Skip to main content

        นิวยอร์คในยามต้นฤดูใบไม้ผลิยังคงร่องรอยของความหนาวไว้บ้าง แต่โดยรวมอากาศที่อบอุ่นทำให้ผมไม่ต้องใส่เสื้อผ้าหลายชั้น เมื่อเทียบกับหลายเดือนที่ผ่านมา

ผมเลือกพักย่านไทม์สแควร์ซึ่งเป็นจุดที่คนมานับถอยหลังสู่ปีใหม่ เป็นย่านโรงละครและแหล่งช็อปปิ้ง ในยามค่ำคืนคนจะออกมาเดินเที่ยวในย่านนี้ เพราะมีแสงสีให้ชม มีตัวละครอย่างแบทแมน มีเนียม หมีพูห์ สเมิร์ฟ ชิวเบ็คก้า ไอ้แมงมุม และตัวการ์ตูนอื่นๆ

 

ในตอนเช้าสามารถเดินข้ามถนนไปร้านกาแฟฝั่งตรงข้ามเพื่อกินอะไรง่ายๆ ก่อนจะเดินไปตามหาความฝันที่ตั้งใจไว้

 

ในการมาเยือนนิวยอร์คครั้งนี้ ผมมีฝันเล็กๆ คือการได้ไปดูละครสักเรื่อง ไปเดิน Museum of Natural History และเซ็นทรัลปาร์ค ไปร้าน Strands Books และกินอาหารจีนที่ย่านเยาวราช แม้อยากจะไปเดินเล่นย่านเชิงสะพานบรู๊คลิน หรือย่านอาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์เก่า แต่คงไม่มีเวลาพอที่จะทำได้หมด และผมเองก็อยากจะดื่มด่ำความเดียวดายนี้เอาไว้มากกว่าจะเร่งเร้าตัวเองจนเกินไป

 

ทำไมต้องนิวยอร์ค? เหตุผลง่ายๆ ก็คือเมืองนี้ใกล้อัลบานีและอิทากะ ซึ่งผมสามารถกลับบอสตันได้ด้วยรถเมกาบัสในราคาเพียงสิบเก้าเหรียญเศษเท่านั้น นอกจากนี้ ผมยังอยากไปที่ที่เคยไป เช่น ไชน่าทาวน์ ยูเนียนสแควร์ และไปในจุดที่ไม่เคยไป เช่น เซ็นทรัลปาร์ค ที่เคยผ่าน แต่ไม่เคยเดินเล่นแบบสบายๆ ไม่เร่งรีบ มาครั้งแรกก็มาช่วยเพื่อนทำงาน แม้จะอยู่นาน แต่ก็ไม่มีเวลามากนัก นอกจากไปดูละครเรื่อง Phantom of the Opera ซึ่งก็นับว่าคุ้มค่าอยู่ มาครั้งที่สองก็มาแวะเที่ยว แต่มันแปลกประหลาดตรงที่เป็นการเดินทางที่มีเพื่อนร่วมทาง ในขณะที่ความสัมพันธ์ของเราไม่ราบรื่น คราวนี้ผมถึงพยายามให้เวลากับตัวเองมากๆ ก่อนจะกลับบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนที่จะได้มาที่นี่อีก

 

เช้าวันเสาร์ ผมวางแผนไปเดินเที่ยวเล่นใกล้ๆ พร้อมกับซื้อตั๋วละครเรื่อง The King and I ที่แสดงโดย เคน วาตานาเบ กับ เคลลี่ โอฮารา โชคดีที่ผมได้ตั๋วใบท้ายๆ ของวันอาทิตย์ เพราะผมพยายามจองตั๋วหน้าเว็บ แต่ระบบการขายตั๋วทางเว็บก็ยุ่งยากพอสมควร เพราะเขาต้องเอาไปทำราคาก่อน ส่วนตั๋วที่ไม่สามามารถทำราคาได้ถึงจะปล่อยมาในนาทีท้ายๆ นอกจากนี้ ต้องดู demand ของตั๋วในแต่ละช่วงเวลา เช่น ถ้าเป็นวันหยุด หรือวันสุดสัปดาห์ก็ยิ่งแพง 

 

เรื่อง The King and I เป็นเรื่องของแหม่มแอนนา เลโอโนเวนในราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ 4 ในฐานะของครูสอนภาษาอังกฤษ และเข้ามาสังเกตุการณ์ความเป็นไปในราชสำนัก โดยเฉพาะในฐานะของพระอาจารย์พระราชโอรสและพระราชธิดา เธอเป็นผู้บันทึกโศกนาฏกรรมในราชสำนัก ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงมาถึงปัจจุบัน ระยะเวลาที่เธออยู่ไม่นานมาก แต่ลูกชายของเธออยู่ในสยามในวัยหนุ่ม ถึงกับใช้ชีวิตในเมืองเชียงใหม่และมีเรื่องอื้อฉาวถึงการใช้ชีวิตส่วนตัวของเขาแบบห่ามๆ กับหมอชี๊ค ที่ตั้งฮาร์เร็มส่วนตัวริมแม่น้ำปิงทีเดียว

 

ละครเรื่องนี้ได้รับความสนใจมากๆ เพราะตัวละครเด่นนั้นแสดงโดยดาราชื่อดังอย่างเคน วาตานาเบที่แสดงภาพยนต์เรื่อง The Last Samurai ส่วนเคลลี่ โอฮารานั้น แสดงมาในหลายบทบาท คาดว่าเธอจะได้รับรางวัลเด่นแน่ๆ จากละครเพลงเรื่องนี้ อีกทั้งยังสถานที่แสดงคือโรงละคร Vivian Beaumont แห่ง Lincoln Center Theater ด้วย ยิ่งทำให้คนหลั่งไหลกันมาชม

 

เรื่องราวและเสียงเพลงมีท่วงสนุกสนาน แต่มีบางช่วงบางตอนที่ผมเองในฐานะคนไทย รู้สึกแปลกๆ ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ในการเล่าเรื่องจากมุมของสตรีผิวขาวที่เข้ามาใช้ชีวิตในราชสำนัก เธอสอนให้คนอ่านกระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom’s Cabin) ที่เล่าเรื่องชีวิตทาสและการปลดปล่อยทาส

 

เอาเป็นว่าผมสนุกกับละครที่ไม่มีวันได้แสดงในบ้านเราแน่ๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ 

 

ส่วนวันจันทร์ที่เป็นวันสุดท้ายในนิวยอร์ค ผมเลือกไปเดิน American Museum of Natural History ข้าง Central Park โดยคาดว่าจะมีเวลาเดินสบายๆ 

 

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะมี collection ของสิ่งล้ำค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างฟอสซิล ตัวอย่างสัตว์สตั๊ฟในห้องแสดง เช่น ห้องอาฟริกัน รวมไปถึงวัตถุทางวัฒนธรรมจากวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา โดยเฉพาะชุดมานุษยวิทยานั้นมีหุ่นในชุดหมอผีและพิธีกรรมจัดแสดง พร้อมๆ กับชุดประจำชาติต่างๆ จากทุกมุมโลก

 

หนึ่งในความฝันก็คือการได้มาชมห้องที่เป็นแรงบันดาลใจในงานวิทยานิพนธ์ของผมเรื่องอันตรภาพ หรือ diorama ที่ Donna Haraway กล่าวถึงในงานของเธอเรื่อง Primate Visions ที่ Carl Akeley ไปล่าสัตว์มากมายเพื่อเก็บ “ตัวอย่าง” เอามาสร้าง African Hall ที่มีเป้าหมายเพื่อ “การสร้างสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ” แต่เริ่มต้นด้วย “การทำลาย” 

 

ข้างหน้ามีรูปปั้นของประธานาธิบดี Ted Roosevelt บนหลังม้าโดยมีทาสอาฟริกันและชาวอินเดียนแดงในชุดพื้นเมืองแต่สำแดงออกมาในรูปกึ่งเปลือย ขณะที่ประธานาธิบดีใส่เครื่องแบบเต็มยศ ก็บอกอะไรได้มากมายเกี่ยวกับประเทศและสถานที่แห่งนี้ เท็ดดี้ รูสเวลท์ได้ชื่อว่าเป็นนักนิยมไพรคนสำคัญ ดังนั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงอุทิศพื้นที่ส่วนหนึ่งรำลึกถึงเขา 

 

เรื่องเล่าชุดนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างชุดคำอธิบายเรื่อง Siamese Diorama หรือ สยามอันตรภาพ เพื่ออธิบายชุดของจินตนาการชาติกระแสหลักในงานศิลปะประเพณีและนวประเพณีนิยม ขณะที่งานศิลปะร่วมสมัยมีนัยสำคัญในการเซาะกร่อน ท้าทายจินตนาการหลักชุดนี้ 

 

ผมใช้เวลาเกือบทั้งวัน และเกือบลืมไปว่าต้องออกไปเดินเล่นสวนสาธารณะเซ็นทรัลปาร์ค ในยามบ่ายนี้ผมมีเวลาไม่มาก ผมออกจากพิพิธภัณฑ์แล้วเดินข้ามถนนมายังสวนสาธารณะที่บรรดาดอกไม้กำลังผลิบาน กิ่งก้านใบเขียวกำลังแทงช่อออกมาหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาว 

 

ฟ้าใสๆ ของนิวยอร์คตัดกับบึงใหญ่ ขณะที่มีตึกสูงระฟ้าเป็นฉากหลังประดับขอบฟ้า ในสวนมีคนออกมาเดินมากมาย ทั้งนักท่องเที่ยวและคนเมือง ต่างออกมาเดินวิ่ง พาเด็กๆ มาเดินเล่น 

 

โดยไม่รู้ว่าเพราะอะไร ผมตัดสินใจไปร้าน Strand Book Store และไปเดินแถวยูเนียนสแควร์จนเกือบจะทำให้ผมพลาดรถบัส เพราะลืมว่าเป็นบ่ายวันจันทร์ ผมรีบกลับไปเอาของที่โรงแรม จากนั้นก็ไปขึ้นรถไฟใต้ดินไปท่ารถบัสที่ถนนสาย 34 ระหว่าง ถนน 11 กับ 12 รอขึ้นรถบัสเพื่อกลับบอสตัน 

 

ผมรู้พิกัดคร่าวๆ แต่ไม่คิดว่ามันจะไกลจากสถานีรถไฟใต้ดินอยู่ราวเกือบหนึ่งกิโลเมตร ทั้งกระเป๋าและเป้เริ่มหนักอึ้ง ผมต้องเตรียมอาหารเย็นของผมด้วย (รถเมกาบัสไม่สะดวกสบายเท่ารถบัสของคอร์แนลที่มีของว่าง แน่นอน เพราะรถบัสคอร์แนลค่าตั๋วราคา 90 USD) 

 

ในระหว่างทาง ผมรีบถึงขนาดต้องใช้วิธีกึ่งเดิน กึ่งวิ่ง เพราะตั๋วรถระบุเวลาหกโมงสิบนาที ขณะที่ผมมีเวลาเหลือประมาณครึ่งชั่วโมง ขณะเดินผ่านสำนักข่าวอัล จาซีรา ก็อดถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้ไม่ได้ 

 

รถบัสแล่นผ่านย่านต่างๆ ของนิวยอร์ค พอให้เห็นเป็นที่ระลึกถึงเรื่องราวทั้งวันวานและวันนี้ได้บ้าง ขณะที่ออกจากเขตเมืองพระอาทิตย์ก็ลับขอบฟ้าพอดี

 

กว่ารถจะเข้าสถานีปลายทางที่บอสตันก็เป็นเวลาสี่ทุ่มสิบนาที ผมจับรถไฟใต้ดินเข้าไปพักกับอาจารย์พิชญ์อีกสองคืนก่อนจะเดินทางกลับเมืองไทย เมื่อถึงที่พักอาจารย์พิชญ์ก็เตรียมอาหารเย็นไว้แล้ว 

 

หลังจากเอาหนังสือเรื่องความจริงเพื่อความยุติธรรม อันเป็นรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ไปมอบให้ห้องสมุด Widener Library ในวันสุดท้ายของผมในฮาร์วาร์ดแล้ว ผมมีนัดสำคัญกับหญิงสาวคนหนึ่งที่รู้จักกันมานาน ผมเลือกนัดพบเธอร้านอาหารไทยใกล้มหาวิทยาลัย เพื่อเธอจะได้กลับไปสอนทันเวลา เรามีเรื่องสนทนามากมาย รวมทั้งเรื่องที่เธอตัดสินใจจะย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยอื่น แผนการช่วงฤดูร้อนที่เธอต้องพาพ่อแม่ไปเที่ยวในช่วงวันหยุด เราคุยถึงเรื่องอื่นๆ มากมายจนเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราถ่ายรูปด้วยกันเป็นที่ระลึกและไปดื่มกาแฟร้านที่เราเคยไปด้วยกัน ก่อนที่ผมจะเดินไปส่งเธอที่หน้าห้องบรรยาย เราโอบกอดร่ำลากันโดยไม่รู้ว่าจะได้พบกันอีกเมื่อไหร่ ฉากชีวิตของเราคงจะเป็นความทรงจำที่ดีเสี้ยวหนึ่ง

 

ผมเดินจากอาคารของฮาร์วาร์ดที่ได้ใช้เวลาในห้องสมุดแห่งนี้เกือบห้าเดือน นึกถึงห้วงเวลาที่หิมะตกหนัก คืนที่หิมะโปรยเป็นสายกองพะเนินบนลานหน้าอนุสาวรีย์และหอสมุด ตลอดจนความเงียบเหงาช่วงวันหยุดขอบคุณพระเจ้าและวันคริสต์มาส บัดนี้มันผ่านพ้นไปแล้ว ผมไม่มีโอกาสดื่มด่ำฤดูใบไม้ผลิได้ เพราะโมงยามของการจากลามาถึง

 

กว่าห้าเดือนของการนั่งอ่านเขียนในหอสมุดที่งดงาม ได้ชมพิพิธภัณฑ์และแลกเปลี่ยนพูดคุยสัมมนาทางวิชาการในฮาร์วาร์ด นับเป็นช่วงที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของผม ทั้งมิตรภาพในวงวิชาการก็ทำให้ความหนาวเหน็บปลาสนาการไป

 

รุ่งเช้า อาจารย์พิชญ์ตื่นมาส่งผมขึ้นรถแท็กซี่หน้าห้องพัก ผมถ่ายภาพอาจารย์พิชญ์ยืนพิงร้านกาแฟสตาร์บัคส์ และพบว่าอาจารย์พิชญ์เอาบทกวีของหลี่ไป๋ ** ที่อาจารย์อภิวัฒน์ส่งให้มาแปะคู่กับภาพถ่ายที่ผมส่งไปให้ทีหลัง ผมถอดความเป็นภาษาไทยไว้ว่า

 

ทิวเขาเขียวทาบทาดั่งกำแพงในทิศอุดร

ลำธารใสไหลเชี่ยวจากทิศบูรพา

ที่นี้คือที่ซึ่งเขา, โดยลำพังและมุ่งมั่น, 

เริ่มต้นการเดินทางนับพันลี้

 

หมู่เมฆาเคลื่อนสะท้อนความคิดนักเดินทาง

ตะวันยอแสงดังบอกความนัยมิตรสหาย

จึงโบกมือร่ำลาจากที่นี้

กุมบังเหียนขยับม้าจากไปเพียงเดียวดาย

 

* บทความในชุดชีวิตนักวิชาการในเคมบริดจ์ แมสซาจูเส็ตส์ตอนนี้เป็นตอนสุดท้าย รวมทั้งสิ้น 22 ตอน โดยผมเขียนขึ้นเพื่อสะท้อนความคิด ประสบการณ์ในฐานะนักวิชาการที่มาแลกเปลี่ยนทางวิชาการที่โครงการไทยศึกษา Thai Studies Program, Asia Center, Harvard University โดยการสนับสนุนของทุน US-ASEAN Visiting Scholar Program (USAS) จากมูลนิธิฟุลไบรท์ เป็นเวลาสี่เดือน รวมระยะเวลาที่ผมพำนักในสหรัฐอเมริการาวห้าเดือน ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557- 16 เมษายน 2558 โดยเป็นการลา Sabatical Leave จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 

 

** Seeing a Friend Off 

 

Green mountains range beyond the northern wall.

White water rushes round the eastern town.

Right here is where, alone and restless, he

Begins a journey of a thousand miles.

 

While travellers' intents are fleeting clouds,

A friend's affection is a setting sun.

He waves good-bye, and as he goes from here,

His dappled horse lets out a lonely neigh.)

 

(บทกวีของหลี่ไป๋ Li Bai แปลจากภาษาจีนโดย Stephen Carlson)

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 ผมไม่คิดว่าจะได้ดูละคร "คือผู้อภิวัฒน์" เพราะผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ปี 2531 ขณะที่ "คือผู้อภิวัฒน์" แสดงเป็นครั้งแรกในปี 2530 แต่ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2531
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ประการที่สอง เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องกระบวนการทางการเมืองควรได้พิจารณาจากบทเรียนความรุนแรงทางการเมืองและความพยายามแสวงหาทางออก ซึ่งมีบทเรียนสำคัญจากสองกรณี ได้แก่
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในสถานการณ์ที่เยาวชนลุกขึ้นเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ยุบสภาและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในหลายแห่งและขยายตัวไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศนั้น หลายคนมองว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ของเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บ้างก็หมิ่นแคลนว่าไม่เคยช่วยพ่อแม่ล้างจานจะมาแก้ปัญหาประเทศได้อย่างไร หรือหางานและจ่ายภาษีได้แล้วค
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
คนสามรุ่น
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
หากมองคลื่นความขัดแย้งทางการเมืองไทยใน
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เรื่องเล่าวันนี้
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ถึงแม้ว่าจะมีเหล้า ยาเสพติดมาเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุที่มีคนเจ็บตายกันทุกๆ ปี ช่วงปีใหม่ สงกรานต์และเทศกาลสำคัญ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 คำเตือน: เปิดเผยเนื้อหาบางตอน และอยากชวนไปดูหนังเรื่องนี้กันเยอะๆ ครับ บอกตรงๆ ว่าสะเทือนใจมากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะมันมีเรื่องราวหลายอย่างที่ทับซ้อนอยู่ในเรื่อง เป็นธรรมดาที่เราอาจจะคิดไปเองว่าบทสนทนาในเรื่องคล้ายคลึงกับเรื่องของเราเอง