Skip to main content

ขนิษฐา คันธะวิชัย

ข้าพเจ้าทราบข่าวว่าในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ได้เกิดพายุไซโคลนนาร์กีส จากอ่าวเบ็งกอร์  อันที่ได้สร้างความเสียหายทางด้านชีวิต และทรัพย์สินแก่ประชาชนชาวพม่า ที่อาศัยอยู่ในเขตตอนล่างของประเทศจีน จนถึงกลุ่มชนมอญ กระเหรี่ยง เป็นจำนวนมาก

โดยเป็นตัวแทนรัฐบาล ประชาชน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจ และเห็นใจมายังท่าน และประชาชนชาวพม่า จะสามารถฟื้นฟูเขตที่เกิดความเสียหายจากภัยพิบัติในครั้งนี้

ด้วยความเคารพและนับถืออย่างสูง

นครหลวงเวียงจันทน์ วันที่ 5 พฤษภาคม 2551

 

ข้างต้นนี้เป็นสาส์นแสดงความเสียใจที่ฯพณฯท่านบัวสอน บุบผานุวง นายกรัฐมนตรีแห่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวส่งถึงนายพลเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพพม่า ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ผู้เขียนมีโอกาสอ่านข้อความในสาส์นแสดงความเสียใจ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ ก็รู้สึกซึ้งใจที่รัฐบาลลาวไม่ได้มองข้ามการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพื้นที่ที่ประสบภัย

จากการที่รายงานข่าวว่า “พายุไซโคลนถล่มพม่า” ทำให้คนทั่วไปมักจะนึกถึงชาวพม่าโดยรวมๆ แต่อันที่จริง ลึกลงไปในคำว่า “พม่า” ก็ยังมี มอญ กะเหรี่ยง และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย

ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวกับผู้เขียนว่า พื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติมากที่สุดคือบริเวณ Delta (ปากแม่น้ำ) ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่ของชาวมอญ โดยมากหัวเมืองมอญจะอยู่ริมทะเล แต่ภายหลังพื้นที่ในบริเวณนั้นมีชาวกะเหรี่ยงเข้าไปอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก นั่นก็เป็นไปได้ว่า ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ก็จะมีทั้งพม่า มอญ กะเหรี่ยง ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ในพื้นที่ นอกจากนี้ผู้เขียนได้ดูแผนที่ของบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากพายุ ก็พบว่าบริเวณตอนเหนือของรัฐมอญก็ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้เขียนแทบจะนั่งไม่ติดเก้าอี้ คิดแต่ว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือชาวมอญในพม่าที่อาจจะโดนละเลยในการส่งความช่วยเหลือเพราะว่าเป็นคนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาล (อย่าหาว่าลำเอียงห่วงแต่มอญเลย ก็เพราะเราเป็นสมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพนี่นา)

ong_20080615-225654.jpg
แผนที่ประเทศพม่า แสดงพื้นที่บริเวณปากน้ำอิรวดี (Delta) ด้านซ้ายและรัญมอญด้านขวา

เรื่องนี้ อ.พรพิมล ตรีโชติ นักวิจัยที่เชี่ยวชาญเรื่องพม่าประจำสถาบันเอเชียศึกษาได้ให้ความเห็นกับผู้เขียนว่า ไม่ใช่เพียงชาวมอญหรือกะเหรี่ยงเท่านั้นที่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ ชาวพม่าก็ไม่น่าจะได้รับความช่วยเหลือด้วย เพราะทหารพม่าถูกฝึกให้ควบคุมประชาชน ไม่ได้ถูกฝึกให้มาบริการประชาชน โดยเฉพาะในระยะหลังพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ของกองกำลังกระเหรี่ยงเคเอ็นยู มีหรือที่รัฐบาลทหารพม่าจะรีบตัดสินใจเปิดรับการช่วยเหลือจากต่างชาติ หรือรีบส่งความช่วยเหลือไป

เมื่อได้ยินดังนั้นผู้เขียนจึงกุมขมับอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะลงมือตรวจสอบข้อมูลความเสียหายในรัฐมอญตามศักยภาพอันน้อยนิดที่ผู้เขียนมี แต่ก็ไม่สามารถติดต่อคนเหล่านั้นได้ เนื่องจากช่วงนั้นใกล้วันลงประชามติในพม่า คนที่ผู้เขียนรู้จักก็คงจะเดินทางเข้าไปในพม่ากันหมดตั้งแต่ก่อนพายุแล้ว

ในช่วงที่พยายามติดตามข่าวเรื่องภัยพิบัติไซโคลนในพม่าอยู่นั้น ไม่มีสื่อใดให้รายงานความเสียหายที่กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับ โดยมักจะรายงานถึง “พม่า” โดยรวม อาจมีการพูดถึงมอญและกะเหรี่ยง บ้าง แต่ก็น้อยมาก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่านั่นไม่ใช่ความผิดของสื่อแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าการดูข่าวของสำนักข่าวต่างๆ นั้น ไม่สามารถตอบคำถามของคนมอญในไทยหรือคนที่สนใจกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าไม่ได้ ว่า
“แล้วสถานการณ์ของคนมอญคนกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบด้วยนั้นเป็นอย่างไร”

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ ก็มีหน้าที่เผยแพร่เรื่องราวของชาวมอญให้สังคมได้รับรู้ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องของมอญไทย หรือมอญในประเทศพม่า ซึ่งรัฐมอญก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้ใจจริงผู้เขียนก็อยากจะรู้ถึงสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในเขตเดลต้าเหลือเกิน แต่นั่นก็เกินศักยภาพของผู้เขียนที่จะหาข่าวได้ ดังนั้นสิ่งที่จะรายงานต่อไปนี้จะเป็นสถานการณ์ในรัฐมอญที่อยู่ห่างออกมาจากเดลต้า

ผู้เขียนติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์ Independent Mon News Agency ว่ารัฐมอญได้รับความเสียหายน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายในเขตเดลต้า โดยในรัฐมอญก็มีรายงานความเสียหายคือหมู่บ้านประมงหายไป คนจำนวนสิบกว่าคนไร้ที่อยู่ และมีต้นไม้ล้ม หลังคาปลิว นี่คือข้อมูลทั้งหมดที่ผู้เขียนได้รับ ซึ่งก็ไม่ได้บอกถึงสถานการณ์ของคนเหล่านั้นว่ามีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร แต่ก็อนุมานเอาว่าคงจะได้รับความลำบากเช่นกัน

 

ong_20080615-225703.jpg
ภาพถ่ายทางอากาศบริเวญปากน้ำอิรวดีภายหลังพายุไซโคลนนาร์กีสกระหน่ำ

 

เมื่อรัฐมอญได้รับความเสียหายบ้างแต่น้อยกว่าทางเดลต้า ผู้ที่เสียหายน้อยกว่าก็ต้องช่วยเหลือผู้ที่เสียหายมากกว่า จนถึงวันนี้ เหตุการณ์ผ่านมา 1 เดือนแล้ว รัฐบาลพม่ายอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติมากขึ้น แต่ความเสียหายนั้นก็ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องตามปกติของการเกิดภัยพิบัติ และผู้ที่มีชีวิตรอดก็ต้องลำบากและอยู่กับความเศร้าความน่าสะเทือนใจกันต่อไป ในกรณีของชาวมอญที่อยู่ในรัฐมอญนั้น ข่าวใน Independent  Mon News Agency รายงานว่าหมู่บ้านมอญที่อยู่ริมทะเลได้รับคำสั่งให้เผาหรือฝังศพที่ลอยน้ำมา โดยมีการเรียกเก็บเงินบ้านละ 1,000 จ๊าด เพื่อนำมาใช้จ่ายในการจัดการศพที่ลอยมาติดชายหาดในเมืองเยซึ่งมีมาทุกวัน

ผู้เขียนจำได้ว่าช่วงที่เกิดพายุเกย์ในชุมพร ปี 2532 นั้น ผู้คนไม่ยอมรับประทานกุ้ง เนื่องจากกุ้งมักเกาะตามซากศพของผู้ประสบภัย ซึ่งเหตุการณ์พายุนาร์กีซนี้ก็เช่นกัน ราคาปลาในประเทศพม่าตกลงถึงร้อยละ 40 ในขณะที่ราคาเนื้อหมูและไก่ก็สูงขึ้น ในข่าวยังรายงานด้วยว่า มีศพอย่างน้อย 300 ศพที่ลอยมาถึงรัฐมอญทางใต้และก็ได้รับการฝังหรือเผาไปแล้ว บางศพไร้ขา บางศพไร้มือ หลายศพติดมากับแหอวนของชาวประมงและนั่นก็ทำให้ผู้คนไม่กล้ารับประทานอาหารทะเล  นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีการบังคับให้ชาวมอญในมะละแหม่งและเมืองอื่นๆ บริจาคให้ผู้ประสบภัยครอบครัวละ 3,000 จ๊าด หรือหากบ้านไหนที่มีมีมอร์เตอร์ไซค์ และเครื่องเล่นวีดีโอ ก็จะโดนให้บริจาคเพิ่มมากชึ้น

เมื่อพื้นที่อิระวดี ย่างกุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ เป็นแหล่งปลูกข้าวส่งออกและเลี้ยงคนในประเทศได้รับความเสียหาย กลับกลายเป็นแหล่งโรคระบาด งูชุกชุม ไม่สามารถอาศัยอยู่หรือทำมาหากิน ผู้คนที่รอดชีวิตก็ต้องอพยพจากพื้นที่ด้วยถูกภัยธรรมชาติบังคับ ในตอนนี้ผู้คนในแถบปากแม่น้ำอิระวดีได้พากันลงมายังตอนใต้ ซึ่งก็คือเมืองเยในรัฐมอญซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อย มีรายงานว่ามีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) เข้ามาในเมืองเยเป็นจำนวนถึง 400-500 คนต่อวันเลยทีเดียว

ในส่วนของการเตือนภัยหากจะมีพายุครั้งต่อไปนั้น ผู้คนในรัฐมอญบางส่วนก็ได้รับคำเตือนจากทหารพม่าว่าอาจมีพายุอีกลูกในกลางเดือนนี้ ขอให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ในที่สูงและสังเกตสัญญาณธงให้ดี หากเป็นธงแดงให้รีบหนีภัยโดยด่วน และเพื่อป้องกันภัยหากเกิดพายุขึ้นจริงๆ ชาวบ้านในรัฐมอญได้ตัดต้นไม้เก่าๆ ภายในบริเวณบ้านและตามท้องถนนออก มิให้ต้นไม้เก่าโค่นล้มทับตัวบ้านหรือกีดขวางถนนและเป็นอันตรายต่อผู้คน

และนี่ก็คือสถานการณ์คร่าวๆ ในรัฐมอญหลังพายุไซโคลนนาร์กีซ

ปล. หากผู้อ่านท่านใดสงสัยว่า แล้วทางการลาวได้ให้ความช่วยเหลือแก่พม่าอย่าใดบ้างหรือไม่ จากข่าวในหนังสือพิมพ์เวียงจันใหม่ วันที่ 4 มิถุนายน 2551 รายงานว่า ลาวได้ส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือพม่าเป็นจำนวน 21 คน และได้มอบยาและอุปกรณ์การแพทย์ ไฟฟ้าสำรอง 2 เครื่อง และเครื่องอุปโภคให้แก่สาธารณสุขเมืองจาวตัน  รวมมูลค่ามูลค่า 69,992 ดอลลาร์สหรัฐ (อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลอินโดจีนศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา http://www.isc-gspa.org/News_isc/view1.asp?id=432 )

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์