Skip to main content

 
 

1.

ถ้าคุณไม่เข้าไปค้นหา  คุณก็จะไม่พบ
ถ้าคุณไม่เดินทางเข้าไปเยือน
คุณก็ไม่มีโอกาสรับรู้ถึงความเงียบสงบ
และคุณก็จะไม่รู้เลยว่าในหุบเขาลึกอันรกครึ้มด้วยดงป่าหนาทึบนั้น
มีชุมชน มีผู้คนซ่อนตัว อาศัยอยู่มานานนับหลายร้อยปีมาแล้ว
ไม่แน่...หากมีนักมานุษยวิทยาหรือนักโบราณคดีไปสืบค้นหาร่องรอยอย่างถี่ถ้วน
หมู่บ้านแห่งนี้อาจมีอายุยาวนานนับพันปีก็เป็นไปได้
และถ้าคุณไม่เดินทางเข้าไปอยู่ร่วม สัมผัส จับมือเขา กินข้าวร่วมขันโตกเดียวกันกับเขา
จิบน้ำชา  และล้อมวงสนทนากัน พูดคุยด้วยหัวใจเปิดกว้างอย่างเป็นธรรม
คุณก็จะไม่มีโอกาสรู้หรอกว่า ผู้คนที่นั่นเขาอยู่ร่วมกับผืนดินผืนป่าและสายน้ำกันอย่างไร
อย่างสมบูรณ์ สอดคล้อง เกื้อหนุนกันเป็นหนึ่งเดียว
แน่ละ ถ้าคุณไม่เข้าไปค้นหา คุณก็จะไม่มีวันค้นพบ...
อีกทั้งคุณอาจมีความคิดเหมือนๆ กับเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการบางคน
หรือชนชั้นกลางบางกลุ่ม พวกเขาล้วนยืนอยู่บนหอคอย ผูกเน็คไทแช่ตัวอยู่ห้องแอร์
แล้วพร่ำบ่นต่อว่า ถากถางอยู่ย้ำๆ ว่า...คนอยู่กับป่าไม่ได้ คนอยู่ที่ไหน ป่าถูกทำลายหมด
ยิ่งเป็นชาวเขาแล้ว  ยิ่งไปกันใหญ่ ตัวการทำลายป่า
และที่สำคัญ...มีทางออกทางเดียวเท่านั้น คือต้องเอาคนออกจากป่า!?
จริงสิ  คุณอาจไม่รู้สึกรู้สาอะไร
และคุณคงมิอาจล่วงรู้ได้ว่า  คำพูด ความคิดของคุณนั้น
มันไปกระทบกระเทือนหัวจิตหัวใจของผู้คนในหุบเขานั้น
ให้เจ็บปวดรวดร้าวเพียงใด. 
 

2.

ผมกลับไปอ่านบทความของ ดร.ท่านนั้นอีกครั้ง...
เพียงแค่ถ้อยคำเกริ่นนำ  ทำให้หลายคนสัมผัสได้ว่า  เป็นน้ำเสียงของความหมิ่นแคลนในความเป็นชนเผ่าอย่าง   เห็นได้ชัด

...ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวว่ารัฐบาลจะออก ‘โฉนดชุมชน’ ผมเห็นว่าแนวคิดนี้เป็นเรื่องวิบัติที่จะสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติในอนาคต เปรียบเสมือนการออกโฉนดชนเผ่าแบบประเทศด้อยพัฒนา ทั้งที่ประเทศไทยก็มีโฉนดที่ดินให้บุคคลและนิติบุคคลถือครองมานับร้อยปีอยู่แล้ว และถือเป็นการแก้ปัญหาผิดจุดเป็นอย่างยิ่ง...

ดร.ท่านนั้น จะเน้นคำว่า ชนเผ่า โฉนดชนเผ่า ชาวเขา...ออกมาย้ำๆ

...กรณีชาวเขา ที่มักนำมาอ้างว่าไม่ได้ทำลายป่าจากการปลูกไร่เลื่อนลอย (หมุนเวียน) นั้น คงเป็นชาวเขากลุ่มเล็ก ๆ แต่เดี๋ยวนี้ชาวเขามีมากมาย ป่าไม้คงไม่พอให้พวกเขาหาเลี้ยงชีพ คนชาวเขาจำนวนมากก็ทำงานในเมือง เช่นคนชนบททั่วไป ชาวเขาที่หาของป่า จับสัตว์ป่ามาขาย ควรหรือที่จะทำเช่นนี้ และนี่หรือคือคนที่จะพิทักษ์ป่า บางทีการจ้างให้พวกเขอยู่เฉย ๆ ไม่ให้บุกรุกป่า และทำหน้าที่ช่วยรักษาป่า ยังดีกว่าปล่อยให้พวกเขาบุกรุกป่าเช่นนี้…

3.
 

