Skip to main content

ไม่มีชื่อ

 

ในช่วงที่เหตุการณ์บ้านเมืองยุ่งเหยิงหลายคนชอบเล่าถึงทัศนะทางการเมืองของคนขับรถแท็กซี่ แต่ข้าพเจ้าไม่ค่อยเข้าใจนักว่าเหตุใดและตั้งแต่เมื่อไหร่ที่ทัศนะของพวกเขาได้กลายมาเป็นดัชนีชี้วัดทางการเมืองที่สำคัญ

“ฉันอยากให้เขาบริการด้วยการขับรถให้ดี ไม่ต้องมาบริการอย่างอื่น บางทีฉันก็รู้สึกว่าตัวเองไปอาศัยรถเขานั่ง ต้องทนฟังเพลงที่เขาอยากฟัง ฟังเรื่องที่เขาอยากคุย” เพื่อนคนหนึ่งกล่าว

“ก็เพลินดีออก” ข้าพเจ้าโต้แย้ง บ่อยไปที่ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังข้อมูลดี ๆ จากคนขับรถแท็กซี่ เช่น รายได้ของพวกเขา ถิ่นฐานภูมิลำเนา ข่าวรายวัน  รวมทั้งทัศนะที่มีต่อเหตุการณ์บ้านเมือง

...แต่แล้วเมื่อวานนี้เองที่ข้าพเจ้าอยากจะกลับไปบอกเพื่อนคนนั้นว่า “กูเข้าใจแล้วว่ามึงรู้สึกอะไร”

บทสนทนาในรถแท็กซี่

“จะไปประเทศไหน” คนขับแท็กซี่วัยไล่เลี่ยกับข้าพเจ้าเริ่มเปิดประเด็นคุย หลังจากขึ้นรถมาได้ไม่ถึงสิบนาทีในระหว่างทางจากตลิ่งชันไปสนามบินดอนเมือง

ด้วยความรู้สึกขอบคุณที่เขาไม่บ่นเรื่องกลิ่นหมูปิ้งอันตลบอบอวนที่ข้าพเจ้างัดออกมากินพร้อมข้าวเหนียว ข้าพเจ้าจึงยอมสนทนากับเขาแต่โดยดี บทสนทนาเริ่มต้นจากเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น ฝนตก รถติด ราคาค่าเครื่องบิน ฯลฯ  แล้วเขาก็เริ่มนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ

“คนขับแท็กซี่ผู้หญิงมีสองร้อยกว่าคน แต่คนขับเป็นผู้หญิงไม่ค่อยดี ไม่ปลอดภัยสำหรับคนขับเอง ผู้โดยสารอาจจะลวงไปข่มขืน หรือชิงทรัพย์ ทหารและตำรวจมาขับแท็กซี่เยอะออกรถเองเลย ไม่ได้เช่าเขาขับ โอ้ย..มีทั้งยศร้อยตรี ร้อยโท ส่วนพวกยศต่ำกว่านั้นมีน้อย เพราะยังไม่รู้ช่องทางและต้องเช่ารถคนอื่นขับไม่ค่อยคุ้ม...” 

ฟังเพลินอยู่ได้ไม่นานข้าวเหนียวหมูปิ้งที่ไม่ทันเรียงตัวดีก็เริ่มก่อปัญหา พี่แท็กซี่ขับรถกระชากเบรคจึ้ก เบรคจึ้ก จนข้าพเจ้าเกิดอาการมวนท้องและอยากจะขย้อนสิ่งที่กินเข้าไปแล้วออกมา

รถเริ่มเคลื่อนตัวได้ช้าลง เพราะผ่านเส้นทางที่มีการก่อสร้าง ฝนตกปรอย ๆ และผู้คนกำลังทยอยกันกลับบ้านในช่วงเย็นย่ำข้าพเจ้าเงียบลงอย่างเห็นได้ชัด พยายามควานหายาดมที่เคยพกเป็นประจำแต่ก็ไม่พบ ในตอนนั้นอยากจะจบการสนทนาให้เร็วที่สุด ทั้งด้วยอาการเมารถ และด้วยความอ่อนเพลียจากการทำงานหนักมาทั้งวัน  แต่รถยังคงขยับไปอย่างช้า ๆ จนกระทั่งเวลาเดินทางมันช่างมีเหลือเฟือ และคนขับรถก็ยังคงเบรคจึก เบรคจึก ต่อไป

