Skip to main content

องค์ บรรจุน



เราต่างเกิดมาพร้อมข้อมูลส่วนบุคคล สามารถสืบย้อนโคตรวงศ์กลับไปได้ไม่รู้จบ ผิวพรรณ ฐานะ และเชื้อชาติของผู้ให้กำเนิดย่อมเป็นข้อมูลที่เกิดรอล่วงหน้า เป็นมรดกสืบสันดานมาต่อไป ส่วนศาสนาและการศึกษาถูกป้อนขณะอยู่ในวัยที่ยังไม่อาจเลือกเองเป็น หลังจากนั้นหากต้องการแก้ไขก็ทำได้เองตามชอบ ศัลยกรรมทำสีผิว ผ่าตัดแปลงเพศ หรือแม้แต่เปลี่ยนศาสนา กระทั่งสัญชาติก็เปลี่ยนกันได้ ยกเว้น “เชื้อชาติ” ที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยน


ในงานเสวนา “มอญในสยามประเทศ (ไทย) ชนชาติ บทบาท และบทเรียน” เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวถึงความล้าหลังคลั่ง “เชื้อชาติ” ว่า เป็นสิ่งสมมุติที่เกิดภายหลังความเป็นคน

“...
ความเป็นคนควรมาก่อนความเป็นมอญ ความเป็นเขมร หรือความเป็นไทยมาทีหลัง ...ประชาชาติในสุวรรณภูมิมีใครบ้างไม่ทราบ เป็นมอญหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เป็นเขมรหรือเปล่าไม่รู้ แต่เป็นคนแหงๆ เพราะไม่มีชื่อชนชาติ อย่างกรณีโครงกระดูกที่พบที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี (อายุประมาณ 3000 ปีมาแล้ว) บอกว่าเป็นโครงกระดูกคนไทยก็บ้า แต่ถ้าบอกว่าไม่ใช่ไทยก็ซังกะบ๊วย อย่างไรก็ตามนั่นล้วนเป็นบรรพชนของ South East Asia …

...
แม้แต่สำนึกความเป็นมอญ มันเพิ่งเกิดทีหลังคือในรุ่นรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 เขียนเท้าความถึงมอญ แต่ความเป็นมอญนี้ไม่เกี่ยวกับอยุธยาและไม่เกี่ยวเลยกับทวารวดี เพราะมอญช่วงนั้นก็กลืนกลายเป็นไทยไปนานแล้ว ส่วนปัจจุบัน ‘ความเป็นไทย’ มันก็กลืนหมดและบังคับให้คนเป็น ‘ไทย’ ถ้าไม่เป็นมึงตาย…”

ใครยืนยันได้ว่าคนสมัยก่อนไม่มีสำนึกเรื่องเชื้อชาติ หากไม่แล้วมันเกิดขึ้นมาเมื่อใด และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่าสำนึกเรื่องเชื้อชาติพัฒนามาจากความเป็นพวกเดียวกัน เมื่อคนต่างพวกพบกัน ความต่างและความเป็นกลุ่มเดียวกันจึงสำแดงตน จะพบได้ว่าคนโบราณรู้กันดีอยู่แล้วว่าใครเป็นใคร สืบเชื้อสายมาจากไหน และ “มีอะไรแค่ไหน”
ดังปรากฏว่าในตำนานท้าวฮุ่งที่มีแม่เป็นมอญ จึงถือว่ามอญเป็นตระกูลสูง รวมทั้งจีนซึ่งมีอิทธิพลในภูมิภาค1 ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้โปรดเกล้าฯตั้งทินนามให้รัชกาลที่ 1 ว่า “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนคราระอาเดช นเรศวรราชสุริยวงศ์ฯ” ที่แสดงให้เห็นว่าอดีตและปัจจุบันเชื่อมโยงกัน ด้วยพระเจ้าตากสินมหาราชทราบว่าเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้นเป็น “นเรศวรราชสุริยวงศ์”2 รวมทั้งการที่รัชกาลที่ 4 ทรงอธิบายให้เซอร์จอห์นเบาริ่ง ทราบว่า บรรพชนของพระองค์เป็นมอญมาจากหงสาวดีนั้นก็เช่นเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าแต่ก่อนแต่ไรนั้นไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงอดีต (ที่ใครก็รู้) แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เกิดลัทธิอาณานิคมตะวันตก การอ้างถึงชาติตระกูลที่สืบเชื้อสายมายาวนานจึงจำเป็น และก็ควรตั้งข้อสังเกตุไว้ด้วยว่า “มอญ” ในความรับรู้ของคนสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น คงมีความน่าเชื่อในฐานะชาติอารยะเก่าก่อน เพราะหากสถานการณ์เป็นดังทุกวันนี้แล้วเชื่อได้ว่ารัชกาลที่ 4 น่าจะอ้างอิงว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจาก “จีน” จะดูมีน้ำหนักกว่า (ดังที่อดีตนายกทักษิณได้ไปเยี่ยมเยียนถิ่นเกิดของบรรพชนที่กวางโจว และการที่สมาพันธ์สมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทยเชิญท่านไปกล่าวเปิดงาน3)