พูดถึงเรื่อง  ไร่หมุนเวียน – ไร่เลื่อนลอย ทำให้ผมหยิบรายงานวิจัยโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง‘ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน : สถานภาพและการเปลี่ยนแปลง’ โดย‘ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์’หัวหน้าโครงการฯ มาทบทวนอ่านอีกครั้ง

ในรายงานชิ้นนี้ พยายามอธิบายให้ชัดๆ เหมือนกับต้องการตะโกนออกมาดังๆ ว่า หน่วยงานรัฐและสังคมยังมีความเข้าใจผิด ต่อระบบไร่หมุนเวียนหลายประการ สรุปได้ดังนี้  

หนึ่ง การทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่การตัดไม้ทำลายป่า แต่เป็นเกษตรกรรมบนพื้นฐานขององค์ความรู้พื้นบ้าน มีเป้าหมายเพื่อการปลูกการปลูกพืชอาหารยังชีพเป็นหลัก มีรูปแบบที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ผลกระทบจึงแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ด้วย         

สอง เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมการใช้พื้นที่ป่าในรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งการทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ เช่นการปลูกไม้ดอกและพืชผักเมืองหนาว การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ การทำไร่หมุนเวียนส่งผลต่อระบบนิเวศน้อยกว่าอย่างมาก ทั้งนี้ผลกระทบดังกล่าวได้แก่การสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างถาวร การชะล้างพังทลายของหน้าดิน การเกิดสารพิษตกค้างในดิน น้ำ อากาศ เป็นต้น           

และ ประเด็นสุดท้าย คือ พื้นที่ไร่หมุนเวียน(รวมทั้งพื้นที่ไร่เก่าที่ปล่อยทิ้งไว้ให้พักตัว)มีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ในชุมชนที่ทำการศึกษา เช่น ป่าชุมชน ที่อยู่อาศัย รวมทั้งป่าอนุรักษ์ที่ชุมชนกำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่ป่าถาวร ซึ่งจะไม่มีการเข้าไปแผ้วถางทำกินเด็ดขาด เว้นแต่การเก็บหาผลิตผลมาใช้ประโยชน์ ภายใต้กฎป่าชุมชนเท่านั้น 
  


  

4.

เราลองมาฟังมุมมองคำพูดของชาวบ้าน  ชนเผ่า ที่หลายคนยังมองว่าคือตัวการทำลายป่ากันดีกว่า  นี่คือคำสนทนาระหว่างเรา (ผมและคณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย) กับคุณชัยประเสริฐ โพคะ ตัวแทนชาวบ้านชนเผ่าปว่าเก่อญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

“มาถึงตอนนี้ระบบไร่หมุนเวียนยังจะเป็นคำตอบสุดท้ายอยู่มั้ย อะไรจะเป็นหลักประกันว่าจะยังคงอยู่ต่อไป” 
“ผมเชื่อว่าขึ้นอยู่กับการสืบทอด คนเรานี่สืบทอดรุ่นต่อรุ่น และหมู่บ้านนี้สืบทอดกันมาได้สี่ชั่วอายุคนแล้ว แต่ก็ยังมีคนบอกมาเรื่อยๆ ว่าทำไร่หมุนเวียนไม่ดี อยู่กับป่า ป่าเสียหาย กระแสตัวนี้ก็จะมาเรื่อยๆ เคยมีการวิจัยไร่หมุนเวียน ผลการวิจัยก็ออกมาว่าไร่หมุนเวียนอยู่กับป่าได้ พอมาเดี๋ยวนี้ก็มาบอกอีกแล้วว่าทำไร่หมุนเวียนได้ แต่ห้ามเผา เพราะมันก็จะเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนอีก”  

