Skip to main content
 

สุกัญญา เบาเนิด

ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังนิยมสวมในเสื้อเหลือง เสื้อฟ้า เสื้อชมพู (ประดับตราสัญลักษณ์) ด้วยความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกถึงความจงรักภักดี หรือจะด้วยความรู้สึกอื่นใด...ทำให้เรารับรู้ได้ว่าการมีเสื้อผ้าไม่ใช่มีไว้ห่อหุ้มร่างกายอย่างเดียว  แต่เสื้อผ้ายังแฝงไว้ด้วยความหมายหลายสิ่งอย่างอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นสี หรือ ลวดลาย  กล่าวกันว่าการกระทำของคนเรานั้นเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้นเสื้อผ้าก็เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารเรื่องราว เป็นตัวแทนความคิด และแทนความรู้สึกร่วมของคนในกลุ่ม 

แรงงานมอญที่อพยพเข้างานทำงานในมหาชัย (จังหวัดสมุทรสาคร) มีการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นมอญ ในวันสำคัญต่างๆไม่ว่าจะเป็นวันสำคัญทางศาสนา หรือ เทศกาลต่างๆ  โดยเฉพาะงานวันชาติมอญ ซึ่งเป็นวันที่แรงงานมอญทุกคนจะพร้อมใจกัน การแต่งกายแบบมอญ หรือ ชุดประจำชาติ ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่า ผู้ชายต้องสวมใส่ โสร่งแดง
เป็นโสร่งพื้นแดงลายตารางคล้ายคันนามีแถบขาวคาดที่กลางผืน และแถบขาวนี้เองก็กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้โสร่งมอญแตกต่างจากโสร่งของพม่า  ส่วนเสื้อนั้นมีลักษณะสีขาวหรืออาจจะมีลายตารางสีแดงบนพื้นขาว คอกลมแขนยาวผ่าหน้าผูกเชือก  ส่วนผู้หญิงต้องนุ่งผ้าถุงแดง ลักษณะผ้าถุงเป็นลายดอกบนพื้นแดงมีเชิง ส่วนเสื้อมีลักษณะเป็นเสื้อสีขาว หรือ สีชมพูอ่อนแขนยาว คอกลมผ่าหน้าผูกเชือก ชายเสื้อค่อนข้างยาวปิดสะโพกเพื่อให้แตกต่างจากเสื้อผู้หญิงพม่า 

คนมอญเชื่อว่าการแต่งกายด้วยชุดประจำชาติมอญนั้นเป็นการแสดงถึงความรักชาติ และแยกตัวออกจากความเป็นพม่า มิอู อายุ ๒๕ ปี คนมอญหมู่บ้านฮะปลาง จังหวัดมะละแหม่ง ประเทศพม่า ทำงานที่สมุทรสาครประมาณ ๑๒ ปี กล่าวว่า
"....ถ้ามอญแต่งชุดมอญแสดงว่ารักชาติ ถ้าไม่แต่งชุดแบบนี้เขาก็ดูไม่ออก อันไหนมอญอันไหนพม่า...." (๑)

ดังที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายที่เรียกว่าชุดประจำชาติของมอญ การสวมใส่ชุดมอญเป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นมอญของผู้สวมใส่ และความคิดชาตินิยม ถึงแม้ชุดประจำชาติมอญจะเกิดขึ้นไม่นานและก็เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกหยิบยกมาแสดงถึงตัวตนมอญโดยได้รับอิทธิพลจากพรรคมอญใหม่ในการสร้างกระแสชาตินิยมมอญ เพราะไม่เพียงแต่ชุดประจำชาติที่ถูกคิดค้นขึ้นใหม่ยังมีธงชาติมอญ เพลงชาติมอญ วันชาติมอญ สัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติ(หงส์)อีกด้วย เป็นการปลูกฝังสำนึกทางชาติพันธุ์ของคนมอญในประเทศพม่าที่ดำเนินมาตลอดระยะเวลาเกือบ ๖๐ ปีตั้งแต่อังกฤษได้คืนเอกราชให้พม่าและเหตุการณ์การละเมิดข้อตกลงปางโหลงที่เป็นชนวนให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆกับรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๙๐ เป็นต้นมา

นอกจากการสวมใส่ชุดประจำชาติ ตามวาระและโอกาสต่างๆแล้ว  พบว่าในกลุ่มแรงงานมอญยังนิยมเสื้อผ้าอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เสื้อยืดที่มีลวดลายและข้อความภาษามอญ เรียกว่า "เสื้อลายมอญ"   มักจะจัดทำขึ้นในวาระสำคัญต่างๆ เช่น งานวันชาติมอญ งานออกพรรษา งานสงกรานต์ งานลอยกระทง เป็นต้น ลวดลายและข้อความต่างๆ บางลวดลายได้บอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจ  โดยทำเป็นรูปอดีตกษัตริย์มอญ  เช่น รูปพระเจ้าราชาธิราช   พระเจ้าเมียะมนูฮอ  หรือ พระนางจามเทวี  ทำให้ชวนคิดต่อไปว่าเพราะเหตุอันใดลวดลายเหล่านี้ถึงมาปรากฏอยู่บนเสื้อผ้า  และมีอะไรที่เป็นความรู้สึกลึกๆที่ซ่อนอยู่ในความคิดและความรู้สึกของผู้สวมใส่

ยกตัวอย่างเช่น เสื้อที่ทำเป็นรูป พระเจ้าเมียะมนูฮอ มีข้อความว่า "พระเจ้าเมียะนูฮอต้องถูกมัด (พันธนาการ) และทรมานจากกษัตริย์พม่า พระเจ้าอโนรธา"   เสื้อลายนี้ถูกอธิบายว่าถูกห้ามสวมใส่ในประเทศพม่า เนื่องมาจากมีความหมายในเชิงการเมืองและเป็นการต่อต้าน  แต่ในส่วนของคนมอญนั้นมันได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่ง
กดขี่ข่มเหงคนมอญตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นภาพในจินตนาการ หรือในสภาวะการณ์ปัจจุบัน

นายกาวซอน คนมอญย้ายถิ่นหมู่บ้านแหว่งอะเปาะ เมืองปอง จังหวัดสะเทิม รัฐมอญ ประเทศพม่า  ทำในงานในสมุทรสาครประมาณ ๑๐ ปี อาศัยอยู่แถบวัดโกรกกรากใน พูดถึงเสื้อลายมอญให้ฟังว่า

"...จริงๆแล้วทุกวันนี้มอญเราก็มีอยู่แค่เสื้อกับโสร่ง...ความรู้สึกในใจของเราถ้าเราไม่ได้พูดออกมาเราก็จะไม่มีความสุขเราใส่เสื้อแบบนี้มันแทนความรู้สึกข้างใน เราอยากจะแสดงออก เราไม่ได้หวังให้ใครรับรู้นอกจาพวกเราเอง ถึงอย่างอื่นเราจะพ่ายแพ้แต่จิตใจเราไม่แพ้ เราจึงเตือนสติกันเองว่า รูปนี้พระเจ้าของเรานะ  อันนี้เป็นตัวหนังสือภาษามอญของเรานะ .." (๒)

เสื้อลายมอญทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเสื้อประจำกลุ่ม นอกจากลวดลายและข้อความต่างๆแล้วยังมีข้อความที่ระบุถึงชื่อกลุ่ม และหมู่บ้าน เมือง ในเมืองมอญ (ประเทศพม่า) แรงงานมอญที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันก็จะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็จะผลิตเสื้อซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มตัวเอง บางครั้งอาจมีการใช้ข้อความเป็นภาษาไทยเพื่อสื่อให้คนไทยได้รับรู้ว่าผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าเหล่านั้นเป็นคนมอญไม่ใช่คนพม่า

สำหรับลวดลายที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ รูปหงส์ เนื่องจากหงส์สัญลักษณ์ของมอญซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณเชื่อมโยงกับตำนานการสร้างเมืองหงสาวดี และเมื่อมีวันชาติมอญหงส์ก็ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติเป็นสัญลักษณ์แทนชนชาติมอญ หงส์เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุด มักจะปรากฏอยู่ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รูปปั้น ภาพเขียน รูปแกะสลัก บนเสื้อผ้า ตราประจำองค์กรของมอญ และธงชาติ ในงานวันชาติมักจะพบเห็นสัญลักษณ์ของหงส์อยู่ทั่วไป  หงส์นั้นไม่เพียงแต่ปรากฏในงานวันชาติเท่านั้น งานสำคัญทางศาสนา งานบุญประเพณีก็มักจะนำรูปหงส์มาประดับไว้ในงาน คล้ายกับเป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นมอญ นอกจากนี้อากัปกริยาของหงส์บางลักษณะก็สื่อความหมายแตกต่างกันไป เช่น
๑. หงส์คู่ซ้อนกัน หมายถึง หงส์ในตำนานการสร้าง เมืองหงสาวดี  
๒. หงส์บิน  มีความหมายในเชิงการเมืองมากที่สุด ปรากฏอยู่บนผืนธงชาติมอญ  ในมุมมองของทางการพม่ายอมรับที่คนมอญใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์แต่ก็ต้องเป็นหงส์ยืน (นิ่งๆ)เท่านั้น หากทำเป็นรูปหงส์บินพม่าก็จะถือว่าเป็นศัตรู  ๓. หงส์ยกเท้า มีความหมายในเชิงการเมือง สืบเนื่อง จากทางการพม่าห้ามไม่ใช้รูปหงส์บิน  กลุ่มนักศึกษามอญในมหาวิทยาลับย่างกุ้งได้ออกแบบหงส์ขึ้นใหม่ ยกเท้ากำลังก้าวขาข้างหนึ่งกำลังจะก้าวไปข้างหน้า (๓) แทนความหมายว่าคนมอญจะไม่หยุดการเคลื่อนไหวเรื่องชนชาติและพร้อมจะก้าวไปข้างหน้าเสมอ  

ในปัจจุบันการสกรีนเสื้อยืดเป็นลวดลายและข้อความภาษามอญสามารถทำได้ง่ายและสะดวก เพราะตั้งแต่มีคอมพิวเตอร์และการพัฒนารูปแบบอักษรมอญที่สามารถใช้กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์  ประกอบกับในเมืองไทยสามารถหาร้านสกรีนได้ง่าย ต่างกับที่เมืองมอญ(ประเทศพม่า) ซึ่งร้านสกรีนเสื้อนั้นหายากและมีราคาแพง ที่สำคัญสังคมไทยให้สิทธิเสรีในการแสดงออกทางความคิด ตราบใดที่ท่าทีและการแสดงออกของคนมอญเหล่านั้นไม่ได้เป็นปฏิปักษ์หรือต่อต้านรัฐบาลไทย  ตรงกันข้ามกับในประเทศพม่าที่รัฐบาลมักมีข้อจำกัดต่อการแสดงออกทางด้านการเมืองของชนกลุ่มน้อยต่างๆ 

นายอองซอนโม่น อายุ ๒๕ ปีคนมอญจากหมู่บ้านกวักเต่ เมืองมุเดิง จังหวัดมะละแหม่ง เช่าห้องอยู่แถบมหาชัยนิเวศน์ และเข้ามาเป็นแรงงานในสมุทรสาครประมาณ ๙ ปีกล่าวถึงชุดประจำชาติมอญและเสื้อลายมอญให้ฟังว่า
"....เรารู้จักมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว เขาก็ทำกันอยู่ เราก็รับรู้ โสร่งแดง เสื้อขาว ชุดประจำชาติเราก็รู้...ความหมายโสร่งคือ สีแดงหมายถึง สีเลือด แสดงว่ารักชาติ ส่วนสีขาวหมายถึงศาสนาและ จิตใจที่ใสสะอาด   ส่วนที่พม่าไม่มีเสื้อที่สกรีนลายหรอกเป็นเสื้อขาวเฉยๆ ตราแบบนี้ไม่มีหรอก ทำไม่ได้หรอกเขาไม่ให้ทำ เขาไม่ให้โอกาส ประเทศไทยนั้นทำได้..." (๔)             

ปัจจุบันเสื้อลายมอญยังคงได้รับการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง นับวันก็จะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น  หากสามารถถอดความหมายที่อยู่บนเสื้อแต่ละตัว เราคงจะได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคมของมอญได้อย่างไม่รู้จบ  เดิมทีนั้นผู้เขียนเองก็ไม่ได้สนใจเสื้อลายมอญเหล่านี้เท่าไหร่นัก มีบ้างตัวสองตัว เมื่อได้เรียนรู้ความหมายที่อยู่บนตัวเสื้อ จากเดิมที่ไม่ได้สนใจก็กลายมาเป็นการสะสม...แล้วก็รอลุ้นว่า....งานวันชาติมอญในปีหน้าเสื้อลายมอญจะเป็นรูปอะไร.!!!!

