Skip to main content

 

 

วันนี้ผู้เขียนต้องหอบสัมภาระระเห็จออกจากบ้าน เพราะถูกบุพการีวัยเจ็ดสิบเศษขับไล่ ท่านโกรธและด่าว่าผู้เขียนว่าใจดำไม่ยอมไปถามไถ่ว่าท่านกินยาหรือยัง  เบื้องหลังของเรื่องก็คือเมื่อวานซืนท่านโกรธและด่าว่าผู้เขียนว่าจุกจิกที่ไปคอยถามไถ่ว่าท่านกินยาหรือยัง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดในครอบครัว ผู้เขียนจำต้องล่าถอยออกมาหนึ่งก้าวซึ่งก็ไม่แน่ใจนักว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงไปกว่าเดิม

สภาวะการก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” หลอกหลอนประชากรชาวโลกและชาวไทยอย่างมาก พร้อม ๆ กับการโหมประโคมสื่อรณรงค์ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อปลูกฝังค่านิยมให้บุตรหลานกตัญญูรู้คุณบุพการี ธุรกิจห้างร้านเองก็ร่วมด้วยช่วยกันโฆษณาสินค้าแห่งความกตัญญูไม่ว่าจะเป็นซุปไก่สกัด รังนก ร้านสุกี้ที่สร้างความสุขของครอบครัว แหล่งธรรมชาติอันงดงามที่บุตรหลานควรจะพาผู้สูงอายุไปท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาล ฯลฯ

สังคมเรียกร้องให้เราดูแลพ่อแม่ให้ดี แต่สังคมกลับไม่สร้างโอกาสหรือมีเงื่อนไขเอื้อให้เราทำเช่นนั้น สังคมในที่นี้หมายถึงอะไร ๆ ได้มากมายตั้งแต่นโยบายรัฐ การรณรงค์ผลักดันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงสายตาและคำติฉินนินทาของเพื่อนบ้านที่เฝ้าจับจ้องและคอยประณามหยามเหยียดเราเมื่อทำอะไรผิดจารีตครรลอง

ยกตัวอย่างการพาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพและรับการรักษาที่สถานพยาบาลซึ่งเป็นภารกิจประจำ ผู้เขียนต้องเทียวพาพ่อแม่ไปส่งหลายโรงพยาบาลและเดือนละหลายหน ตั้งแต่การทำฟัน การตรวจตา การดูแลความดัน การดูแลสมองและระบบประสาท และติดตามผลการรักษามะเร็ง การรักษาโรคอายุรกรรมทั่วไป การไปโรงพยาบาลของรัฐแต่ละครั้งต้องใช้เวลาถึงครึ่งค่อนวัน เริ่มจากการไปนั่ง “เอาคิว” ตั้งแต่หกถึงเจ็ดโมงเช้า กว่าจะจบสิ้นกระบวนการก็ปาไปเที่ยงหรือบ่ายคล้อย นั่นหมายความว่าหากไม่สามารถลางานได้ทั้งวัน และมักจะต้องลาบ่อย ๆ เราก็ต้องปล่อยให้ท่านเดินทางไปเอง หรือไม่ก็ต้องยอมควักกระเป๋าจ่ายให้หนักกว่าเดิมสำหรับคลินิคหรือโรงพยาบาลเอกชน   
 

ชีวิตจริงที่ไม่อุดมคติ

คนที่ดูแลพ่อแม่/ผู้สูงอายุจริง ๆ (ย้ำ ดูแลจริง ๆ) จะเข้าใจได้ว่าค่านิยมเชิงอุดมคติว่าด้วยเรื่องการกตัญญูรู้คุณและครอบครัวอบอุ่นสุขสันต์ได้สร้างปัญหาและความอึดอัดขัดแย้งให้ตนเองอย่างมากมาย เพราะด้านหนึ่งเราก็อยากทำแบบที่เขาโหมประโคมโฆษณา แต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งเรากลับทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีพอเท่าที่เราอยากทำ แล้วเราก็เฝ้าแต่โบยตีตัวเองด้วยความรู้สึกผิดและเสียใจ ซ้ำร้ายไปว่านั้นบุพการีของเรายังอาจติดอยู่ในอุดมคติแบบนั้นด้วยเช่นกัน ทั้งที่เห็นมาจากสื่อทีวีบ้าง เห็นลูกหลานคนอื่นเขาทำกันบ้างซึ่งก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความเป็นจริงทั้งหมด แล้วท่านก็มาน้อยอกน้อยใจที่เราไม่ทำแบบนั้น ทั้ง ๆ ที่เราเองก็มีเหตุผลและเงื่อนไขมากมาย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เริ่มจากราคาของเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพที่เราไม่มีปัญญาซื้อ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวซึ่งเราไม่มีปัญญาจ่าย รวมไปถึงความไม่สะดวกในการเดินเหินและเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้คนหนาแน่นในช่วงเทศกาล เป็นต้น  