“แล้วมันทำให้โลกร้อนจริงหรือเปล่าละ...” เราแหย่ถาม
 
“นี่รู้มั้ยตอนนี้ผมกับชาวบ้านกำลังทำงานวิจัยภาวะโลกร้อนด้วยนะ” เขาบอกกับเรา 
“ทำอย่างไงหรือ”
“เราก็ทำวิจัยกันว่า ปีที่เราทำไร่หมุนเวียนมีกี่แปลง แปลงที่เปิดพื้นที่มีเท่าไหร่ แปลงที่เราเผามันจะมีคาร์บอนได้กี่กิโล แล้ว 7 แปลงที่ปล่อยไว้นี่มันจะดูดคาร์บอนได้เท่าไหร่ แล้วป่าที่เราดูแลในชุมชนหนึ่งหมื่นไร่นั้นมันจะดูดคาร์บอนได้เท่าไหร่ เราต้องตอบคำถามให้กับสังคมให้ได้ เพราะว่าทุกอย่างมันเป็นการเรียนรู้”  

“แล้วมองปัญหาโลกร้อนอย่างไรบ้าง”
 
“เรื่องโลกร้อนนี่เราหยุดไม่ได้แน่นอน เพราะมันสะสมมาเป็นหมื่นๆ ปี แต่เราจะทำอย่างไรไม่ให้เพิ่มมากกว่านี้ ถ้าบอกว่าโลกร้อน ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกันหมด แต่เราต้องช่วยกันว่าจะลดได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรที่จะไม่เพิ่มระดับ หนึ่ง พวกเราต้องทำลายน้อยลงมาได้ไหม ปลูกเพิ่มขึ้นได้ไหม อีกอย่างคือเราทำให้เสียน้อยลงนิดหนึ่งได้ไหม เขาเรียกว่ารอยเท้านิเวศน์ เกี่ยวกับเรื่องการบริโภคทรัพยากรมากน้อยแค่ไหน”  

“ในขณะที่สังคมเมืองบอกว่าคนดอยใช้ทรัพยากรเปลืองกว่า แต่คนบนดอยก็บอกว่าคนที่อยู่ในเมืองต่างหากที่ใช้ทรัพยากรเปลืองกว่าคนที่อยู่ในป่า”
 
“ผมว่าแน่นอน เพราะคุณขับรถไปคันหนึ่งมันลากป่าเข้าไปหลายร้อยไร่ต่อคน สตาร์ทที มันก็ดูดคาร์บอนแล้ว แค่เราสตาร์ทรถคันหนึ่งมันก็ต้องอาศัยป่าแล้ว เราดูแลป่า เราก็ต้องให้คนเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ด้วย ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา คนจะไม่เข้าใจคนที่อยู่กับป่า เราอยากบอกว่า เราไม่ใช่เป็นเจ้าของป่า เราเป็นแค่ยามเฝ้าป่าเท่านั้น”  

“ช่วยอธิบายชัดๆ อีกทีได้มั้ยว่ามีเกณฑ์การประเมินอย่างไรว่าชุมชนจะช่วยสร้างการดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ยังไง”
 
“คือมันเป็นวิชาการนิดหนึ่ง เพราะว่าชาวบ้านอาศัยนักวิชาการมาร่วมด้วย พอดีมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอีกหลายมหาวิทยาลัยที่มาร่วมกันทำงานวิจัย ภายใต้ชื่อโครงการไร่หมุนเวียน แต่วิจัยกรณีเรื่องโลกร้อน ว่าปีหนึ่งมีการปล่อยคาร์บอนได้เท่าไหร่ เราดูดคาร์บอนได้เท่าไหร่ ไม่ใช่เฉพาะไร่อย่างเดียว รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นสวนชา ที่นา รวมไปถึงการวิจัยในพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพด การทำนาใส่สารเคมี ก็ทำเป็น 3-4 ช่วง ตอนนี้อยู่ในช่วงเก็บข้อมูลเพิ่งเริ่มต้นปีแรกอยู่...” 

“ทำวิจัยละเอียดมากมั้ย” 
“ก็มีทั้งการขุดดินไปชั่ง สมมติว่า ขุดดินหนึ่งเมตร เอาไปชั่งว่ามีกี่กิโล มันดูดความชื้นได้เท่าไหร่ ดูดคาร์บอนได้เท่าไหร่ เอาไปตากแห้งเหลือกี่กิโล เอาไปเผาให้หมดเหลือกี่กิโล เผาเสร็จเท่าไหร่ก็ปล่อยคาร์บอนได้เท่านั้น” 

เราพูดคุยกันอย่างออกรส  ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง ผลผลิตจากป่า ชา สมุนไพร หน่อไม้ น้ำผึ้ง ไร่หมุนเวียน กระทั่งมาถึงเรื่องโลกร้อน 
แน่นอนว่า ยิ่งฟังยิ่งสนุก ยิ่งได้ความรู้ใหม่ๆ  จากเขามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมแอบชื่นชมในภูมิปัญญาของเขามานาน ว่าเขาเป็นคนที่อยู่กับป่าคนหนึ่ง ที่สามารถ นำเอาประสบการณ์การเรียนรู้มาปรับใช้ในวิถีชุมชนของเขาได้อย่างน่าทึ่ง 