“เธอเกิดปีอะไร” คนขับแท็กซี่ยังไม่รับรู้สัญญาณการสิ้นสุดบทสนทนา เขากลับรุกเข้ามาในเรื่องส่วนตัวมากขึ้น  “อ้าว ปีเดียวกับเมียผม” เขาคุยต่อถึงประวัติชีวิตตัวเอง ครอบครัว และญาติโกโหติกาเกือบทั้งจังหวัด

“เธอแต่งงานหรือยัง”  เขาคุกคามมากขึ้นไปอีก ข้าพเจ้าตอบไปเพียงสั้น ๆ เพื่อรักษามารยาท

“นั่นสิ ถึงว่า หน้าตาเธอเหมือนคนอกหัก” 

“อ้าวไอ้เหี้ย !!” ข้าพเจ้าคิดในใจฉับพลันทันที แต่ไม่ได้มีเสียงเล็ดรอดออกไป

เขายังไม่หยุด “เธอเศร้ามากเหรอ หน้าตาไม่มีความสุขเอาเสียเลย รักเขาแล้วเขาไม่รักล่ะสิท่า” เขาพล่ามต่อ

“ยังไม่จบนะมึง ยุ่งอะไรกับกูเนี่ย” ข้าพเจ้าตอบโต้ไปในความคิด

“มีผัวมาหลายคนแล้ว” ข้าพเจ้าพูดออกไปแรง ๆ  หวังจะให้เขาหยุดเสียที  

“ก็นั่นสินะ แต่คงไม่สมหวังล่ะสิ บลา ๆ ๆ ” เขาพล่ามพูดต่อถึงเสื้อผ้าหน้าผม บุคลิกลักษณะของข้าพเจ้าในอาการลามปามเข้ามาในความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จนเกินเลยมาเทศนาเรื่องจริยธรรม เพศศึกษาและอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง

“ผู้หญิงก็อย่างนี้แหละนะ เสียพรหมจรรย์ไปแล้ว ความบริสุทธิ์มีได้แค่ครั้งเดียว เยื่อพรหมจรรย์มันฉีกขาดไปแล้วกลับคืนมาไม่ได้อีก ไม่เหมือนผู้ชายผลิตความบริสุทธิ์คือน้ำอสุจิได้อยู่เรื่อย ๆ...บลา ๆ ๆ ”  และนับตั้งแต่นั้นไม่ว่าข้าพเจ้าจะเบี่ยงบ่ายย้ายประเด็นไปทางไหน เขาก็ดึงดึงเรื่องกลับมาที่น้ำอสุจิ อวัยวะเพศชายและหญิง และเพศสัมพันธ์ทุกทีไป

ข้าพเจ้าเองความจริงไม่ใช่คนคอนเซอร์เวทีฟขนาดจะฟังเรื่องพวกนั้นไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าข้าพเจ้าสามารถคุยเรื่องแบบนี้กับใครที่ไหนก็ได้  แม้มีความคิดอยากโต้แย้งออกไป แต่ก็เห็นถึงความไม่จำเป็นและป่วยการณ์ที่จะคอยเถียงกับใครอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นประเด็นอะไรก็ไม่อยากจะคุยกับใครทั้งโลก  ทั้งเมารถ ทั้งเจ็บคออันเนื่องมาจากการกรำงานที่ใช้เสียงพูดไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงต่อเนื่อง

พื้นที่ของใคร ในเวลาเดียวกัน

ในรถแท็กซี่คันที่ข้าพเจ้านั่งเป็นพื้นที่ที่คนซึ่งมีวิถีชีวิตสองแบบมาเจอกัน ทั้งสองฝ่ายจึงใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่นั้นแบบไม่ค่อยจะลงตัว ฝ่ายหนึ่งนั่งอยู่ในรถมาทั้งวันโดยไม่ค่อยได้ปฏิสัมพันธ์กับใครนอกจากผู้โดยสาร แต่อีกฝ่ายหนึ่งคือข้าพเจ้าเองก็พบเจอผู้คนสับสนวุ่นวายมาทั้งวันจึงอยากจะพักอยู่เงียบ ๆ  

ข้าพเจ้าตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก มีทั้งความรำคาญ เบื่อหน่าย หากจะ “เหวี่ยง” ออกไปก็ห่วงความปลอดภัยของตัวเองเกรงจะตกเป็นข่าวว่าถูกแท็กซี่ตบ-กระทืบแล้วทิ้งไว้ข้างทาง ทั้งอยากจะรักษามารยาท และทั้งเห็นใจว่าคนขับแท็กซี่วัน ๆ คงไม่ค่อยได้คุยกับใคร แต่ว่าพอคิดอีกทีข้าพเจ้าไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์หรือโอเปอร์เรเตอร์ฮอตไลน์ที่จะต้องให้บริการพูดคุยแก้เหงาใครตลอดเวลา

ไม่บ่อยนักที่ข้าพเจ้ายอมจ่ายค่ารถแท็กซี่เพราะมันมีราคาสูงกว่าขนส่งมวลชนหลายเท่า เหตุผลไม่ใช่แค่เพียงจะซื้อเวลาเดินทางให้รวดเร็วกว่าเท่านั้น(ซึ่งบ่อยครั้งก็ช้ากว่า) แต่ยังหมายรวมถึงการเช่า “พื้นที่ส่วนตัว” ให้ได้พักหลบจากผู้คนในชั่วขณะหนึ่งด้วย แต่นอกจากต้นทุนของเงินที่จ่ายไปแล้วก็ให้สงสัยว่าข้าพเจ้าต้องมีต้นทุนของความอดทนมากมายขนาดนี้เชียวหรือ

เมื่อยังเข้าใจไม่ตรงกันว่าพื้นที่ในรถแท็กซี่นั้นควรเป็นพื้นที่ของผู้โดยสารหรือเจ้าของรถกันแน่ มันจึงเกิดปัญหาแบบที่เล่ามา บ่อยครั้ง (ความจริงแทบทุกครั้ง) ที่นั่งแท็กซี่แล้วรู้สึกว่าตนเองกำลัง “ขออาศัย” นั่งรถของคนอื่น ต้องควบคุมกิริยามารยาทให้สุภาพเรียบร้อยเป็นพิเศษ หากคนขับชวนคุยก็ต้องช่วยคุยกับเขา หากเขาเปิดเพลงหรืออะไรให้ฟังก็ต้องร่วมฟังไปกับเขา ไม่ว่าจะเป็นรายการวิทยุคลื่นที่เจ้าของรถโปรดปราน รายการเทศน์ธรรม รายการสนทนาสารพัดประเด็น หรือรายการเพลงที่ข้าพเจ้าไม่เคยคิดอยากฟัง

ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่าอันที่จริงการนั่งรถขนส่งมวลชนราคาประหยัดกลับมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า แม้ว่าผู้คนจำนวนมากจะเบียดเสียดเยียดยัดอยู่ในพื้นที่เดียวกันแต่ก็ไม่มีใครมาซักไซ้ลึกไปถึงเรื่องเยื่อพรหมจารีย์เหมือนกับเรื่องที่เล่าไปข้างต้น ยิ่งไปกว่านั้นข้าพเจ้ายังมักงีบในรถสาธารณะหากคำนวณเวลาเดินทางว่าจะนานถึง 1-2 ชั่วโมง ต่างจากการนั่งแท็กซี่ที่ปิดตาลงไม่ได้แม้แต่นาทีเดียวเพราะกังวลว่าคนขับจะพาไปวนนอกเส้นทางเพื่อเพิ่มเลขบนมิเตอร์ และห่วงความปลอดภัยของตัวเองว่าตื่นมาอีกทีอาจจะถูกพาไปส่งในที่ที่ไม่คาดคิดก็เป็นได้    

ที่บ่นบ้ามานี้ความจริงก็รู้ตัวอยู่ว่าเป็นเพราะว่าข้าพเจ้ามันไม่ใช่มนุษย์โลกสวย ไม่ได้เป็นคนมีอัธยาศัยดีไมตรีเป็นเลิศ ดังนั้นหากใครจะตัดสินว่าข้าพเจ้าเป็นคนแห้งแล้งน้ำจิตน้ำใจก็ขอน้อมยอมรับแต่โดยดี  ชีวิตของคนในโลกยุคนี้มันได้ถูกภาระการงานขูดรีดพลังไปเสียหมดสิ้นจนไม่เหลือที่จะเผื่อแผ่แม้กระทั่งคำพูดคำจาให้แก่ใคร แต่ที่กล่าวมานี้ก็ไม่ได้คิดจะประณามหยามหมิ่นพี่คนขับแท็กซี่เขาดอก แค่อยากจะบอกว่าข้าพเจ้าอยากรับบริการจากพี่ ๆ เฉพาะในเรื่องการทำหน้าที่ขับรถให้ดี  ส่งข้าพเจ้าไปถึงที่หมายปลอดภัยโดยไม่ต้องเมารถ  

ส่วนบริการที่แถมมามากกว่านั้นขอไม่รบกวนจะดีกว่า 

 

 

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า