนบ้า” น้ำหวานบ่นขำ ๆ
มารยาทผู้ดี
พนักงานในห้องอาหารถูกฝึกให้พูดกับแขกเพียงเบา ๆ แบบที่ต้องเข้าไปกระซิบใกล้ ๆ เพื่อไม่ให้รบกวนแขกโต๊ะอื่น และต้องยิ้มแย้มตลอดเวลา ห้ามพูดปฏิเสธไม่ว่ากรณีใด ๆ หากว่าไม่สามารถทำตามความต้องการของแขกได้พนักงานต้องเสนอทางเลือกอื่น ๆ และห้ามพูดคำว่า “ไม่ได้” อย่างเด็ดขาด แขกที่มาใช้บริการมีทั้งที่ใจดีและเรื่องมากเป็นธรรมดา สำหรับพวกเขาจำนวนเงินที่จ่ายไม่ใช่สาระสำคัญ แต่อย่างไรเสียก็จะต้องได้รับบริการพิเศษสมกับราคาที่จ่ายไป
“แค่รินโค้กให้ เขาจ่ายทิปมาหนึ่งร้อย จะรวยกันไปไหน” น้ำหวานมาจากครอบครัวฐานะดีมาก แต่เธอยังคงไม่เข้าใจวิธีการใช้เงินของแขกโรงแรม
เช้าวันหนึ่งก่อนออกจากบ้าน น้ำหวานชมข่าวเช้าที่รายงานว่าในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสานมีคนยากจนถึงกับต้องกินเนื้อสุนัข และเที่ยงวันนั้นเองเธอได้บริการครอบครัวนักธุรกิจเจ้าของโรงแรมซึ่งละเมียดละไมรับประทานอาหารด้วยกริยามารยาทแบบคนชั้นสูง น้ำหวานหงุดหงิดกับสิ่งทีได้เห็น และตระหนักชัดถึงความเหลื่อมล้ำและแตกต่างราวฟ้ากับเหวของผู้คนในสังคม
น้ำหวานบอกว่าอาหารในห้องอาหารดูเลิศหรูก็จริง แต่รสชาติไม่ได้เอร็ดอร่อยสักเท่าไร เธอชิมแล้วแทบทุกอย่างเพราะพนักงานได้รับอนุญาตให้ชิมอาหารได้ แต่ต้องรับประทานข้างหลังไม่ให้แขกเห็น รสชาติอาหารไม่น่าสนใจเท่ากับกิริยามารยาทของแขกที่มารับประทานอาหาร แขกบางคนมาดื่มกาแฟ จิบเพียงหนึ่งครั้งแล้วทอดสายตาผ่านกระจกใสออกไปชมทัศนียภาพนอกอาคารนานนับสิบนาทีก่อนจะกลับมาดื่มจิบต่อไป “เวลาของพวกเขาคงมีมากมายกันเสียจริง ๆ” น้ำหวานคิด การเคลื่อนไหวในห้องอาหารเนิบนาบและเนิ่นช้าเกินกว่าความเคลื่อนไหวของโลกภายนอก “พวกผู้ดี กินข้าวกันเงียบ ๆ และกินกันช้ามาก” แต่นั่นก็มักเป็นเฉพาะ “ผู้ดี” ชาวไทย ส่วนแขกต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกส่วนใหญ่ทั้งการแต่งตัวและกริยาท่าทางดูสบาย ๆ มากกว่า
ก่อนจะชินชา
เพราะเป็นนักศึกษาฝึกงานที่ก้ำกึ่งระหว่างการเป็นคนในและคนนอก และเพิ่งเผชิญกับสภาวะนี้ไม่นาน น้ำหวานจึงมีข้อสังเกต คำถาม ความสงสัย และความรู้สึกขัดแย้งแปลกแยกกับสิ่งที่ได้พบเห็นในสนามของเธอ เธอผ่านสัปดาห์แรกของการฝึกงานอย่างขึ้งเครียด ขัดแย้ง ระคนความตลกขบขันกับสิ่งที่ได้พบเห็นในสิบชั่วโมงของแต่และวัน
แต่เมื่อถึงสัปดาห์ที่สองซึ่งสภาวะการทำงานยังคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิม เรื่องเล่าและเสียงบ่นของน้ำหวานเกี่ยวกับการฝึกงานกลับลดน้อยลงกว่าเดิมมาก “เหมือนที่อาจารย์เคยบอก เดี๋ยวก็ชิน และหนูคงเริ่มชิน ตอนนี้ก็เริ่มเป็นอัตโนมัติแล้ว เงยหน้ามาพบเจอใครก็ต้องฉีกยิ้มทันที”
ความชินชาทำให้การถูกบังคับควบคุมกลายเป็นเรื่องที่ทนได้ ยอมรับได้ และอาจกลายเป็นความธรรมดาไปในที่สุด
ในโลกความจริงการบังคับควบคุมพบได้ในทุกหนแห่ง เกิดขึ้นกับทุกคนแม้แต่กับพนักงานภายใต้เครื่องแบบหรูที่ดูสง่างามและใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลา คงมีหลายเหตุผลที่ทำให้คนเราไม่ตระหนักรู้ถึงการบังคับควบคุมที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะไม่ทันได้นึกถึง จงใจไม่นึกถึง หรือสมยอมที่จะปล่อยให้มันเป็นไปเพื่อแลกกับรายได้ ภาพลักษณ์ที่ดูดี หรือสิ่งตอบแทนอื่น ๆ ที่เราพอใจหรือคิดคำนวณดูแล้วว่ามัน “คุ้มค่า”
แต่เหตุผลเหล่านั้นก็ยังไม่อันตรายเท่ากับเหตุผลที่ว่าเรา “ชินชา” เพราะตกอยู่ภายใต้สภาวะของการถูกควบคุมนานเกินไปจนกระทั่งไม่รู้สึกอีกต่อไปว่าเรากำลังถูกควบคุม ยิ่งไปกว่านั้นเรายังอาจเห็นดีเห็นงามกับการควบคุม และกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้ระบบการควบคุมแบบนั้นทำงานได้อย่างทรงพลังมากขึ้น