Skip to main content

(รอวัน) รื้อ

เมื่อวานไปดูละครเรื่อง “รื้อ” ที่ดัดแปลงจากบทละครชื่อ Death and the Maiden แสดงในวาระ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ตามคำชวนของอาจารย์ ดร. ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร คณะศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ และร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดงกับอาจารย์สินีนาฏ เกษประไพด้วย

จะว่าไปแม้จะมีเพื่อนอยู่วงการละครบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีความรู้ในแง่สุนทรียะของการละคร หากได้ครูพักลักจำพอกล้อมแกล้มไปได้

ละครเรื่องนี้มีการซ้อนเรื่องราวในชิลิยุคปิโนเช่กับเรื่องราวในบ้านเราหลายเหตุการณ์ และมีช่วงเวลาที่สลับตัวละคร ทั้งยังมี alter ego ของตัวเอก อีกด้วย จึงต้องตั้งสติดีๆ แต่ก็เรียกได้ว่าชวนอึดอัด เพราะการวางตำแหน่งของเวทีไว้กลางห้องในระนาบเดียวกับผู้ชมและแสงสีในบรรยากาศที่หม่นทึบ

เรื่องราวของเพาลินาผู้เคยถูกกระทำทารุณกรรมจากรัฐยุคปิโนเช่ เมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย สามีของเธอกำลังจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงยุคปิโนเช่ ขณะที่เธอสงสัยว่าอาคันตุกะที่มาเยือนยามดึกอาจเป็นคนที่เคยกระทำทารุณกรรมต่อเธอเพราะเสียงเพลงที่คุ้นหูและน้ำเสียงของอาคันตุกะชวนให้เธอนึกถึงส่วนลึกของจิตใจ เรื่องราวจึงถักทอไปภายใต้ตัวละคร เสียงของจิตสำนึกและการเปลี่ยนจากผู้กระทำเป็นผู้ถูกกระทำ ตลอดจนผู้กระทำการกลายเป็นคนดีที่ลอยนวลออกจากความเลวร้ายที่เขาได้กระทำ

จากมุมของผู้ถูกกระทำโดยรัฐ มันยากที่จะเล่าประสบการณ์ มันยากที่จะรื้อฟื้นความทรงจำอันโหดร้ายที่ถูกกระทำ และไม่มีใครจะรู้ได้หากไม่เผชิญด้วยตัวเอง

ละครและศิลปะคงทำหน้าที่ในสิ่งนี้เอง คือถ่ายทอดสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรงและสื่อสะท้อนส่งผ่านออกมาในรูปผลงานศิลปะและการละคร

บทสนทนาของตัวละครทำให้ผมนึกถึงการทำหน้าที่กรรมการในคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง กรณีพฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งจากภายในและภายนอก ทั้งในแง่ขีดจำกัดของความรู้และความเข้าใจในการทำงาน และสำคัญที่สุดคือภารกิจของอนุกรรมการฯ ที่คลุมเครืออย่างมาก

ในการซักถามพยาน หรือผู้ถูกกระทำเป็นไปอย่างล่าช้า ขาดการบันทึก ขาดการติดตามเรื่องราว การสอบทานข้อมูล หรือคำให้การของผู้ถูกกระทำ และที่สำคัญ แทบจะไม่ได้ข้อมูลจากฝั่งผู้กระทำการเลย

การตรวจสอบและค้นหาความจริงจึงเป็นเรื่องที่เหมือนจะง่าย แต่มีความสลับซับซ้อนในเจตนาและเส้นสนกลในของกระบวนการอย่างยิ่ง

ในอีกด้าน อาจเป็นไปได้ว่า “การเข้าถึงความจริงและเปิดเผยความจริง” ไม่ใช่ภารกิจของคณะอนุกรรมการฯ แต่แรกแล้ว

นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงมิติทางอารมณ์ของผู้ที่เข้ามาบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา การพูดถึงความจริงเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์ (emotional) มากๆ บ่อยครั้งที่ผู้เล่าน้ำตาไหลพราก เพราะไม่รู้จะไปเรียกร้องความยุติธรรม หรือได้รับการชดเชยจากใคร และคณะอนุกรรมการฯ ก็ไม่สามารถอำนวย “ความยุติธรรม” ได้เลย

ในแง่ของผู้ซักถามจึงคับข้องใจไม่น้อย เมื่อตระหนักถึงความไม่รอบด้าน ความไร้ความสามารถของการทำงานในหน้าที่

กระทั่งหลายคนก็เชื่อว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะมาให้ปากคำ เพราะคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการไม่ได้มีเพื่อค้นหาความจริง หรือเยียวให้เกิดความยุติธรรมปรองดองอย่างที่ว่า

จากประสบการณ์ส่วนตัว จึงเป็นที่มาของรายงานสองชิ้นที่ผมและเพื่อนร่วมวิชาชีพ ลูกศิษย์และนักกิจกรรมได้ร่วมกันทำงานคือ รายงานของกลุ่มมรสุมชายขอบ (http://fringer.org/wp-content/writings/13-20May-Facts.pdf) และรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือรายงาน ศปช. (http://www.pic2010.org/category/report/)

เมื่อคำนึงถึงหลักการเรื่องความยุติธรรม แนวทางการคืนความยุติธรรมมีอย่างน้อยสองแบบ คือแบบฟื้นฟูเยียวยา (restorative justice) กับความยุติธรรมแบบสนองคืน (retributive justice) แบบแรกมุ่งแสวงหาทางเยียวยาและฟื้นฟูสังคม แต่แบบหลังมุ่งจัดการการกระทำผิด ผู้กระทำผิดไม่ให้ลอยนวล

จึงเป็นปัญหาว่า หากมองแบบอาฟริกาใต้ เป็นไปตามแบบแรก และมีรากฐานของปรัชญาการให้อภัยแบบคริสเตียน กล่าวคือเมื่อสำนึกในการกระทำของตัวเอง ได้สารภาพบาป/ความผิด แล้วสังคมจะให้อภัยเพื่อเดินหน้าใหม่

ในสังคมที่เชื่อว่าตัวเองมีรากฐานวิธีคิดแบบพุทธ มีความเชื่อเรื่องกรรม การรับผลกรรม จะมีท่าทีอย่างไร

และจะป้องกันไม่ให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (culture of impunity) อย่างไร? เพราะวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดเป็นส่วนหนึ่งของ “โสมมประชาคมอาเซียน” ไปเสียแล้ว?

เพราะหลายคนเชื่อว่า หากไม่มีการเอาผิดกับผู้กระทำการและปล่อยให้นิรโทษกรรมพ้นผิดพ้นมลทินแล้ว ความรุนแรงนั้นก็จะกลับมาหาสังคมราอีกซ้ำซาก เพราะการเลือกใช้ความรุนแรงเป็นทางเลือก (option) ที่ไม่ต้องรับผิดชอบในท้ายที่สุด!

ในการจัดการความจริงและการใช้อำนาจรัฐปราบปรามประชาชนในกรณีเกาหลีใต้ก็น่าสนใจยิ่ง เพราะเกาผลีผ่านยุคอาณานิคมญี่ปุ่น ผ่านยุคเผด็จการทหารและพลเรือนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคพัคจุงฮีที่มีการอุ้มหายและสังหารประชาชน ทารุณกรรมนักกิจกรรมไม่น้อย

ยังต้องนับกรณีเมืองกวางจูอีกที่คนล้มตาย บาดเจ็บไม่น้อย

ในที่สุด เมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตย มีการรื้อฟื้นให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง สิ่งสำคัญทีสุดก็คือการรื้อฟื้นศักดิ์ศรี (dignity) ของเหยื่อและญาติพี่น้องของผู้ถูกกระทำ ว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพวกเขาไม่ได้ก่อการจราจล แต่พวกเขาสู้เพื่อวางรากฐานการเดินไปสู่สังคมประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ พวกเขาไม่ใช่พวก “แดง” หรือ “คอมมิวนิสต์”

จากนั้นมีการสร้างสุสานวีรชนแห่งชาติ การจ่ายค่าชดเชยเยียวยาเหยื่อและญาติของเหยื่อที่มีชีวิตอยู่

เมื่อได้ทบทวนเรื่องราวจากประเทศเพื่อนบ้าน เกาหลีใต้ อาฟริกาใต้ รวันดา กระทั่งเมืองยะใข่ในเมียนมาร์ เราอาจจะพบว่า พวกเราต่างล้วนแล้วแต่มีส่วนในความรุนแรงที่รัฐกระทำอาชญากรรมต่อประชาชนของตัวเอง ไม่มากก็น้อย ซ้ำร้ายในบางกรณีพวกเขาอาจจะมีส่วนร่วมทั้งๆ ที่รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ก็ได้ ที่ใกล้ตัวก็คือการล้างเมืองหลังกรณีพฤษภาคม 2553, กิจกรรมศิลปะโดยการส่งเสริมของรัฐในหลายนิทรรศการ เป็นต้น

ในการเสวนา ผมยังได้ชี้ถึงการที่คนหนุ่มสาวรุ่นนี้ได้ประสบกับการใช้อำนาจรัฐกับตัวพวกเขาเองจากการจัดกิจกรรมรำลึก 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 การเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐน่าจะให้บทเรียนแก่คนหนุ่มสาวรุ่นนี้และชวนให้เขาคิดถึงชีวิตข้างหน้า

หลังงานจบ แม้จะยังชุลมุนอยู่บ้างแต่มีนักกิจกรรมรุ่น 6 ตุลาคมท่านหนึ่งมาบอกผมสั้นๆ ว่า “พี่คงตายตาหลับแล้ว”

ผมเชื่อว่าถึงแม้จะไม่มีความหวัง แต่ทุกสังคมก็ต้องฝ่าคลื่นมรสุมของตัวเองไปให้ได้ การชมละครเรื่องนี้แม้จะหม่นเศร้า กดดัน อึดอัดแต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ชวนขบคิดถึงโอกาสและความหวังว่าสักวันเราจะพบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้าง

 

(ขอขอบคุณอาจารย์สินีนาฏ เกษประไพ อาจารย์ภารกร อินทุมารและนักแสดงทุกท่าน)

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 ผมไม่คิดว่าจะได้ดูละคร "คือผู้อภิวัฒน์" เพราะผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ปี 2531 ขณะที่ "คือผู้อภิวัฒน์" แสดงเป็นครั้งแรกในปี 2530 แต่ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2531
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ประการที่สอง เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องกระบวนการทางการเมืองควรได้พิจารณาจากบทเรียนความรุนแรงทางการเมืองและความพยายามแสวงหาทางออก ซึ่งมีบทเรียนสำคัญจากสองกรณี ได้แก่
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในสถานการณ์ที่เยาวชนลุกขึ้นเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ยุบสภาและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในหลายแห่งและขยายตัวไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศนั้น หลายคนมองว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ของเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บ้างก็หมิ่นแคลนว่าไม่เคยช่วยพ่อแม่ล้างจานจะมาแก้ปัญหาประเทศได้อย่างไร หรือหางานและจ่ายภาษีได้แล้วค
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
คนสามรุ่น
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
หากมองคลื่นความขัดแย้งทางการเมืองไทยใน
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เรื่องเล่าวันนี้
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ถึงแม้ว่าจะมีเหล้า ยาเสพติดมาเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุที่มีคนเจ็บตายกันทุกๆ ปี ช่วงปีใหม่ สงกรานต์และเทศกาลสำคัญ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 คำเตือน: เปิดเผยเนื้อหาบางตอน และอยากชวนไปดูหนังเรื่องนี้กันเยอะๆ ครับ บอกตรงๆ ว่าสะเทือนใจมากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะมันมีเรื่องราวหลายอย่างที่ทับซ้อนอยู่ในเรื่อง เป็นธรรมดาที่เราอาจจะคิดไปเองว่าบทสนทนาในเรื่องคล้ายคลึงกับเรื่องของเราเอง