อ้างอิง
(๑) สัมภาษณ์  มิอู,  คนมอญจากหมู่บ้านฮะปลาง จังหวัดมะละแหม่ง เมืองมอญ ประเทศพม่า,  4 พฤศจิกายน 2549.
(๒) สัมภาษณ์  นายกาวซอน,  คนมอญบ้านแหว่งอะเปาะ เมืองปอง จังหวัดสะเทิม เมืองมอญประเทศพม่า,  ๒๖ พฤศจิกายน,๒๕๔๙.
(๓) พิสัณห์ ปลัดสิงห์,  มอญ ชนชาติไร้แผ่นดิน, กรุงเทพฯ  :  พิมพ์ที่จตุจักรการพิมพ์, ๒๕๒๕. หน้า ๓๒ .
(๔) สัมภาษณ์  นายอองซอนโม่น,  คนมอญจากเมืองมอญ ประเทศพม่า,  ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙.

20_8_01
เสื้อลายมอญรูปมนุษยสิงห์ สัญลักษณ์ของเมืองสะเทิมมีข้อความว่า
"ทหารกู้ชาติมอญ"

20_8_02
เสื้อลายมอญรูปหงส์มีข้อความว่า
"กลุ่มเยาวชนมอญหงสา"

20_8_03 20_8_04
เสื้อลายมอญรูปพระเจ้าราชาธิราช (กษัตริย์มอญ)  มีข้อความว่า
"กลุ่มสามัคคีหงสา"

20_8_05
เสื้อลายมอญรูปพระเจ้าเมียะนูฮอ (กษัตริย์มอญ) ข้อความว่า
"รูปพระเจ้าเมียะนูฮอต้องถูกมัด(พันธนาการ) โดยกษัตริย์พม่า พระเจ้าอโนรธา"

20_8_06
เสื้อลายมอญรูปพระนาง
จามเทวี มีข้อความว่า "กลุ่มทำงานวันชาติมอญครั้งที่ ๕๙ และวีระกษัตรีมอญจามเทวี"

20_8_07
เสื้อลายมอญรูปหงส์และจารึกหนังสือมอญ มีข้อความว่า
"อนุรักษ์กันมาแต่รากเหง้าของเราชาวมอญ และทำทุกอย่างเพื่อชาติจะได้รุ่งเรือง"

20_8_08

20_8_09
เสื้อลายมอญรูปธงชาติมอญ(ด้านหน้า) และรูปหงส์
มีข้อความว่า
"วันชนชาติมอญครั้งที่ ๕๗ ประเทศมาเลเชีย" (ด้านหลัง)

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลวงพ่อสมาน วัดชนะสงคราม ที่เคยเลี้ยงดูส่งเสีย ข้าวแกงก้นบาตรราดรดหัวผมมาจนเรียนจบปริญญาตรีเมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่านชอบเปรียบเปรยลูกศิษย์ลูกหาและใครต่อใครที่ลืมคุณคนด้วยสำนวนมอญที่ไม่พ้นไปจากเรื่องการกินการอยู่ เป็นต้นว่า "ใหญ่เหมือนช้าง ยาวเหมือนงู" (แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน)"กินผลฟันต้น เก็บร่มหักก้าน" (กินบนเรือนขี้บนหลังคา)"ข้าวแดงแกงร้อน" (สำนึก)"เสียข้าวสุก" (เนรคุณ)แต่ที่ผมเสียวแปลบไปถึงขั้วหัวใจทุกครั้งเมื่อถูกท่านเหน็บเอาว่า"ข้าวสุกไม่มียาง" (ก็เนรคุณอีก)
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน"มอญร้องไห้" ร้องทำไม ร้องเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ หรือญาติเสีย...?ถูก...ญาติเสีย แต่ต้องระดับคนมีหลานเหลนแล้ว และเป็นที่เคารพรักของผู้คนเท่านั้น หากญาติที่เสียชีวิตอายุยังน้อย แม้จะเสียใจก็ร้องไห้กันไปตามมีตามเกิด ไม่มีการทำพิธีกรรมให้เป็นพิเศษแต่อย่างใดมอญร้องไห้ เป็นมีพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลาน ที่สำคัญเป็นการยกย่องและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตายที่เคยทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต โดยมากแล้วผู้ร้องจะเป็นหญิงสูงอายุและเป็นเครือญาติกับผู้ตาย เนื้อหาที่ร้องพรรณนาออกมานั้นจะได้ออกมาจากใจ…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน สำนวนไทยที่กล่าวถึงการแย่งศพมอญ นั่นคือ “แย่งกันเป็นศพมอญ” หากพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่มีความหมายว่า ยื้อแย่งกัน ซึ่งใช้ในเชิงเปรียบเทียบ๑ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำนวนนี้มีที่มาจากประเพณีมอญแต่โบราณ และคำว่า “แย่ง” นั้นก็เป็นแต่อุบาย ที่หมายให้ผู้คนทั้งหลายหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีมอญหลายประการที่คนไทยยอมรับมาอย่างหน้าชื่นตาบาน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ตักบาตรน้ำผึ้ง ล้างเท้าพระ ดนตรีปี่พาทย์นาฏศิลป์ เหล่านี้เป็นหัวใจของไทยที่รับมาจากมอญ และทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นของตนอย่างกลมกลืน…
องค์ บรรจุน
“...ต้องการแม่ครัว (หรือพ่อครัวก็ได้) ๑ ตำแหน่งค่ะ ทำงานที่ระยองนี่ล่ะ...”“ชาวพม่าเอาไหมครับ ถ้าเอามีเยอะเลย ข้างบ้านเขาทำธุรกิจแรงงานพม่าอยู่น่ะ...”“พม่าทำกับข้าวอร่อยหรือเปล่าคะ”“…มีข่าวบ่อยๆ ว่า แรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ต่างดาว ฆ่านายจ้าง ระวังไว้นะ”“พม่าเอาแบบนุ่งกางเกงนะ ห้ามนุ่งโสร่ง เดี๋ยวจะเพิ่มเส้นให้มามากเกินไป...ง่ะ...๕๕๕++”ฯลฯข้อความโต้ตอบในกระดานสนทนาเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่ง ที่ผู้เขียนเข้าไปพบโดยบังเอิญ เมื่อปลายปีที่แล้ว ข้อความโต้ตอบข้างต้นสะท้อนแง่คิดของคนไทยกลุ่มหนึ่งได้อย่างแปรปรวนชวนสงสัย น่าแปลกที่คนไทยเรามีสายตาที่มองคนพม่าในแบบที่ทั้งหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ เป็นตัวตลก…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย   ปกติฉันทำงานที่ตึกประชาธิปก-รำไพพรรณี ซึ่งอยู่ติดกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงมักจะไปทานอาหารที่โรงอาหารของคณะเศรษฐศาสตร์ ในช่วงแรกๆ ที่ฉันมาเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้ยินคนขายอาหารพูดกันเองว่า   “คนเก็บจานที่มาใหม่น่ะ พูดอังกฤษคล่องเชียว เป็นคนพม่า พูดไทยไม่ได้ เวลาจะให้ทำอะไรแกต้องสั่งเขาเป็นภาษาอังกฤษนะ” ฉันเลยรับรู้มาตั้งแต่นั้นว่า โรงอาหารแห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทำงานอยู่ (พอดีตอนนั้นเรียนเรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติอยู่ด้วย) หลังจากนั้นก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานพม่ามาตลอด ว่าที่เราเข้าใจว่าเป็น “แรงงานพม่า” นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นได้ทั้งพม่า…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน เครื่องนุ่งห่มนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ของมนุษย์ เพื่อปกปิดร่างกายคุ้มภัยร้อนหนาวจากธรรมชาติ กันขวากหนามงูเงี้ยวเขี้ยวขอขบเกี่ยว และที่สำคัญ ปิดกายให้พ้นอาย รวมทั้งเสริมแต่งให้ชวนมอง ส่วนการตกแต่งร่างกายตามความเชื่อและลัทธิทางศาสนานั้นน่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลังสุดและมีความสำคัญรองลงมา การตกแต่งร่างกายนั้นเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ใช้เรียกความสนใจจากเพศตรงข้าม นำไปสู่การดำรงเผ่าพันธุ์ อันต่างจากสัตว์ที่เป็นไปตามสัญชาติญาณ และมีแรงดึงดูด (ฟีโรโมน) ในตัว สามารถส่งเสียง สร้างสี ส่องแสง แต่งกลิ่น ล่อเพศตรงข้าม แต่มนุษย์ไม่มีสิ่งเหล่านั้นจึงต้องสร้างขึ้น…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด งานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ซึ่งชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยในฐานะกรรมการจัดงาน แต่ก็รู้สึกอิ่มเอมใจกับภาพที่เห็นและบรรยากาศที่ได้สัมผัส ถือเป็นงานใหญ่ที่คนมอญได้แสดงออกซึ่งขนบธรรมประเพณีอันดีงาม มิเสียชื่อที่เป็นชนชาติที่รุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมาก่อน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดธรรมเนียมมอญโบราณ และเป็นการถวายพระกุศลแด่พระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” กลอนภาษาไทยข้างต้นเป็นกลอนที่ฉันได้ยินมาแต่เด็ก เมื่อมาเขียนบทความนี้ก็พยายามหาว่าใครเป็นคนแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่ามาจากเชคเสปียร์ที่บอกว่า “Two folks look through same hole, one sees mud, one sees star” ส่วนผู้ที่ถอดเป็นภาษาไทยนั้น ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นคนถอดความและประพันธ์กลอนนี้ อย่างไรก็ตาม ฉันเข้าใจว่ากลอนบทนี้กล่าวถึงการมองสรรพสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าต่างคนอาจมองได้ต่างกัน และเมื่อฉันโตขึ้น ฉันก็ได้เห็นประจักษ์ถึงความเป็นไปตามคำกล่าวนั้น…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน ผีที่คนมอญนับถือ มิใช่ผีต้นกล้วย ผีตะเคียน ผีตานี ผีจอมปลวก แต่เป็นผีบรรพชน ผีปู่ย่าตายายของเขา สิ่งที่รัดโยงและธำรงความเป็นมอญที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือ “การนับถือผี” ผีเป็นศาสนาแรกของทุกชาติทุกภาษา คนมอญนับถือผีควบคู่กับพุทธศาสนา เคารพยำเกรงไม่กล้าฝ่าฝืน การรำผีนอกจากเป็นการเซ่นไหว้ผีประจำตระกูลแล้ว ยังเป็นการรักษาโรคด้วย หากเทียบกับการรักษาโรคในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า เป็นจิตวิทยาการแพทย์ ในบรรดาการรักษาโรคที่หลากหลายของมอญ เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร การนวด คาถาอาคม และพิธีกรรม เช่น การทิ้งข้าว (เทาะฮะแนม) การเสียกบาล (เทาะฮะป่าน) ส่วนพิธีกรรมที่ใหญ่ที่สุดคือ การรำผี (เล่ะฮ์กะนา…
องค์ บรรจุน
ภาสกร อินทุมาร ชลบุรีอาจจะเป็นจังหวัดที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีชุมชนคนมอญตั้งอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะมอญเกาะเกร็ดและมอญพระประแดงเท่านั้น... แต่ถึงอย่างไรก็ดี ชลบุรีก็ยังมีคนมอญอยู่ที่ “วัดบ้านเก่า” ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “วัดบ้านมอญ” แห่งตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และความน่าสนใจของคนมอญของที่นี่ อยู่ที่ “พระ”   วัดบ้านเก่า (วัดบ้านมอญ) ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
องค์ บรรจุน
  สุกัญญา เบาเนิดในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังนิยมสวมในเสื้อเหลือง เสื้อฟ้า เสื้อชมพู (ประดับตราสัญลักษณ์) ด้วยความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกถึงความจงรักภักดี หรือจะด้วยความรู้สึกอื่นใด...ทำให้เรารับรู้ได้ว่าการมีเสื้อผ้าไม่ใช่มีไว้ห่อหุ้มร่างกายอย่างเดียว  แต่เสื้อผ้ายังแฝงไว้ด้วยความหมายหลายสิ่งอย่างอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นสี หรือ ลวดลาย  กล่าวกันว่าการกระทำของคนเรานั้นเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้นเสื้อผ้าก็เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารเรื่องราว เป็นตัวแทนความคิด และแทนความรู้สึกร่วมของคนในกลุ่ม  แรงงานมอญที่อพยพเข้างานทำงานในมหาชัย (จังหวัดสมุทรสาคร)…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย ตอนเล็กๆ ผู้เขียนมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ใช้เรียกทฤษฎีความอลวน (Chaos Theory) กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนใจว่าทฤษฎีนี้มีเนื้อหาอย่างไร แต่ก็มีผู้อธิบายว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” นี้เป็นการอธิบายว่าการที่เราเริ่มทำสิ่งหนึ่งอาจส่งผลลัพธ์ไปถึงสิ่งที่อยู่ไกลๆ ได้ เพราะทุกสิ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเกินกว่าที่เราจะตระหนัก ตอนนี้ผู้เขียนเปิดคอมพิวเตอร์ เปิดไฟ เปิดพัดลม การกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดสิ่งใดในพื้นที่ที่ห่างออกไปได้หรือไม่ พักเรื่องนี้ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน…