Skip to main content
 
จะเข้าพรรษาแล้วหากไม่กล่าวถึงแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาอันโด่งดังก็เห็นทีจะเชยตกขอบ จึงขออนุญาตเขียนในฐานะผู้มีส่วนได้สวนเสียโดยตรงกับแคมเปญดังกล่าวสักหน่อย โดยไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวข้าพเจ้าของยกมือสนับสนุนกลุ่มผู้ออกแคมเปญซดเหล้าเข้าพรรษาอย่างสุดตัว เพราะมันทั้งฮาทั้งแซ่บโดนอกโดนใจเสียนี่กระไร
 
มีเหตุผลมากมายที่เราไม่ควรจะดื่มเหล้า ทั้งในเรื่องสุขภาพ ศีลธรรมจรรยา และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่ก็มีเหตุผลมากมายที่คนเราเลือกจะดื่มเหล้าแม้จะตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลาถึงเหตุผลที่ไม่ควรดื่มเหล่านั้น   
 
นักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งบอกว่าในชั้นมัธยมเธอชอบเรียนวิชาพุทธศาสนามากที่สุดเพราะตอบข้อสอบง่ายดี ตอบอย่างไรก็ถูกเนื่องจากมีคำตอบรออยู่แล้วเพียงไม่กี่อย่าง นักศึกษาหลายคนบ่นว่าไม่ค่อยชอบเรียนสังคมศาสตร์ (แบบที่สอนกันอยู่ในหลายมหาวิทยาลัย) เพราะ “ขี้เกียจคิด หรือเหนื่อยที่จะคิด” เนื่องจากต้องคิดหาคำอธิบายความเป็นไปต่าง ๆ ในสังคมพร้อมข้อมูลและเหตุผลสนับสนุนที่หนักแน่นโดยไม่มีคำตอบสำเร็จรูปเฉลยรออยู่   
 
ระบบการศึกษาเรียกร้องให้นักเรียนนักศึกษามีความคิดความอ่าน แต่ระบบสังคมกลับกำหนดให้พวกเขาคิดอ่านตาม ๆ กันไปในแบบที่มีคำตอบสำเร็จรูปเตรียมไว้ก่อนแล้ว อย่างในเรื่องการดื่มเหล้าข้าพเจ้าคิดว่ามีเหตุผลที่ทำให้ผู้คนดื่มเหล้าซึ่งมีความความน่าสนใจ ซับซ้อน และแยบคายกว่าเหตุผลง่าย ๆ ว่าทำไมเราไม่ควรจะดื่มเสียอีก เพียงแต่ว่าผู้ปกครองบ้านเมืองและคนที่รณรงค์เรื่องนี้ยังไม่ได้พยายามคิดและทำความเข้าใจให้มากไปกว่าการยัดเยียดบรรทัดฐานที่ตัดสินคุณค่าของคนว่าดีหรือไม่ดีบนสมมติฐานตื้น ๆ เรื่อง สุขภาพ ศีลธรรม และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
 
การดื่ม ที่มากกว่าเรื่องการเมา
 
การเป็น “อาจารย์” และ ผู้หญิง เป็นภาระหนักอึ้งสำหรับข้าพเจ้าและอาจจะหนักหน่วงเกินกว่าภาระงานสอนที่ต้องรับผิดชอบเสียอีก เพราะสถานะดังกล่าวทำให้ต้องแบกรับความคาดหวังในเรื่องกิริยามารยาทและสิ่งควรประพฤติปฏิบัติไว้มากมาย  ขณะที่ “นักศึกษา” เองก็อยู่ภายใต้บรรทัดฐานทางสังคมมากมายที่คอยกำกับว่าพวกเขายังไม่ใช่ “ผู้ใหญ่” ที่จะคิดอ่านตัดสิน ถูกผิด ดีชอบ ได้ด้วยตนเอง
 
ทว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบที่การดื่มได้กลายมาเป็นภารกิจประจำสัปดาห์ระหว่างข้าพเจ้ากับนักศึกษา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ท้าทายทั้งศีลธรรมและบรรทัดฐานทางสังคมที่กล่าวมาข้างต้นอย่างยิ่ง   
 
ในปีแรกของการทำงานข้าพเจ้าจินตนาการไม่ออกว่าคนสอนหนังสือ ควร หรือสามารถทำอะไรร่วมกับนักศึกษาของเขา/เธอได้บ้าง ข้าพเจ้าถึงกลับต้องไปเปิดดูระเบียบและข้อกำหนดเรื่องจรรยาบรรณเพื่อตรวจสอบว่าการดื่มเหล้ากับนักศึกษานั้นผิดกติกาข้อใดหรือไม่ ความไม่แน่ใจทำลายโอกาสที่เราจะได้ใกล้ชิดกัน เพราะข้าพเจ้าตอบรับเพียงแค่หนึ่งนัดในบรรดาหลายนัดที่นักศึกษาพยายามเชิญชวนก่อนที่พวกเขาจะจบการศึกษาออกไป
 
ในปีที่สองข้าพเจ้าพยายามฝ่ากำแพงนั้นอีกครั้งด้วยการไปร่วมอยู่ในวงของนักศึกษาหญิงกลุ่มใหญ่ แต่แล้วก็มีนักศึกษาคนหนึ่ง “เรื้อน” คือเมาแล้วเอะอะโวยวายจัดการตัวเองไม่ได้จนเป็นภาระให้เพื่อน ๆ ลำบากแบกกลับที่พัก นั่นจึงเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายสำหรับนักศึกษากลุ่มนี้ที่ข้าพเจ้าร่วมวงด้วย มิหนำซ้ำเพื่อนของข้าพเจ้ายังแนะนำเป็นเชิงทิ้งปริศนาไว้ให้ครุ่นคิดและเอาอย่างว่าตัวเขาเอง (ซึ่งเป็นอาจารย์ต่างสถาบัน) นิยมหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้ากับนักศึกษา
 
ในปีถัดมาโดยมิได้ตั้งใจข้าพเจ้าถูกพาไปนั่งอยู่ในร้านเหล้าโต๊ะเดียวกับนักศึกษากลุ่มใหม่อีกครั้ง ด้วยบริบทของสถานที่และเวลาทำให้สถานะ เพศ และวัยของข้าพเจ้าแปลกแยกอย่างมาก นักศึกษาคุยโวโอ้อวดกับเพื่อนโต๊ะข้าง ๆ ว่า “นี่อาจารย์” ท่ามกลางความกระอักกระอ่วนใจของข้าพเจ้าอย่างยากจะบรรยาย กลับพบว่าการปรากฏตัวของข้าพเจ้าได้สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจให้กับพวกเขาอย่างมากค่าที่สามารถ “หิ้ว” อาจารย์หญิงมาร่วมวงก๊งเหล้าได้ ยิ่งไปกว่านั้นการปรากฏตัวของข้าพเจ้ายังสร้างความงุนงงสงสัยให้กับบรรดานักศึกษาอื่น ๆ จนทำให้มีการถามย้ำซ้ำ ๆ ว่า “จริง ๆ เหรอ เป็นอาจารย์จริง ๆ เหรอ”  พวกเขาคงประหลาดใจในสองเรื่องพร้อม ๆ กัน คือ หนึ่ง อาจารย์หญิงมาดื่มเหล้า และสอง สารรูปอย่างนี้แลดูไม่น่าใช่ “อาจารย์”   
 
อย่างไรก็ช่างเถิด ข้าพเจ้าเป็นสิ่งแปลกประหลาดในการอวดศักดาของบรรดานักศึกษาไปอีกเพียงสองถึงสามนัด จากนั้นการมีข้าพเจ้าร่วมอยู่ในวงเหล้าได้กลายเป็น “ความปกติ” และหากไม่มีก็จะกลายเป็นการ “ไม่ครบองค์” กระนั้นก็ตามนักศึกษาซึ่งกลายมาเป็น “เพื่อน” ร่วมวงมักถามด้วยความเป็นห่วงบ่อย ๆ ว่า “อาจารย์จะเป็นไรไหม จะมีใครว่าอะไรหรือเปล่า” ข้าพเจ้ายิ้มแทนคำตอบ แต่ในใจก็ได้คิด “นั่นน่ะสินะ จะเป็นไรไหม”
 
สลายเส้นแบ่ง
 
ในบรรดาผู้คนหลากหลายที่เรามีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน  บทบาทหน้าที่ ฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคม ได้สร้างเส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างเราโดยไม่รู้ตัว ภายใต้กรอบวัฒนธรรมไทยที่ครอบเราอยู่นี้ ความเป็นครู-นักเรียน รุ่นพี่-รุ่นน้อง ผู้อาวุโส-เด็ก ฯลฯ กำหนดพวกเราในทุกขณะจิตว่าเรา “ควร” หรือ “ไม่ควร” ทำอะไรกับอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่เรื่องพวกนั้นบางทีมันก็ไม่ใช่สาระสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์เอาเสียเลย 
 
ใช้เวลาอยู่นานกว่าที่ข้าพเจ้าจะหาคำอธิบายดี ๆ ให้ตัวเองได้ว่า “อาจารย์” เป็นสถานภาพกำมะลอ และข้าพเจ้าเป็นแค่คนสอนหนังสือที่ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้วในเวลาทำงาน ส่วนเวลาอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นมันควรเป็นเวลาส่วนตัวของข้าพเจ้าโดยไม่จำเป็นต้องสวมบทบาท “อาจารย์” ไปเสียทุกที่ทุกเวลา
 
การเป็น “คนธรรมดา” นั้นบางทีก็ไม่ง่ายนัก เพราะคนอื่น ๆ มักเอาความคาดหวังมากำหนดบทบาทของเรา ยิ่งไปกว่านั้นเราเองนั่นแหละที่มักตีกรอบเพื่อควบคุมกำกับพฤติกรรมของตนเองเพราะยึดติดอยู่กับสถานภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาทั้ง ๆ ที่มันไม่จีรังยั่งยืนอันใดเลย หากเป็นในทางพระก็คงจะต้องพูดเรื่องการละเลิกอัตตาตัวตน ในแง่นี้การเข้าร่วมวงเหล้านั้นช่วยในการลดละอัตตาของข้าพเจ้าได้มากโดยการสลายเส้นแบ่งระหว่าง “อาจารย์” กับ “นักศึกษา” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าข้าพเจ้าจะตะบี้ตะบันร่วมวงเหล้ากับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรก็ได้ เพราะความสัมพันธ์กับผู้คนล้วนแต่เป็นเรื่องที่เราต้องจัดวางอยู่ตลอดเวลา
 
ความสัมพันธ์ในวงเหล้ามีความพิเศษที่แตกต่างไปจากความสัมพันธ์ชุดอื่นในแง่ที่เราสามารถสลายตัวตนได้ง่าย ๆ เพราะเรื่องราวที่แลกเปลี่ยนกันในวงมันจิปาถะไปหมด สำหรับวงของนักศึกษาเรื่องตลกโปกฮาอันหาสาระอันใดมิได้เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมมากกว่าเรื่องหนัก ๆ ที่หอบหิ้วออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยหรือจากทางบ้าน  และนั่นเองที่ทำให้ “อาจารย์” กับ “นักศึกษา” ละลายกลายมาอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่มีใครรู้มากกว่า เรียนสูงกว่า หรือฉลาดกว่า  มีแต่คนที่ฮากว่า เล่าเรื่องแล้วเรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าจึงจะมีอำนาจนำอยู่ในวงเหล้า
 
หากจะถามว่าเหตุใด “นักศึกษา” กับ “อาจารย์” จึงไม่นัดกันไปทำอย่างอื่นที่จะสร้างความสัมพันธ์กันได้โดยไม่กินเหล้า คงตอบแบบง่าย ๆ ว่าพวกเราว่างพร้อมกันเฉพาะเวลากลางคืน และการนัดกันไปดื่มนมหรือน้ำเต้าหู้นั้นไม่ได้ช่วยให้เราแลกเปลี่ยนเรื่องตลกโปกฮาได้ต่อเนื่องยาวนานเท่ากับการดื่มของมึนเมา
 
คอเหล้ามักเข้าใจกันดีว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่เราอยากจะร่วมวงด้วย ก็เหมือนความสัมพันธ์ชุดอื่น ๆ ในสังคม คือเราอาจจำเป็นต้องร่วมวงกับใครโดยบังเอิญแต่หากถูกใจชอบพอกัน ความสัมพันธ์ก็จะสืบสานต่อ แต่หากไม่ ครั้งนั้นก็อาจเป็นครั้งเดียวในชีวิต  
 
ข้อต่อรองระหว่างข้าพเจ้ากับนักศึกษาเมื่อจะนัดหมายกันแต่มีฝ่ายหนึ่งพยายามบ่ายเบี่ยงก็คือการถูกทวงถามว่า “เพื่อนป่ะ?” เมื่อถูกต่อรองแบบนั้นข้ออ้างอื่น ๆ ก็แทบจะต้องพับลงไป คนที่ร่วมวงกันเป็นประจำได้กลายมาเป็น “เพื่อน” ที่ขยายความจนเกินเลยจากวงเหล้าเข้ามาถึงชีวิตประจำวัน “อาจารย์” กับ “นักศึกษา” จึงกลายมาเป็น “เพื่อน” กันจนได้ในที่สุด
 
ดื่มอย่างมีวัฒนธรรม
 
การดื่มระหว่างข้าพเจ้ากับนักศึกษาจัดว่าเป็นการดื่มแบบมีวัฒนธรรม (หากใครอยากจะเรียกให้ดูดีแบบนั้น) คือมีการนัดหมายที่ชัดเจนและระเบียบแบบแผนพอสมควร ที่สำคัญพวกเราดื่มแบบที่สุ่มเสี่ยงและท้าทายสำนึกรับผิดชอบของตนเองอย่างมาก กล่าวคือ พวกเรามักจะนัดสังสันท์กันในค่ำคืนซึ่งในวันรุ่งขึ้นพวกเราจะต้องเข้าห้องเรียนเดียวกันแต่เช้า ที่ว่าท้าทายนั้นก็คือ หนึ่ง พวกเราจะต้องอ่านชีทให้จบ สองพวกเราจะต้องตื่นเข้าห้องเรียนให้ทันเวลา และสามพวกเราจะต้องนั่งเรียน-สอนให้รู้เรื่องโดยไม่เสียกิริยา คือไม่แฮงค์และไม่ง่วง
 
กิจวัตรที่พวกเราทำกันบ่อย ๆ ก็คือการหนีบชีทที่ยังอ่านไม่เสร็จไปร้านเหล้า และเรียกกิจกรรมนั้นว่า “นัดกันไปอ่านชีท” หรือ “นัดกันไปติว” ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ เรามักคุยกันเรื่องสรรพเพเหระเสียมากกว่า ขณะที่สำนึกความรับผิดชอบยังคงวนเวียนอยู่ในความตระหนักรู้ของพวกเรา เพราะในวงเหล้าพวกเราจะบ่นซ้ำ ๆ กับประโยคที่ว่า “พรุ่งนี้เรียนเช้า” และ “พรุ่งนี้สอนเช้า” ดังนั้นเมื่อได้เวลาอันสมควรพวกเราก็ชวนกันกลับ และในเช้าวันรุ่งขึ้นพวกเราก็จะเข้าห้องเรียนโดยพร้อมเพรียงกัน
 
ความสัมพันธ์ในวงเหล้าไม่สามารถถูกนำมาอ้างใช้เป็นข้อต่อรองกับบทบาทหน้าที่ของข้าพเจ้าในห้องเรียน คนที่เข้าห้องเรียนสายจะพลาดการทดสอบย่อย (ควิซ) ไปตามระเบียบโดยปราศจากการปราณีปราศรัย ส่วนคนที่อ่านชีทไม่จบก็จะทำแบบทดสอบไม่ได้ซึ่งกลายเป็นบทเรียนสำหรับครั้งต่อไปว่าควรจะอ่านให้จบก่อนไปดื่ม แม้จะมีเสียงบ่นกระปอดกระแปดเมื่อเข้าเรียนสายไม่ทันทดสอบย่อยว่า “เมื่อคืนก็ไปด้วยกันมา” แต่ก็ไม่มีใครโกรธเคืองเมื่อในที่สุดข้าพเจ้าทำตามกติกาในการเรียนที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด เพราะเราต่างเข้าใจดีถึงบทบาทหน้าที่ในกาลเทศะนั้น ๆ นี่จึงเป็นความท้าทายอีกประการหนึ่งว่าเราทั้งสองฝ่ายจะรู้จักแยกแยะบทบาทหน้าที่ต่างกาละและเทศะได้แค่ไหนอย่างไร
 
สิ่งที่นักศึกษาและข้าพเจ้าต่างเรียนรู้ร่วมกันไม่ใช่การทำตามสิ่งที่คนอื่นคอยห้าม หรือคอยบอกว่าอะไรควรหรือไม่ควร แต่เราต่าง “โต” พอที่จะคิดและเลือกทำในสิ่งที่เราเห็นว่าควรทำหรือสามารถทำได้โดยไม่เดือดร้อนใคร และทั้งไม่เดือดร้อนตัวเอง 
 
แม้นักศึกษาจะถูกฝังหัวมาว่าการเรียนหนังสือคือหน้าที่สำคัญที่สุด แต่ปฏิเสธไมได้ว่าการเรียน (ในห้องเรียน) ไม่ใช่และไม่ควรเป็นสิ่งเดียวในชีวิตของพวกเขา และบ่อยไปที่เราพบว่าสิ่งที่ร่ำเรียนมาจากตำรับตำราและบทบรรยายในห้องเรียนมันไม่เวิร์คเอาเสียเลยกับการใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริง ความฉลาดและเท่าทันต่อความเป็นไปในสังคมต่างหากเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้นักศึกษาจบออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การลดทอนและกักขังชีวิตคนที่ถูกกำกับด้วยสถานภาพ “นักศึกษา” ให้อยู่เฉพาะในห้องเรียนเป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง แต่แน่นอนว่าการตั้งวงก๊งเหล้าก็อาจไม่ใช่คำตอบ หรือไม่ใช่คำตอบเดียวสำหรับ “ความเท่าทัน” ที่ว่า
 
ในสภาพความเป็นจริงมนุษย์แต่ละคนดำรงอยู่ในสังคมด้วยสถานภาพและบทบาทที่หลากหลายแปรเปลี่ยนไปตามเวลา สถานที่ และบุคคลที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วย ความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่การยึดแน่นอยู่กับสถานภาพและบทบาทใดอยู่ตลอดเวลา กลับอยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับบทบาทที่หลากหลายให้เลื่อนไหลไปตามบริบทต่าง ๆ ได้อย่างไร และเราจะจัดสรรเวลาที่มีอยู่ให้แก่ภารกิจต่าง ๆ และความสัมพันธ์ชุดต่าง ๆ อย่างลงตัวได้อย่างไร
 
หากใครจะถามหา “สำนึกรับผิดชอบ” แล้วละก็ ข้าพเจ้านับถือเพื่อนร่วมวงดื่มในเรื่องนี้อย่างมาก ไม่ใช่แค่ว่าพวกเขาอ่านชีทจบ ตื่นเช้า เข้าเรียนทัน แต่พวกเขามีวิธีการจัดการตนเองในการดื่มได้อย่างดี เป็นต้นว่านักศึกษาชายที่พักอยู่หอในมหาวิทยาลัยจะกลับออกจากวงก่อนหอปิดเสมอโดยไม่ยอมค้างกับเพื่อนในหอพักนอกมหาวิทยาลัย นักศึกษาชายคนเดียวกันยังยืนยันที่จะต้องทำงานพิเศษให้เรียบร้อยก่อนออกมาดื่มทุกครั้ง นักศึกษาหญิงคนหนึ่งต้องท่องศัพท์ในช่วงหัวค่ำก่อนที่จะออกมาดื่มตามเวลานัดหมาย ส่วนคนอื่น ๆ ถ้าใครมีรายงานหรือการบ้านด่วนก็จะปฏิเสธการมาร่วมวงโดยไม่มีใครติดใจเอาความ หากไปดื่มกันนอกสถานที่ (ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยไปด้วย) จะต้องมีหนึ่งคนที่ไม่ดื่มเลยเพราะถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ “จัดการ” เพื่อนที่เมาและพาเพื่อน ๆ กลับมาส่งโดยสวัสดิภาพทุกคน ค่าใช้จ่ายในการดื่มกินใช้ระบบหารเท่ากัน โดยที่พวกเขาจะไม่สั่งเกินกำลังการจ่ายของนักศึกษา (แม้ว่าหลายคนมีฐานะทางบ้านดีมาก) มักไม่เกินคนละหนึ่งร้อยบาทต่อครั้ง
 
ส่วนข้าพเจ้าเองด้วยสถานภาพตามหน้าที่การงานที่สลัดไม่หลุด ก็ตระหนักตลอดเวลาว่าหากเพื่อนร่วมวงเกิดเป็นอะไรไป ตนเองย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบต่อพวกเขาไม่ได้ การดื่มของข้าพเจ้าจึงเต็มไปด้วยความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงและความพร้อมที่จะรับผิดชอบด้วยเสมอ แต่ก็โชคดีอย่างหนึ่งที่รอบ ๆ สถานศึกษาและที่พักของพวกเรามีร้านเหล้าอยู่กลาดเกลื่อนพวกเราจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลทำให้มีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุน้อยลง
 
ตรรกะของการดื่ม
 
ในข้อเขียนนี้ข้าพเจ้ายังไม่ได้โต้แย้งในเรื่องตรรกะทางศีลธรรม สุขภาพ หรือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอันเป็นเหตุผลที่ถูกใช้อ้างว่าเหตุใดเราจึงไม่ควรจะดื่มเหล้า แต่หวังว่าจะมีโอกาสต่อ ๆ ไปในการโต้แย้งประเด็นเหล่านั้น  และทั้งไม่ได้เขียนเพื่อที่จะบอกว่าถ้าเช่นนั้นเรามาดื่มกันเถิด และไม่ได้บอกอย่างเหมารวมว่าการดื่มของนักศึกษานั้นจะมีวัฒนธรรมและความรับผิดชอบแบบนี้เสมอไป
 
ที่เล่ามาเพียงอยากจะชี้ให้เห็นว่าคนที่เขาดื่ม ตั้งใจดื่ม เลือกที่จะดื่ม มีตรรกะชุดอื่น ๆ ที่อธิบายและสร้างความชอบธรรมในการดื่มของตนเองเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ซับซ้อนและหลากหลายมากไปกว่าชุดคำอธิบายแบบเดียวที่แฝงอคติและดูถูกดูแคลนว่า “จน เครียด” จึง ดื่มเหล้า ไร้การศึกษา ไร้สำนึก หรือเป็น “เด็ก” ที่ไม่รู้จักคิดมีแต่คึกคะนอง ฯลฯ
 
ในข้อเขียนนี้ข้าพเจ้าเสนอเหตุผลในการดื่มของตนเองว่าด้วยเรื่องการสลายเส้นแบ่งและทำลายสถานะบางอย่างที่สังคมคาดหวัง แต่สำหรับนักศึกษาการดื่มของพวกเขาอาจมีความหมายที่หลากหลายมากไปกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันหมายรวมไปถึงการข้ามเส้นแบ่งระหว่างการเป็น “เด็ก” กับการเป็น “ผู้ใหญ่” ที่สังคมมักพยายามกำกับควบคุมพวกเขาด้วยคำอธิบายสั้น ๆ เพียงแค่ว่าพวกเขายังเป็น “เด็ก” จึงควรหรือไม่ควรทำอะไร ซึ่งข้าพเจ้าก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถดื่มได้โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร และปลอดภัยเสียกว่า “ผู้ใหญ่” อีกหลายคนที่แม้ไม่ดื่มแต่ก็ทำตัวเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม
 
สังคมเราทุกวันนี้นิยมยัดเยียดบรรทัดฐานเพียงแบบเดียวในการกำกับควบคุมชีวิตผู้คน โดยเฉพาะบรรทัดฐานในเรื่องศีลธรรมจนประหนึ่งว่ามันเป็นคำตอบแรกและคำตอบสุดท้ายของชีวิต แต่กลับละเลยที่จะพยายามทำ “ความเข้าใจ” วิธีคิดและวิถีชีวิตที่หลากหลายของผู้คนในสังคม หากทบทวนกันดี ๆ จะเห็นว่าการยัดเยียดแบบนั้นดูไม่ค่อยเข้าท่าและไม่บรรลุผลเอาเสียเลยในยุคสมัยที่ผู้คนจำนวนมากต่างเชื่อและยึดถือในเรื่องเสรีภาพในการกำหนดเส้นทางการดำเนินชีวิตของตนเอง  ที่สำคัญผู้คนในสังคมไม่ใช่ “เด็ก” ที่จะต้องมีใครสักคนมาสั่งสอนและคอยกำกับควบคุมอยู่ตลอดเวลาว่าเราควรหรือไม่ควรทำอะไร ด้วยข้อห้ามหรือเหตุผลของ “ผู้ใหญ่” เพียงคนเดียว ซึ่งเหตุผลนั้นก็ฟังประหลาด ๆ อยู่ไม่น้อย
 
หากฝ่ายที่เชื่อว่าการดื่มเหล้านั้น “ไม่ดี” และอยากจะรณรงค์ในเรื่องนี้ (ซึ่งอันที่จริงข้าพเจ้าก็เห็นด้วยอยู่มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์) ฝ่ายรณรงค์ก็ควรคิดให้ซับซ้อนแยบคายกว่าการรณรงค์ด้วยเหตุผลอันทื่อมะลื่อแบบที่ใช้กันอยู่ บอกได้เลยว่าการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษานั้นจะสำเร็จก็เฉพาะกับคนที่ตั้งใจว่าจะงดอยู่แล้ว ส่วนคนที่ไม่คิดจะงดก็คงแค่เจ็บ ๆ คัน ๆ เมื่อได้ยินคำขวัญรณรงค์ต่าง ๆ แต่สิ่งที่พวกเขากำลังทำกันอย่างขะมักเขม้นก็คือสะสมเงินไว้ซื้อเหล้ากักตุนสำหรับวันที่รัฐบาลห้ามขายก็แค่นั้นเอง. 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า