พันธกุมภา
ถึง มีนา
เมื่อได้ยิน......
“ทำไมคุณโง่แบบนี้”
“งานชุ่ยๆ แบบนี้เหรอที่ทำเต็มที่แล้ว”
“มีหัวไว้ใส่หมวกเปล่าๆ”
สารพัดมากมาย คำด่าทอที่เรามักไม่ชอบ – ในที่นี้ก็มีผมอยู่ด้วยแหละครับ เวลาที่มีใครมาต่อว่า มานินทาในทางร้ายๆ แล้วมักจะต้องเดือดร้อนเป็นฝืนเป็นไฟอยู่เสมอ อืม...คิดในใจ นี่ไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้เป็นคนแบบนั้น เราไม่ใช่คนอย่างที่เขาว่านะ.....
ขณะที่คำชม อาทิ
“คุณทำงานเก่งจัง”
“ทำได้แค่นี้ สุดยอดเลยทีเดียว ยอดเยี่ยมมากๆ๐
“คิดได้แค่นี้ ก็เจ๋งเลย”
คำพูดชื่นชม เยินยอในทางบวกเหล่านี้ หลายคนไม่ปฏิเสธ หรือไม่ได้มีท่าทีต่อต้านเหมือนคำพูดร้ายๆ หรือลบๆ แต่กลับมองว่าใช่ๆ ตัวฉันนี่แหละ ที่เป็นแบบนี้ นี่เลยคือตัวฉัน มันคือสิ่งที่ฉันเป็น.....
พี่มีนาครับ....ผมว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย ที่หลายคนจะไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองผิด หรือยินยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำดี ทั้งนี้เพราะเราถูกสอนมานมนานว่า เราควรจะทำดี เป็นคนดี ทำอะไรให้ได้รับคำชื่นชม ยินดี ซึ่งการสอนสั่งเช่นนี้เอง เป็นการทำให้เราคุ้นชินกับการพูดถึงในทางบวกมากกว่าทางลบ
ยิ่งนักปฏิบัติหลายคนที่ได้ลอง “ดูจิต” ของตนนั้น บางคนถึงกับไม่ยอมรับในความคิดร้ายๆ ของตนเลยก็มี เช่น บางคนโกรธ ก็บอกว่าฉันไม่ได้โกรธ บางคนโมโห ก็บอกว่าไม่ใช่ฉันที่โมโห ขณะที่พอเห็นจิตที่ดีใจ มีความสุข ก็คิดว่านี่แหละคือตัวคือตนจริงๆ ของตน
อันที่จริงแล้ว ความคิดของคนนั้นมีหลายแบบ ทั้งดีและไม่ดี การที่คนภาวนากันมากๆ โดยเน้นเรื่องการดูจิตนั้นก็เพื่อให้เรา “เห็น” ความคิด เห็นจิตใจ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าดีหรือไม่ดี
การวิปัสสนาคือการดูตามความเป็นจริง เป็นการรู้ เห็นซื่อๆ ไม่ปรุงแต่ง มองด้วยความเป็นกลาง นั่นคือมีอุเบกขาเกิดขึ้นในจิต และมองความคิดทั้งที่ดีไม่ดี สุขหรือทุกข์ โมโหหรือดีใจ โกรธหรือเมตตา ด้วยความเป็นกลางวางเฉย ไม่ปรุงแต่งใดๆ
การที่เราตามรู้ ตามเห็นไปเรื่อยๆ โดยเริ่มต้นจากการดูกาย หรือดูใจของตนนั้น สามารถทำได้ง่ายมาก คือ เราลองทำตัวเองเป็น “ผู้ดู” มากกว่าเป็น “ผู้เล่น” นั่นคือ เมื่อเราโกรธ เราก็เพียงรู้ว่าเราโกรธ เมื่อเราโมโหเราก็เพียงรู้ว่าเราโมโห หรือเมื่อเราดีใจก็เพียงรู้ว่าดีใจ เมื่อเราสุขใจก็เพียงรู้ว่าสุขใจ หลักการง่ายๆ คือ เมื่อเกิดความคิด อารมณ์แบบไหน ก็เพียงแค่ “รู้” “ดู” “เห็น” ด้วยใจอันเป็นกลาง
เมื่อเราตามรู้ ตามดูไปเรื่อยๆ เราก็ทำแบบทั้งที่เป็นทางการเช่นนั่งภาวนา หรือ ทำในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อมีคนมาว่าเราว่า “โง่” แล้วเราโกรธ นั้นเราเพียงแต่รู้ว่ากำลังโกรธ และอาจพิจารณาดูว่า ความโกรธนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปนั้น เราได้เห็นไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยงของจิต
การที่เราได้ “รู้” ทันความคิดนั้น ก็คือ การที่เรามีสติ พอเรามีสติไปรู้อารมณ์ต่างๆ แล้ว อารมณ์นั้นๆ จะตั้งอยู่และดับลง หากในทางกลับกันเมื่อเรา “หนี” อารมณ์ “โกรธ” โดยการคิดเอาว่า “ฉันไม่โกรธ” “ฉันเบิกบาน” โดยที่ไม่ได้ตามรู้ พิจารณาดูอารมณ์นั้นๆ มันก็อาจทำให้อารมณ์นั้นหายไปได้
แต่อารมณ์นั้นมันจะหายไปไหนหละ นอกจากส่วนลึกของจิต หรือในจิตใต้สำนึก และมันก็เป็นการกดทับอารมณ์ต่างๆ ในส่วนลึกไว้ จนวันหนึ่งอาจระเบิดออกมาได้ อาจทำให้เราฟุ้งซ่าน มากกว่าเดิม
เหมือนดังที่พระอาจารย์ ปราโมทย์ ปราโมชโช ที่กล่าวว่า “มองโลกในแง่ดีมีความสุข มองโลกตามความเป็นจริงพ้นทุกข์” – ซึ่งสำหรับคำกล่าวนี้ผมระลึกว่าเป็นสิ่งที่น่าจะน้อมนำมาสู่การพิจารณาในการดำเนินชีวิตของเราประจำวันว่าเรามีความคิด รู้สึกอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับจิตเราบ้าง
ซึ่งในที่นี้ขอย้ำว่า การ “รู้” ไม่ใช่การ “เพ่ง” ไม่ใช่การ “คิดไว้ล่วงหน้าว่าจะรู้” แต่เป็นการรู้หลังที่เกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งผมเองก็ได้ทำแบบเล่นๆ ตามดูไปเรื่อยๆ จิตจะเป็นยังไงก็ปล่อยเขา พอมีคนมาด่าก็รู้ว่าถูกด่า โมโหก็เพียงรู้ว่าโมโห พอจะหนีอาการโมโหไปร้องเพลงให้สำราญใจก็รู้ว่ากำลังหนี หรืออยากนั่งสมาธิกดอารมณ์นี้ไว้ ก็รู้ว่ากำลังจะทำสมาธิ ทำสมถะ เพียงแค่รู้ตัวเดียวครับผมว่านี่คือสิ่งสำคัญจริงๆ
หลายคนที่ยังรู้สึกว่าทำไมต้องรู้ รู้แล้วจะหายจริงหรือ หรือรู้แล้วจะเป็นอย่างที่ผมได้บอกไว้หรือไม่นั้น ผมก็ไม่รู้นะครับ เพราะผมกับคนอื่นๆ ต่างกัน ดังนั้น ใครที่ได้ดูจิต ได้ตามรู้ ตามดูอารมณ์ต่างๆ ในแต่ละวันเป็นอย่างไรก็ลองทำไปเรื่อยๆ ทำเล่นๆ ทำสบายๆ ผ่อนคลายๆ
ทำเป็นปริมาณสะสมไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเมื่อจิตเราพลิก จิตจะพลิกเองโดยที่เราเท่านั้นแหละที่จะรู้ว่าจิตพลิกเป็นจิตที่มีคุณภาพ เป็นจิตที่ตื่นรู้นั้นเป็นอย่างไร.....และตัวตนในตนเองนั้นจะเป็นอย่างไร?