Skip to main content

องค์ บรรจุน

"มอญร้องไห้" ร้องทำไม ร้องเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ หรือญาติเสีย...?


ถูก...ญาติเสีย แต่ต้องระดับคนมีหลานเหลนแล้ว และเป็นที่เคารพรักของผู้คนเท่านั้น หากญาติที่เสียชีวิตอายุยังน้อย แม้จะเสียใจก็ร้องไห้กันไปตามมีตามเกิด ไม่มีการทำพิธีกรรมให้เป็นพิเศษแต่อย่างใด


มอญร้องไห้ เป็นมีพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลาน ที่สำคัญเป็นการยกย่องและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตายที่เคยทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต โดยมากแล้วผู้ร้องจะเป็นหญิงสูงอายุและเป็นเครือญาติกับผู้ตาย เนื้อหาที่ร้องพรรณนาออกมานั้นจะได้ออกมาจากใจ เพราะเคยสัมผัสคลุกคลีมาก่อนเมื่อตอนยังมีลมหายใจ โดยผู้ร้องจะร้องเป็นภาษามอญ และต้องใช้ปฏิภาณกวี คิดคำรำพันคล้องจองให้สัมผัสลงตามทำนองดั้งเดิม เนื้อหาที่ร้องนั้นจึงไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตายเป็นใคร เคยประกอบคุณงามความดีอะไรเอาไว้บ้าง รูปแบบมอญร้องไห้ของแท้นั้นเรียบง่าย แต่กินใจ ได้เนื้อความเฉพาะผู้ตายเป็นรายๆ ไป ต่างจากมอญร้องไห้ของกรมศิลป์ที่ประยุกต์เสียใหม่ รูปแบบหรูหราอลังการ สะเทือนอารมณ์รุนแรง (ออกแนวผู้ดีเสียของรักอยู่สักหน่อย) ทว่าติดกับดัก "มาตรฐาน" จะฟังกี่งานๆ เนื้อหาก็เหมือนกันเป๊ะ


ประวัติความเป็นมาของมอญร้องไห้นั้นมีผู้กล่าวไว้หลายแห่ง เช่น เสถียรโกเศศ กล่าวถึงใน ประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิต ตอนที่เกี่ยวกับความตายไว้ว่า ต้นเหตุมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทรงปาฏิหารย์ให้พระบาททะลุออกมานอกโลง เพื่อให้พระมหากัสสป ศิษย์เอก เคารพบูชา ฝ่ายพุทธบริษัทที่ยังไม่บรรลุอรหันต์ผลต่างร้องไห้กันระงม จึงเป็นประเพณีสืบต่อมา


บ้างก็ว่าเป็นการสืบเนื่องมาจากนางมัลลิกาที่กรรแสงคร่ำครวญ ต่อพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งชาวมอญนั้นนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด จึงได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาสำหรับกระทำต่อภิกษุสงฆ์จนถึงฆราวาสที่มีผู้เคารพนพไหว้



มอญร้องไห้ สดุดีเทิดพระเกียรติ งานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
เมื่อ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๗ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง


ที่มาอีกประการคือเป็นเรื่องกุศโลบายในการสงครามสมัยพระเจ้าราชาธิราช กษัตริย์มอญผู้ขับเคี่ยวกับกษัตริย์พม่าในอดีต สืบเนื่องจาก พระยาเกียรติ บุตรของพระเจ้าราชาธิราช ถูกกองทัพพม่าเข้าล้อมเมืองโดยไม่รู้ตัว กำลังทหารรักษาเมืองก็น้อยไม่สามารถสู้รบกับทหารพม่าที่มีกำลังมากกว่าได้ พยายามส่งข่าวไปให้พระราชบิดามาช่วยก็ไม่สามารถส่งสาส์นเล็ดลอดไปได้ ทว่ามีทหารชื่อ สมิงอายมนทยา อาสาออกไปส่งข่าวด้วยการนำอุบาย "นอนตาย" ไปบนแพหยวกกล้วย โดยใช้น้ำผึ้งทาตามตัว ข้างกายมีหม้อปลาเน่า ส่งกลิ่นเหม็น และมีแมลงวันตอมเหมือนตายจริงๆ ขณะเดียวกันในระหว่างที่เดินออกมาก็ให้หญิงสาวโกนหัวเดินร้องไห้โหยหวน พลางรำพึงรำพันถึงคุณงามความดีของสามีที่นอนตายบนแพหยวกกล้วยนั้น ฝ่ายทหารพม่าไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็นกลลวง ปล่อยให้ขบวนศพผ่านไป จนสามารถนำทัพหลวงมาช่วยได้สำเร็จ จึงเกิดเป็นประเพณี "มอญร้องไห้" ไว้อาลัยสืบต่อจากนั้นมา


มอญร้องไห้แบบดั้งเดิมของมอญนั้น นิยมทำกันในช่วงดึกสงัดระหว่างการตั้งศพบำเพ็ญกุศลและช่วงก่อนรุ่งสาง อีกช่วงก็คือหลังชักศพขึ้นกองฟอนหรือเมรุเตรียมฌาปนกิจ การร้องไห้นี้เป็นการร้องที่ไม่มีน้ำตา ได้แต่พรรณนาคุณความดีของผู้ตาย พลางสะอื้นน้อยๆ เป็นระยะ มิได้ฟูมฟายตีอกชกหัว อย่างที่คนยุคหลังนำมาดัดแปลง บางแห่งเป็นสาวประเภทสอง แต่งกายเป็นสาวมอญ ร้องไห้พลางกลิ้งตัวลงมาจากเมรุชั้นสูงสุด เพื่อเรียกอารมณ์สะเทือนใจจากแขกที่มาร่วมงาน และสิ่งที่ไม่น่าดูอย่างยิ่งก็คือ เมื่อผ้าผ่อนท่อนสไบของหล่อนเปิดเปิง (หากเป็นหญิงยังน่าอภิรมณ์)


เดิมนั้นหากผู้ตายมีฐานะดี ลูกหลานมักหาปี่พาทย์มอญมาบรรเลง และให้ญาติผู้หญิงที่มีความสามารถร้อง "มอญร้องไห้" ประกอบ พรรณนาคุณงามความดีของผู้ตายด้วยความอาลัยถึง ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องขยายเสียงนั้น โดยเฉพาะในช่วงรุ่งสาง บรรยากาศเงียบสนิท เสียงร้องนั้นโหยหวล พลอยทำให้ผู้ที่ได้ยินที่แม้ไม่ใช่ญาติก็อดสะเทือนใจจนร้องไห้ตามไม่ได้


ธรรมเนียม "มอญร้องไห้" ได้มีอิทธิพลแพร่เข้าไปยังราชสำนักไทย จะต้องมีนางร้องไห้ทุกครั้งที่สูญเสียบุคคลในราชตระกูล ธรรมเนียมนางร้องไห้ในวังนี้คาดว่ามีมาแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มาเลิกไปสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ไม่ทรงโปรดฯ ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ ไม่จริงใจ ร้องไปคนตายก็ไม่ฟื้นขึ้นมาได้ จึงรับสั่งให้เลิกไป แต่ในชั้นหลังในหมู่สามัญชนทั่วไปโดยเฉพาะชาวมอญยังคงรักษาประเพณีนี้ไว้ไม่เปลี่ยนแปลง


มาระยะหลังครูเพลงไทยเดิมของกรมศิลป์ได้ประยุกต์มอญร้องไห้ ใส่บทร้อง และบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์มอญ เรียกกันว่า แบบตลาด ส่วนเนื้อเพลงนำมาจากเรื่อง "ราชาธิราช" ตอนสมิงพระรามหนีเมีย ขอเล่าเท้าความเกี่ยวกับเรื่อง ราชาธิราช ให้ฟังพอเป็นสังเขป ดังนี้คือ ราชาธิราช เป็นวรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างพม่ากับมอญ กรมศิลปากรนิยมนำมาแสดงเป็นละครพันทาง