“เดี๋ยวนี้ฝรั่งเขาทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง คน เขาบอกว่าคนในอเมริกาเกิดมา 7 วัน เท่ากับชุมชนในป่าปีหนึ่ง” เขาบอกกับเรา ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แต่ว่าหลายคนฟังแล้วยังงงๆ
 
“คือคนอเมริกาเกิดมา 7 วัน คลอดปุ๊บต้องใช้ออกซิเจนใช่มั้ย ออกซิเจนก็มาจากป่า เปิดแอร์ก็มาจากป่า แล้วให้หมอดูแล ค่าจ้างของหมอก็มาจากป่า คนที่ดูแลรายได้มาจากสิ่งแวดล้อมหมดเลย 7 วันใช้ออกซิเจนกี่กิโล แอร์เท่าไหร่ ไฟเท่าไหร่ คิดแค่ 7 วัน เท่ากับชุมชนที่อยู่ป่าทั้งชุมชน 1 ปี นี่เป็นงานวิจัยพี่น้องที่เป็นฝรั่ง นักวิจัยมาจากสหรัฐฯ มาจากฟินแลนด์ มาร่วมคิดแล้ววิจัยร่วมกัน ซึ่งเป็นจริง ยืนยันได้”  

เขาอธิบายให้เห็นภาพ ว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด  และทำให้เรารับรู้ได้ว่า  ในขณะคนเมืองใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมากเท่าไร ชาวบ้านที่อยู่กับป่าจะต้องใช้แรงและพลังมหาศาลมากเพียงใดในการดูแลป่าให้คงอยู่เพื่อสร้างออกซิเจนให้กับคนเมือง
 

“การที่มีนักวิชาการทำวิจัยชิ้นนี้ ทำให้พวกเราชาวบ้านมีกำลังใจ ถือว่าเป็นกำลังใจให้กับชุมชนที่อยู่กับป่า ที่ช่วยกันดูแลป่านั้นมีความสุข เพราะผมถือว่างานอะไรทุกอย่างที่ทำให้ชุมชนมีกำลังที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้นได้ พวกเราก็มีกำลังใจที่จะดูแลสิ่งเหล่านั้นได้…” เขากล่าวทิ้งท้ายให้เราได้ฉุกคิด
 

ครับ, นี่คือบทสนทนา  คือถ้อยคำ ความคิดของ คุณชัยประเสริฐ โพคะ ตัวแทนชาวบ้านปว่าเก่อญอบ้านห้วยหินลาดใน  ที่เหมือนจะพยายามสื่อสารแลกเปลี่ยนกับเรา เพื่อหวังว่าจะสื่อสารผ่านไปยังคนเมืองข้างล่าง ว่าชาวบ้าน คนที่อยู่กับป่า กำลังทำเพื่อสิ่งใด และเขาทำเพื่อใคร!?
 
 
ในขณะที่ยังมีใครอีกหลายคน พยายามมองโลก มองธรรมชาติแบบแบ่งแยก. 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
  เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบ ในสวนบนเนินเขายามเช้าตรู่ เพ่งดูหมอกขาวคลี่คลุมดงดอยอยู่เบื้องหน้า ทุ่งนาเบื้องล่างลิบๆ นั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสี จากทุ่งข้าวสีเขียวสดกลายเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว ใช่, ใครต่อใครเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ คงรู้สึกชื่นชมภาพอันสดชื่นรื่นรมย์กันแบบนี้ทุกคนทว่าจริงๆ แล้ว พอค้นให้ลึกลงไป ก็จะพบว่า ในความงามนั้นมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ให้รับรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพเก่าๆ ของหมู่บ้าน ผ่านไปไม่กี่สิบปี  จะมองเห็นได้เลยว่าหมู่บ้านเกิดของผมมีความแปลกเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง อย่างไม่น่าเชื่อ“ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว...” เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึงจริงสิ,…
ภู เชียงดาว
ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’ แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มทีจริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง…
ภู เชียงดาว
สิ่งดี ๆ ในชีวิต พ่อค้าแวะมาหาคนสวนที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ตรงหน้ากระท่อม “สวัสดีครับคนสวน” พ่อค้าทักทาย “ผมมีข้อเสนอดีๆ มาให้ คุณคงสนใจเป็นแน่” และเมื่อเห็นทีท่าเฉยเมยของคนสวน พ่อค้าก็เริ่มพูดธุระที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งคนสวนจะต้องขยายพื้นที่ปลูกกุหลาบเพิ่มขึ้นและพ่อค้าจะเป็นคนเอาไปขายในเมือง “คนสวน ด้วยความชำนาญของคุณ กุหลาบของเราจะสวยงามที่สุดในเมือง” พ่อค้าสรุปด้วยท่าทีกระหยิ่มยิ้มย่อง “ขอบคุณแต่เราไม่สนใจ” คนสวนตอบพร้อมยิ้มอย่างเคย “แต่คุณจะได้เงินเยอะ...” พ่อค้าว่า ท่าทางแปลกใจ “ผมไม่สนใจเงินทองหรอก” “ใครๆ ก็อยากได้เงินกันทั้งนั้น...” “แต่ไม่ใช่ผม…
ภู เชียงดาว
ความเรียบง่ายมีแรงดึงดูดที่ลี้ลับเพราะมันจะฉุดเราไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางที่คนส่วนใหญ่ในโลกไปกันไปจากการทำตัวให้เด่น ไปจากการสะสมไปจากการทะนงหลงตนและจากการเป็นเป้าสายตาของสาธารณะไปสู่ชีวิตสงบ อ่อนน้อมถ่อมตน กระจ่างใสยิ่งกว่าสิ่งใดๆที่วัฒนธรรมบริโภคอย่างฉาบฉวยรู้จักกัน.                                                        …
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ  www.salweennews.orgที่มาภาพ www.sarakadee.comที่มาภาพ www.salweennews.orgกอดกับความเย็นเยียบอยู่อย่างนั้น, กลางป่าเปลี่ยวอ้อมอกอันบอบบางของเธอมิเคยอบอุ่นอยู่กับความมืดดำในความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึง, ชีวิตความตายเหมือนมิเคยแยกจางห่างกันเลยโอ. เด็กๆ  ตามแนวชายแดนยามใดหนาวฤดูลมแล้งแห้งโหมพัดเข้ามาสู่,หัวใจเธอนั้นเหมือนจักรับรู้รสสัมผัสชีวิตวิถีที่จำต้องระเหเร่ร่อนนั่น,คือสัญญาณความขัดแย้งอันเลวร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบเขารอการอุบัติเสียงแม่กระซิบบอกพวกเธอเบาๆเร็วเข้า,…
ภู เชียงดาว
  “การถอยออกไปจากสนามรบของชีวิตทำงานเงียบๆ ด้วยเป้าหมายที่สร้างสรรค์คือคำตอบหนึ่งต่อคำถามที่ว่าจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังพังทลาย”จากหนังสือ “ความเงียบ”จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปลผมไม่รู้ว่า สวนของผมนั้นกลายเป็นสวนผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่...แต่ผมรู้ว่า พักหลังมานี่ เมื่อเดินทางกลับบ้านไปสวนทีไร ผมมักติดกล้าไม้เข้าไปในสวนเกือบทุกครั้ง ไม่อย่างก็สองอย่าง แวะซื้อมาจากกาดคำเที่ยง บ้างได้มาจากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มอบให้มา พอไปถึง ก็ลงมือขุดหลุม เอาเศษฟางเศษหญ้าลงคลุกกับเนื้อดิน หย่อนต้นไม้ต้นเล็กลงไป กลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม หรือรอให้น้ำฟ้าหล่นรดให้ฉ่ำชื้นเอง…
ภู เชียงดาว
    “...เมื่อมนุษย์จมอยู่กับฝูงชนที่ขาดความเป็นมนุษย์ ถูกผลักไปมาอย่างอัตโนมัติไปตามแรงเหวี่ยง บุคคลนั้นก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ที่แท้ สูญเสียคุณธรรม หมดความสามารถที่จะรัก และศักยภาพที่จะกำหนดตนเอง เมื่อสังคมประกอบด้วยผู้คนที่ไม่รู้จักความวิเวกภายใน สังคมนั้นก็ไม่อาจรวมกันได้ด้วยความรัก แต่อยู่ได้ด้วยอำนาจครอบงำและความรุนแรง...” ถ้อยคำของ “โทมัส เมอร์ตัน” คัดมาจากหนังสือ “ความเงียบ” จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล สวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดของผม ตั้งอยู่ในเนื้อที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างและยาวราวสี่ห้าไร่…