Skip to main content
ในบรรดาวิชาที่เรียนแล้ว ตก ๆ ซ่อม ๆ มาตลอดชีวิต วิชาที่ข้าพเจ้าแค้นเคืองเป็นที่สุดคือคณิตศาสตร์ ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมคุณครูมัธยมจึงเคี่ยวเข็ญให้ต้องรู้เรื่องตรีโกณ สแควร์รูท สูตรคำนวณพื้นที่ ฯลฯ เสียมากมาย ไม่นับรวม ล็อค แคลคูลัส และอื่น ๆ ในระดับอุดมศึกษาซึ่งข้าพเจ้ามีผลงานเป็น F ติดตรึงในทรานสคริปท์ให้ได้อับอายขายหน้าไปชั่วลูกชั่วหลาน

สมัยนั้นจำต้องเรียน ๆ ไปเพราะถูกบังคับ และเชื่อว่าวันหนึ่งมันคงมีประโยชน์  แต่เมื่อล่วงเลยมาจนพ้นครึ่งชีวิต แล้วยังไม่มีโอกาสไปถอดสแควร์รูทที่ไหน ข้าพเจ้าจึงมั่นใจเหลือเกินว่ามันต้องมีบางอย่างผิดพลาดในระบบการศึกษาเป็นแน่แท้  เมื่อมาทบทวนจริง ๆ ก็พบว่ามีไม่กี่ส่วนเสี้ยวของสิ่งที่ร่ำเรียนในการศึกษาภาคบังคับที่นำมาใช้ประโยชน์จริงได้ในชีวิตทุกวันนี้  

ในข้อถกเถียงเรื่องการยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ข้าพเจ้าว่ามันมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายต้องคิดทบทวน นอกเหนือจากเรื่องการบริหารจัดการและงบประมาณ ที่สำคัญมันควรถกกันไปให้ถึงระดับปรัชญาการศึกษาเลยด้วยซ้ำว่าเราจะเรียนกันไปทำไมนักหนา และระบบการศึกษามันช่วยให้ชีวิต “ใคร” ดีขึ้นกี่มากน้อย

แน่นอนสำหรับคนจำนวนมาก ระดับการศึกษา (ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึง “ความรู้” ที่ได้รับ) เป็นทุนสำคัญที่ช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคมให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับคนอีกจำนวนมาก ระดับการศึกษาอาจช่วยให้ชีวิตดีขึ้นก็จริง แต่ไม่มีวันที่พวกเขาจะทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ได้เลย เพราะต้นทุนชีวิตในด้านอื่นมีไม่มากพอที่จะเป็นบุญหนุนส่งได้

โรงเรียนบนดอย 

สักสิบปีก่อน ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีถนนและไฟฟ้า (เดี๋ยวนี้ก็คงยังไม่มี) ภาพที่ข้าพเจ้าจำติดตาคือเด็กชายตัวกระเปี๊ยกในวัย 6-7 ขวบ สะพายเป้ใบน้อยเดินออกจากหมู่บ้านด้วยเวลาประมาณ 45 นาที ไปขึ้นรถโดยสารแล้วเดินทางต่อไปอาศัยอยู่กับญาติในอีกหมู่บ้านหนึ่ง เพื่อจะได้เข้าโรงเรียน เด็กชายเดินน้ำตาซึมโดยไม่เหลียวหลังหันกลับไปมองพ่อแม่ที่ยืนส่งอยู่หน้าหมู่บ้าน ตอนนั้นข้าพเจ้าได้แต่คิดว่าหากการเข้าโรงเรียนมันลำบากยากเย็นจนต้องพรากลูกจากอกพ่อแม่ตั้งแต่เล็กขนาดนั้นเราไม่ต้องไปโรงเรียนจะได้ไหม

ในหมู่บ้านขนาดเล็ก ซึ่งอยู่บนดอยห่างไกล ไม่ค่อยมีโรงเรียนอยู่ในหมู่บ้าน นอกเสียจากจะมีโครงการพัฒนาของ ตชด. หรือโครงการอื่น ๆ ที่ส่งครูมาประจำการอยู่สักคน สอนหนังสือทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่ เป้าหมายของโครงการน่าจะเป็นไปเพื่อ “ความมั่นคง” สร้างความตระหนักและจงรักภักดีใน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นสำคัญ ส่วนเรื่องระดับความรู้คงแค่ให้พออ่านออกเขียนได้

ย้ายมาดูอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าไปแวะเวียนเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว เป็นหมู่บ้านบนดอยแต่อยู่ติดถนน มีโรงเรียนที่เปิดสอนมานานนับสิบปีแล้ว และค่อย ๆ ขยับระดับชั้นให้สูงขึ้นตามระดับการศึกษาของนักเรียนที่มี จากที่เคยเปิดสอนได้ถึง ป.3 บัดนี้ขยายมาถึง ม.3 เป็นระดับชั้นสูงสุด นักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่ปกาเกอะญอ ลาหู่ ลีซู และอื่น ๆ จากหมู่บ้านในแถบนั้น โรงเรียนมีหอพักสำหรับนักเรียนบ้านไกลที่ไม่สามารถเดินทางไปกลับ

ทุกปลายปีการศึกษา ผู้ปกครองนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จะวุ่นวายกับการเรียนต่อของบุตรหลาน ไม่ใช่เรื่องการหาที่เรียนเพราะเด็ก ๆ จะเป็นคนเสาะแสวงหากันเอง แต่พ่อแม่ต้องคิดเรื่องการหาเงินต่างหาก หลักคิดของพ่อแม่กับเด็กที่ต้องประนีประนอมกันให้ลงตัวก็คือลูกจะเรียนที่ไหนก็ได้ที่ไม่เสียค่าเล่าเรียน เพราะพ่อแม่ซึ่งทำไร่ทำสวนรับภาระได้เพียงการหาเงินสำหรับค่าเดินทางและค่ากินอยู่เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น 

นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายและความห่วงใยบุตรหลาน อีกเรื่องหนึ่งที่ครอบครัวต้องยอมเสียสละ คือแรงงาน เมื่อลูกหลานออกไปเรียนไกลบ้าน พวกเขาและเธอย่อมจะหมดโอกาสมาช่วยทำการผลิตในไร่นาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เหมือนเช่นเคย หรือแม้ไม่ได้ไปไร่นาพวกเขาก็เคยช่วยหุงหาอาหารทำงานบ้านแบ่งเบาภาระในช่วงหลังเลิกเรียน แต่บทบาทหน้าที่ในครอบครัวของเด็กนักเรียนเหล่านี้จะเปลี่ยนสิ้นเชิงเมื่อพวกเขาออกจากหมู่บ้าน   

ปลายทางการศึกษาของเด็ก ๆ ที่ข้าพเจ้ารู้จักมักจะเจริญรอยตามกันไป บางส่วนไปเข้าโรงเรียนประจำที่มีชื่อลงท้ายว่า “สงเคราะห์” ซึ่งอยู่ต่างอำเภอออกไป เด็กผู้ชายไปเรียนวิทยาลัยเกษตรในอีกจังหวัดหนึ่ง เด็กผู้หญิงดูจะมีทางเลือกมากกว่าเล็กน้อยเพราะบางส่วนทางแม่ชีคาทอลิคจะรับไปอุปการะและส่งเรียนต่อจนจบ ม.6 เพื่อหลังจากนั้นจะชักชวนให้บวชชีทำงานรับใช้พระเจ้า เด็กผู้หญิงอีกส่วนน้อยไปเรียนโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลในหลักสูตร 6 เดือน มีค่าเรียนประมาณสามหมื่นกว่าบาท พ่อแม่ที่ยอมหากู้เงินมาให้ก็เพราะเชื่อตามที่โรงเรียนรับประกันว่านักเรียนจะมีงานทำทันทีหลังเรียนจบ นอกเหนือจากนี้มีส่วนน้อยที่ได้เรียนต่อในโรงเรียนประจำอำเภอ หรือวิทยาลัยอาชีวะเอกชนด้วยการกู้ยืเงินตามโครงการของรัฐบาล

เด็กแต่ละเจนเนอเรชั่นมีแนวโน้มกำหนดเส้นทางชีวิตหลัง ม.3 แตกต่างกันไป ภายใต้เงื่อนไขปัจจัยหลายประการ เช่นว่าปีนั้นชาวบ้านขายข้าวโพดได้ราคาดีหรือไม่ มีโรงเรียนเอกชนใดบ้างที่เข้ามาโฆษณาและยื่นข้อเสนอน่าสนใจ มีแม่ชีหรือคุณพ่อมาเสนอรับเด็กไปอุปถัมภ์หรือเปล่า นโยบายการให้กู้เรียนของรัฐบาลเป็นอย่างไร นักเรียนมีแหล่งทำงานพิเศษในช่วงเสาร์อาทิตย์หรือไม่ รวมทั้งมีการประมวลประสบการณ์จากรุ่นพี่ที่ไปเรียนที่นั่นที่นี่มาก่อนหน้านี้ด้วย

โอกาสการศึกษาหลัง ม.3 ของเด็ก ๆ บนดอยแม้ว่าจะมีทางเลือกอยู่หลายเส้นทาง แต่ว่าแต่ละเส้นทางล้วนไม่ง่ายเอาเสียเลย ยิ่งไปกว่านั้นเด็ก ๆ เหล่านี้ก็ไม่ต่างจากนักเรียนทั่วไปที่ไม่ได้คิดหวังว่าการเรียนจะทำให้พวกเขามี “ความรู้” อะไรมากขึ้น นอกเสียจากมันจะเป็นโอกาสยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ต้องกลับมาทำไร่ทำสวนเหมือนพ่อแม่ที่ทั้งร้อน ทั้งลำบากยากเข็น และทำไปก็รังแต่จะขาดทุน

โอกาสทางการศึกษาที่เด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับ มันอาจช่วยพวกเขาไปพ้นจากการทำไร่ทำนาก็จริงอยู่ แต่ไม่แน่ว่ามันจะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ “ดี” ขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญย่อมไม่สามารถ “ดี” ได้ทัดเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกันที่อยู่ในเมืองเป็นแน่แท้

การศึกษาเพื่ออนาคต ?

"นุส" เป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง เธอเรียนจบม. 1 จากโรงเรียนในหมู่บ้าน ไปเรียนต่อจนจบ ม.3 ในโรงเรียนต่างอำเภอ ก่อนที่แม่ชีจะรับไปอุปการะจนจบ ม.6  เธอไม่อยากกลับมาทำไร่ จึงตกลงจะไปบวชชีที่กรุงเทพฯ แต่เมื่ออยู่ในวัดคาธอลิคเพียงไม่กี่สัปดาห์เธอก็ร้องไห้กลับบ้านบอกว่าไม่อยากบวช ด้วยการช่วยเหลือจากน้าสาวนุสได้งานซึ่งทำในวันธรรมดา และเรียนต่อในวันเสาร์อาทิตย์ในคณะศึกษาศาสตร์ เธอเพิ่งเรียนจบและได้งานเป็นครูอัตราจ้างในโรงเรียนชนบทห่างไกลแห่งหนึ่ง แม้ว่ากำลังจะเป็นครูแต่นุสยังเขียนอ่านภาษาไทยไม่คล่องและท่องสูตรคูณได้เพียงแม่สาม  

"ทิยา" เป็นเด็กสาวหน้าตาดี วัยไล่เลี่ยกับนุส แต่เธอเรียนจบแค่ ป. 6 จากนั้นไปเป็นคนรับใช้ในกรุงเทพฯ ลาออกไปทำงานโรงงาน และลาออกอีกครั้งกลับมารับจ้างในร้านอาหารในจังหวัดบ้านเกิด ในระหว่างทำงานทิยาเรียน กศน. จนจบ ม.3 เธอตั้งเป้าไว้ว่าจะสอบเทียบให้จบ ม.6 แต่แล้วเธอก็ลาออกจากงานเพื่อแต่งงานกับหนุ่มต่างอำเภอ ทั้งสองคนกลับไปทำนาทำไร่อยู่ที่บ้านทิยา ข้าพเจ้าไม่ได้ติดตามว่าทิยาเรียนต่อจนจบ ม.6 หรือไม่ แต่เดาว่าคงล้มเลิกความตั้งใจแล้วหลังจากมีภาระเลี้ยงลูกสองคน และไม่คิดว่าจะต้องกลับไปอยู่ในเมืองอีก

"บี๋" จบ ม.6 ในปีเดียวกันกับนุส ด้วยการอุปถัมภ์ของแม่ชีจากโรงเรียนในจังหวัดราชบุรี เธอพยายามหางานทำและเรียนต่อแบบนุส แต่เข้าเรียนราชภัฏได้เพียงเทอมเดียวก็ลาออกเพราะหางานทำไม่ได้จึงไม่มีเงินเรียน ในที่สุดบี๋กลับไปรับจ้างแม่ชีขายขนมอยู่ในโรงเรียนที่เธอเรียนจบมา

"จัน" เรียนอยู่ ปวช. 2 สาขาการท่องเที่ยว ในวิทยาลัยเอกชนด้วยการอุปการะของญาติคนหนึ่ง เธอเลือกเรียนสาขานี้เพราะว่าเรียนง่ายกว่าคอมพิวเตอร์และบัญชี หลังจบชั้น ปวช.3 จันอยากออกไปหางานทำในเมืองเพื่อจะได้อยู่ด้วยตนเองอย่างอิสระโดยไม่ต้องอาศัยบ้านญาติอีกต่อไป เธอเบื่อที่จะต้องช่วยทำงานบ้านแบบที่เป็นอยู่ แต่ระดับการศึกษา ปวช. ก็คงจะทำให้เธอได้ค่าตอบแทนไม่สูงนักและอาจไม่พอสำหรับการเรียนต่อ

"จิ๊บ" กำลังจะขึ้นชั้น ม.3 ยังบวกเลขทศนิยมไม่เป็นและเริ่มกังวลว่าปีหน้าจะไปเรียนต่อที่ไหนดี

เหล่านี้คือตัวอย่างของเด็กนักเรียนบนดอยจำนวนหนึ่ง ซึ่งคงไม่แตกต่างไปจากนักเรียนส่วนใหญ่ที่คาดหวังว่า “ระดับ” การศึกษาจะเป็นใบเบิกทางชีวิต แต่เด็กบนดอยมีต้นทุนต่ำกว่าเด็กในเมือง คุณภาพการศึกษาภาคบังคับที่พวกเขาได้รับก็อยู่ระดับที่เรียกว่า “ดีกว่าไม่มี”  การเข้าถึงการศึกษาที่สูงกว่านั้นมักได้จากการสงเคราะห์แบบตามมีตามเกิด หรือไม่ก็ต้องดิ้นรนขนขวายอย่างที่สุด

ยุบหรือไม่ยุบ

เด็ก ๆ ในถิ่นกันดารห่างไกลดิ้นรนอย่างมากที่จะเข้าถึงระบบการศึกษาเพราะเชื่อว่ามันจะช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น แต่ “ดีขึ้น” ในที่นี้อาจหมายความเพียงแค่ไม่ต้องกลับไปทำไร่ทำนาเหมือนพ่อแม่  ส่วนเรียนจบแล้วจะไปทำมาหากินอะไร ได้ค่าตอบแทนคุ้มกับค่าครองชีพหรือไม่ หรือมีหน้ามีตา มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับคนอื่นหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ข้าพเจ้าไม่แน่ใจนักว่าสำหรับนักการศึกษาและผู้กำหนดนโยบาย “โรงเรียน” และ “ระบบการศึกษา” สำคัญอย่างไร ท่ามกลางการถกเถียงเรื่อง ยุบ – ไม่ยุบ โรงเรียนขนาดเล็ก ข้าพเจ้าเองก็จนปัญญาที่จะมีความเห็นอันแยบคายแหลมคม เพียงแต่นึกถึงเด็ก ๆ จำนวนมากที่เคยผ่านไปรับรู้เรื่องราวชีวิตของพวกเขา สำหรับเด็ก ๆ เหล่านี้และครอบครัว “โรงเรียน” เป็นความหวังเดียวที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น พวกเขาจึงยอมลงทุนแลกมาด้วยสิ่งสำคัญมากมายในชีวิต

หากโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องยุบ ก็ขอให้จัดหาทางเลือกที่ดีกว่าจริง ๆ เพื่อที่พวกเขาจะมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคมได้บ้าง

แต่หากจะมีอยู่ต่อไป  ก็ขอให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพคุ้มค่ากับที่นักเรียนและผู้ปกครองจำต้องเสียสละสิ่งต่าง ๆ เพื่อแลกมาซึ่งโอกาสในการศึกษา อย่าให้พวกเขารู้สึกว่าถูกกำหนดให้เรียน ๆ ไป ซึ่งไม่ว่าจะเรียนหรือไม่ในที่สุดพวกเขาก็ยังคงเป็นคนข้างล่างของสังคมอยู่นั่นเอง    

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า