ทีนี้มาเข้าเรื่องสมิงพระราม ทหารเอกของพระเจ้าราชาธิราช ถูกพม่าจับไปเป็นเชลยศึกที่กรุงอังวะ ขณะนั้นกรุงอังวะมีศึกติดพันกับพระเจ้ากรุงจีน ได้มีพระราชสาส์นมาท้าพนันให้หาทหารมือดีรำเพลงทวนต่อสู้กันตัวต่อตัว ถ้าฝ่ายอังวะแพ้ จะถูกริบเมือง แต่ถ้าฝ่ายพระเจ้ากรุงจีนแพ้ก็จะยอมถอยทัพกลับไป


เมื่อสมิงพระราม ทราบเรื่องจึงอาสาออกรบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกันศึกไม่ให้ลุกลามไปถึงกรุงหงสาวดี หลังจากที่สมิงพระรามมีชัยชนะ สามารถฆ่า กามะนี ทหารของพระเจ้ากรุงจีนลงได้ พระเจ้ากรุงอังวะได้พระราชทานธิดาให้อภิเษกสมรส สมิงพระรามจำใจรับด้วยเกรงจะเสียสัตย์ แต่ขอพระราชทานคำสัญญาไว้ ๒ ข้อ คือ

๑. ห้ามใครก็แล้วแต่เรียกตนว่า เชลย

๒. ถ้าเกิดสงครามระหว่างกรุงหงสาวดีกับกรุงอังวะ ตนขอไม่สู้รบด้วย เพราะทั้งสองฝ่ายล้วนมีพระคุณกับตน


ต่อมาธิดาพระเจ้ากรุงอังวะ ให้กำเนิดพระโอรสองค์หนึ่ง มีความซุกซนประสาเด็ก พระเจ้ากรุงอังวะรักและหลงมาก วันหนึ่งขณะที่นั่งอยู่บนพระเพลาเสด็จตา นัดดาองค์น้อยก็ลุกขึ้นปีนป่ายขึ้นที่สูง พระเจ้ากรุงอังวะหันมาเห็นก็หลุดปากว่า "ลูกอ้ายเชลยนี้กล้าหาญนัก นานไปเห็นจะองอาจแทนมังรายกะยอชวาได้..." สมิงพระรามได้ยินเข้าจึงน้อยใจ และคิดหนีกลับเมืองมอญ ก่อนกลับได้เข้าไปดูหน้าลูกเมียเป็นครั้งสุดท้าย เขียนจดหมายสอดไว้ใต้หมอน เนื้อหาในจดหมายก็เป็นดังที่ได้ยินได้ฟังกันโดยทั่วไป ผู้ที่ร้องเพลงนี้เอาไว้เป็นท่านแรก คือ ครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ถือเป็นแม่แบบของเพลงมอญร้องไห้มาจนปัจจุบัน เนื้อความมีดังนี้ คือ


     "หยิบกระดาษวาดอักษรชะอ้อนสั่ง        น้ำตาหลั่งไหลหยดรดอักษร

แล้วสอดไว้ใต้เขนยที่นางนอน                   พิศพักตร์ทอดถอนหฤทัย
    
ค่อยตระโบมโลมลูบจูบสั่งลา                นางจะรู้กายาก็หาไม่

หักจิตออกนอกห้องทันใด                         ขึ้นม้าควบหนีไปมิได้ช้า..."

 

 

มอญร้องไห้ สดุดีเทิดพระเกียรติ งานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

 

ปัจจุบัน มอญร้องไห้ที่คนทั่วไปรู้จักก็คือ มอญร้องไห้แบบกรมศิลปากร ร้องไปก็สะอื้นไห้เสียจนปากเบี้ยว ยิ่งแบบที่สาวประเภทสองนำมาดัดแปลงออกรับงานแสดงตามงานวัดด้วยแล้ว ตีอกชกหัว หกคะเมนตีลังกา แหกปากฟูมฟาย ได้ชมได้ฟังครั้งใดสะเทือนอารมณ์จนสุดจะบรรยาย แต่ขอโทษ แบบนั้นมอญผู้ดีเขาไม่ทำกัน ของแท้เขาต้องนิ่งแสดงออกแต่พองาม เศร้าน่ะเศร้าอยู่หรอก ก็ญาติตายทั้งคน แต่มันก็ควรเก็บอาการ ต้อง "แอ๊บ" กันบ้าง น้ำตาคลอน้อยๆ สะอื้นในคอหน่อยๆ หากดัดจริตมากเสียจนน้ำตาท่วมเบ้า เสลดพันคอ ร้องไม่เป็นภาษา ดูหน้าหรือทั้งแป้งพอกหน้าสีป้ายเปลือกตาละลาย คนมางานศพคงตกใจนึกว่าคนที่นอนในโลงออกมานั่งร้องเสียเอง


บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลวงพ่อสมาน วัดชนะสงคราม ที่เคยเลี้ยงดูส่งเสีย ข้าวแกงก้นบาตรราดรดหัวผมมาจนเรียนจบปริญญาตรีเมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่านชอบเปรียบเปรยลูกศิษย์ลูกหาและใครต่อใครที่ลืมคุณคนด้วยสำนวนมอญที่ไม่พ้นไปจากเรื่องการกินการอยู่ เป็นต้นว่า "ใหญ่เหมือนช้าง ยาวเหมือนงู" (แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน)"กินผลฟันต้น เก็บร่มหักก้าน" (กินบนเรือนขี้บนหลังคา)"ข้าวแดงแกงร้อน" (สำนึก)"เสียข้าวสุก" (เนรคุณ)แต่ที่ผมเสียวแปลบไปถึงขั้วหัวใจทุกครั้งเมื่อถูกท่านเหน็บเอาว่า"ข้าวสุกไม่มียาง" (ก็เนรคุณอีก)
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน"มอญร้องไห้" ร้องทำไม ร้องเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ หรือญาติเสีย...?ถูก...ญาติเสีย แต่ต้องระดับคนมีหลานเหลนแล้ว และเป็นที่เคารพรักของผู้คนเท่านั้น หากญาติที่เสียชีวิตอายุยังน้อย แม้จะเสียใจก็ร้องไห้กันไปตามมีตามเกิด ไม่มีการทำพิธีกรรมให้เป็นพิเศษแต่อย่างใดมอญร้องไห้ เป็นมีพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลาน ที่สำคัญเป็นการยกย่องและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตายที่เคยทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต โดยมากแล้วผู้ร้องจะเป็นหญิงสูงอายุและเป็นเครือญาติกับผู้ตาย เนื้อหาที่ร้องพรรณนาออกมานั้นจะได้ออกมาจากใจ…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน สำนวนไทยที่กล่าวถึงการแย่งศพมอญ นั่นคือ “แย่งกันเป็นศพมอญ” หากพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่มีความหมายว่า ยื้อแย่งกัน ซึ่งใช้ในเชิงเปรียบเทียบ๑ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำนวนนี้มีที่มาจากประเพณีมอญแต่โบราณ และคำว่า “แย่ง” นั้นก็เป็นแต่อุบาย ที่หมายให้ผู้คนทั้งหลายหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีมอญหลายประการที่คนไทยยอมรับมาอย่างหน้าชื่นตาบาน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ตักบาตรน้ำผึ้ง ล้างเท้าพระ ดนตรีปี่พาทย์นาฏศิลป์ เหล่านี้เป็นหัวใจของไทยที่รับมาจากมอญ และทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นของตนอย่างกลมกลืน…
องค์ บรรจุน
“...ต้องการแม่ครัว (หรือพ่อครัวก็ได้) ๑ ตำแหน่งค่ะ ทำงานที่ระยองนี่ล่ะ...”“ชาวพม่าเอาไหมครับ ถ้าเอามีเยอะเลย ข้างบ้านเขาทำธุรกิจแรงงานพม่าอยู่น่ะ...”“พม่าทำกับข้าวอร่อยหรือเปล่าคะ”“…มีข่าวบ่อยๆ ว่า แรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ต่างดาว ฆ่านายจ้าง ระวังไว้นะ”“พม่าเอาแบบนุ่งกางเกงนะ ห้ามนุ่งโสร่ง เดี๋ยวจะเพิ่มเส้นให้มามากเกินไป...ง่ะ...๕๕๕++”ฯลฯข้อความโต้ตอบในกระดานสนทนาเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่ง ที่ผู้เขียนเข้าไปพบโดยบังเอิญ เมื่อปลายปีที่แล้ว ข้อความโต้ตอบข้างต้นสะท้อนแง่คิดของคนไทยกลุ่มหนึ่งได้อย่างแปรปรวนชวนสงสัย น่าแปลกที่คนไทยเรามีสายตาที่มองคนพม่าในแบบที่ทั้งหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ เป็นตัวตลก…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย   ปกติฉันทำงานที่ตึกประชาธิปก-รำไพพรรณี ซึ่งอยู่ติดกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงมักจะไปทานอาหารที่โรงอาหารของคณะเศรษฐศาสตร์ ในช่วงแรกๆ ที่ฉันมาเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้ยินคนขายอาหารพูดกันเองว่า   “คนเก็บจานที่มาใหม่น่ะ พูดอังกฤษคล่องเชียว เป็นคนพม่า พูดไทยไม่ได้ เวลาจะให้ทำอะไรแกต้องสั่งเขาเป็นภาษาอังกฤษนะ” ฉันเลยรับรู้มาตั้งแต่นั้นว่า โรงอาหารแห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทำงานอยู่ (พอดีตอนนั้นเรียนเรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติอยู่ด้วย) หลังจากนั้นก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานพม่ามาตลอด ว่าที่เราเข้าใจว่าเป็น “แรงงานพม่า” นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นได้ทั้งพม่า…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน เครื่องนุ่งห่มนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ของมนุษย์ เพื่อปกปิดร่างกายคุ้มภัยร้อนหนาวจากธรรมชาติ กันขวากหนามงูเงี้ยวเขี้ยวขอขบเกี่ยว และที่สำคัญ ปิดกายให้พ้นอาย รวมทั้งเสริมแต่งให้ชวนมอง ส่วนการตกแต่งร่างกายตามความเชื่อและลัทธิทางศาสนานั้นน่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลังสุดและมีความสำคัญรองลงมา การตกแต่งร่างกายนั้นเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ใช้เรียกความสนใจจากเพศตรงข้าม นำไปสู่การดำรงเผ่าพันธุ์ อันต่างจากสัตว์ที่เป็นไปตามสัญชาติญาณ และมีแรงดึงดูด (ฟีโรโมน) ในตัว สามารถส่งเสียง สร้างสี ส่องแสง แต่งกลิ่น ล่อเพศตรงข้าม แต่มนุษย์ไม่มีสิ่งเหล่านั้นจึงต้องสร้างขึ้น…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด งานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ซึ่งชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยในฐานะกรรมการจัดงาน แต่ก็รู้สึกอิ่มเอมใจกับภาพที่เห็นและบรรยากาศที่ได้สัมผัส ถือเป็นงานใหญ่ที่คนมอญได้แสดงออกซึ่งขนบธรรมประเพณีอันดีงาม มิเสียชื่อที่เป็นชนชาติที่รุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมาก่อน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดธรรมเนียมมอญโบราณ และเป็นการถวายพระกุศลแด่พระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” กลอนภาษาไทยข้างต้นเป็นกลอนที่ฉันได้ยินมาแต่เด็ก เมื่อมาเขียนบทความนี้ก็พยายามหาว่าใครเป็นคนแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่ามาจากเชคเสปียร์ที่บอกว่า “Two folks look through same hole, one sees mud, one sees star” ส่วนผู้ที่ถอดเป็นภาษาไทยนั้น ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นคนถอดความและประพันธ์กลอนนี้ อย่างไรก็ตาม ฉันเข้าใจว่ากลอนบทนี้กล่าวถึงการมองสรรพสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าต่างคนอาจมองได้ต่างกัน และเมื่อฉันโตขึ้น ฉันก็ได้เห็นประจักษ์ถึงความเป็นไปตามคำกล่าวนั้น…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน ผีที่คนมอญนับถือ มิใช่ผีต้นกล้วย ผีตะเคียน ผีตานี ผีจอมปลวก แต่เป็นผีบรรพชน ผีปู่ย่าตายายของเขา สิ่งที่รัดโยงและธำรงความเป็นมอญที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือ “การนับถือผี” ผีเป็นศาสนาแรกของทุกชาติทุกภาษา คนมอญนับถือผีควบคู่กับพุทธศาสนา เคารพยำเกรงไม่กล้าฝ่าฝืน การรำผีนอกจากเป็นการเซ่นไหว้ผีประจำตระกูลแล้ว ยังเป็นการรักษาโรคด้วย หากเทียบกับการรักษาโรคในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า เป็นจิตวิทยาการแพทย์ ในบรรดาการรักษาโรคที่หลากหลายของมอญ เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร การนวด คาถาอาคม และพิธีกรรม เช่น การทิ้งข้าว (เทาะฮะแนม) การเสียกบาล (เทาะฮะป่าน) ส่วนพิธีกรรมที่ใหญ่ที่สุดคือ การรำผี (เล่ะฮ์กะนา…
องค์ บรรจุน
ภาสกร อินทุมาร ชลบุรีอาจจะเป็นจังหวัดที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีชุมชนคนมอญตั้งอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะมอญเกาะเกร็ดและมอญพระประแดงเท่านั้น... แต่ถึงอย่างไรก็ดี ชลบุรีก็ยังมีคนมอญอยู่ที่ “วัดบ้านเก่า” ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “วัดบ้านมอญ” แห่งตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และความน่าสนใจของคนมอญของที่นี่ อยู่ที่ “พระ”   วัดบ้านเก่า (วัดบ้านมอญ) ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
องค์ บรรจุน
  สุกัญญา เบาเนิดในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังนิยมสวมในเสื้อเหลือง เสื้อฟ้า เสื้อชมพู (ประดับตราสัญลักษณ์) ด้วยความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกถึงความจงรักภักดี หรือจะด้วยความรู้สึกอื่นใด...ทำให้เรารับรู้ได้ว่าการมีเสื้อผ้าไม่ใช่มีไว้ห่อหุ้มร่างกายอย่างเดียว  แต่เสื้อผ้ายังแฝงไว้ด้วยความหมายหลายสิ่งอย่างอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นสี หรือ ลวดลาย  กล่าวกันว่าการกระทำของคนเรานั้นเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้นเสื้อผ้าก็เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารเรื่องราว เป็นตัวแทนความคิด และแทนความรู้สึกร่วมของคนในกลุ่ม  แรงงานมอญที่อพยพเข้างานทำงานในมหาชัย (จังหวัดสมุทรสาคร)…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย ตอนเล็กๆ ผู้เขียนมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ใช้เรียกทฤษฎีความอลวน (Chaos Theory) กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนใจว่าทฤษฎีนี้มีเนื้อหาอย่างไร แต่ก็มีผู้อธิบายว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” นี้เป็นการอธิบายว่าการที่เราเริ่มทำสิ่งหนึ่งอาจส่งผลลัพธ์ไปถึงสิ่งที่อยู่ไกลๆ ได้ เพราะทุกสิ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเกินกว่าที่เราจะตระหนัก ตอนนี้ผู้เขียนเปิดคอมพิวเตอร์ เปิดไฟ เปิดพัดลม การกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดสิ่งใดในพื้นที่ที่ห่างออกไปได้หรือไม่ พักเรื่องนี้ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน…