Skip to main content

ภาสกร อินทุมาร




จำได้ว่าเมื่อตอนที่ผมริเป็นนักดนตรีไทยใหม่ๆ ในวัยเด็ก และได้ฟังเพลง “ราตรีประดับดาว” เป็นครั้งแรกนั้น ผมรู้สึกว่าเพลงนี้ช่างเพราะเหลือเกิน เพราะทั้งทำนองและเนื้อร้อง โดยที่เนื้อร้องมีอยู่ว่า…


วันนี้                                 แสนสุดยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ

ขอเชิญสายใจ                                เจ้าไปนั่งเล่น ลมพัดเย็นเย็น หอมกลิ่นมาลี

หอมดอกราตรี                    แม้ไม่สดสี หอมดีน่าดม

เหมือนงามน้ำใจ แม้ไม่ขำคม             กิริยาน่าชม สมใจจริงเอย

ชมแต่ดวงเดือน                  ที่ไหนจะเหมือน ได้ชมหน้าน้อง

พี่อยู่แดเดียว เปลี่ยวใจหม่นหมอง       เจ้าอย่าขุ่นข้อง จงได้เมตตา

หอมดอกชำมะนาด             กลิ่นไม่ฉูดฉาด แต่หอมยวนใจ

เหมือนใจน้ำใจดี ปรานีปราศรัย          ผูกจิตสนิทได้ ให้รักจริงเอย

ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ   เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง

               หอมดอกแก้วยามเย็น                      ไม่เห็นใจพี่เสียเลยเอย

                               ดวงจันทร์หลั่นลดเกือบหมดดวง โอ้หนาวทรวงยอดชีวาไม่ปรานี

               หอมมะลิกลีบซ้อน                          อ้อนวอนเจ้าไม่ฟังเอย

                              จวนจะรุ่งแล้วนะเจ้า พี่ขอลา   แสงทองส่องฟ้าสง่าศรี

           หอมดอกกระดังงา                          ชิชะ ช่างน่าเจ็บใจจริงเอย

                      หมู่ภมรร่อนหาช่อมาลี          แต่ตัวพี่จำจากพรากไปไกล

           หอมดอกจำปี                                นี่แน่ะ พรุ่งนี้จะกลับมาเอย ฯ


เพลงนี้เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น โดยทรงขยายจากเพลง “มอญดูดาว” ๒ ชั้น ให้มาเป็นเพลงเถา (เพลงเถาหมายถึงเพลงที่ประกอบไปด้วยจังหวะทั้ง ๓ ลักษณะ คือ ๓ ชั้น ซึ่งเป็นจังหวะช้า ๒ ชั้น ซึ่งเป็นจังหวะปานกลาง และชั้นเดียว ซึ่งเป็นจังหวะเร็ว การบรรเลงเพลงเถาจะเริ่มจากจังหวะช้าก่อน และจบลงด้วยจังหวะเร็ว)


picture1

 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ทรงซอบรรเลงเพลงราตรีประดับดาว


ถึงผมจะเป็นนักดนตรี แต่ก็ไม่ค่อยได้สนใจประวัติของเพลงนี้มากนัก ได้แต่เล่นและฟังไปด้วยความชอบ จนวันหนึ่งที่เพลงนี้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันและการพรากจาก ผ่านทางหนังสือที่ชื่อว่า “พรุ่งนี้จะกลับมาเอย” เมื่อครั้งงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ผมจึงเกิดความรู้สึกสะเทือนใจอย่างประหลาด ที่แม้ว่าในครั้งนั้นเมื่อผมฟังเพลงนี้ซึ่งมีเนื้อหาเชิญชวนมารับรักแกมตัดพ้อ แต่คำพูดสุดท้ายในเพลงที่ว่า “พรุ่งนี้จะกลับมาเอย” นั้นเป็นเพียงการลาจาก เพื่อจะกลับมาบอกรักอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ไม่เหมือนกับการจากในชีวิตจริง ที่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ผู้ที่จากไปจะไม่มีวันกลับมาอีก




เมื่อผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เพลงประจำมหาวิทยาลัยของผมมี ๒ เพลง นักศึกษาใหม่ส่วนใหญ่จะได้ยินเพลงประจำมหาวิทยาลัยฉบับที่แต่งขึ้นทีหลัง แต่สำหรับผม เพลงประจำมหาวิทยาลัยที่บ่งบอกตัวตนและจุดยืนทางสังคมของมหาวิทยาลัยคือเพลงฉบับดั้งเดิม ที่ร้องว่า...


                 สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ               ด้วยอำนาจปกครองให้ผ่องเฟื่องมา

         เอ๋ย เราเป็นไทย เรารักไทย บูชาไทย             ไม่ยอมให้ ใครผู้ใด มาล้างเสรีไทย

                     สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง          ก่อรุ่งเรืองสมบูรณ์เขตต์ประเทศไทยมา

        เอ๋ย ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์การเมือง           ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี

                   เหลืองของเราคือธรรมประจำจิตต์            แดงของเราคือโลหิต อุทิศให้มา

       เอ๋ย เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง ทุกทุกแห่ง ทุกทุกแห่ง แต่ล้วนเหลืองกับแดง

                 ชื่อว่าธรรมแล้วเราเทอดให้สมไทย            ทุกอย่างไปงานหรือเล่นต้องเป็นไทยมา

       เอ๋ย ใครรักชาติ ใครรักธรรมเหมือนกับเรา        จงมาเข้า และโปรดเอาใจช่วยเหลืองกับแดง


ผมเข้าใจว่าเพลงนี้ไม่มีชื่อ รับรู้กันแต่เพียงว่าเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่แต่งเนื้อร้องขึ้นโดยขุนวิจิตรมาตรา โดยท่านผู้แต่งอาศัยทำนองเพลง “มอญดูดาว” มาเป็นทำนองของเพลงนี้ดังนั้น นักศึกษาจึงเรียกเพลงนี้ว่าเพลงมอญดูดาวตามชื่อเพลงที่เป็นต้นทำนอง


 

picture2
ขุนวิจิตรมาตรา


ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เพลงนี้ส่งผลต่อความคิดและจุดยืนทางสังคมของนักศึกษาจำนวนมากมาย นั่นคือการเชื่อมั่นและยึดมั่นในความเป็นธรรมเฉกเช่นเดียวกับจุดยืนของมหาวิทยาลัยดังที่ปรากฏในเนื้อเพลง ต่างจากเพลงประจำมหาวิทยาลัยฉบับใหม่ ที่พยายามบอกเพียงว่าให้นักศึกษารักและภูมิใจในมหาวิทยาลัย โดยไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดเราจึงควรภูมิใจและรัก

picture3



ชีวิตการทำงานของผมที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานวิชาการ ได้พาผมไปพบกับงานวิจัย เรื่อง “อิทธิพลของทำนองเพลงมอญที่ปรากฏในเพลงไทยสากล” ของ อาริสา อำภาภัย ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (๒๕๔๗) ที่กล่าวว่า ทำนองเพลงมอญได้เข้ามาอยู่ในเพลงไทยนานเกินกว่าจะกำหนดเวลาได้ โดยในส่วนของเพลงไทยสากลนั้น ได้มีการนำทำนองเพลงมอญเข้ามาใช้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ การที่นักดนตรีนำทำนองเพลงมอญเข้ามาใช้ในเพลงไทยสากลนั้นเป็นเพราะความไพเราะระคนเศร้า รวมทั้งความผูกพันทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-มอญ นั้นมีความแน่นแฟ้นและต่อเนื่องยาวนานมาหลายศตวรรษจนกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

 

 

picture4

วงดนตรีมอญพื้นบ้านบ้านเจ็ดริ้ว สมุทรสาคร (ถ่ายเมื่อราว .. ๒๕๐๐)


การได้อ่านงานวิจัยฉบับนี้ ทำให้ผมนึกถึงถึงเพลง “มอญ” ทั้ง ๒ ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น ซึ่งเป็นเพลงที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผมจนทุกวันนี้ รวมทั้งย้อนระลึกถึงช่วงเวลาที่ผมยังเป็นนักดนตรี ที่ผมเล่นเพลงที่มีคำขึ้นต้นว่า มอญ แขก แขกมอญ เขมร ลาว จีน ฯลฯ มากมายหลายหลาก และถึงแม้ในเวลานี้ผมจะจำเพลงเหล่านั้นได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ทำให้ผมได้มองเห็นตัวเองในช่วงเวลานั้น ว่าผมไม่เคยตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของชาติพันธุ์ต่างๆในเพลงที่ผมเองเป็นผู้เล่น ผมรับรู้เพียงว่าผมเล่นเพลง “ไทย” รวมทั้งเพลงมหาวิทยาลัยที่ทุกคนเรียกว่าเพลงมอญดูดาวนั้น ผมก็ร้องด้วยสำนึกเพียงว่าเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับชาติพันธุ์มอญ


การย้อนระลึกถึงเพลงมอญในความทรงจำของผม ทำให้ผมพบว่าผู้คนต่างดำรงอยู่ท่ามกลางความหลากหลายและการผสมกลืนกลายทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่ที่เราเรียกว่าประเทศไทย โดยที่เราเองก็อาจจะไม่รู้เลยว่าในตัวเรานั้นมีความเป็นชาติพันธุ์ใดผสมปะปนอยู่บ้าง และความเป็นชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านั้นส่งผลต่อวิธีคิดและสำนึกของเราอย่างไร


=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=


หมายเหตุ สามารถฟังเพลง “ราตรีประดับดาว” ได้ตาม link ที่ปรากฏนี้

http://p-i-e.exteen.com/20071028/entry เป็น website ที่มีผู้นำเพลงนี้ถึง ๕ รูปแบบมาบรรจุไว้ และขอแนะนำให้ผู้ที่สนใจฟังเพลงที่ ๒ บรรเลงโดยวงมโหรีของกรมศิลปากร ขับร้องโดย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติชาวไทยเชื้อสายมอญสุพรรณบุรี

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์