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนของวันนี้ได้เลือกสำแดงตนออกมาว่าหวงแหนเชื้อชาติของตน การย้อนนึกถึงสิ่งที่เนื่องด้วยบรรพชนก็น่าจะเป็นสิ่งดี จริงอยู่การเจริญเติบโตของเมืองในอดีตอาจเกิดขึ้นด้วยผลประโยชน์ทางการค้า ศาสนา และการเมือง มากกว่าจะเป็นการรวมตัวกันของคนเพียงเชื้อชาติเดียว เพื่อการ “สมประโยชน์” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นไม่มีสำนึกเรื่องเชื้อชาติร่วมกันเลย อย่างไรก็ดีสำนึกเรื่องเชื้อชาติดังกล่าวได้มีการส่งต่อนับเนื่องกันมายาวนาน แม้นักคิดส่วนใหญ่จะเชื่อว่าส่วนผสมของชาวสยามปัจจุบันเป็นคนทวารวดีที่สิ้นสำนึกแบบทวารวดีไปแล้ว รวมเข้ากับคนที่มาใหม่ ไต ลาว และจีน แต่ต้องไม่ลืมว่าชื่ออาณาจักรอยุธยานั้นคือ “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา” หรือ “กรุงเทพทวารวดี” และต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นก็ยังคงความหมายไว้ดังเดิม เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ฯ” ในภายหลัง

อาจารย์สุจิตต์ กล่าวว่าตนหลุดพ้นจากความ “ล้าหลังคลั่งชาติ” แต่ยังไม่วายแดกดันตัวเองด้วยการกล่าวถึงเชื้อสายของตนว่า “เจ๊กปนลาว” ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าทั้งสองชนชาติในสายเลือดของท่านนั้น มีผลต่อความคิดความรู้สึกเมื่อถูกพูดถึง สอดรับกับหนังสือ “พลังลาวชาวอีสาน” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2550 คล้ายจะบอกให้สังคมรู้ว่า คนลาวอีสานก็มีดี อย่ามาดูถูกกัน ซึ่งผู้เขียนก็เชื่ออย่างนั้น


คนช่างคิดบางคนแสดงความเห็นว่า

...ถ้ายังหลงทางและงมงายกับสิ่งที่เรียกว่า "เชื้อชาติ" โดยไม่มองให้ทะลุแดดไปถึง "ความเป็นคน"...วันหนึ่งเมื่อมี "ประเทศมอญ" และมีกรณี "โชติศักดิ์มอญ" เกิดขึ้น ก็จะมี "คาราบาวมอญ" ไปถามหมอนั่นว่า "เ ป็ น ค น ม อ ญ รึ ป ล่ า ว...อ่าวๆๆๆๆ" พร้อมกับไล่กระทืบให้หมอนั่นออกนอกประเทศไทย สรุป: ความดักดานไม่เคยปรานีใคร!...”


การตั้งคำถามกับผู้อื่นว่าเป็นไทยหรือเปล่า เป็นมอญหรือเปล่า จะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อคำตอบที่ได้รับนั้นไม่มีวันถูกใจผู้ถาม คำถามที่น่าจะถามต่อคนช่างคิดก็คือ “จิตของคุณเป็นอะไร มีโอกาสรักษาหายหรือเปล่า...?”


ทำไม...คนที่รักเชื้อชาติของตนต้องถูกเหมาเข่งว่า “ดักดาน” และถูกตีขลุมว่าจะต้องก้าวร้าวกับใครต่อใครไม่เลือกหน้า...?


หากผู้คนหลุดพ้น “ความล้าหลังคลั่งชาติ” ที่เข้าใจกันไปเองนั้นแล้ว คงไม่ได้ยินคำเขื่องที่ว่า
คนไทยมีน้ำใจ คนไทยยิ้มง่าย คนไทยเป็นมิตร”

คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” หรือหักมุมไปเลย

คนไทยโง่เพราะกินข้าวมาก...”


คนกินข้าวหรือกินขนมปังเขาก็ยิ้มเป็น มีน้ำใจ และเป็นมิตรเหมือนกัน ผู้ที่คิดว่าตนหลุดพ้นและตำหนิผู้อื่นว่า “ดักดาน” พฤติกรรมนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการสร้างความรู้ชุดใหม่ครอบงำผู้อื่น และน่าจะถือได้ว่าเป็นความดักดานประเภทหนึ่ง เมื่อคนกลุ่มน้อยในสังคมมีสำนึกเรื่องเชื้อชาติถูกมองว่าดักดาน ขณะที่คนอีกส่วนของสังคมยอมสิโรราบให้กับวิธีคิดและวิธีจูงคนให้คิดตามชาติมหาอำนาจตะวันตก อเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งใช้โอกาสทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการประชาสัมพันธ์กระทำต่อผู้ที่ด้อยกว่า


การให้สติแก่กันเรื่องชาตินิยมในกลุ่มคนที่ล้นทะลัก ผู้ให้สติควรตั้งสติ เอาอัตตาของตนวางไว้ ไม่เอาชาติ (การเกิดขึ้น) นิยมของตนไปกดทับคนอื่น และต้องไม่เหมายกเข่ง ในเมื่อเราต่างที่มา ต่างตำรา และต่างตีความ เพราะหากความรู้สึกหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมและเกียรติภูมิของบรรพชน ถูกตราหน้าว่าดักดานล้าหลังคลั่งชาติเสียแล้ว น่าห่วงว่าพฤติกรรมของคนในชาติต่อไปจะเป็นไปในรูปใด คงต้องรอวัฒนธรรมกระแสหลักจาก “ผู้จัดการรัฐไทย” โดยทอดทิ้งมรดกของบรรพชน (ไทย จีน ม้ง กะเหรี่ยง ลาว แขมร์ มอญ ยวน ฯลฯ) รอกินอาหารแช่แข็งรสชาติคงที่ของห้างค้าปลีกข้ามชาติ แต่งตัวตามวารสารและมิวสิควีดีโอจากเอเชียตะวันออก ส่งบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปยุโรปในรูปของภาษีนำเข้า ฯลฯ หากเป็นอย่างนั้นแล้วไซร้ เขาผู้นั้นก็สมควรได้รับการตราหน้าว่า “ลืมกำพืด” เฉกเช่นเดียวกัน

1 จิตร ภูมิศักดิ์. (2544). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. หน้า 95.
2 คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2543). โครงกระดูกในตู้. หน้า 80.
3 ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก. (2545). คำกล่าวของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานแห่งใหม่ของสมาพันธ์สมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย ถนนเจริญกรุง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2545.


บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์