ผู้สูงอายุไม่ใช่มนุษย์อุดมคติแบบในสื่อโฆษณาที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี วัน ๆ  ได้แต่นั่งยิ้มแย้มรอคอยให้ลูกหลานมาเยี่ยมเยียน เพื่อน ๆ ของผู้เขียนในวัยใกล้เคียงกันกลุ้มอกกลุ้มใจกับการดูแลผู้สูงวัยในแบบเดียวกัน เพราะพ่อแม่ของพวกเรามีภาวะอารมณ์ พฤติกรรม และสุขภาพร่างกายที่ทำให้ลูกหลานจัดการดูแลได้ยาก

“ไม่ชอบเลยที่ชอบพูดกันว่าพ่อแม่ดูแลเราได้ แต่เราดูแลพ่อแม่ไม่ได้ ความจริงก็คือพ่อแม่ (เคย) ตีเราได้เมื่อเราดื้อ  แต่เราตีพ่อแม่ไม่ได้เมื่อท่านดื้อ” เพื่อนของผู้เขียนแถลง

การถดถอยของสภาพร่างกายทำให้สภาพจิตใจของผู้สูงอายุย่ำแย่ตามไปด้วย รอยต่อระหว่างการเคยเป็นผู้นำหรือมีบทบาทสำคัญในที่ทำงานและในครอบครัว กับการเป็นผู้ที่ไม่มีงานทำ (เกษียณอายุ) ไม่แคล่วคล่องในการคิดอ่านและควบคุมร่างกายตนเองได้เหมือนเดิม กลายเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุจำนวนมากยอมรับได้ยาก จากที่เคยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลคนอื่นกลายมาเป็นผู้ที่ต้องรับการดูแลทำให้ผู้สูงอายุมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว ซึมเศร้า หรือเรียกร้องความสนใจจากบุตรหลานมากขึ้นเรื่อย ๆ  

“ฉันเป็นแม่แก หรือแกเป็นแม่ฉัน” ป้าวัยแปดสิบแผดเสียงกร้าวใส่ลูกสาวซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของผู้เขียน

ลูกหลานในหลายครอบครัว รวมทั้งผู้เขียนเองเกิดปัญหาทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะเอาอกใจพ่อแม่ของตนเองอย่างไร เมื่อดูแลมากเกินไปก็ทำให้ท่านรำคาญ และรู้สึกว่าท่านกำลังถูกเราบังคับควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรแกรมพาเที่ยว หรือการจัดอาหารการกินและการดูแลสุขภาพตามหลักการทางการแพทย์ เมื่อทะเลาะเบาะแว้งกันมาก ๆ ลูกหลานก็เลือกเป็นฝ่ายยอมอยู่เฉย ๆ เพื่อรอสนองความต้องการของท่าน  ให้ท่านเป็นฝ่ายบอกเองว่าอยากทำอะไร อยากไปที่ไหน หรืออยากรับประทานอะไร  แต่เมื่อปล่อยให้ท่านทำอะไร ๆ ด้วยตนเองเช่นนั้นท่านกลับน้อยอกน้อยใจว่าเราปล่อยปละละเลยไม่ดูแล การอธิบายด้วยเหตุผลดูราวกับจะไร้ประโยชน์และไม่ช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ความอดทนไม่ปริปากต่อความยาวสาวความยืดก็ถูกเข้าใจว่าเป็นความเฉยชาและก่อปัญหาอีกแบบหนึ่ง
 

สังคมสมัยใหม่กับจังหวะที่ไม่สอดคล้องกัน

ในสังคมสมัยใหม่การทำงานนอกบ้านซึ่งมีค่าตอบแทนเป็นตัวเงินได้รับความสำคัญมากกว่าการจัดการเรื่องในบ้านซึ่งคิดมูลค่าของภาระงานได้ยาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่ในสมัยนี้ใช้เวลานอกบ้านมากกว่าในบ้าน ยิ่งไปกว่านั้นวัยที่ต้องดูแลผู้สูงอายุมักเป็นวัยที่กำลังรุ่งโรจน์ในหน้าที่การงาน ได้รับบทบาทสำคัญในหน่วยงานหรือองค์กรที่สังกัด จึงอยากทุ่มเทกับการทำงานของตน  และหลายคนมีครอบครัวใหม่ของตนเองที่ต้องดูแล ซ้ำร้ายกว่านั้นจำนวนมากยังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ หากินไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีความเครียดเรื่องอื่น ๆ รุมสุม เช่น กำลังถูกโกงธุรกิจ ลูกน้องมีปัญหา สามีกำลังมีเมียน้อย ลูกวัยรุ่นเกกมะเหรกเกเร โดดเรียน ใจแตก ฯลฯ การแบ่งเวลาเพื่อจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต และตั้งสติเพื่อรับมือกับปัญหาสารพันจึงเป็นเรื่องยากลำบากเกินจะบรรยาย

หลายคนที่ผู้เขียนรู้จักยอมสละชีวิตการทำงานเพื่ออยู่ดูแลพ่อแม่โดยมีพี่น้องท้องเดียวกันหยิบยื่นเงินทองทดแทนให้ แต่หลายครอบครัวหาทางออกแบบนั้นไม่ได้เพราะเป็นลูกคนเดียวหรือมีพี่น้องแค่หนึ่งหรือสองคนตามนโยบายวางแผนครอบครัวของรัฐซึ่งแต่ละคนก็ยังหากินไม่พอเลี้ยงปากท้องของตนเอง เพื่อนรุ่นพี่ของผู้เขียนคนหนึ่งวางแผนว่าจะลาออกจากงานในไม่ช้าเพราะอยู่ในภาวะไม่เต็มที่สักอย่างระหว่างการทำงานและการดูแลครอบครัวของตนเอง ร่วมกับการดูแลพ่อที่มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ แต่เขาก็ยังนึกไม่ออกว่าจะแก้ปัญหาเรื่องแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจของตนเองได้อย่างไร

ช่องว่างระหว่างวัยและจังหวะเวลาชีวิตที่ไม่ตรงกันสร้างปัญหาในความสัมพันธ์ได้มากมาย เมื่อฝ่ายหนึ่งอยู่ในวัยที่ (เหมือนจะ) ไม่มีอะไรทำ กับฝ่ายหนึ่งอยู่ในวัยที่มีอะไรทำยุ่งเหยิงมากมาย  การอยู่ใน “ชุมชน” ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนชนบทหรือชุมชนที่สร้างขึ้นใหม่ในบรรดาผู้สูงอายุด้วยกันเองช่วยบรรเทาปัญหาลงได้มาก แต่ผู้สูงอายุหลายคนก็ขี้รำคาญและชอบที่จะอยู่ลำพังมากกว่าจะไปสุงสิงหรือสมาคมกับใคร 

การที่ลูกหลานต้องย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่หรือไปไกลถึงต่างประเทศเพื่อ “ขุดทอง” แล้วทิ้งพ่อแม่ไว้ที่บ้านนอกเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นมานาน พูดกันบ่อย และยังคงแก้ไขไม่ได้ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตราบใดที่แหล่งงานในท้องถิ่นยังไม่สามารถตอบสนองการกินดีอยู่ดีได้ตามที่ตนเองปรารถนา เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ สายการบินราคาประหยัด เที่ยวรถทัวร์ที่มีมากขึ้น ช่วยคลี่คลายแรงกดดันจากความห่างไกลกันได้บ้าง แต่ในทางกลับกันก็ทำให้หลายคนวางใจและสะดวกใจมากขึ้นที่จะเดินทางไกลบ้านด้วยเช่นกัน

สถานสงเคราะห์คนชราเป็นทางออกหนึ่งของผู้สูงอายุและลูกหลานที่จัดการตนเองและความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการเปลี่ยนลักษณะปัญหาไปอีกแบบเท่านั้นเอง การสังเกตการณ์ของเพื่อนคนหนึ่งที่ทำวิจัยในสถานสงเคราะห์คนชราพบว่าผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์มักทะเลาะเบาแว้งกันเอง ไม่พอใจที่อยู่ที่กิน และส่วนใหญ่มีอาการเศร้าซึมมากกว่าจะเป็นสุขสนุกสนานกับการมีเพื่อนหรือได้อยู่ร่วมกับคนวัยเดียวกัน บางคนอธิบายว่าความเศร้าซึมเป็นเพราะลูกหลานทอดทิ้ง นั่นอาจถูกบางส่วน แต่สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนกลับพบว่าบุพการีมีอาการเศร้าซึมหนักหน่วงทั้ง ๆ ที่ท่านยังอยู่ที่บ้านของท่านเอง ขณะที่ผู้เขียนและพี่น้องช่วยกันดูแลใกล้ชิดพอสมควร การบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการแพทย์สมัยใหม่ช่วยได้ส่วนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุนานาประดามีที่พวกเราจัดให้ก็เพียงช่วยบำบัดเยียวยาท่านเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น
 

วัยปริศนา

กล่าวกันว่าวัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตซึ่งคนในครอบครัวต้องดูแลและระมัดระวังเป็นพิเศษ ผู้เขียนกลับคิดว่าทุกวัยมีลักษณะและปัญหาเฉพาะที่แตกต่างกันไป และวัยชราเป็นวัยปริศนาที่เข้าใจยากไม่แพ้วัยอื่น ๆ ที่สำคัญมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดการได้ยาก เราจัดการคนอื่นไม่ค่อยได้ พอ ๆ กับที่เราไม่ชอบและไม่ยอมให้ใครมาจัดการตัวเรา   

งานเขียนชิ้นนี้เหมือนจะเป็นการพร่ำบ่นเพื่อระบายความอึดอัดของตนเองเสียมากกว่าการนำเสนออะไรที่เป็นสาระประโยชน์ ผู้เขียนยังคงแก้ปัญหาของครอบครัวตนเองไม่ได้พอ ๆ กับที่ไม่มีข้อเสนอว่าสังคมควรจะรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันอย่างไร แต่สิ่งที่คิดได้ชัด ๆ ตอนนี้ก็คือความเป็นจริงในครอบครัวและสังคมมันช่างซับซ้อนเกินกว่าค่านิยมอุดมคติที่ผลิตซ้ำไปซ้ำมา และการดูแลผู้สูงอายุอาจต้องการอะไรที่มากไปกว่าการท่องคาถาว่ากตัญญูรู้คุณเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญบุตรหลานจำเป็นต้องมีน้ำอดน้ำทนที่จะรับมือกับเรื่องราวต่าง ๆ ให้มากกว่าเดิมหลายต่อหลายเท่านัก

รายการสารคดีดราม่าประเภทวงเวียนชีวิตอะไรทำนองนั้นคงเรียกน้ำตาและน้ำใจที่ให้การหยิบยื่นช่วยเหลือได้มากเมื่อมีการฉายภาพคนแก่ที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง แต่บางทีเรื่องเล่าที่ฉาบฉวยอาจไม่ได้สะท้อนความเข้าอกเข้าใจอะไรในความเป็นจริงเลยก็ได้ และมันคงง่ายเกินไปที่จะกล่าวหาบุตรหลานว่าไม่กตัญญูรู้คุณ พูดแบบมักง่ายโดยไม่มีข้อมูลจากการสำรวจอันใด ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่มีใครในโลกที่อยากจะได้ชื่อว่าเป็นลูกหลานอกตัญญู แต่ชีวิตคนมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากมายเหลือเกิน

ไม้บรรทัดวัดความกตัญญูมักตีเส้นเดี่ยว ๆ ที่ตายตัวเกินไป แค่เลี้ยงดูหรือไม่ อยู่ด้วยหรือไม่ เอาใจหรือไม่ ซื้ออาหารบำรุงสุขภาพให้หรือไม่ พาเที่ยวหรือไม่ บางทีมันก็ชี้วัดอะไรไม่ได้เลย  

สิ่งที่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์เรื่องสังคมผู้สูงอายุน่าจะขบคิดและเตรียมการให้มากไปกว่าการท่องคาถาว่าด้วยความรักและความกตัญญูต่อบุพการี คือทำอย่างไรที่จะสร้างสวัสดิการสังคมที่เอื้อให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้บุตรหลานในสังคมสมัยใหม่ดูแลผู้สูงอายุได้ดีขึ้นโดยไม่บีบคั้นและบั่นทอนสุขภาพกายและใจของกันและกันมากจนเกินไป 

 

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า